ลมหายใจของมหานครนิวยอร์กซิตี้ทยอยกลับสู่ความคึกคัก โดยชาวกรุง NYC ยังรักษาไลฟ์สไตล์ “รับลม ชมตะวัน” ไว้อย่างเหนียวแน่น ผู้คนในทุกเขตทั้งแมนแฮตตัน บรุกลิน เดอะบรองซ์ ฯลฯ ซึ่งยังระวังตัวระวังภัยโควิด พากันสวมหน้ากากป้องกันไวรัส แล้วหลั่งไหลสู่ท้องถนน ฟุตบาท และสวนสาธารณะ ออกหาของอร่อยรับประทานกับเพื่อนพ้องตามโต๊ะอาหารกลางแจ้งสวยๆ ที่ร้านรวงเตรียมให้ได้ปาร์ตี้เบาๆ รับสายลมเย็นและแสงแดดอุ่น บ้างก็แห่ไปเฮในลานคอนเสิร์ต บ้างเข้ากิจกรรมบำบัดซึ่งจัดตามแถบริมถนนใกล้ชิดการจราจรที่เริ่มจอแจ
นี่เป็นไลฟ์สไตล์ในวิถีใหม่-นิวนอร์มอล ซึ่งชาวนิวยอร์กเกอร์คุ้นชินกันมาเนิ่นนานตลอดช่วงสองปีที่ต้องเอาชีวิตให้อยู่รอดได้ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด โดยจะต้องหลีกเลี่ยงการหายใจในห้องอันเป็นพื้นที่สาธารณะซึ่งเต็มไปด้วยผู้คนร้อยพ่อพันแม่ ซึ่งมีการถ่ายเทอากาศได้น้อย อาทิ โรงมหรสพ หอประชุม ผับ บาร์ ห้องอาหาร ฯลฯ เพราะนั่นเป็นความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสวายร้ายโควิด 19 จากลมหายใจและฝอยน้ำลายของผู้อื่น
ไลฟ์สไตล์แบบชีวิตกลางแจ้งเป็นเทรนที่มาแรงจริงจังและอยู่ยาวแน่นอน ดังเห็นได้ว่า ในขณะที่นิวยอร์กซิตี้รุดหน้ากระเฉงกระฉับกับการฟื้นตัว คณะผู้บริหารเทศบาลนครแห่งนี้ก็เร่งปรับเปลี่ยนรูปโฉมการใช้ถนนหนทาง ไปสู่รูปแบบที่เอื้ออาทรแก่ชีวิตของคนเดินถนน กล่าวคือ “เพิ่มพื้นที่สำหรับผู้คน-ลดถนนสำหรับยวดยาน”
สิ่งใหม่ที่ผุดขึ้นพรึ่บพรั่บได้แห่กันแจ้งเกิดภายในคอนเซ็ปต์ที่ว่า แม้สถานที่รับประทานในอาคารยังมีอยู่มากมายเช่นเดิม และไม่มีการเรียกร้องให้สวมหน้ากากหรือโชว์ใบฉีดวัคซีน แต่ลานกลางแจ้งที่น่าตื่นตาตื่นใจด้วยโต๊ะอาหารสวยสะร่มรื่นน่านั่ง แห่มาปรากฏตัวกันแบบว่า สร้างใหม่เอี่ยมปิ๊งปิ๊ง เป็นจำนวนมหาศาลอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และที่สำคัญ พื้นที่เพื่อการดื่ม กิน ดิ้นแดนซ์บนลานกลางแจ้งเหล่านี้ก็คือ ช่องทางถนนที่ยวดยานต่างๆ เคยใช้จอดแล้วผู้ขับขึ่ก็แจวไปทำธุระโน่นนี่ นั่นเอง
เร่งขยายโครงการถนนคนเดิน พร้อมโปรโมทบรรยากาศคึกคักด้วยบู้ทขายของโดยผู้ค้ารายย่อย
