รอยเตอร์/เอเจนซีส์ - ศาลแขวงเวสต์มินสเตอร์ที่กรุงลอนดอนวันนี้ (20 เม.ย.) ได้ส่งเรื่องอย่างเป็นทางการให้กระทรวงมหาดไทยอังกฤษพิจารณาส่งตัวเจ้าของวิกิลีกส์ ชาวออสเตรเลีย "จูเลียน แอสซานจ์" ในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนดำเนินคดีที่สหรัฐฯ ต่อ หลังการต่อสู้ทางกฎหมายยืดเยื้อนานร่วมปี
รอยเตอร์รายงานวันนี้ (20 เม.ย.) ว่า เจ้าของวิกิลีกส์ จูเลียน แอสซานจ์ เป็นที่ต้องการตัวของรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้ความผิด 18 ข้อหาเกิดขึ้นหลังเว็บไซต์วิกิลีกส์ของเขาได้เผยแพร่เอกสารลับและการสื่อสารทางการทูตในปี 2010 และหากว่าเขาถูกพบว่ามีความผิดจริงภายใต้กฎหมายจารกรรมลับสหรัฐฯ (Espionage Act) แอสซานจ์ ปัจจุบันวัย 50 ปีคาดว่าจะต้องถูกจำคุกนานรวม 175 ปี
ในวันพุธ (20) หัวหน้าผู้พิพากษาศาลแขวงเวสต์มินสเตอร์ พอล โกลด์สปริง (Paul Goldspring) ได้อนุมัติการส่งตัวแอสซานจ์โดยให้อนุมัติส่งคดีต่อไปให้รัฐมนตรีมหาดไทยอังกฤษ ปริตี ปาเตล เพื่อพิจารณาเห็นชอบต่อไป
ทั้งนี้ พบว่าเจ้าพ่อวิกิลีกส์ร่วมปรากฏตัวในการฟังคำพิจารณาทางออนไลน์จากเรือนจำความมั่นคงสูง เบลมาร์ช (Belmarsh) ในกรุงลอนดอน โดยในการรับฟังการพิจารณาคดีที่เป็นระยะเวลาสั้นๆ พบว่าได้มีการสั่งให้แอสซานจ์ ยืนยันชื่อและนามสกุลจริง และวันเกิดของตัวเอง
แอสซานจ์ถูกส่งมาที่เรือนจำความมั่นคงสูงแห่งนี้นับตั้งแต่เขาถูกลากตัวออกมาจากสถานทูตเอกวาดอร์ ประจำกรุงลอนดอน เมื่อ 3 ปีก่อน และในระหว่างการฟังการพิจารณาคดี ผู้พิพากษาโกลด์สปริงได้แจ้งต่อแอสซานจ์ ว่า เขาจะส่งคดีของแอสซานจ์ต่อให้รัฐมนตรีมหาดไทยอังกฤษเป็นผู้ลงนามอนุมัติการส่งตัวให้สหรัฐฯ
รอยเตอร์ชี้ว่า และหลังจากนี้ชะตาชีวิตของแอสซานจ์จะต้องขึ้นอยู่กับปาเตล ว่าจะลงนามในการสั่งลงนามการส่งตัวหรือไม่ อ้างอิงจากนิวส์วีกพบว่า ทีมกฎหมายของแอสซานจ์มีเวลาไปจนถึงแค่วันที่ 18 พ.ค.ในการยื่นเรื่องอุทธรณ์ต่อคำตัดสิน
สถานีโทรทัศน์สกายนิวส์ของอังกฤษรายงานว่า ที่ด้านนอกศาลแขวงเวสต์มินสเตอร์ มีผู้สนับสนุนแอสซานจ์เป็นจำนวนมากรวมตัวเพื่อให้กำลังใจ และยังรวมไปถึงนักการเมืองชื่อดังอังกฤษ อดีตผู้นำพรรคแรงงานฝ่ายค้าน เจรามี คอร์บิน (Jeremy Corbyn) ที่ออกมายืนยันว่า “เขาไม่ได้ทำอะไรมากไปกว่าการบอกความจริงต่อโลก” และยืนยันว่าเขาและผู้สนับสนุนแอสซานจ์จะเดินหน้าการประท้วงเพื่อช่วยเหลือผู้ก่อตั้งวิกิลีกส์ต่อไป
คอร์บิน ยังกล่าวต่อว่า เขายังตั้งความหวังว่าปาเตลจะยืนเคียงข้างเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น การสื่อสารมวลชน และประชาธิปไตย และปล่อยตัวจูเลียน แอสซานจ์ ให้เป็นอิสระ