(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
Defense giants quietly making billions on Ukraine war
By PETER BLOOM
10/03/2022
ล็อกฮีด มาร์ติน, เรย์ธีออน, และ บีเออี ต่างได้เห็นราคาหุ้นของพวกตนพุ่งลิ่ว ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์โดยรวมพากันหล่นร่วง สืบเนื่องจากการรุกรานยูเครนของรัสเซีย
การที่รัสเซียรุกรานยูเครนเป็นเรื่องซึ่งถูกประณามกันอย่างกว้างขวางในฐานะเป็นพฤติการณ์ก้าวร้าวอย่างไร้ความชอบธรรมรองรับของแดนหมีขาว ทำให้เกิดความกลัวขึ้นมาอย่างมีเหตุมีผลทีเดียวเกี่ยวกับการฟื้นชีพขึ้นมาอีกครั้งของจักรวรรดิรัสเซีย และกระทั่งการเกิดสงครามโลกครั้งใหม่ แต่สิ่งที่ยังมีพูดจาอภิปรายกันน้อยกว่ากันมากก็คืออุตสาหกรรมด้านกลาโหมกำลังป้อนอาวุธยุทโธปกรณ์มูลค่าเกือบๆ ครึ่งล้านล้านดอลลาร์ [1] ให้แก่ทั้งสองฝ่าย และผลกำไรเป็นกอบเป็นกำที่พวกบริษัทอาวุธจะทำได้จากการนี้ [2]
การสู้รบขัดแย้งกันครั้งนี้ทำให้การใช้จ่ายด้านกลาโหมเติบโตพุ่งพรวดขึ้นมาแล้วอย่างเห็นชัดเจน สหภาพยุโรปประกาศว่าจะจัดซื้อและจัดส่งอาวุธมูลค่ารวม 450 ล้านยูโรให้แก่ยูเครน ขณะที่สหรัฐฯก็ให้คำมั่นที่จะให้ความช่วยเหลือทางการทหาร 350 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ [3] เป็นการเพิ่มเติมจากการจัดหาจัดส่งยุทธสัมภาระเป็นน้ำหนักกว่า 90 ตัน [4] และความช่วยเหลือเป็นมูลค่า 650 ล้านดอลลาร์ให้แก่ยูเครนไปแล้วเฉพาะในปีที่ผ่านมาปีเดียว
เมื่อนำเอาทั้งสองส่วนนี้มารวมกัน มันเป็นอะไรที่มหึมาทีเดียว ตัวอย่างเช่น นี่หมายความว่าสหรัฐฯและองค์การนาโต้กำลังจัดส่งอาวุธต่อสู้รถถัง 17,000 ชิ้น และขีปนาวุธต่อสู้อากาศยานแบบบุคคลประทับบ่ายิง “สติงเจอร์” (Stinger) อีก 2,000 ชิ้นไปให้แก่ยูเครน [5] นอกจากนั้นยังมีพันธมิตรนานาชาติที่ประกอบด้วยประเทศอย่างเช่น สหราชอาณาจักร, ออสเตรเลีย, ตุรกี, และแคนาดา [6] แสดงความประสงค์ที่จะติดอาวุธให้แก่กองกำลังต่อต้านของชาวยูเครนเช่นเดียวกัน
เรื่องอย่างนี้ยังกลายเป็นความสนุกสนานเริงร่าสำหรับพวกบริษัทรับเหมารับจ้างด้านกลาโหมรายยักษ์ใหญ่ทั้งหลายของโลกอีกด้วย ขอยกตัวอย่างสัก 2-3 ราย เรย์ธีออน (Raytheon)ผู้ผลิตขีปนาวุธ “สติงเจอร์” รวมทั้งยังร่วมกับ ล็อกฮีด มาร์ติน (Lockheed Martin) ในการผลิตขีปนาวุธต่อสู้รถถัง “เจฟลิน” (Javelin) ซึ่งกำลังถูกส่งไปให้ยูเครนโดยประเทศอย่างสหรัฐฯ และ เอสโตเนีย
ล็อกฮีด และ เรย์ธีออน ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติสหรัฐฯทั้งคู่ ได้เห็นหุ้นของพวกตนไต่สูงขึ้นราว 16% และ 3% ตามลำดับตั้งแต่ที่เกิดการรุกรานขึ้นมา
เปรียบเทียบกับดัชนีเอสแอนด์พี 500 โดยรวมซึ่งหล่นลงมา 1%
Orange = Lockheed Martin; cyan = Boeing; yellow =
Raytheon; indigo = BAe Systems; purple = Northrop Grumman; blue = S&P 500.