ในเวลาเดียวกัน คณะเทศบาลนครนิวยอร์กเร่งขยายโครงการถนนคนเดิน ซึ่งประกอบด้วยการปิดถนนหลายหลากเส้นทาง มิให้ยวดยานวิ่ง แล้วเปิดให้เป็นพื้นที่สำหรับคนเดินเท้าทั้งปวง
ขอบเขตดั้งเดิมของโครงการถนนคนเดินเริ่มด้วยแนวคิดว่า เปิดพื้นที่ให้ชาวนิวยอร์กเกอร์ได้ใช้ออกกำลังกาย ในเวลาต่อมา ได้มีการขยายโครงการ ซึ่งมีทั้งเพิ่มช่องทางสำหรับคนเดินถนน ไปจนถึงจัดทำระเบียงธุรกิจรายย่อย (ตั้งซุ้มขายอาหารเครื่องดื่มและสิ่งของต่างๆ) เพื่อให้ผู้ค้ารายย่อยผู้มีฝีมือสูงแต่มีเงินทุนต่ำ ได้รับโอกาสทำมาค้าขายได้ละม้ายกับบรรดาธุรกิจหรูหราที่ร่ำรวยอยู่แล้ว
“มีกิจการเยอะมากค่ะที่ปิดตัวไปในช่วงโรคระบาดโควิต ร้านรวงตามช่วงถนนต่างๆ เต็มไปด้วยหน้าร้านโล่งๆ ร้างๆ แลดูหดหู่ค่ะ” กล่าวโดย มอรา ฮาร์เวย์ ชาวนิวยอร์กเกอร์ในถิ่นอัปเปอร์เวสต์ไซด์ของเขตแมนแฮตตัน
“ดังนั้น อะไรก็ตามที่จะดึงผู้คนกลับมาจับจ่าย อะไรก็ได้ที่มาช่วยอุดหนุนร้านค้า ทุกสิ่งทุกอย่างที่สามารถมาเติมชีวิตจิตใจและสีสันให้แก่ท้องถิ่นต่างๆ พวกเรายินดีโอบรับค่ะ” สาวฮาร์เวย์ประกาศอย่างนั้น
หวนกลับวันวารโบราณหวานชื่น – มอบคืน “พื้นที่ใช้ชีวิต” ให้แก่ชุมชน
อันที่จริง ก่อนที่จะเกิดถนนรนแคมอันล้นหลามในนิวยอร์ก เมื่อเก่าก่อนนั้นที่ทางทั้งปวงเคยเป็นพื้นที่สาธารณะให้เด็กๆ เล่นกีฬา ต่อมาจึงถูกผันเปลี่ยนไปเป็นพื้นที่สำหรับยวดยานใน “ยุคแห่งรถยนต์” ซึ่งเริ่มเมื่อทศวรรษ 1920 โดยจะยอมเว้นวรรคกันบ้างในช่วงที่จัดงานรื่นเริงประจำฤดูร้อนรูปแบบ “ถนนคนเดิน” ซึ่งจะเรียกกันว่า สตรีทแฟร์
หลายๆ ปีที่ผ่านมา ผู้บริหารนิวยอร์กซิตี้รุ่นแล้วรุ่นเล่าพากัน “สร้างทิศทางใหม่ และกำหนดวัตถุประสงค์ใหม่ๆ ในการใช้ถนน” กล่าวโดยอิดานิส รอดริเกวซ กรรมาธิการด้านการขนส่งและคมนาคม เขามุ่งมั่นมากกับการเพิ่มถนนหนทางให้แก่คนเดินเท้าภายในท้องถิ่น เพื่อให้สามารถทำกิจกรรมกลางแจ้งหลากหลายประเภทร่วมกันได้อย่างปลอดภัย เช่น ลานกว้างสำหรับคุณพ่อคุณแม่ฝึกลูกๆ เล่นโรลเลอร์เบลดบ้าง หัดขี่จักรยานบ้าง หรือฝึกขว้างลูกเบสบอลบ้าง
