รอยเตอร์/เอเอฟพี/เอเจนซีส์ - ผู้ประท้วงศรีลังกาเปิดฉากขึ้นวันอาทิตย์ (3 เม.ย.) เรียกร้องผู้นำลาออก ตำรวจใช้แก๊สน้ำตาเข้าสลายท่ามกลางเคอร์ฟิวทหารพร้อมปืนไรเฟิลเข้าประจำตามจุด ล่าสุด กระทรวงเทคโนโลยีศรีลังกายอมยกเลิกแบนโซเชียลมีเดีย สุดช็อกชายศรีลังกาวัย 53 ปีปลิดชีวิตตัวเองหน้าบ้านพักประธานาธิบดีโกตาบายา ราชปักษา เรียกร้องให้ยกเลิกมาตรการตัดกระแสไฟฟ้า ท่ามกลางหลายเสียงชี้ “จีน” เป็นสาเหตุส่วนใหญ่ทำให้เกิดหายนะโครงการท่าเรือ PCC ฮับเศรษฐกิจดึงลูกค้าแข่งสิงคโปร์ ดูไบ ปักกิ่งออกเงินยอมถมทะเลแลกให้เช่านาน 99 ปี
รอยเตอร์รายงานวันนี้ (3 เม.ย.) ว่า ผู้แทนราษฎรศรีลังการายหนึ่งเปิดเผยกับรอยเตอร์ว่า ตำรวจศรีลังกาเริ่มต้นยิงแก๊สน้ำตาใส่ฝูงผู้ประท้วงนักเรียนนักศึกษาหลายร้อยคนในวันอาทิตย์ (3) ในขณะที่กองทัพส่งทหารพร้อมปืนไรเฟิลเข้าประจำตามจุดตรวจต่างๆ ทั่วกรุงโคลัมโบหลังคำสั่งเคอร์ฟิวในวันเสาร์ (2) ของประธานาธิบดีโกตาบายา ราชปักษา เพื่อป้องกันความโกรธแค้นของประชาชนจากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งร้ายแรง เกิดขึ้นหลังในวันศุกร์ (1) ราชปักษา สั่งประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศ และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 50 คนที่หน้าบ้านพักของเขาเองที่ Mirihana หลังกลุ่มผู้ประท้วงจำนวนหลายร้อยคนพยายามบุกเข้าไปเพื่อเรียกร้องให้ราชปักษาลาออก พบผู้ประท้วงจุดไฟเผารถบัสทหาร และรถตำรวจ ซึ่งขณะเกิดเหตุราชปักษาไม่ได้อยู่ในที่พัก อ้างอิงจากเดอะการ์เดียน สื่ออังกฤษ
ราชปักษาตกตกเป็นเป้าหมายใหญ่หลังน้ำมันดีเซลไม่มีจำหน่ายทั่วทั้งประเทศ ประชาชนต้องอยู่อย่างร้อนอบอ้าวโดยที่ไม่มีไฟฟ้าใช้นาน 12-13 ชั่วโมงต่อวัน ไฟฟ้าตามถนนหนทางถูกปิด และระบบสัญญาณโทรศัพท์มือถือได้รับผลกระทบตามไปด้วยเพราะไม่มีน้ำมันเติมเครื่องปั่นไฟที่ใช้สำหรับสถานีเครือข่าย
สมาชิกรัฐสภาศรีลังกาจากพรรคฝ่ายค้าน ซามากี จายา บาลาวีกายา SJB (Samagi Jana Balawegaya) ลัคชมัน คิรีลลา (Lakshman Kiriella) จากเมืองคานดี (Kandy) ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 กล่าวว่า ตำรวจศรีลังกาใช้แก๊สน้ำตาเพื่อสลายกลุ่มนักศึกษาในวันอาทิตย์ (3) ใกล้กับมหาวิทยาลัยเปราดินิยา (University of Peradeniya)
“นักศึกษาเหล่านี้ออกมาประท้วงท้าทายคำสั่งเคอร์ฟิวและตำรวจใช้แก๊สน้ำตาเพื่อสลายพวกเขา”
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยแห่งนี้ตั้งอยู่ชานเมืองคานดีซึ่งเป็นจุดที่ตำรวจกั้นกลุ่มผู้ประท้วงนักศึกษาไว้