Trading View
ขณะเดียวกัน บีเออี ซิสเตมส์ (BAE Systems) ที่เป็นเพลเยอร์รายใหญ่ที่สุดในอังกฤษและในยุโรป ทะยานขึ้นไป 26% ทั้งนี้ในบรรดาบริษัทรับเหมารับจ้างงานกลาโหมระดับท็อป 5 ของโลกเมื่อวัดกันในเรื่องรายรับ [7] ปรากฏว่ามีเพียง โบอิ้ง รายเดียว ที่ราคาหุ้นร่วง โดยเนื่องมาจากการที่โบอิ้งมีความผูกพันใกล้ชิดกับพวกสายการบินต่างๆ ซึ่งย่ำแย่ตั้งแต่ช่วงโรคระบาดใหญ่โควิด-19 ด้วย [8] นอกเหนือจากเหตุผลอื่นๆ แล้ว [9]
โอกาสมาเคาะประตูเรียกถึงหน้าบ้าน
ก่อนหน้าการสู้รบขัดแย้งครั้งนี้ พวกบริษัทอาวุธรายท็อปทั้งหลายของโลกตะวันตก ต่างรายงานข่าวดีให้ผู้ถือหุ้นของพวกตนทราบอยู่แล้วว่ากำไรน่าจะพุ่งพรวด อย่าง เกรกอรี เจ เฮย์ส (Gregory J Hayes) ซีอีโอของ เรย์ธีออนพูดเอาไว้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 25 มกราคม ในการแถลงข่าวผลประกอบการผ่านทางออนไลน์ [10] ดังนี้
“เราเพียงแค่มองดูเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ซึ่งเราได้เห็นข่าวมีการใช้โดรนเข้าโจมตีในยูเออี (สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) ... และแน่นอนล่ะ ยังเรื่องความขัดแย้งในยุโรปตะวันออก, ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ สิ่งต่างๆ ทั้งหมดเหล่านี้กำลังสร้างแรงกดดันให้ต้องเพิ่มการใช้จ่ายด้านกลาโหมกันบ้างในที่เหล่านั้น ดังนั้นผมจึงขอคาดหมายกันอย่างเต็มที่ว่า เรากำลังจะได้เห็นกำไรกันบ้างแหละจากเรื่องเหล่านี้”
แม้กระทั่งตั้งแต่ช่วงนั้นแล้ว อุตสาหกรรมกลาโหมของโลกก็ได้รับคำทำนายว่าจะเติบโตขึ้น 7% ในรอบปี 2022 [11] ความเสี่ยงใหญ่ที่สุดสำหรับพวกนักลงทุน ตามที่อธิบายเอาไว้โดย ริชาร์ด อาบูลาเฟีย (Richard Aboulafia)กรรมการผู้จัดการของ แอโรไดนามิก แอดไวเซอรี่ (AeroDynamic Advisory) บริษัทที่ปรึกษาด้านกลาโหมสัญชาติสหรัฐฯ ก็คือ “สิ่งต่างๆ ทั้งหมดซึ่งมีการเปิดเผยออกมา กลายเป็นเพียงเกมที่แสนจะไม่มั่นคงของรัสเซีย และภัยคุกคามก็ค่อยๆ จางหายไป” [12]
เมื่อไม่มีสัญญาณใดๆ ว่ามันจะเป็นเช่นนั้น พวกบริษัทกลาโหมจึงกำลังทำกำไรกันใหญ่จากหลายๆ ทางด้วยกัน นอกเหนือจากการขายอาวุธให้แก่ฝ่ายที่กำลังทำศึกกันอยู่โดยตรง และการจัดส่งอาวุธให้แก่ประเทศอื่นๆ ที่ต้องการบริจาคอาวุธให้แก่ยูเครนแล้ว บริษัทเหล่านี้ยังกำลังจะได้เห็นดีมานด์ที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นพิเศษจากพวกชาติอย่างเช่น เยอรมนี และ เดนมาร์ก [13] ซึ่งระบุว่าพวกเขาจะเพิ่มงบใช้จ่ายทางการทหาร
อุตสาหกรรมนี้โดยรวมแล้วถือเป็นอุตสาหกรรมระดับโลกอย่างแท้จริง [14] โดยที่มีสหรัฐชิงตำแหน่งผู้นำของโลกในด้านนี้ไปอย่างง่ายดาย ด้วยส่วนแบ่ง 37% ของยอดขายอาวุธทั้งหมดในโลกในช่วงระหว่างปี 2016-2020 อันดับ 2 ตามมาคือรัสเซีย ซึ่งมีมาร์เก็ตแชร์ 20% จากนั้นจึงเป็นฝรั่งเศส (8%), เยอรมนี (6%), และจีน (5%)
