รอยเตอร์ - ญี่ปุ่นแสดงความร่วมมือร่วมกับชาติอื่นๆ ในการสนับสนุนยูเครนด้วยการเปิดเที่ยวบินพิเศษนำชาวยูเครน 20 คนมาลี้ภัยในญี่ปุ่นชั่วคราวในวันอังคาร (5 เม.ย.) เกิดขึ้นในประเทศที่มักลังเลเปิดกว้างต่อชาวต่างชาติ
รอยเตอร์รายงานวันนี้ (5 เม.ย.) ว่า พลเมืองชาวยูเครน 20 คน ที่เดินทางมามีอายุตั้งแต่ 6 ปี ไปจนถึง 66 ปีนั้นไม่ใช่ชาวยูเครนกลุ่มแรกที่เดินทางมาถึงนับตั้งแต่สงครามเริ่มต้นมาตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ. แต่เป็นกลุ่มแรกที่ถูกนำมาด้วยเครื่องบินรัฐบาลโตเกียวในการเดินทางที่ประสานงานโดยรัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น
โยชิฮิมาสะ ฮายาชิ (Yoshimasa Hayashi) รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่นกล่าวแถลงการณ์สั้นที่โปแลนด์ก่อนที่จะเดินทางกลับญี่ปุ่นพร้อมกับกลุ่มผู้ลี้ภัยยูเครนว่า “รัฐบาลญี่ปุ่นมีพันธะในการให้ความสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อชาวยูเครน 20 คนเหล่านี้เพื่อช่วยให้พวกเขาสามารถอาศัยได้ด้วยความรู้สึกสันติในญี่ปุ่น”
ทั้งนี้ ฮายาชิเดินทางมาโปแลนด์เพื่อประเมินสถานการณ์ผู้ลี้ภัยเดินทางกลับมาถึงกรุงโตเกียวในเที่ยวบินอื่นไม่นานก่อนเที่ยวบินพิเศษผู้ลี้ภัยยูเครนจะร่อนลงจอด
สถานีโทรทัศน์ญี่ปุ่น NHK ถ่ายทอดสดการเดินทางมาถึงของคนเหล่านี้
รอยเตอร์ชี้ว่า ผู้ลี้ภัยยูเครน 20 คนล่าสุดจะมาลี้ภัยในญี่ปุ่นที่มีผู้ลี้ภัยยูเครนจำนวน 400 คนที่อาศัยอยู่ในประเทศก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่โตเกียวไม่ได้เปิดเผยว่า ทางการญี่ปุ่นมีแผนที่จะเปิดเที่ยวบินพิเศษเพิ่มเพื่อนำพลเมืองยูเครนมาอาศัยในญี่ปุ่นเพิ่มหรือไม่ หรือจะมีชาวยูเครนจำนวนมากน้อยเพียงใดที่จะได้รับอนุญาตให้เข้ามาลี้ภัยได้
รอยเตอร์ชี้ว่า ญี่ปุ่นถือเป็นชาติที่อ่อนไหวต่อการให้ต่างชาติย้ายเข้ามาอาศัยมานานแล้วถึงแม้ว่าญี่ปุ่นจะประสบปัญหาประชากรสูงอายุและปัญหาการขาดแคลนแรงงาน แต่ทว่าผลโพลความเห็นล่าสุดพบว่าเกือบ 90% ของประชาชนญี่ปุ่นสนับสนุนการรับผู้ลี้ภัยยูเครนและทางกลุ่มบรรเทาทุกข์ต่างชี้ว่าโตเกียวเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วในการให้ความช่วยเหลือ
ทั้งนี้ พบว่าเมืองต่างๆ ได้เสนอที่พักและบริษัทเอกชนเสนอตำแหน่งงานและความช่วยเหลือทางการเงินและมีหลายครอบครัวต่างยอมเปิดบ้านให้ผู้ลี้ภัยยูเครน
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า เที่ยวบินพิเศษวันอังคาร (5) ส่งผลดีต่อนายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ ที่กำลังเผชิญหน้าการเลือกตั้งสภาสูงที่สำคัญในเดือนมิถุนายน แต่ทว่าหน่วยงานสนับสนุนผู้อพยพในญี่ปุ่นชี้ว่า การที่ผู้ลี้ภัยยูเครนได้การต้อนรับเป็นเพราะมาจากยุโรป ซึ่งต่างจากวิกฤตผู้ลี้ภัยจากอัฟกานิสถานหรือพม่า