xs
xsm
sm
md
lg

ญาติช็อก! ศาลสูงสุดสิงคโปร์ไม่รับอุทธรณ์โทษ ‘ประหาร’ ชายมาเลเซียขนเฮโรอีน แม้ ‘พิการทางสติปัญญา’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศาลสูงสุดสิงคโปร์ไม่รับการยื่นอุทธรณ์คัดค้านโทษประหารชีวิตชายชาวมาเลเซียที่ก่อคดีขนยาเสพติด แม้เป็นผู้พิการทางสติปัญญา ขณะที่ครอบครัวยอมรับว่า “ช็อก” และหัวใจสลาย

นาเกนธรัน ธรรมลิงกัม (Nagaenthran Dharmalingam) ถูกจับเมื่อเดือน เม.ย. ปี 2009 หลังจากที่ลักลอบนำเฮโรฮีน จำนวน 42.72 กรัมเข้ามายังสิงคโปร์ โดยซุกซ่อนเอาไว้ที่ขาอ่อน และถูกศาลสิงคโปร์พิพากษาประหารชีวิตเมื่อเดือน พ.ย. ปี 2010

คดีนี้กลายเป็นที่สนใจในระดับสากล หลังจากคณะผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) และมหาเศรษฐีชาวอังกฤษ ริชาร์ด แบรนสัน ออกมาเคลื่อนไหวร่วมกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย และองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อเรียกร้องให้สิงคโปร์ละเว้นโทษตายแก่ชายคนนี้

วิโอเลต เน็ตโต ทนายของนาเกนธรัน ปฏิเสธที่จะนำบันทึกทางการแพทย์ระหว่างที่ลูกความของเธอถูกขังอยู่ในเรือนจำมาเผยต่อศาลในการไต่สวนครั้งล่าสุด โดยอ้างว่าเป็น “ความลับ” และเสนอให้ศาลแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญอิสระเพื่อตรวจประเมินสุขภาพจิตของเขาแทน

อย่างไรก็ตาม หัวหน้าผู้พิพากษา ซุนดาเรส เมนอน ชี้ว่า ความพยายามของฝ่ายจำเลยที่จะปกปิดบันทึกทางการแพทย์นั้น “ไม่มีเหตุอันสมควร” อีกทั้งยังไม่ปรากฏหลักฐานที่น่าเชื่อถือว่า นาเกนธรัน มีความบกพร่องด้านสภาพจิตใจ และปฏิเสธข้อเสนอแต่งตั้งผู้ตรวจสอบอิสระ

“ผู้ยื่นอุทธรณ์ได้รับโอกาสต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรมแล้ว และเขาไม่มีสิทธิท้าทายผลของกระบวนการยุติธรรม ในเมื่อไม่สามารถแสดงหลักฐานใดๆ ที่จะพิสูจน์ได้ว่ามีประเด็นที่สมควรจะต้องพิจารณา” องค์คณะผู้พิพากษา 5 คนระบุในคำตัดสิน

นาเกนธรัน ซึ่งอยู่ในชุดนักโทษสีม่วง ไม่ได้แสดงปฏิกิริยาใดๆ ทั้งสิ้นต่อคำตัดสินนี้

เอ็ม ราวี อดีตทนายความของ นาเกนธรัน ซึ่งยังคงให้ความช่วยเหลือในคดีนี้อยู่ ยอมรับกับสื่อตรงๆ ว่า รัฐบาลมาเลเซีย “หมดหนทาง” ตามกฎหมายแล้วที่จะยับยั้งการประหารชีวิต

ทนายผู้นี้เคยพยายามงัดหลักฐานมาแสดงว่า นาเกนธรัน มีผลการวัดระดับเชาวน์ปัญญา (IQ) อยู่ที่ 69 ซึ่งถือเป็นผู้พิการทางด้านสติปัญญาตามเกณฑ์มาตรฐานของนานาชาติ นอกจากนี้ ยังมีความผิดปกติอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจทำสิ่งต่างๆ อย่างไรก็ตาม ศาลได้พิเคราะห์เห็นว่า นาเกนธรัน มีความตระหนักรู้ดีว่าตนเองกำลังทำอะไรอยู่ในขณะที่กระทำความผิดนั้น

ซาร์มิลา ธรรมลิงกัม พี่สาวของนาเกนธรัน ให้สัมภาษณ์สื่อ AFP จากมาเลเซียว่า ครอบครัวของเธอรู้สึก “แหลกสลาย” และช็อกที่ศาลสิงคโปร์ยืนกรานไม่ละเว้นโทษตายให้น้องของเธอที่เป็นคนไอคิวต่ำ และที่ผ่านมาคดีนี้ได้สร้างความเจ็บปวดแก่ครอบครัวเป็นอย่างมาก

กลุ่ม Reprieve ซึ่งเป็นองค์กรต่อต้านโทษประหารชีวิตเชื่อว่า นาเกนธรัน เป็นผู้พิการทางสติปัญญาจริงๆ และสมควรที่จะได้รับการละเว้นโทษตาย

มายา โฟอา ผู้อำนวยการกลุ่ม Reprieve ฝากข้อเรียกร้องไปถึงประธานาธิบดี ฮาลีมาห์ ยาคอบ แห่งสิงคโปร์ให้ “ช่วยรับฟังคำวิงวอนขอความเมตตา ทั้งจากในสิงคโปร์เองและทั่วโลก”

ทั้งนี้ ยังไม่ชัดเจนว่าการประหารชีวิต นาเกนธรัน จะเกิดขึ้นเมื่อใด

สิงคโปร์มีการลงโทษ “แขวนคอ” ผู้กระทำความผิดไปทั้งหมด 25 รายระหว่างปี 2016-2019 โดยส่วนใหญ่เป็นนักโทษคดียาเสพติด

ที่มา : รอยเตอร์, เอเอฟพี
กำลังโหลดความคิดเห็น