ซาอุดีอาระเบียจะยังคงความสัมพันธ์ทางการค้าอย่างครอบคลุมกับทั้งยูเครนและรัสเซีย จากคำยืนยันของ ไฟซาล อัล-อิบรอฮิม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการวางแผนของซาอุดีอาระเบีย รอบนอกเวทีสัมนาทางเศรษฐกิจ "เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม" ในเมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันอังคาร (24 พ.ค.)
รัฐมนตรีรายนี้ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์นิกเกอิของญี่ปุ่น ว่า มาตรการคว่ำบาตรของตะวันตกที่กำหนดเล่นงานรัสเซียนั้นเป็น "มาตรการบีบบังคับฝ่ายเดียว" ขณะเดียวกันได้ยกย่องบทบาทของมอสโกในรูปแบบพันธมิตรที่เรียกว่า โอเปกพลัส ซึ่งเป็นการร่วมตัวกันของบรรดาผู้ส่งออกน้ำมันรายสำคัญๆ ของโลก
ไฟซาล อัล-อิบรอฮิม ระบุว่า ริยาดไม่มีแผนเพิ่มกำลังผลิตน้ำมันเพื่อฉุดราคาให้ลดต่ำลง โดยชี้แจงว่าเวลานี้ประเทศของเขามุ่งเน้นไปที่รักษาเสถียรภาพทางอุปทาน ไม่ใช่เพิ่มปริมาณอุปทาน เขาอ้างว่าสถานการณ์ในตลาดพลังงานระหว่างประเทศจะ "เลวร้ายกว่านี้มาก" หากไม่ได้ความพยายามของโอเปก
สหรัฐฯ และอียู รวมถึงพันธมิตรของพวกเขา กำหนดมาตรการคว่ำบาตรอย่างหนักหน่วงแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน เล่นงานรัสเซีย ตอบโต้กรณีมอสโกรุกรานยูเครน ข้อจำกัดต่างๆ เหล่านั้นมีเป้าหมายเล่นงานภาคการเงินและธนาคารของรัสเซีย เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ ขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐบาล บุคคลสาธารณะ และบรรดานักธุรกิจ มากมายหลายคนต่างก็ถูกคว่ำบาตรเล่นงานเป็นรายบุคคล
สหรัฐฯ และแคนาดาแบนนำเข้าน้ำมันรัสเซีย ส่วนอียูยังคงถกเถียงกันในประเด็นนี้ ในขณะที่มาตรการนี้ ซึ่งคาดหมายว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของแพกเกจรอบ 6 ที่กำหนดเล่นงานรัสเซียนับตั้งแต่ความขัดแย้งเริ่มต้นขึ้น เผชิญเสียงคัดค้านอย่างแข็งกร้าวจากฮังการี
ประเทศอื่นๆ ก็ลังเลเข้าร่วมมาตรการคว่ำบาตรของตะวันตกเช่นกัน ส่วนจีนนำเข้าพลังงานจากรัสเซียเพิ่มมากขึ้นในเดือนเมษายน โดยซื้อน้ำมัน แก๊ส และถ่านหินเพิ่มขึ้นถึง 75% เมื่อเดือนที่แล้ว ตามข้อมูลของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก
อินเดียบอกว่าพวกเขาอาจลงทุนในโครงการพลังงานต่างๆ ในรัสเซียที่ถูกทอดทิ้งโดยบรรดาบริษัทตะวั้นตกทั้งหลายอย่างเช่น เอ็กซอน และเชลล์ ส่วนในยุโรป นายกรัฐมนตรีวิกเตอร์ ออร์บาน แห่งฮังการี เปรียบเปรยมาตรการคว่ำบาตรกับระเบิดนิวเคลียร์ พร้อมระบุว่ามันอาจก่อเปลวไฟที่ย้อนกลับมาแผดเผายุโรปเอง นำมาซึ่งปัญหาขาดแคลนอาหารและวิกฤตผู้อพยพ
(ที่มา : อาร์ทีนิวส์)