xs
xsm
sm
md
lg

ฮือฮา! “เซเลนสกี” ประกาศต้องการให้ "ชาติในอเชีย" เปลี่ยนทัศนคติต่อ "ยูเครน" ในสงคราม “ปูติน” เป็นคนก่อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเจนซีส์/MGRออนไลน์ - ประธานาธิบดียูเครน โวโลดิมีร์ เซเลนสกี แถลงต่อนักข่าววันเสาร์ (23 เม.ย.) ว่า เขาตั้งความหวังว่าหลายประเทศในเอเชียจะเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อยูเครนในสงครามที่เกิดขึ้นในประเทศของเขาที่รัสเซียเป็นผู้รุกราน ส่งสัญญาณตรงไปหาอินเดีย จีน และหลายประเทศที่มีประวัติศาสตร์ใกล้ชิดกับรัสเซียในอดีต ด้านไทยประกาศความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมล็อตแรกให้ยูเครน ถึงแล้ว 1 วันก่อนสงกรานต์

เดอะฮิลล์ของสหรัฐฯ รายงานเมื่อวานนี้ (24 เม.ย.) ว่า ในงานแถลงข่าววันเสาร์ (23) ประธานาธิบดียูเครน โวโลดิมีร์ เซเลนสกี แสดงความหวังว่าจะสามารถทำให้ในท้ายที่สุดประเทศต่างๆ ในเอเชียจะหันมาเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อยูเครนและให้การสนับสนุนในที่สุด โดยการออกมาของเซเลนสกี เกิดขึ้นท่ามกลางข่าวการเดินทางเยือนอังกฤษในสัปดาห์ที่ผ่านมาของนายกรัฐมนตรีอังกฤษ บอริส จอห์นสัน ที่ต้องการเปิดศักราชใหม่หลัง BREXIT ทางการค้า และโน้มน้าวอินเดียเกี่ยวกับจุดยืนในสงครามยูเครน

เซเลนสกีกล่าวในงานแถลงข่าวว่า การที่นาโต้ไม่ต้อนรับยูเครนเข้าเป็นสมาชิกนั้นถือเป็นความผิดพลาดครั้งร้ายแรงและอีกทั้งยังมีหลายชาติสมาชิกต่างสบประมาทยูเครน แต่ทว่าการรวมพลังของคนในชาติยูเครนและความแข็งแกร่งที่ตอบโต้การรุกรานของรัสเซียทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนคตินี้ขึ้นต่อยูเครน

“ผมต้องการเป็นอย่างยิ่งให้หลายประเทศในเอเชียเปลี่ยนแปลงความคิดของคนเหล่านั้นที่มีต่อยูเครน” เซเลนสกีชี้ และเสริมต่อว่า เขาเข้าใจว่าประเทศเหล่านี้ส่วนใหญ่มีความสัมพันธ์ในอดีตกับรัสเซียเมื่อครั้งยุคสหภาพโซเวียตเคยรุ่งเรือง

และกล่าวอีกว่า “ดังนั้นหลังจากการล่มสลายของอดีตสหภาพโซเวียตประเทศเหล่านี้มีความใกล้ชิดอย่างมากต่อสหพันธรัฐรัสเซียที่เกิดขึ้นใหม่ และเป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดในสหภาพหลังการล่มสลาย นั่นทำให้ว่าพวกเขายังคงมีความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งกับรัสเซีย" แต่อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดียูเครนกล่าวว่า เขาเห็นว่ามันมีการเปลี่ยนแปลงเพราะมีหลายประเทศมีแนวโน้มใกล้ชิดกับยูเครนเพิ่มมากขึ้น และอีกทั้งประชาชนของประเทศเหล่านี้เปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อ 'ยูเครน' เช่นกัน

การแสดงความเห็นของเซเลนสกีเกิดขึ้นท่ามกลาง อินเดีย ถูกสหรัฐฯ อังกฤษ และชาติตะวันตกทั้งหลายให้เลิกนิ่งเงียบไม่ยอมประณามรัสเซียเหมือนเช่นที่เคยกระทำมา แต่หันหน้ามาร่วมกับประเทศเหล่านี้ต่อต้านอำนาจนิยมแบบเผด็จการของประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน ที่มีความทะเยอทะยานต่อการบุกยูเครน