รอยเตอร์ชี้ว่าคำสั่งเคอร์ฟิวจะมีผลบังคับใช้ไปจนถึงเวลา 06.00 น.ของวันจันทร์ (4)
ขณะที่กลางกรุงโคลัมโบวันนี้ (3) พบว่ามีผู้แกนนำฝ่ายค้านศรีลังการาว 24 คนต้องการเดินมาร์ชประท้วงรัฐบาลราชปักษา และต้องหยุดลงที่กั้นกีดขวางตำรวจซึ่งป้องกันไม่ให้ไปถึงจัตุรัสแห่งเสรีภาพ โดยมีบางส่วนตะโกนขึ้นมาว่า “โกตา (โกตาบายา) กลับบ้านไป”
ผู้นำฝ่ายค้านศรีลังกา อิรัน วิกรัมมารัตน์ (Eran Wickramaratne) กล่าวขณะตัวกำลังพิงเครื่องกั้นว่า “นี่เป็นเรื่องที่รับไม่ได้” และกล่าวต่อว่า “นี่เป็นประชาธิปไตย”
เอเอฟพีรายงานเพิ่มเติมว่า กองกำลังติดอาวุธปืนไรเฟิลอัตโนมัติถูกส่งมาเพื่อหยุดการประท้วงที่เกิดจากฝ่ายค้าน และกลุ่มผู้สนับสนุนหลายร้อยคนที่พยายามจะฝ่าเดินไปให้ถึงจัตุรัสแห่งเสรีภาพ วิกรัมมารัตน์กล่าวโจมตีการประกาศภาวะฉุกเฉินและการปรากฏตัวของทหารทั่วไปหมด โดยชี้ว่า “พวกเราไม่สามารถอนุญาตให้ทหารเข้ายึดครองได้” และกล่าวต่อว่า “พวกเขาสมควรต้องรู้ว่าพวกเรายังคงอยู่ในประชาธิปไตย”
หนังสือพิมพ์เดลีมิเรอร์ของศรีลังการายงานวันนี้ (3) ว่า เมื่อไม่นานมานี้มีชายศรีลังกา วัย 53 ปี ทำการปลิดชีวิตตัวเองที่หน้าบ้านของราชปักษา โดยตำรวจเปิดเผยว่าดูเหมือนว่าเขาจะเสียชีวิตจากการถูกพิษหลังจากปีนขึ้นไปก่อนที่จะประกาศกดดันให้รัฐบาลโคลัมโบสั่งยกเลิกมาตรการตัดกระแสไฟฟ้านาน 13 ชั่วโมงต่อวัน
ขณะเดียวกัน เดลีมิเรอร์รายงานว่า กระทรวงเทคโนโลยีศรีลังกาออกแถลงสั่งยกเลิกการแบนโซเชียลมีเดีย ซึ่งจะมีผลการยกเลิกในเวลา 15.30 น. ตามเวลาศรีลังกาของวันอาทิตย์ (3) เอเอฟพีกล่าวว่า หลังจากที่โคลัมโบออกคำสั่งแบนโซเชียลมีเดียทั่วประเทศ ที่รวมถึงเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ว็อตแอ็ป ยูทูป และอินสตาแกรม ในวันเสาร์ (2) นั้นพบว่าหัวหน้าผู้กำกับอินเทอร์เน็ตศรีลังกาลาออกจากตำแหน่ง
CNBC รายงานก่อนหน้าในวันศุกร์ (1) ว่า การที่ศรีลังกาต้องพบกับความยากลำบากขั้นร้ายแรงทางเศรษฐกิจในวันนี้เป็นเพราะรัฐบาลศรีลังกาเมื่อต้นยุคปี 2000 พยายามลอกเลียนแบบโมเดลการเติบโตภายใต้การนำของระบบโครงสร้างพื้นฐานของจีนเพื่อทำให้เกิดการสร้างงานและความมั่งคั่ง โดยผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าศรีลังกาติดกับดักทางการทูตของปักกิ่ง
