xs
xsm
sm
md
lg

นาโต้เสียงแตก! ผู้นำโครเอเชียประกาศขวางรับฟินแลนด์และสวีเดนเป็นสมาชิก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจากเอเอฟพี
การเข้าร่วมนาโต้ของฟินแลนด์และสวีเดน "คือเรื่องหลอกลวงที่อันตรายอย่างมาก" และเทียบเท่ากับเป็นการยั่วยุรัสเซีย จากคำเตือนของโซรัน มิลาโนวิช ประธานาธิบดีโครเอเชียเมื่อวันอังคาร (26 เม.ย.) แต่ยื่นเงื่อนไข ซาเกรบ จะให้สัตยาบันรับรองสถานภาพสมาชิกของ 2 ชาติ หากว่าสหรัฐฯ และอียูกดดัน "บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา" ประเทศเพื่อนบ้าน ให้คำรับประกันสิทธิในการใช้สิทธิใช้เสียงโดยพื้นฐาน ของคนเชื้อสายโครเอเชีย

"ตามความเห็นของผม พวกเขามีสิทธิเข้าร่วมนาโต้ พวกเขาอยากใช้ปากกาแทงดวงตาหมีที่กำลังบ้าคลั่งก็เชิญเลย" มิลาโนวิช บอกกับผู้สื่อข่าวในซาเกรบ "อย่างไรก็ตาม จนกว่าที่กฎหมายเลือกตั้งที่ออกในบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาจะคลี่คลาย จนกว่าอเมริกา อังกฤษ เยอรมนี ถ้าพวกเขาทำได้และต้องการทำ บังคับซาราเยโว และบาคีร์ อีเซตเบกอวิช ให้อัปเดตกฎหมายเลือกตั้งใน 6 เดือนข้างหน้าและรับประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของชนกลุ่มน้อยชาวโครแอตของพวกเขา ทางรัฐสภาโครเอเชียจะไม่ให้สัตยาบันรับรองใครเข้าสู่นาโต้"

มิลาโนวิช ชี้ว่า นาโต้ไม่สามารถอ้าแขนรับรัฐสมาชิกใหม่ไหนๆ หากไม่ได้รับความเห็นชอบจากบรรดาสมาชิกในปัจจุบัน

"อยากให้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ หรือรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ยินเกี่ยวกับเรื่องนี้ตอนนี้เลย แล้วดูว่าพวกเขาสามารถทำอะไรเพื่อโครเอเชียได้บ้าง ผมเหลืออดเต็มที พวกเขาเพิกเฉยและละเลยสมาชิกหนึ่งๆ ของนาโต้และอียู วางโครเอเชียอยู่วงนอก" มิลาโนวิช กล่าว พร้อมระบุว่า หากสหรัฐฯ และพันธมิตรยุโรปตะวันตกต้องการให้ฟินแลนด์และสวีเดนเข้าร่วมในนาโต้ "พวกเขาจะต้องฟังเสียงโครเอเชีย"

ความขับข้องใจใหญ่หลวงของโครเอเชีย คือระบบการเลือกตั้งปัจจุบันในบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา ประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งรับรองความเท่าเทียมของชุมชนคนเชื้อสายโครเอเชีย ภายใต้รัฐธรรมปี 1995 ที่ยุติสงครามกลางเมือง ซาเกรบเรียกร้องให้ปรับปรุงกฎหมายเลือกตั้ง เพื่อเปิดทางให้ชาวโครเอเชียสามารถเลือกตัวแทนของพวกเขาเอง ตรงข้ามกับแนวทางปฏิบัติในปัจจุบัน ที่ตัวแทนเหล่านี้ถูกเลือกโดยประชาคมชาวมุสลิมบอสเนีย ที่เรียกว่า "ชาวบอสนีแอก" ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่ามาก

นอกเหนือจากประเด็นบอสเนียแล้ว มิลาโนวิช ยังมีความคับข้องใจในเรื่องอื่นๆ ในนั้นรวมถึงกรณีอียูปฏิเสธรับบัลแกเรียและโรมาเนียเข้าสู่ข้อตกลงข้ามชายแดน "เชงเก้น" การไม่รับรองโคโวโซ จังหวัดที่แยกตัวจากเซอร์เบีย และการไร้ความคืบหน้าในการเจรจาระหว่างอียูกับแอลเบเนียและนอร์ทมาซิโดเนีย แม้พวกเขายอมกระทั่งเปลี่ยนชื่อประเทศเมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อยุติข้อพิพาทกับกรีซ เนื่องจากชื่อดังกล่าวเหมือนกับชื่อของแคว้นมาซิโดเนียในกรีซ

ข้อพิพาทดังกล่าวเป็นเหตุให้มาซิโดเนียไม่สามารถสมัครเข้าร่วมองค์กรระหว่างประเทศสำคัญๆ อย่างนาโต้ และสหภาพยุโรป เพราะเสียงทัดทานจากกรีซ

สวีเดนและฟินแลนด์ มีประวัติศาสตร์แห่งความเป็นกลาง แต่ช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้ง 2 ชาติเคลื่อนไหวมุ่งหน้าสู่การเข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโต้ โดยอ้างความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน

โครเอเชียเป็นสมาชิกนาโต้ในปี 2019 และเข้าร่วมอียูในปี 2013 ตอนที่ โมลาโนวิช เป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ นักการเมืองจากพรรคโซเชียลเดโมแครตรายนี้ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2020 อย่างไรก็ตาม ไม่แน่ชัดว่า คำขู่วีโต้ของเขาต่อการขยายรับสมาชิกของนาโต้ จะมีผลหรือไม่ในทางปฏิบัติ เนื่องจากเวลานี้พรรคชาตินิยม HDZ ครองเสียงข้างมากในรัฐสภา

(ที่มา : อาร์ทีนิวส์)


กำลังโหลดความคิดเห็น