กรรมาธิการ รอดริเกวซ ซึ่งกำกับดูแลโปรแกรมเพื่อประชาชนภายใต้งบประมาณของกรุงนิวยอร์กซิตี้ จำนวน 2 โปรแกรมสำคัญ ได้แก่ โปรแกรมร้านอาหารกลางแจ้ง และโปรแกรมถนนคนเดิน บอกนักข่าวเอพีว่าพื้นที่ซึ่งอยู่ในกำกับดูแลของเทศบาลนิวยอร์กซิตี้ คือพื้นที่ของชาวนิวยอร์กเกอร์ และถนนในนิวยอร์กซิตี้ก็มิได้เป็นของผู้ขับขี่ยวดยานแต่เพียงกลุ่มเดียว ปัจจุบันมี Open Street หรือก็คือถนนคนเดินในเขตต่างๆ ทั้ง 5 เขตของมหานครนิวยอร์ก รวมได้มากกว่า 164 ถนนกันเลยทีเดียว เว็บไซต์ข่าว timeout.com รายงานอย่างนั้น
ไอเดียคืนถนนให้ชุมชน ทยอยทำมานานกว่า 20 ปีแล้ว
การคิดใหม่ทำใหม่เหล่านี้เริ่มต้นและสืบสานดำเนินการกันมาตลอดสองทศวรรษก่อนจะเกิดโรคระบาดร้ายแรงโควิด 19 โดยเมื่อยี่สิบกว่าปีที่แล้วอดีตนายกเทศมนตรีแห่งกรุงนิวยอร์ก นามว่า ไมเคิล บลูมเบิร์ก (2002-2013 รวม 3 สมัยต่อเนื่อง) ได้จัดทำช่องทางรถจักรยานขึ้นในถนนมากมายสายหลักในกรุงนิวยอร์กซึ่งเป็นถนน 5 เลน ทั้งนี้ ได้มีการนำหนึ่งเลนซ้ายสุดมาจัดสรรให้แก่รถจักรยานปั่น พร้อมตีเส้นเป็นสองช่องขาขึ้นกับขาลง แล้วให้เลนติดกันมาเป็นเลนจอดรถฝั่งซ้าย ขณะที่เลนวิ่งรถที่เคยจัดให้ 3 เลนนั้น ถูกลดเหลือเพียง 2 เลน แล้วเลนขวาสุดที่เป็นช่องจอดรถฝั่งขวา ยังทำหน้าที่เดิม (โปรดดูภาพประกอบ)
นอกจากนั้น นายกเทศมนตรีบลูมเบิร์กยังจัดให้มีสถานีให้เช่ารถจักรยานขึ้นมาที่ริมถนนเมืองกรุงเป็นจำนวนมาก
ยิ่งกว่านั้น ยังทำให้พลาซ่าสุดยอดป๊อบปูลาร์ของชาวนิวยอร์กเกอร์ ได้แก่ เฮรัลด์ สแควร์ และไทมส์ สแควร์ กลายเป็นพลาซ่าคนเดิน โดยห้ามยวดยานผ่านเข้าไปในแนวถนนที่มีคนเดินหนาแน่น พร้อมกันนั้น คณะผู้บริหารนิวยอร์กซิตี้ในยุคของนายกฯ บลูมเบิร์กยังทำการเพิ่มบรรดาช่องทางคนเดินและปั่นจักรยานริมน้ำที่เรียกกันว่า Waterfront greenway อีกทั้งเลนจักรยานปั่นในสวนสาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเขตแมนแฮตตันและเขตบรุกลิน
นายกเทศมนตรี บิล เดอ บลาซิโอ (2014-2021) ซึ่งรับตำแหน่งต่อจากนายกฯ บลูมเบิร์ก เดินหน้าสานต่อภารกิจนี้ และเพิ่มมาตรการที่บังคับใช้เพื่อควบคุม-ลดความเร็วของการขับขี่ยวดยานในมหานครนิวยอร์ก ซึ่งเป็นเมืองกรุงที่มีอุบัติเหตุรุนแรงบนท้องถนนเกิดขึ้นมหาศาล