ซึ่งนักวิเคราะห์การเมืองเชิงภูมิศาสตร์ Asanga Abeyagoonasekera ประจำสถาบันธิงแธงก์ Millennium Project ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. กล่าวแสดงความเห็นกับสื่อสหรัฐฯ ว่า “หนี้ขนาดยักษ์โครงการระบบโครงสร้างพื้นฐานทั้งหลายของจีนเป็นหนึ่งในความกังวลโดยตรง และพวกมันทั้งหมดยังไม่สามารถสร้างรายได้ตามที่คาดหวังเพื่อจ่ายหนี้กลับคืนมาได้” และอธิบายว่า หนี้ของจีนนี้มันไม่มีความโปร่งใส
CNBC ชี้ว่า จีนเข้าเป็นเจ้าของท่าเรือของศรีลังกาอย่างน้อย 1 ท่าเรือ ในขณะที่อินเดียมีความวิตกต่อการรุกคืบของปักกิ่งและพยายามเข้าถ่วงดุลศรีลังกาเพื่อสร้างเสถียรภาพของภูมิภาคเอเชียใต้ อ้างอิงจาก กูลบิน ซุลตานา (Gulbin Sultana) นักวิเคราะห์ประจำสถาบัน Manohar Parrikar Institute for Defence Studies and Analyses ในกรุงนิวเดลี
ทั้งนี้ พบว่าโครงการเมืองท่าเรือโคลัมโบ PCC (Port City of Colombo) เป็นความร่วมมือระหว่างศรีลังกาและจีนเพื่อต้องการสร้างให้เป็นฮับใหญ่ทางการเงินเพื่อแข่งขันกับดูไบ หรือสิงคโปร์ บนพื้นฐานความเชื่อที่จะเปลี่ยนศรีลังกาที่พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวและการปลูกชาเป็นหลักแต่เดิมให้กลายเป็นศูนย์ใหญ่ทางด้านบริการระดับภูมิภาคแทน
เดอะพรินต์ของอินเดียในวันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมารายงานว่า โปรเจกต์เมืองท่าเรือโคลัมโบ PCC มีการประเมินว่าโครงการต้องใช้เงินราว 14 พันล้านดอลลาร์ ที่ส่วนใหญ่จะได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากกลุ่มนักลงทุนสำคัญที่เล็งเห็นประโยชน์ถึงฮับทางเศรษฐกิจแห่งใหม่และตั้งร้านขึ้นที่นั่น
แต่ในช่วงเริ่มต้นทางปักกิ่งจะลงทุน จำนวน 1.4 พันล้านดอลลาร์ให้ศรีลังกาเพื่อช่วยถมทะเลทำให้เกิดพื้นที่ 269 เฮกเตอร์กลางมหาสมุทรอินเดีย โดยมีข้อแลกเปลี่ยนว่า จีนจะได้รับสิทธิเช่าพื้นที่ 116 เฮกเตอร์จากทั้งหมดเป็นเวลา 99 ปีตอบแทน
โครงการเมืองท่าเรือ PCC เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลศรีลังกาและบริษัทก่อสร้าง CHEC หรือ Port City Colombo Pvt.Ltd ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัทก่อสร้างรัฐบาลจีน ไชน่า คอมมูนิวเคชันส์ คอนสตรักชัน คอมปานี CCCC China Communications Construction Company ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง BRI ของประธานาธิบดีจีนสี จิ้นผิง
อ้างอิงจากอดีตนักการทูตอินเดียที่เคยประจำในศรีลังกาเปิดเผยกับเดอะพรินต์ว่า โครงการท่าเรือ PCC ก่อตั้งบนที่ดินถมกลางทะเลแต่มีการอ้างว่าเป็นส่วนขยายของเกาะศรีลังกา แต่มันดูเหมือนฟังไม่ขึ้น