เอเอฟพี/เอเจนซีส์ - ธนาคารกลางศรีลังกาแถลงวันอังคาร (12 เม.ย.) ประกาศผิดนัดชำระหนี้ต่างประเทศ 51 พันล้านดอลลาร์หลังวิกฤตเศรษฐกิจทำให้โรงพยาบาลต่างๆ ขาดแคลนยารักษาโรค ประชาชนลุกฮือประท้วงไล่รัฐบาล เนปาลเพื่อนบ้านสั่งจำกัดการนำเข้าหลังเงินทุนสำรองระหว่างประเทศหด ด้านนายกรัฐมนตรีปากีสถานคนใหม่ เชห์บาซ ชารีฟ (Shehbaz Sharif) แถลงเดินหน้ามาตรการประชานิยม หันซบเงินทุนจีนโครงการหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทางเปลี่ยนอิสลามาบัดให้เป็นสวรรค์สำหรับนักลงทุน
เอเอฟพีรายงานวันนี้ (12 เม.ย.) ว่า ผู้ว่าการธนาคารกลางศรีลังกา นันดาลัล วีระสิงห์ (Nandalal Weerasinghe) กล่าวผ่านแถลงการณ์วันอังคาร (12) ถึงการผิดชำระหนี้ต่างประเทศ จำนวน 51 พันล้านดอลลาร์ว่า “เราสูญเสียความสามารถในการจ่ายคืนหนี้ต่างประเทศ” และเสริมต่อว่า “นี่เป็นการผิดนัดชำระการตกลงแบบโจมตีก่อนที่ทางเราได้แจ้งแก่บรรดาเจ้าหนี้”
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่โคลัมโบชี้ว่า การให้ศรีลังกายอมผิดนัดชำระหนี้เพื่อจะทำให้มีความสามารถในการนำเงินสกุลต่างประเทศที่มีอยู่ในคลังเพื่อซื้ออาหาร เชื้อเพลิง ยารักษาโรค และความจำเป็นพื้นฐานอื่นๆ จากต่างประเทศหลังจากขาดแคลนมาร่วมหลายเดือน
ทั้งนี้ ในวันจันทร์ (11) แพทย์ศรีลังกาออกมาเตือนว่า ระบบสาธารรสุขในประเทศใกล้ล้มครืน และจะมีคนเป็นจำนวนมากเสียชีวิตหลังเกิดการขาดแคลนยารักษาโรคและสิ่งของจำเป็นทางการแพทย์ตามโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ ที่รวมไปถึงยารักษาโรคหัวใจและท่อสำหรับให้ทารกแรกคลอดหายใจ
ปัญหาการขาดกระแสไฟฟ้าทั่วศรีลังกายังส่งผลทำให้แพทย์ในสถานพยาบาลที่ห่างไกลต้องเย็บแผลและรักษาอาการถูกงูกัดให้คนไข้ในความมืด
เอเอฟพีรายงานว่า ต่ำกว่าครึ่งของหนี้ต่างชาตินั้นพบว่ารัฐบาลโคลัมโบกู้ผ่านตราสารหนี้รัฐบาลต่างประเทศ (international sovereign bond) ซึ่งหนึ่งในนั้นมีมูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์ที่มีกำหนดครบอายุในวันที่ 25 ก.ค.ที่จะถึง
ขณะที่จีนซึ่งเป็นเจ้าหนี้ใหญ่สุดของระดับทวิภาคีโดยมีสัดส่วน 10% ของหนี้ต่างประเทศของศรีลังกา ตามมาด้วยญี่ปุ่นและอินเดีย เกิดขึ้นหลังจากที่โคลัมโบกู้เงินจากปักกิ่งครั้งใหญ่ตั้งแต่ปี 2005 เพื่อโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ
ทั้งนี้ กระทรวงต่างประเทศจีนออกแถลงการณ์วันนี้ (12) ว่า การประกาศผิดนัดชำระหนี้ต่างประเทศของศรีลังกาจะไม่หยุดปักกิ่งในการให้การสนับสนุนทางการเงินต่อเศรษฐกิจของศรีลังกา
การออกมาประกาศหยุดชำระหนี้ต่างประเทศของศรีลังกาชั่วคราวเกิดขึ้นในเวลาเดียวกันกับที่เนปาลประเทศเพื่อนบ้านประกาศสั่งห้ามการนำเข้าสินค้าไม่จำเป็นเพื่อเก็บเงินไว้สำหรับการซื้อสินค้าจำเป็น