นายกฯ บลาซิโอ ได้รับแรงกระตุ้นให้ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวจากโศกนาฏกรรมบนท้องถนน ซึ่งปลิดชีพเด็กหญิงวัย 15 ปี ตั้งแต่ช่วงไม่กี่วันแรกที่เข้ารับตำแหน่ง
ด้านนายกเทศมนตรีแห่งนิวยอร์กซิตี้คนถัดมา ซึ่งดำรงตำแหน่งตั้งแต่ต้นปีนี้ นามว่า เอริก อดัมส์ ได้รับความสะเทือนใจหนักมากว่า ในช่วงไม่กี่วันแรกที่เข้ารับตำแหน่ง ได้เกิดโศกนาฏกรรมอันน่าสลดใจอย่างที่สุด เมื่อเด็กหญิงวัย 15 ปี ต้องเสียชีวิตในอุบัติเหตุบนท้องถนน นายกฯ อดัมส์ประกาศชัดเจนเลยว่าจะเดินหน้า “ดึงพื้นที่มอบคืนแก่คนเดินถนน”
สุดยอดมรดกจากยุคให้อยู่รอดจากโควิด: การสร้างวัฒนธรรมกินดื่มรื่นเริงกลางแจ้ง ขึ้นมาใหม่
หนึ่งในมรดกอันทรงคุณค่า ที่สืบทอดมาจากยุคโรคระบาดโควิด 19 คือ การสร้างวัฒนธรรมการกินดื่ม โดยขยายให้พ้นออกจากห้องปิดทึบซึ่งอากาศไม่สามารถถ่ายเทได้เพียงพอ ไปสู่การกินดื่มฟังดนตรีกันกลางแจ้งใต้เวิ้งฟ้าในโอบล้อมของสายลมและแสงแดด ซึ่งเป็นการเติมสีสันให้ขอบถนนของมหานครนิวยอร์กดูสวยสะและเปี่ยมเสน่ห์แบบกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ตลอดจนกรุงมาดริด ประเทศสเปน
โอกาสแห่งการสร้างวัฒนธรรมกินดื่มรื่นเริงกันกลางแจ้งแบบที่เคยเป็นกันตั้งแต่ดั้งเดิม ถูกเปิดกว้างขึ้นมาอย่างมหาศาลภายในช่วงสองปีกว่าแห่งการปรับวิถีชีวิตให้สามารถสู้กับไวรัสโควิดได้ ทั้งนี้ ในห้วงแห่งโรคระบาดโควิด 19 อาละวาดอย่างหนัก คณะผู้บริหารเทศบาลนิวยอร์กซิตี้ต้องเร่งส่งเสริมให้ประชาชนดำเนินชีวิตบนพื้นที่โล่งแจ้งเพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสร้ายนี้
ในการนี้ หนึ่งในมาตรการสำคัญที่ถูกขับเคลื่อนคือ โครงการร้านอาหารกลางแจ้งโดยเร่งด่วน ดังนั้น จึงจึงมีผู้ประกอบการด้านอาหารและบาร์มากกว่า 12,000 รายได้รับอนุญาตให้ขยายพื้นที่บริการออกไปสู่ผิวถนน ตัวเลขตรงนี้สูงเป็น 10 เท่าของช่วงก่อนยุคโรคระบาดโควิด ซึ่งมีภัตตาคารและร้านอาหารมาตรฐานสูงเพียง 1,200 รายที่ได้รับอนุญาตให้ตั้งโต๊ะเก้าอี้ให้บริการแก่ลูกค้าบนทางเดินหน้าร้าน
ที่ผ่านมา ทั้งเจ้าหน้าที่ของเทศบาลนครนิวยอร์กซิตี้ และทั้งเจ้าของภัตตาคาร ต่างมีความเห็นตรงกันว่าพื้นที่บริการกลางแจ้งเป็นตัวดึงดูดลูกค้ากลับมากินดื่มและฟังดนตรีได้เป็นอย่างดี พร้อมกับช่วยสร้างงานขึ้นมาได้มากกว่า 100,000 ตำแหน่ง
