รัฐบาลยูเครนออกมาแถลงขออภัยต่อญี่ปุ่นเกี่ยวกับคลิปวิดีโอที่โพสต์ลงทวิตเตอร์ ซึ่งมีการนำพระบรมฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตะ มาใส่คู่กับภาพของ ‘อดอล์ฟ ฮิตเลอร์’ และ ‘เบนิโต มุสโสลินี’ จนจุดกระแสประท้วงจากฝั่งโตเกียว
โยชิฮิโระ อิโซซากิ รองเลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น ยืนยันวานนี้ (25 เม.ย.) ว่า รัฐบาลจะยังคงให้การสนับสนุนชาวยูเครนที่ปกป้องประเทศชาติจากการรุกรานของรัสเซียต่อไป แม้จะมีการนำพระบรมฉายาลักษณ์ของอดีตพระจักรพรรดิไปใช้ในทางที่ “ไม่เหมาะสมเลย” ก็ตาม
คลิปซึ่งรัฐบาลยูเครนแชร์ลงทวิตเตอร์เมื่อวันที่ 1 เม.ย. มีเนื้อหาประณามการรุกรานยูเครนว่าสะท้อนความเป็นฟาสซิสต์และการแผ่ขยายอำนาจทางทหารของรัสเซีย (rashism) พร้อมกับมีการนำภาพของผู้นำ 3 คนในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 มาใส่คำบรรยายว่า “ลัทธิฟาสซิสต์และลัทธินาซีพ่ายแพ้ไปแล้วในปี 1945”
กองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นทำสงครามโลกครั้งที่ 2 ในนามของจักรพรรดิฮิโรฮิโตะ หรือ “จักรพรรดิโชวะ” ซึ่งทรงได้รับการเคารพบูชาดุจสมมติเทพ ก่อนที่สถาบันจักรพรรดิจะสูญเสียความเป็นเทวราชาไปหลังจากที่ญี่ปุ่นปราชัยในสงคราม
การตีความบทบาทของพระองค์ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ยังคงเป็นประเด็นถกเถียงในหมู่ชาวญี่ปุ่นมาจนถึงทุกวันนี้
อิโซซากิ ระบุว่า การนำพระบรมฉายาลักษณ์ของพระจักรพรรดิโชวะ มารวมอยู่ในบริบทเดียวกับฮิตเลอร์ และมุสโสลินี “เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม และน่าเสียใจอย่างยิ่ง” พร้อมยืนยันว่ารัฐบาลญี่ปุ่นได้ยื่นประท้วงและเรียกร้องให้ยูเครนถอดพระบรมฉายาลักษณ์ออกแล้ว ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี
เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (24) รัฐบาลยูเครนได้ทวีตข้อความ “ขออภัยอย่างจริงใจต่อญี่ปุ่นสำหรับความผิดพลาดครั้งนี้” และยืนยันว่า “พวกเราไม่มีเจตนาที่จะทำร้ายจิตใจชาวญี่ปุ่นผู้เป็นมิตร” ขณะที่ เซียร์เก กอร์ซุนสกี เอกอัครราชทูตยูเครนประจำญี่ปุ่นก็ได้ทวีตขออภัยเมื่อวันจันทร์ (25) โดยอธิบายว่า ผู้ที่ทำคลิปวิดีโอนี้ขาดความรู้ในเรื่องประวัติศาสตร์
แม้รัฐบาลยูเครนจะถอดคลิปเก่าออกและโพสต์คลิปใหม่ซึ่งไม่มีพระบรมฉายาลักษณ์ของจักรพรรดิฮิโรฮิโตะแล้ว แต่ชาวเน็ตญี่ปุ่นจำนวนมากยังคงไม่พอใจและเรียกร้องให้รัฐบาลหยุดสนับสนุนยูเครน ขณะที่บางคนบอกว่าถ้าใช้รูปนายพลฮิเดกิ โตโจ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในยุคนั้นซึ่งถูกตัดสินแขวนคอฐานก่ออาชญากรรมสงคราม ยังจะเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมกว่า
อย่างไรก็ดี ชาวญี่ปุ่นบางคนมองว่าการเรียกร้องให้ยูเครนถอดคลิปวิดีโอออกเข้าข่ายเป็นการ “เซ็นเซอร์” และการที่ยูเครนยอมทำตามก็ถือเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีนัก เพราะอาจจะสร้างความฮึกเหิมให้แก่ฝ่ายอนุรักษนิยมที่พยายามจะเขียนประวัติศาสตร์ในยุคสงครามเสียใหม่
ที่มา : เอพี