เอเจนซีส์/รอยเตอร์ - ประธานาธิบดีตูนิเซีย ไคส์ ซาอิด (Kais Saied) ออกคำสั่งปลดผู้พิพากษาจำนวน 57 คน อ้างเหตุปัญหาคอร์รัปชันและเตะถ่วงคดีก่อการร้าย ฝ่ายตรงข้ามประณามกล่าวหาพยายามกำจัดฝ่ายตุลาการอิสระให้หมดไป
DW สื่อเยอรมนีรายงานเมื่อวานนี้ (2 มิ.ย.) ว่า ประธานาธิบดีตูนิเซีย ไคส์ ซาอิด (Kais Saied) ใช้อำนาจประธานาธิบดีในวันพุธ (2) สั่งปลดผู้พิพากษาจำนวน 57 คนในคราวเดียวกัน อ้างคนเหล่านี้มีเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชัน และขัดขวางกระบวนการพิจารณาคดีก่อการร้าย
รายชื่อผู้พิพากษาที่ถูกสั่งให้ออกจากการปฏิบัติหน้าที่ถูกเผยแพร่ในเช้าวานนี้ (2)
นอกเหนือจากนี้พบว่า ซาอิด ยังชี้ไปว่า กลุ่มผู้พิพากษาที่สั่งให้ออกแอบสมรู้ร่วมคิดกับพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม
รอยเตอร์รายงานว่า ในคืนวันพุธ (1) คำสั่งปลดผู้พิพากษา 57 คน มีชื่ออดีตประธานสภาสูงสุดฝ่ายตุลาการ (Supreme Judicial Council) ยูสเซฟ บูซาเกอร์ (Youssef Bouzaker) ซึ่งก่อนหน้าประธานาธิบดีตูนิเซียสั่งเปลี่ยนตัวสมาชิกคณะผู้พิพากษาของสภาสูงสุดฝ่าตุลาการเพื่อต้องการรวบอำนาจฝ่ายตุลาการให้อยู่ในมือ
รอยเตอร์กล่าวว่า สภาสูงสุดฝ่ายตุลาการตูนิเซียที่ผ่านมาถูกมองว่าเป็นอำนาจอิสระทางตุลาการภายในประเทศมาตั้งแต่เกิดการปฏิวัติปี 2011และได้นำประชาธิปไตยมาสู่ตูนิเซีย ซึ่งการเข้ามาแทรกแซงล่าสุดของซาอิด ทำให้ถูกมองว่าเขาเข้ามาก้าวก่ายกระบวนการทางยุติธรรม
และผู้พิพากษาชื่อดัง บาชีร์ อเครมี (Bachir Akremi) ที่มีนักเคลื่อนไหวทางการเมืองบางส่วนกล่าวหาว่าเขามีความใกล้ชิดมากเกินไปกับพรรคการเมืองอิสลามิสต์ พรรคเอ็นนาห์ดา (Ennahda) โดยอเครมี ถูกกล่าวหาว่าพยายามยุติคดีที่เกี่ยวข้อง แต่ทั้งพรรคเอ็นนาห์ดา และอเครมี ออกมาปฏิเสธ
รอยเตอร์รายงานว่า สมาพันธ์ผู้พิพากษาตูนิเซียออกแถลงการณ์ด่วนวานนี้ (2) ประณามคำสั่งปลดผู้พิพากษาของซาอิด ว่า "เป็นการสังหารหมู่" พร้อมกับเรียกร้องให้สมาชิกผู้พิพากษาออกมาต่อต้าน โดยชี้ว่าเป้าหมายที่มีเพื่อเปิดโอกาสให้ประธานาธิบดีตูนิเซียมีอิทธิพลต่อกระบวนการทางยุติธรรมโดยการสร้างสุญญากาศเพื่อให้ตัวเองสามารถแต่งตั้งคนที่จงรักภักดีเข้ามาทำหน้าที่แทน
ทั้งนี้ ก่อนหน้าซาอิด เคยกล่าวว่าการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นมี "เพื่อรักษาตูนิเซียไว้จากวิกฤต" และการเข้าแทรกแซงของเขาดูเหมือนจะได้รับการสนับสนุนจากสาธารณะอย่างกว้างขวาง เบื้องต้น หลังจากที่ผ่านมาหลายปีตูนิเซียประสบกับความชะงักงันทางเศรษฐกิจ อัมพาตทางการเมืองและคอร์รัปชัน
ขณะเดียวกัน ในวันพฤหัสบดี (2) สหรัฐฯ ออกแถลงการณ์ระบุว่า ประธานาธิบดีตูนิเซียกำลังบ่อนทำลายสถาบันทางประชาธิปไตยของตูนิเซีย และชี้ว่าคำสั่งปลดผู้พิพากษาจำนวน 57 คนนั้นทำไปเพื่อกระชับอำนาจทาง
การเมืองของตัวเอง