มีผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 มากกว่าข้อมูลอย่างเป็นทางการเกือบ 3 เท่าในปี 2020 และ 2021 จากรายงานฉบับใหม่ที่เผยแพร่โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ในวันพฤหัสบดี (5 พ.ค.) ในการพิจารณาทบทวนยอดผู้เสียชีวิตจากโรคระบาดใหญ่ทั่วโลกที่ครอบคลุมที่สุดเท่าที่เคยดำเนินการมา
องค์การอนามัยโลกระบุว่า ผู้เสียชีวิตสะสมที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 จนถึงช่วงปี 2021 มีมากกว่า 14.9 ล้านคน ผิดกับตัวเลขอย่างเป็นทางการของผู้เสียชีวิตโดยตรงจากโควิด-19 ที่รายงานมายังองค์การอนามัยโลกในช่วงเวลาดังกล่าว หรือตั้งแต่เดือนมีนาคม 2020 ถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2021 ซึ่งมีเพียง 5.4 ล้านคน
ตัวเลขประมาณการขององค์การอนามัยโลกที่เฝ้ารอการมานานเกี่ยวกับจำนวนเสียชีวิตจากโควิด-19 เป็นการให้ภาพแห่งความจริงมากยิ่งขึ้นของโรคระบาดใหญ่เลวร้ายสุดในรอบศตวรรษ ซึ่งจากการประมาณการในวันพฤหัสบดี (5 พ.ค.) พบว่ามันคร่าชีวิตผู้คนทั่วโลก 1 ใน 500 คน และยังคงเดินหน้าสังหารหลายพันรายในแต่ละสัปดาห์
ข้อมูลนี้มีความอ่อนไหวอย่างมาก สืบเนื่องจากมันสะท้อนให้เห็นว่าพวกเจ้าหน้าที่แต่ละประเทศทั่วโลกรับมือกับวิกฤตได้ดีแค่ไหน และในบางประเทศ โดยเฉพาะอินเดีย มีเสียงโต้แย้งว่าจำนวนผู้เสียชีวิตที่แท้จริงนั้นสูงกว่าที่รายงานเป็นอย่างมาก
อินเดียรายงานพบผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในระหว่างปี 2020 ถึง 2021 จำนวน 481,000 คน แต่องค์การอนามัยโลกประมาณการว่าตัวเลขที่แท้จริงน่าจะอยู่ที่ราวๆ 3.3 ล้านถึง 6.5 ล้านคน
นิวเดลี ปฏิเสธคำกล่าวอ้างดังกล่าว พร้อมคร่ำครวญว่าข้อมูลที่ระบุว่าจำนวนผู้เสียชีวิตสูงกว่าตัวเลขอย่างเป็นทางการของประเทศถึง 10 เท่า ว่าเป็นข้อมูลที่บกพร่อง
การประเมินขององค์การอนามัยโลก เป็นการใช้ตัวเลขผู้เสียชีวิตส่วนเกิน ซึ่งก็คือคำนวณจากจำนวนผู้เสียชีวิตที่เพิ่มมากขึ้นกว่าปกติเมื่อเทียบกับอัตราการเสียชีวิตในช่วงเวลาก่อนการระบาดของโควิด-19 โดยการคำนวณต้องคำนึงถึงผู้เสียชีวิตที่ไม่ได้มีสาเหตุโดยตรงจากโควิด-19 ด้วย เช่น ผู้เสียชีวิตจากผลกระทบข้างเคียง เช่น บางคนไม่สามารถเข้าถึงการรักษาในโรงพยาบาลได้ รวมถึงการเก็บสถิติรายงานผู้เสียชีวิตที่ไม่มีประสิทธิภาพในบางพื้นที่ และการตรวจหาเชื้อไม่ทั่วถึงในช่วงแรกของการระบาด
องค์การอนามัยโลกประกาศให้โควิด-19 เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศในวันที่ 30 มกราคม 2020 หลังเคสผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่แผ่ลามออกนอกจีน
ประเทศต่างๆ ทั่วโลกรายงานตัวเลขผู้เสียชีวิตในปี 2020 และ 2021 มายังองค์การอนามัยโลกที่จำนวน 5.42 ล้านคน และหากนับรวมยอดผู้เสียชีวิตในปี 2022 ด้วย ปัจจุบันอยู่ที่ 6.24 ล้านคน
องค์การอนามัยโลกระบุว่า ผู้เสียชีวิตส่วนเกินส่วนใหญ่หรือราวๆ 84% อยู่ในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออก ยุโรปและทวีปอเมริกา
แต่หากดูอย่างเจาะจง จะพบว่าแค่ 10 ประเทศรวมกัน ประกอบด้วย บราซิล อียิปต์ อินเดีย อินโดนีเซีย เม็กซิโก เปรู รัสเซีย แอฟริกาใต้ ตุรกี และสหรัฐฯ มีสัดส่วนคิดเป็น 68% แล้วของจำนวนผู้เสียชีวิตส่วนเกินทั่วโลก
บรรดาประเทศที่มีรายได้สูงมีสัดส่วนคิดเป็น 15% ของผู้เสียชีวิตส่วนเกิน ส่วนประเทศรายได้ปานกลางค่อนไปทางสูง 28% และรายได้ปานกลางค่อนมาทางต่ำ 53% และประเทศที่มีรายได้ต่ำคิดเป็น 4%
นอกจากนี้ ข้อมูขององค์การอนามัยโลกพบว่าในบรรดาผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ทั่วโลกนั้น เป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง โดยผู้ชายคิดเป็น 57% และผู้หญิง 43% และ 82% ของผู้เสียชีวิตส่วนเกินนั้นเป็นบุคคลอายุ 60 ปีขึ้นไป
ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก ระบุว่า "ตัวเลขนี้ไม่ได้ชี้ถึงผลกระทบของโรคระบาดใหญ่เท่านั้น แต่มันยังชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่ทุกประเทศต้องลงทุนให้ระบบสาธารณสุขมีความยืดหยุ่นยิ่งขึ้น"
มากมายปลายประเทศที่ไม่ศักยภาพติดตามการเสียชีวิตที่มีความน่าเชื่อถือ เพราะฉะนั้นจึงไม่สามารถก่อข้อมูลที่จำเป็นสำหรับระบุอัตราการเสียชีวิตส่วนเกิน และองค์การอนามัยโลกเชื่อว่าโดยทั่วไปแล้ว 6 ใน 10 ของผู้เสียชีวิตทั่วโลกไม่ได้มีการบันทึกอย่างเป็นทางการ
(ที่มา : รอยเตอร์/เอเอฟพี)