xs
xsm
sm
md
lg

ปีกซ้ายรวมตัว! “ปธน.คิวบา-เวเนฯ-นิการากัว” เตรียมประชุมที่ฮาวานา หลัง “วอชิงตัน” ไม่ยอมส่งเทียบเชิญ “ดิแอซ-กาเนล” ร่วมซัมมิตรวมอเมริกาในแอลเอ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเจนซีส์/เอเอฟพี - วานนี้ (25 พ.ค.) ประธานาธิบดีคิวบา มิเกล ดิแอซ-กาแนล ยืนยันจะไม่เดินทางไปร่วมประชุมซัมมิตเหล่าชาติทวีปอเมริกา ที่มีสหรัฐฯ เป็นเจ้าภาพที่แอลเอ รัฐแคลิฟอร์เนียเดือนหน้า หลังวอชิงตันไม่ยอมส่งเทียบเชิญร่วม ผู้นำปีกซ้ายโลกแดนละติน คิวบา เวเนซุเอลา และนิการากัว เตรียมประชุมหารือร่วมกันที่กรุงฮาวานาวันศุกร์ (27 พ.ค.)

หนังสือพิมพ์แอลเอไทม์สของสหรัฐฯ รายงานเมื่อวานนี้ (25 พ.ค.) ว่า กลายเป็นงานหนักสำหรับรัฐบาลประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน ที่ต้องการใช้การจัดงานซัมมิตซัมมิตเหล่าชาติทวีปอเมริกา (Summit of the Americas) ที่มีอเมริกาเป็นเจ้าภาพระหว่างวันที่ 6-10 มิ.ย.ที่จะถึงนี้ ที่เมืองแอลเอ รัฐลอสแองเจลิส เพื่อแสดงให้เห็นถึงการที่สหรัฐฯ จะสามารถมีอิทธิพลในครึ่งโลกตะวันตกต้องมีอันยุ่งเหยิง

เกิดขึ้นหลังประธานาธิบดีคิวบา มิเกล ดิแอซ-กาแนล (Miguel Díaz-Canel) แถลงเมื่อวานนี้ (25) ผ่านทางทวิตเตอร์ว่า เขาจะไม่เดินทางเข้าร่วมการประชุมที่ว่านี้หลังจากที่สหรัฐฯ ปฏิเสธที่จะส่งเทียบเชิญอย่างเหมาะสม

อ้างอิงจากเว็บไซต์กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ พบว่า ซัมมิตเหล่าชาติทวีปอเมริกาซึ่งเป็นการประชุมเพียงหนึ่งเดียวของทั้งทวีปอเมริกาตั้งแต่อเมริกาเหนือไปจนถึงอเมริกาใต้ โดยเริ่มครั้งแรกในสมัยอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ บิล คลินตัน เมื่อปี 1994 เพื่อโปรโมตการเติบโตทางเศรษฐกิจและความมั่งคั่งผ่านคุณค่าทางประชาธิปไตยและคำมั่นสัญญาในการเพิ่มการค้าและการลงทุน การประชุมที่กำลังจะเกิดขึ้นถือเป็นครั้งที่ 9 

การออกมาแถลงล่าสุดของผู้นำคิวบาเกิดขึ้นไม่กี่วันหลังการคาดการณ์และความพยายามจากรัฐบาลไบเดน ในการหาช่องทางที่ประนีประนอมเพื่อที่จะสามารถเชิญรัฐบาลที่ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยและต้องการหลีกเลี่ยงความโกรธเคืองกับชาติแดนลระตินส่วนใหญ่

ทั้งนี้ในเดือนที่ผ่านมา ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแผนกฝ่ายโลกฝั่งตะวันตก ไบรอัน นิโชลส์ (Brian Nichols) ได้เปิดเผยกับสื่อต่างๆ สหรัฐฯ ว่า ไม่มีแผนที่จะเชื้อเชิญคิวบา และทำให้เกิดปัญหาทันทีเพราะประธานาธิบดีเม็กซิโก อันเดรส มานูเอล โลเปซ โอบราดอร์ (Andrés Manuel López Obrador) ออกมาประกาศว่า ฝ่ายเม็กซิโกจะถอนตัวจากการเข้าร่วมหากว่าทุกชาติไม่ได้รับเชิญ

ซึ่งการประชุมระดับภูมิภาคที่มีสหรัฐฯ เป็นผู้จัดโดยที่ไม่มีเม็กซิโกจะเป็นสิ่งที่น่าอับอายสำหรับไบเดนไปในทันที แอลเอไทม์สชี้