อินเดียใกล้ชิดกับรัสเซียเนื่องมาจากความช่วยเหลือทางยุทโธปกรณ์ทางการทหารของเครมลิน และใช้การผูกมิตรกับรัสเซียเพื่อถ่วงดุลกับการขยายอิทธิพลของจีนในภูมิภาค

ฮินดูสถานรายงานว่า ทั้งนี้ในวันศุกร์ (22) ระหว่างการเยือนอินเดียของจอห์นสัน เขาออกมากล่าวในการให้สัมภาษณ์หลังการพบปะว่า นายกรัฐมนตรีอินเดีย นเรนทรา โมดี นั้นเข้าแทรกแซงหลายครั้งในการหารือกับปูติน ว่า ปูตินคิดว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่และคิดว่ามันจะออกไปในทิศทางใด จอห์นสันกล่าวอีกว่า โมดีกล่าวว่าอินเดียต้องการสันติภาพและต้องการให้รัสเซียออกไปจากสงครามยูเครน

นอกเหนือจากอินเดียแล้ว จีน เป็นอีกหนึ่งประเทศในชาติเอเชียที่ปฏิเสธจะประณามรัสเซียต่อการบุกยูเครน โดยเจ้าหน้าที่ปักกิ่งสัปดาห์ที่ผ่านมาประกาศว่า จีนจะกระชับความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีให้แน่นแฟ้นมากขึ้นกับรัสเซียท่ามกลางสงครามยูเครน

ทั้งนี้ สำหรับในส่วนของไทยที่ผ่านมายังคงมีจุดยืนการวางตัวเป็นกลางในสงครามยูเครน ซึ่งบนเว็บไซต์กระทรวงต่างประเทศลงวันที่ 12 เม.ย. แถลงว่าสถานทูตไทยประจำกรุงวอซอว์ โปแลนด์ ได้ส่งมอบความช่วยเหลือทางการบรรเทาทุกข์ล็อตแรกจากรัฐบาลไทยไปให้องค์กรกาชาดโปแลนด์ โดยความช่วยเหลือคิดเป็นมูลค่า 2 ล้านบาท หรือราว 60,000 ดอลลาร์ ตามคำร้องขอของรัฐบาลประธานาธิบดีเซเลนสกี ผ่านทางสถานทูตยูเครนประจำประเทศไทย

ในแถลงการณ์ระบุว่า ทางการไทยให้ความสนใจไปที่ความยากลำบากของพลเรือนยูเครนที่ได้รับผลกระทบจากสงครามและเป็นการทำงานไปพร้อมกันกับความพยายามของประชาคมโลกในการบรรเทาผลกระทบทางวิกฤตมนุษยธรรมในสงครามยูเครน

เดอะการ์เดียนสื่ออังกฤษรายงานในวันที่ 5 เม.ย.ว่า ปฏิกิริยาภายในไทยต่อการบุกยูเครนของรัสเซียมักจะสะท้อนต่อการเมืองแบบแบ่งขั้วที่ชัดเจนภายในประเทศ อ้างอิงจาก ผศ.ดร.กิตติ ประเสริฐสุข (Kitti Prasirtsuk) คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่ชี้ให้เห็นว่า ในกลุ่มการเมืองปีกอนุรักษนิยมของไทยจะแสดงความเห็นอกเห็นใจและสนับสนุนต่อรัสเซียที่มีความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์อย่างยาวนานมาตั้งแต่อดีตจักรพรรดินิโคลัสที่ 2 แห่งอาณาจักรรัสเซีย ที่ช่วยไทยในอดีตให้สามารถต่อต้านการบุกรุกยึดเป็นอาณานิคมจากการล่าเมืองขึ้นของอังกฤษและฝรั่งเศสในสมัยรัชกาลที่ 5

และอาจารย์กิตติ ยังชี้ว่า และทำให้มีการแสดงความชื่นชมต่อลักษณะการบริหารประเทศแบบสายเหยี่ยวของประธานาธิบดีปูติน ตามไปด้วย ซึ่งกลุ่มการเมืองปีกสายอนุรักษ์ของไทยเหล่านี้ต่างรู้สึกไปถึงความเหมือนระหว่างปูติน และผู้นำจีนประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จากการที่ “คนเหล่านี้คิดว่าประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ทำให้จีนประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจ” และย้ำกว่า “พวกกลุ่มสายอนุรักษ์มักจะนิยมผู้นำที่มีลักษณะเช่นนี้”

