รอยเตอร์/เอเจนซีส์ - คนใกล้ชิดนายกรัฐมนตรีกัมพูชา สมเด็จฮุน เซน วันศุกร์ (7 พ.ค.) เรียกร้องให้สหรัฐฯ เพิ่มเวลาการหารือกับบรรดาชาติผู้นำอาเซียน 8 ชาติในการประชุมร่วมกันที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สัปดาห์หน้า หากรัฐบาลไบเดนจริงจังในการยกระดับความสัมพันธ์กับภูมิภาคคานอำนาจปักกิ่งที่กำลังแผ่อิทธิพลเข้ามา
รอยเตอร์รายงานวันเสาร์ (7 พ.ค.) ว่า เจ้าหน้าที่ระดับสูงกัมพูชาให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์วันศุกร์ (7) ว่า กัมพูชามีความต้องการให้สหรัฐฯ เพิ่มเวลาการหารืออย่างใกล้ชิดและมีคุณภาพในการประชุมอาเซียนที่กรุงวอชิงตันสัปดาห์หน้า โดยมีวอชิงตันเป็นเจ้าภาพ
ซึ่งการประชุมอาเซียนร่วมกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน ที่มีกำหนดขึ้นในวันที่ 12 มิ.ย. และวันที่ 13 มิ.ย.ที่กำลังจะเกิดขึ้น “ยังไม่มี” กำหนดการหารือแบบหนึ่งต่อหนึ่งระหว่างผู้นำสหรัฐฯ และผู้นำชาติอาเซียนที่มีนายกรัฐมนตรีไทย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้าร่วมอยู่ในตาราง ซึ่งถือเป็นการประชุมอาเซียนที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เป็นครั้งแรก และยังเป็นครั้งแรกที่นายกรัฐมนตรีกัมพูชา สมเด็จฮุน เซน ได้รับเชิญให้ไปยังทำเนียบขาว
รอยเตอร์รายงานว่า กัมพูชานั่งเป็นประธานแบบหมุนเวียนของอาเซียนในปีนี้และคาดว่าจะมีผู้นำชาติอาเซียนสูงสุด 8 คน รวมถึงสมเด็จฮุน เซน เข้าร่วมการประชุม ซึ่งการประชุมอาเซียนที่กรุงวอชิงตันจะไม่มีผู้นำพม่าเข้าร่วมเนื่องมาจากผลของรัฐประหาร ส่วนฟิลิปปินส์กำลังอยู่ในระหว่างการเปลี่ยนผ่านที่กำลังจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์เกิดขึ้นในวันพรุ่งนี้ (9)
เกา กึม ฮวน (Kao Kim Hourn) รัฐมนตรีกัมพูชาและคนใกล้ชิดของสมเด็จฮุน เซนให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ในวันศุกร์ (6) กล่าวว่า บรรดาชาติผู้นำอาเซียนสมควรได้รับการปฏิบัติด้วยความนับถือและเสมอภาค และได้รับโอกาสที่จะใช้เวลาอย่างมีคุณภาพร่วมกันกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน
“ในฐานะที่เป็นชาติใหญ่ ประเทศเจ้าภาพ สหรัฐฯ สมควรที่จะมีความใจกว้างต่อแขกผู้มาเยือน ผู้นำชาติต่างๆ ที่ต้องรอนแรมมาไกลจนถึงกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. โดยเฉพาะในเวลาที่ผู้นำสหรัฐฯ กำลังต้องการที่จะพูดเพื่อยกระดับพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์” โดยเขาโยงไปถึงการยกระดับการหารือร่วมกันกับผู้นำสหรัฐฯ สัปดาห์หน้า
คนใกล้ชิดฮุนเซนกล่าวกับรอยเตอร์ว่า เขาเชื่อว่าเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสำหรับประธานอาเซียนที่ต้องพบกับผู้นำชาติเจ้าภาพ “ไม่ว่าจะเป็นทางการหรือไม่ก็ตาม” เพื่อการหารือในประเด็นสำคัญ