คาร์เมน ออร์ทิซ ซึ่งบริหารร้าน อิล วิโอลิโน ภัตตาคารอิตาเลียนในย่านอัปเปอร์เวสต์ไซด์ ตั้งหวังไว้มากว่าความพยายามของทางการนิวยอร์กซิตี้ ที่จะเร่งขยายพื้นที่เดินให้แก่ชาวนิวยอร์กเกอร์ จะช่วยเพิ่มจำนวนลูกค้าให้ได้ชื่นใจ หลังจากที่ธุรกิจร้านอาหารพากันลำบากหนักหนาไตรมาสแล้วไตรมาสเล่า
มาดามออร์ทิซเพิ่งเดินทางกลับจากอิตาลี เธอได้เห็นผู้คนที่นั่นแห่กันไปควักกระเป๋าซื้อความสุขจากการทานอาหารในท่ามกลางแสงตะวัน
“ส่วนใหญ่ที่ตั้งโต๊ะอาหารกลางแจ้ง จะใช้พื้นที่ริมทางเดินกันค่ะ” มาดามบอกอย่างนั้น “ไม่ถึงกับลงไปบนถนนแบบที่นิวยอร์กหรอกนะคะ”
กระแสต่อต้านไลฟ์สไตล์กลางแจ้ง คือ แรงมาก นักเคลื่อนไหวเอกชนกับทางการนิวยอร์กซิตี้ต่อสู้กันหนัก
ความพยายามของทีมงานนายกเทศมนตรีแห่งนิวยอร์กซิตี้มิใช่ว่าจะขับเคลื่อนขึ้นหน้าได้ฉลุยนัก แรงต่อต้านผ่านช่องทางต่างๆ ยังไม่จบสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระแสคัดค้านของนักเคลื่อนไหวและกลุ่มที่ไม่พอใจอย่างยิ่งเพราะต้องสูญเสียพื้นที่จอดรถ
บรรดาเสียงวิจารณ์พากันชี้ว่าการมีพวกบู้ทขายอาหารของผู้ค้ารายย่อยมาตั้งบนทางเท้าและที่ว่างโล่งทั้งปวงจะนำเชื้อโรคและสัตว์สกปรกเข้าสู่ชุมชน ยิ่งกว่านั้น ร้านเหล้าและบาร์กลางแจ้งจะส่งเสียงอึกทึกไปจนดึกดื่น รบกวนชีวิตของครัวเรือนต่างๆ ดังนั้น การส่งเสริมให้ธุรกิจของคนบางกลุ่มฟื้นตัว จะกลายเป็นการสร้างความรำคาญแก่คนกลุ่มอื่นๆ
“ตอนนี้ เรามีร้านอาหารมาตั้งบนถนนและทางเดินข้างถนน” จูดิท เบอร์เน็ตต์ หนึ่งในผู้ได้รับความเดือดร้อนรำคาญ กล่าวกับเอพี
ทั้งนี้ อพาร์ตเมนต์ของมาดามเบอร์เน็ตต์มีหน้าต่างเปิดออกสู่ถนนแสนสนุกชื่อ โคลัมบัส อเวนิว ตรงช่วงที่มีสารพัดร้านอาหารไปตั้งเรียงรายให้บริการมื้ออร่อยใต้ผืนฟ้าแก่ประชาชนในนิวยอร์ก แล้วพอถึงวันอาทิตย์ของทุกสัปดาห์ โคลัมบัส อเวนิว ก็กลายเป็นถนนคนเดิน โดยมีการปิดเส้นทางมิให้ยวดยานวิ่งผ่าน
