สถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งของไต้หวัน ต้องรุดออกมาขอโทษต่อความผิดพลาดที่ก่อความตื่นตระหนกแก่ประชาชน เมื่อวันพุธ (20 เม.ย.) หลังแจ้งเตือนภัยเป็นชุุดๆ ว่าจีนได้เปิดฉากโจมตีเกาะแห่งนี้แล้ว
ประชาชน 23 ล้านคนของไทเปอยู่ภายใต้ภัยคุกคามมาช้านาน เกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จีนจะยกพลรุกราน ในขณะที่ปักกิ่งมองเกาะปกครองตนเองตามระบอบประชาธิปไตยแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งในดินแดนของพวกเขา ที่ต้องยึดคืนไม่วันหนึ่งวันใด และอาจใช้กำลังถ้ามีความจำเป็น
สถานีโทรทัศน์ Chinese Television System (CTS) ของไต้หวัน ก่อความตื่นตระหนก หลังเผยแพร่ข่าวด่วนแจ้งเตือนหลายรอบบนหน้าจอ ในนั้นรวมถึงข้อความที่ระบุว่า "นครไทเปใหม่ถูกโจมตีด้วยขีปนาวุธนำร่องของกองทัพคอมมิวนิสต์และเรือหลายลำระเบิด ท่าเทียบเรือและเรือหลายลำได้รับความเสียหายบริเวณท่าเรือไทเป"
ส่วนการแจ้งเตือนอื่นๆ ปรากฏข้อความว่า "พวกคอมมิวนิสต์จีนเตรียมทำสงคราม ประธานาธิบดีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และสงครามอาจปะทุขึ้นแล้ว นครนิวไทเปได้เปิดศูนย์ควบคุมและบัญชาการสถานการณ์ฉุกเฉินร่วม" เป็นต้น
CTS กล่าวโทษความผิดพลาดไปที่พนักงานคนหนึ่ง ซึ่งเผลอนำข้อความสำหรับใช้ในการฝึกซ้อมป้องกันภัยพิบัติที่สถานีผลิตให้หน่วยดับเพลิงของนครนิวไทเป ขึ้นออกอากาศ "CTS ขอโทษอย่างจริงใจที่ความผิดพลาดร้ายแรงนี้สร้างความแตกตื่นในสังคมและรบกวนการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง" ถ้อยแถลงระบุ
การแจ้งเตือนภัยสงครามผิดพลาดครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงที่ผู้คนในไทเปมีความกังวลขั้นสูงสุด จากกรณีรัสเซียเปิดฉากรุกรานยูเครน เนื่องจากมันโหมกระพือความหวาดวิตกว่าจีนอาจดำเนินการแบบเดียวกันในวันหนึ่งข้างหน้า หลังจากก่อนหน้านี้เคยประกาศจะรวมไต้หวันเข้ากับจีนแผ่นดินใหญ่ให้สำเร็จ
ต่อมา CTS แก้ไขความผิดพลาดรายงานข้อมูลที่ถูกต้อง พร้อมกับแสดงความขอโทษผ่านหลายๆ ช่องทาง และระบุว่าจะลงโทษอย่างรุนแรงกับบุคคลที่อยู่เบื้องหลัง หลังดำเนินการสืบสวนภายใน
"อย่าตื่นตระหนก" ข้อความหนึ่งเขียนบนเพจเฟซบุ๊กอย่างเป็นทางการของ CTS พร้อมกับโพสต์ภาพชี้แจงคำเตือน โดยระบุว่า "CTS เผยแพร่ข้อความแจ้งเตือนสงครามและป้องกันภัยพิบัติผิดพลาด ประชาชนไม่จำเป็นต้องตื่นตระหนัก
แม้ไม่พบเห็นสัญญาณความตื่นตระหนกในวงกว้างบนท้องถนนสายต่างๆ ของไทเปในตอนเช้าวันพุธ (20 เม.ย.) แต่ชาวเน็ตบางส่วนแสดงออกถึงความโกรธเกรี้ยวต่อความผิดพลาดของ CTS
ปักกิ่ง ยกระดับกดดันไต้หวัน นับตั้งแต่ประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน เข้ารับตำแหน่งในปี 2016 เธอมองว่าเกาะแห่งนี้เป็นประเทศอธิปไตย และไม่ได้เป็นดินแดนส่วนหนึ่งของจีน
ปฏิบัติการสำแดงแสนยานุภาพข่มขวัญหนักหน่วงขึ้นในช่วงขวบปีที่ผ่านมา ฝูงบินรบของจีนละเมิดเขตป้องกันภัยทางอากาศของไต้หวันแทบทุกวัน
เมื่อปีที่แล้ว ไต้หวันตรวจพบการล่วงล้ำถึง 969 ครั้ง เพิ่มขึ้นจากราวๆ 380 ครั้งในปี 2020 กว่าเท่าตัว ขณะที่ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ พบเครื่องบินของจีนละเมิดเขตป้องกันภัยทางอากาศของไต้หวันแล้วราวๆ 300 ครั้ง จากข้อมูลของเอเอฟพี
(ที่มา : เอเอฟพี)