อย่างไรก็ตาม เกา กึม ฮวน ได้รับแจ้งจากเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำกัมพูชา แพทริค เมอร์ฟี (Patrick Murphy) ว่าจะไม่มีการหารือระดับทวิภาคีระหว่างกันถูกกำหนดขึ้นโดยเหตุผลที่ทางสหรัฐฯ ให้ว่า ระยะเวลาการประชุมนั้นยาวนานแล้วและอีกทั้งประธานาธิบดีไบเดนนั้นยุ่ง
โฆษกทำเนียบขาว เจน ซากี ที่กำลังจะพ้นตำแหน่ง และผู้นำสหรัฐฯ ได้แต่งตั้ง คารีน ฌอง-ปิแอร์ (Karine Jean-Pierre) ซึ่งจะกลายเป็นโฆษกทำเนียบขาวคนแรกที่เป็นผู้หญิงผิวสีและเพศทางเลือก LGBTQ ยังไม่ได้ออกมาแสดงความเห็นต่อการให้สัมภาษณ์จากทางฝ่ายกัมพูชา แต่ทว่าเธอกล่าวในงานแถลงข่าวว่า ไบเดนจะเป็นเจ้าภาพงานเลี้ยงอาหารค่ำแก่ชาติผู้นำอาเซียนในวันพฤหัสบดี (12) และจะเข้าร่วมการประชุมอาเซียนที่กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ในวันศุกร์ (13)
ซากีกล่าวว่า ในการประชุมที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. อาเซียนจะเป็นศูนย์กลางของการหารือเพื่อให้ได้ทางออกที่ยั่งยืนต่อความกดดันที่ท้าทายของภูมิภาคและอีกทั้งยังเป็นการครบรอบ 45 ปีของความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และอาเซียน
เกา กึม ฮวน กล่าวว่า กรอบทำงานเศรษฐกิจอินโดแปซิฟิกของไบเดนยังคงอยู่ระหว่างกระบวนการ และวอชังตันในเวลานี้ให้ความสนใจไปที่ปัญหาภายในประเทศและสงครามยูเครน
เขากล่าวต่ออย่างไม่ปิดบังว่า กัมพูชามีความสัมพันธ์ทางการค้ากับ “จีน” และพนมเปญจะไม่เลือกข้างทั้งวอชิงตันและสหรัฐฯ แต่ยอมรับว่า การลงทุนของสหรัฐฯ ในกัมพูชานั้นเพิ่มขึ้น
“มีมากมายในรายละเอียดที่พวกเรายังไม่รู้” เขากล่าวไปถึง IPEF และเสริมต่อว่า “พวกเรามีความเข้าใจว่ามีลำดับความสำคัญที่ท้าท้ายจำนวนมากในปัญหาระดับโลกสำหรับสหรัฐฯ”
และเขากล่าวอีกว่า แต่ทว่าประเด็นปัญหาทะเลจีนใต้ที่มีชาติสมาชิกอาเซียนเรียกร้องสิทธิความเป็นเจ้าของต่อการอ้างสิทธิของจีนนั้นแน่นอนว่าจะเป็นประเด็นสำหรับไบเดนและรวมไปถึงประเด็นทางสิ่งแวดล้อมอื่นๆ
รอยเตอร์รายงานว่า เชื่อว่าผู้นำสหรัฐฯ จะใช้โอกาสนี้เพื่อกดดันบรรดาชาติสมาชิกอาเซียนให้สนับสนุนเขาเพิ่มมากขึ้นทางการทูตและทางเศรษฐกิจเพื่อโดดเดี่ยวรัสเซียจากสงครามบุกยูเครน
เกา กึม ฮวน กล่าวกับรอยเตอร์ว่า จุดยืนโดยรวมของกลุ่มอาเซียนนั้นจะมาจากฉันทมติเท่านั้น
นักวิเคราะห์และบรรดานักการทูตกล่าวว่า 10 ชาติอาเซียนต่างต้องการที่จะเพิ่มความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ แต่ต้องพบกับความผิดหวังต่อความล้มเหลวในรายละเอียดสำหรับแผนความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจหลังจากที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ นำสหรัฐฯ ออกมาไปจากความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าเสรีรอบมหาสมุทรแปซิฟิก