จูดิท เบอร์เน็ตต์ เล่าว่าในช่วงต้นๆ นั้น เธอชื่นชมความริเริ่มส่งเสริมร้านอาหารเครื่องดื่มกลางแจ้งซึ่งช่วยให้ผู้คนได้มีสถานพักผ่อนรื่นเริงในวันคืนที่ร้านแบบปิดไม่สามารถขายได้ ตามมาตรการป้องกันโรคระบาดโควิด 19 โดยเธอบอกว่า “เป็นแนวทางชาญฉลาดซึ่งช่วยให้ผู้ประกอบการมีรายได้ ไม่ต้องยุติกิจการ”
แต่ภายหลังจากที่ได้รับความเดือดร้อนจากบู้ทขายอาหารและบู้ทขายเครื่องดื่มเรียงรายด้านหน้าสถานที่พักอาศัยสร้างความสกปรกและอึกทึก อีกทั้งยังประสบกับผลกระทบด้านจราจรติดขัดและรถเมล์สายที่ต้องใช้ก็ไม่สามารถวิ่งมาถึงบ้านได้ดั่งเดิม มาดามเบอร์เน็ตต์จึงเริ่มจะลังเลใจว่าสภาพการณ์เยี่ยงนี้สมควรจะปักหลักกันไปยาวๆ ล่ะหรือ
“มันส่งผลให้การจราจรช้าลงและยุ่งเหยิงมากเหลือเกินค่ะ” เบอร์เน็ตต์บอกอย่างนั้น
เจ้าหน้าที่สำนักงานเทศบาลนครนิวยอร์กบอกว่า กำลังเร่งรวบรวมข้อร้องเรียนไปพิจารณาศึกษาเพื่อพัฒนามาตรฐานต่างๆ ขึ้น
“ในท่ามกลางหายนะและความโศกเศร้าทั้งปวง เราได้รับสิ่งดีๆ หลายอย่าง โดยหนึ่งในนั้นคือ โอกาสที่จะคิดกันใหม่ทำกันใหม่ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนกับพื้นที่สาธารณะ ซึ่งส่งผลเป็นความริเริ่มใหม่ๆ ไม่ว่าจะร้านอาหารกลางแจ้ง ไปจนถึงถนนคนเดินน่ะครับ” แอนดรูว์ ริกี ผู้อำนวยการบริหารของกลุ่มพันธมิตรธุรกิจบริการแห่งนิวยอร์กซิตี้ ซึ่งเป็นองค์การเอ็นจีโอส่งเสริมร้านอาหารและผับบาร์
ผ.อ. ริกี บอกว่าการทานอาหารกลางแจ้งเป็นความก้าวหน้าทางธรรมชาติ ซึ่งขยายตัวขึ้นมาเพราะความจำเป็น พร้อมกับเอื้อให้ชาวนิวยอร์กเกอร์ได้ “สนุกกับชีวิตกลางกรุงในวิถีที่อาจจะไม่เคยทำเมื่อช่วงก่อนที่จะเกิดโรคระบาดรุนแรงโควิด 19
มอร่า ฮาร์เวย์ ชาวนิวยอร์กเกอร์แห่งถิ่นอัปเปอร์เวสต์ไซด์ในแมนแฮตตัน กล่าวอย่างเดียวกันว่านี่เป็นความก้าวหน้า
“แต่ก่อนแต่ไรมา ดิฉันไม่เคยนึกอยากจะนั่งโต๊ะทานอาหารบนถนนในนิวยอร์กเลยค่ะ เพราะไม่ชอบความอึกทึกจอแจและรู้สึกว่าสกปรก จนกระทั่งมาถึงยุคโรคระบาดโควิด เมื่อทุกคนแฮปปี้ที่จะไปทานอาหารในร้านอาหารกลางแจ้ง จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเมืองกรุงกันแล้ว ดิฉันจึงคิดว่า บางทีนี่คือไลฟ์สไตล์แบบเดียวกับชีวิตในปารีสหรือในมาดริดค่ะ” มอร่า ฮาร์เวย์เผยความในใจกับเอพีอย่างนั้น
โดย รัศมี มีเรื่องเล่า
(ที่มา: เอพี เว็บไซต์ข่าวไทม์เอาท์ดอทคอม)