ซึ่งต่างจากทัศนะคนรุ่นใหม่ทั้งหลายจำนวนมากในไทยที่เข้าร่วมประท้วงทางการเมืองในประเทศ และการปฏิรูปสถาบันในไทยนั้นต่างสนับสนุนยูเครน โดยผู้มีชื่อเสียงในแวดวงการเมืองไทยต่างออกมาชี้นิ้วว่า บรรดาชาติตะวันตก รวมสหรัฐฯ อยู่เบื้องหลังการประท้วงของเยาวชนคนรุ่นใหม่เหล่านี้มีส่วนช่วยต่อการออกมามีปฏิกิริยาของฝ่ายอนุรักษนิยมในสงครามยูเครน

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล (Netiwit Chotiphatphaisal) ผู้นำนักศึกษาทางการเมืองชื่อดังของไทยออกมาแสดงความเห็นว่า “เมื่อคุณเรียนรู้ที่จะต่อสู้กับเผด็จการมันไม่เป็นการยากที่คุณจะเข้าใจประชาชนที่กำลังต่อสู้ถึงปัญหาเดียวกันในที่อื่น” พร้อมกันนี้ เขาได้เปิดเผยในรายงานเดอะการ์เดียนว่า มีบางส่วนถึงการปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะเดินทางไปยูเครนเพื่อสนับสนุนประชาชนยูเครนที่นั่น แต่ทว่าไม่เป็นที่แน่ชัดว่ามีใครประสบความสำเร็จสามารถเดินทางไปได้บ้าง

สื่ออังกฤษชี้ว่า ที่ผ่านมาสถานทูตยูเครนและรัสเซียในกรุงเทพฯ ต่างออกมาปะทะกันต่อข่าวที่มีประชาชนไทยต้องการอาสาไปร่วมรบในสงครามยูเครน และทำให้สถานทูตรัสเซียออกมาข่มขู่ว่าหากมีการจับตัวทหารรับจ้างต่างชาติเหล่านี้ได้จะไม่มีการให้สถานะเชลยศึกและถูกดำเนินคดีตามกฎหมายรัสเซีย

ขณะที่บรรดานักการเมืองไทยเป็นต้นว่า กษิต ภิรมย์ (Kasit Piromya) อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสมัยอดีตนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ออกมาชี้ว่าเป็นความผิดของสหรัฐฯ ที่ไม่ให้ความสนใจประเด็นด้านความมั่นคงของรัสเซียอย่างจริงจัง และย้ำว่าทั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน และฝ่ายยูเครนสมควรเข้าสู่การเจรจาแบบคู่ขนานร่วมกับประธานาธิบดีปูตินเพื่อแก้ปัญหา

ขณะที่รองศาสตราจารย์ ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล นักการเมืองพรรคก้าวไกลที่เรียกร้องการปฏิรูปสถาบันออกมาแสดงความเห็นว่า มีการรายงานออกมาทางหน้าสื่อเกี่ยวกับสงครามยูเครนไม่ต่างอะไรจากพล็อตภาพยนตร์ฮอลลีวูดที่มีรัสเซียกลายเป็นผู้ร้ายถาวร แต่อย่างไรก็ตาม รองศาสตราจารย์ ดร.ปิยบุตร ออกมาแก้ตัวในภายหลังว่า เขาประณามรัสเซียในการบุกยูเครนโดยชี้ไปที่เป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ

เดอะการ์เดียนรายงานว่า ทั้งนี้รัสเซียไม่ถือเป็นคู่ค้าสำคัญของไทย แต่ทว่าในภาวะหลังโควิด-19 นักท่องเที่ยวรัสเซียคิดเป็นหนึ่งในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ใหญ่ที่สุดในการเข้ามาในไทย และในปีนี้ไทยจะเป็นประธานการประชุมเอเปกที่มี 21 ชาติเข้าร่วม รวมรัสเซีย จีน และสหรัฐฯ ซึ่งนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกมาเตือนสื่อมวลชนในประเทศห้ามการวิเคราะห์อย่างลึกซึ้ง โดยชี้ว่า “ทำมากไปจะกระทบต่อภาพลักษณ์ประเทศของเรา”


กำลังโหลดความคิดเห็น