เอเจนซีส์ – อีลอน มัสก์ เตรียมบินเข้าอินโดนีเซียพฤศจิกายนนี้ หาช่องทางการลงทุนหลังพบกับประธานาธิบดี โจโก วิโดโด ที่โรงงานผลิตจรวดของสเปซเอ็กซ์ในรัฐเทกซัสวันเสาร์(14 พ.ค) ท่ามกลางข่าวลือมัสก์อาจใช้แดนอิเหนาเป็นฐานการผลิตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เกิดขึ้นหลังผู้นำแดนอิเหนาเดินทางเข้าสหรัฐฯประชุมอาเซียนร่วมกับประธานาธิบดีสหรัฐฯเมื่อวันพฤหัสบดี(12 พ.ค)
จาร์กาต้าโกลบ สื่ออินโดนีเซีย รายงานวันนี้(16 พ.ค)ว่า อีลอน มัสก์ ชายผู้ที่ร่ำรวยที่สุดในโลกและเป็นเจ้าของบริษัทรถเทสลาและบริษัทสเปซเอ็กซ์ตกลงที่จะเดินทางมาอินโดนีเซียในเดือนพฤศจิกายนนี้ตามคำเชิญของอินโดนีเซีย เกิดหลังประธานาธิบดีอินโดนีเซีย โจโก วิโดโด เดินทางต่อพบมัสก์ถึงโรงงานผลิตจรวดของบริษัทสเปซเอ็กซ์ ที่โบคา ชิกา(Boca Chica) รัฐเทกซัสในวันเสาร์(14)
เป็นการเยือนสหรัฐฯที่ได้ประโยชน์ของฝ่ายอิเหนาหลังจากเข้าร่วมประชุมอาเซียนกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน จาการ์ตา โกลบรายงานว่า โจโกวีซึ่งเป็นประธานการประชุมกลุ่ม G20แบบหมุนเวียนได้เขียนลงในสมุดเยี่ยมทำเนียบขาวมีใจความอย่างน่ารักว่า
“เฝ้ารอคอยต่อความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งมากขึ้นของความเป็นพันธมิตรระหว่างสหรัฐฯและอาเซียน พบกันที่บาหลีสำหรับการประชุม G20”
สื่ออิเหนาเปิดเผยในรายละเอียดถึงการเดินทางไปรัฐเทกซัสของโจโกวีว่า เขากล่าวว่าการเดินทางพบกับมัสก์เกิดขึ้นหลังการหารือร่วมกันระหว่างมัสก์และรัฐมนตรีความร่วมมือด้านกิจการทางน้ำและการลงทุน ลูฮัต บินซาร์ พานด์ไจตัน
(Luhut Binsar Pandjaitan ) ในเดือนเมษายน
ประธานาธิบดีอินโดนีเซียกล่าวว่า “นี่เป็นการหารือที่ต่อเนื่องกับอีลอน(อีลอน มัสค์)เกี่ยวข้องกับการลงทุน เกี่ยวกับเทคโนโลยี และเกี่ยวกับนวัตกรรมล้ำยุค และในเวลานี้ผมอยู่ที่นี่พบโดยตรงกับอีลอนเพื่อหารือถึงความร่วมมือในอนาคต”
ด้านมัสก์ออกมาเปิดเผยว่า เขามีความรู้สึกสนใจเป็นอย่างมากต่ออนาคตในอินโดนีเซีย ซึ่งในมุมมองของเขาคิดว่า อินโดนีเซียมีศักยภาพมากมายสำหรับความร่วมมือทั้งกับเทสลาและสเปซเอ็กซ์
ในรายงานของจาร์กาต้าโกลบระบุว่า มัสค์ได้กล่าวถึงขนาดประชากรมหาศาลและการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องเป็นปัจจัยที่ทำให้เขามีความสนใจต่ออินโดนีเซีย
ทั้งนี้เป็นที่รู้ดีว่าเทสลาพยายามอย่างหนักในการค้นหาแหล่งซัพพลายแร่นิกเกิลสำหรับการผลิตแบตเตอร์รีของรถเทสลา และเมื่อปี 2011 บริษัทเทสลาได้ลงนามความร่วมมือกับบริษัทเหมืองแร่นิกเกิล BHPto ของออสเตรเลียเพื่อป้อนแร่นิกเกิลที่ผลิตได้จากรัฐออสเตรเลียตะวันตก
ในการเดินทางเข้ารัฐเทกซัสของโจโกวีนั้นรวมไปถึง รัฐมนตรีความร่วมมือด้านกิจการทางน้ำและการลงทุนของอินโดนีเซีย ลูฮัต บินซาร์ พานด์ไจตัน รัฐมนตรีประจำสำนัก พราติกโน( Pratikno) และเอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำสหรัฐฯ โรซาน เพอร์คาซา โรสลานี (Rosan Perkasa Roeslani) โดยสำนักงานทำเนียบประธานาธิบดีอินโดนีเซียเผยแพร่จากแถลงการณ์กล่าวว่า มัสก์ได้ตอบคำเชื้อเชิญของประธานาธิบดี โจโกวีว่า “หวังว่าในเดือนพฤศจิกายนนี้ ขอขอบคุณสำหรับคำเชิญ”
บลูมเบิร์กรายงานว่า รัฐบาลอินโดนีเซียหารือมาแล้วหลายรอบถึงความเป็นไปได้ในการเป็นพันธมิตรกับทีมของมัสก์ในช่วงเวลาไม่กี่ปีล่าสุดรวมถึง การพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าร่วมกับเทสลาและความเป็นไปได้ที่จะมีฐานปล่อยจรวดของบริษัทสเปซเอ็กซ์ที่อินโดนีเซีย แต่มาจนถึงเวลานี้ยังไม่มีการบรรลุข้อตกลงใดๆเกิดขึ้น