xs
xsm
sm
md
lg

UNSC เห็นพ้องเอกฉันท์ครั้งแรกต่อวิกฤตยูเครน-รัสเซีย เลี่ยงใช้คำ 'สงครามและการรุกราน'

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ลงมติเป็นเอกฉันท์ ออกถ้อยแถลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่รัสเซียเปิดฉากรุกรานยูเครนในเดือนกุมภาพันธ์ สนับสนุนความพยายามของ อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการใหญ่แห่งสหประชาชาติในการหาทางออกวิกฤตด้วยสันติวิธี แต่หลีกเลี่ยงใช้คำว่า "สงคราม การรุกราน หรือความขัดแย้ง"

ถ้อยแถลงของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติครั้งนี้เห็นพ้องต้องกันอย่างเป็นเอกฉันท์ โดยข้อความสั้นๆ ที่ผ่านความเห็นชอบเมื่อวันศุกร์ (6 พ.ค.) เป็นถ้อยคำแถลงที่ร่างโดยนอร์เวย์และเม็กซิโก

"คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติแสดงความกังวลอย่างยิ่งในเรื่องของการทำนุบำรุงสันติภาพและความมั่นคงของยูเครน" ถ้อยแถลงระบุ "คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติของเรียกร้องให้ทุกรัฐสมาชิก ภายใต้กฎบัตรสหประชาชาติ ทำตามพันธสัญญาในการคลี่คลายข้อพิพาทระหว่างประเทศด้วยแนวทางสันติ"

ถ้อยแถลงระบุต่อว่า "คณะมนตรีความมั่นคงขอแสดงความสนับสนุนอย่างหนักแน่นต่อความพยายามของเลขาธิการใหญ่ สำหรับค้นหาทางออกอย่างสันติ" พร้อมร้องขอให้ กูเตอร์เรส บรรยายสรุปให้ทางคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติรับทราบอีกครั้งในเวลาที่เหมาะสม

กูเตอร์เรส ซึ่งพบปะกับทั้งประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย และประธานาธบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แสดงความขอบคุณต่อแรงสนับสนุนของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในวันศุกร์ (6 พ.ค.) โดยบอกว่าเขาจะไม่ละความพยายามปกป้องชีวิต ลดความทุกข์ทรมานและค้นหาเส้นทางแห่งสันติภาพ

รัสเซีย เป็นสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติและมีสิทธิวีโต้ และเมื่อถามว่าอะไรที่ทำให้มอสโก เห็นชอบกับร่างถ้อยแถลงล่าสุด หนึ่งในผู้แทนทูตซึ่งไม่ประสงค์เอ่ยนาม เปิดเผยกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า "ทุกอย่างผ่านพ้นไปด้วยดี"

ถ้อยแถลงนี้ถือเป็นครั้งแรกที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติแสดงออกถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันนับตั้งแต่รัสเซียรุกรานยูเครนในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ในสิ่งที่พวกเขาเรียกว่าเป็นปฏิบัติการด้านการทหาร

ฮวน รามอน เดอ ลา ฟูเอนโต เอกอัครราชทูตเม็กซิโกประจำสหประชาชาติ ระบุว่า คำแถลงดังกล่าวเป็น "ก้าวย่างแรกๆ ในเบื้องต้น แต่ชี้ให้เห็นถึงทิศทางที่ถูกต้อง"

ส่วน โมนา จูล เอกอัครราชทูตนอร์เวยประจำสหประชาชาติ กล่าวว่า "นี่คือการตัดสินใจที่เป็นเอกฉันท์ครั้งแรกของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หลังสงครามอันน่าสยดสยองนี้เริ่มขึ้นในยูเครน ท่ามกลางความทุกข์ทรมานของประชาชนชาวยูเครน จำเป็นต้องมีความพยายามขั้นสูงสุดจากทั้งสองฝ่ายในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ จากเลขาธิการใหญ่ และจากระบบของสหประชาชาติ"

รัสเซีย ใช้สิทธิวีโต้มติหนึ่งเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ที่ประณามการรุกรานและขอให้มอสโกถอนกำลังออกมา ส่วน จีน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และอินเดียงดออกเสียง

สหประชาชาติ ซึ่งมีหน้าที่รับประกันสันติภาพโลก ยังไม่ได้วางตัวเองในสถานะคนกลางสำหรับหาทางออกจากสงครามอย่างสันติ แต่หันไปมุ่งเน้นในบทบาทให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเป็นหลัก

ที่ผ่านมา สมาชิกสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ 193 ประเทศ ซึ่งไม่มีประเทศไหนที่มีสิทธิวีโต้ ได้ลงมติอย่างท่วมท้นเห็นชอบมติต่างๆ ไปแล้วหลายมติ ที่ประณามการรุกรานยูเครนของรัสเซีย และเรียกร้องทหารรัสเซียหยุดสู้รบและถอนกำลังกลับประเทศ

นอกจากนี้ ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในเดือนที่แล้ว ยังได้ลงมติระงับรัสเซียจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เกี่ยวกับรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงและเป็นระบบโดยทหารรัสเซียในยูเครน ความเคลื่อนไหวที่กระตุ้นให้มอสโกประกาศถอนตัวจากองค์กรแห่งนี้

(ที่มา : อัลจาซีราห์)


กำลังโหลดความคิดเห็น