และนอกเหนือจากคิวบาแล้ว พบว่า วอชิงตันยังมีแผนตัดเวเนซุเอลา และนิการากัวออกไปจากรายชื่อประเทศที่เข้าร่วมการประชุมเช่นกัน

เอเอฟพีรายงานในวันอังคาร (24) ว่า กระทรวงต่างประเทศคิวบาออกแถลงการณ์ว่าผู้นำคิวบา เวเนซุเอลา และนิการากัว เตรียมประชุมร่วมกันที่กรุงฮาวานาในวันศุกร์ (27)

ซึ่งทั้งเกล ดิแอซ-กาแนล ประธานาธิบดีเวเนซุเอลา นิโคลัส มาดูโร และประธานาธิบดีนิการากัว แดเนียล ออร์เตกา จะร่วมประชุม กลุ่มเศรษฐกิจสมาพันธ์โบลิวาเรียนแห่งทวีปอเมริกา ALBA (Bolivarian Alliance for the Peoples of Our America)

โดยในแถลงการณ์สั้นจากกระทรวงต่างประเทศคิวบามีใจความว่า “ในวันศุกร์ที่ 27 พฤษภาคม การประชุมซัมมิตครั้งที่ 21 ของผู้นำแห่งรัฐและรัฐบาลสมาชิก ALBA จะถูกจัดที่กรุงฮาวานา” ภายใต้วาระ “ยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วม” และ “การวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองระดับภูมิภาค”

แอลเอไทม์สรายงานว่า การบอยคอตเริ่มออกมาจากหลายประเทศ แต่มีบางส่วนยอมเปลี่ยนใจ อย่างไรก็ตาม กัวเตมาลากล่าวว่าจะไม่เดินทางเข้าร่วมการประชุมหลังเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ วิพากษ์วิจารณ์การจัดการคดีคอร์รัปชันของเจ้าหน้าที่รัฐทั้งหลาย และประธานาธิบดีบราซิล ฌาอีร์ โบลโซนารู (Jair Bolsonaro) ผู้นำชาติแดนละตินที่ใหญ่ที่สุดและยังเป็นเพื่อนรักของอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ฉุนเฉียวที่ทั้งสหรัฐฯ และชาติตะวันตกต่างออกมาวิพากษ์วิจารณ์การจัดการป่าแอมะซอนของตัวเอง

ซึ่งในทวิตเตอร์ผู้นำคิวบาหลังหมดยุคตระกูลคาสโตร ได้กล่าวตัดพ้อสหรัฐฯ ที่ไม่ยอมนำทุกฝ่ายเข้าการประชุมซัมมิตที่จัดขึ้นว่า “พวกเรามีจุดยืนร่วมกันที่ผู้นำต่างๆ ภายในภูมิภาครับไว้ที่ต่างกล่าวว่า ทุกประเทศสมควรได้รับการเชื้อเชิญอย่างเท่าเทียม”

และกล่าวต่อว่า “พวกเรารู้สึกซาบซึ้งต่อความกล้าหาญและศักดิศรีที่ยืนหยัดจากบรรดาประเทศที่ส่งเสียงคัดค้านต่อการแบ่งแยก”

CNN รายงานว่า ก่อนหน้าพบว่าสุภาพสตรีหมายเลข 1 ของสหรัฐฯ จิล ไบเดน ในวันจันทร์ (23) เพิ่งเสร็จสิ้นการเยือน 6 วัน 3 ประเทศละตินอเมริกา ได้แก่ เอกวาดอร์ ปานามา และคอสตาริกา ที่มีเป้าหมายต้องการประกาศต่อประเทศเหล่านี้ว่า เหตุใดจึงดีกว่าในการร่วมเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ

โดยวาระของนางไบเดน เพื่อกระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตรภายในภูมิภาคที่มีปัญหาคอร์รัปชันและการเข้าเมืองผิดกฎหมายในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นปัญหาหนักของสามี

ซึ่งในระหว่างการเยือนพบว่ามีการประกาศความช่วยเหลือเนื่องมาจากการทูตคือความสัมพันธ์ โดยในระหว่างการเยือนศูนย์พักฟื้นผู้ป่วยโรคเอดส์ที่ปานามาในวันเสาร์ (21) นางไบเดน ประกาศมอบความช่วยเหลือเพิ่มเติม 80.9 ล้านดอลลาร์ให้โครงการ PEPFAR ซึ่งในจำนวนนี้ทางปานามาจะได้รับ 12.2 ล้านดอลลาร์ในการขยายการให้บริการด้านโรคเอดส์และการรักษา


กำลังโหลดความคิดเห็น