บีบีซี สื่ออังกฤษ รายงานว่า การสั่งห้ามนำเข้าชั่วคราวเกิดมาจากเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของเนปาลลดต่ำลงไปกว่า 16.% อยู่ที่ 9.59 พันล้านดอลลาร์ในช่วงระหว่าง 7 เดือนจนถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ท่ามกลางปัญหาการตกลงของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเนปาล และการส่งเงินกลับบ้านของแรงงานในต่างแดนลดลงไปเกือบ 5%
ขณะที่สัปดาห์ที่ผ่านมา มหา ปราสาด อธิการี (Maha Prasad Adhikari) ผู้ว่าธนาคารกลางเนปาล ถูกรัฐบาลเนปาลสั่งปลดออกจากตำแหน่ง รัฐมนตรีคลังเนปาลกล่าวแสดงความรู้สึกว่า เขารู้สึกแปลกใจที่ปัญหาของเนปาลถูกนำไปเปรียบเทียบกับวิกฤตเศรษฐกิจของศรีลังกาได้อย่างไร
บลูมเบิร์กรายงานเมื่อวานนี้ (11) ว่า อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าผู้นำปากีสถานคนใหม่จะดำเนินตามรอยศรีลังกา และเดินหน้าเข้าสู่กับดักทุนจีน
นายกรัฐมนตรีปากีสถานคนใหม่ เชห์บาซ ชารีฟ (Shehbaz Sharif) อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดปัญจาบ ที่สร้างชื่อเสียงจากการโปรธุรกิจ ประกาศในการแถลงทางนโยบายครั้งแรกหลังได้รับเลือกตั้งเป็นผู้นำอิสลามาบัดคนใหม่จากรัฐสภาปากีสถานในมติ 174 จาก 342 เสียงเมื่อวันจันทร์ (11) เขาจะเดินหน้าใช้มาตรการประชานิยมและต้องการผลักดันการพัฒนาอย่างเร่งด่วนสำหรับโปรเจกต์สำคัญภายใต้โครงการหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทางของประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง
ทั้งนี้ ชารีฟ ผู้นำพรรคสันนิบาตมุสลิมปากีสถาน-นาวาซ (Pakistan Muslim League-N) ซึ่งเป็นน้องชายของอดีตนายกรัฐมนตรี นาวาซ ชารีฟ ต้องการเปลี่ยนอิสลามาบัดให้เป็นสวรรค์สำหรับนักลงทุนหลังเงินทุนสำรองระหว่างประเทศลดและค่าสกุลเงินรูปีปากีสถานตก
“กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียว” ชารีฟ กล่าวต่อสมาชิกรัฐสภาปากีสถานหลังการเลือกตั้งในวันจันทร์ (11) และเสริมต่อว่า “เราจะทำให้มั่นใจว่าพวกเราทำให้ปากีสถานเป็นสวรรค์สำหรับการลงทุนผ่านนโยบายที่แสนวิเศษเหล่านี้”
ทั้งนี้ ในส่วนหนึ่งของแถลงการณ์ ชารีฟประกาศว่าเขาให้ความสนใจไปที่โครงการเส้นทางเศรษฐกิจปากีสถาน-จีน (China-Pakistan Economic Corridor) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการโครงสร้างพื้นฐานจีน หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง และโปรเจกต์สำคัญที่พรรคของเขานำเข้ามาสู่ปากีสถานก่อนที่อดีตนายกรัฐมนตรี อิมรอน ข่าน จะรับตำแหน่งในปี 2018