นอกเหนือจากผู้ส่งออกระดับท็อป 5 เหล่านี้แล้ว ยังมีผู้มีศักยภาพจะเป็นผู้ได้ประโยชน์จากสงครามคราวนี้รายอื่นๆ จำนวนมากทีเดียว อย่างเช่น ตุรกี ที่ท้าทายไม่สนใจคำเตือนของรัสเซีย โดยยืนกรานจัดส่งอาวุธต่างๆ ให้ยูเครน รวมทั้งโดรนระดับไฮเทค [15] ซึ่งกลายเป็นตัวช่วยสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมกลาโหมของประเทศนี้ โดยคว้าส่วนแบ่งในตลาดโลกเกือบๆ 1% [16]
และด้วยการที่อิสราเอลก็มีส่วนประมาณ 3% ของยอดขายอาวุธทั่วโลก เมื่อไม่นานมานนี้หนึ่งในหนังสือพิมพ์ของประเทศนี้ได้เผยแพร่บทความชิ้นหนึ่งที่ประกาศว่า “ผู้ชนะแต่เนิ่นๆ จากการรุกรานของรัสเซียคือ อุตสาหกรรมกลาโหมของอิสราเอล”[17]
สำหรับรัสเซียนั้น มีการตระเตรียมอุตสาหกรรมอาวุธของตน [18] ให้พร้อมรับมือกับการแซงก์ชั่นของโลกตะวันตกย้อนหลังไปได้ถึงปี 2014 โดยที่รัฐบาลแดนหมีขาวได้จัดทำโครงการทดแทนการนำเข้าที่มีขนาดใหญ่โตมาก เพื่อลดการต้องพึ่งพาอาวุธและความชำนาญการจากต่างประเทศ รวมทั้งพยายามเพิ่มยอดชายในต่างแดนอีกด้วย นอกจากนั้นยังมีบางกรณีที่เป็นการทำความตกลงไลเซนส์ด้านอาวุธซึ่งดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง อย่างเช่นจากอังกฤษมายังรัสเซีย ที่มีมูลค่าราวๆ 3.7 ล้านปอนด์ [19] ทว่าโครงการนี้ยุติลงแล้วเมื่อปี 2021
ในฐานะเป็นผู้ส่งออกอาวุธรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก รัสเซียเล็งเป้าหาลูกค้าระดับนานาชาติเอาไว้จำนวนหนึ่ง อันที่จริงยอดส่งออกอาวุธของแดนหมีขาวหล่นฮวบลงมาถึง 22% ระหว่างปี 2016 – 2020 ทว่าสาเหตุสำคัญเนื่องมาจากยอดขายให้อินเดียที่ลดลงถึง 53% ทว่าในช่วงเดียวกันนั้น รัสเซียสามารถเพิ่มพูนยอดขายจากการส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ ได้อย่างน่าตื่นใจ เป็นต้นว่า จีน, แอลจีเรีย, และอียิปต์
ตามรายงานชิ้นหนึ่งของหน่วยงานวิจัยของรัฐสภาสหรัฐฯ [20] ระบุว่า “อาวุธรัสเซียอาจจะมีราคาแพงน้อยกว่า และง่ายแก่การนำไปใช้งานและแก่การบำรุงรักษามากกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับระบบของฝ่ายตะวันตก” ทั้งนี้ กิจการกลาโหมรายใหญ่ที่สุดของรัสเซีย ได้แก่ อัลมาซ-อันเตย์ ที่เป็นผู้ผลิตขีปนาวุธ (ยอดขายอยู่ที่ 6,600 ล้านดอลลาร์), ยูไนเต็ด แอร์คราฟต์ คอร์ป (4,600 ล้านดอลาร์), และ ยูไนเต็ด ชิปบิวดิ้ง คอร์ป (4,500 ล้านดอลลาร์) [21]
ในการเผชิญหน้ากับลัทธิจักรวรรดินิยมของปูติน สิ่งที่จะสามารถทำได้อย่างประสบความสำเร็จนั้นมีข้อจำกัดอยู่หลายๆ ประการ ทั้งนี้ดูเหมือนว่า แทบไม่มีความเป็นไปได้อย่างน่าเชื่อถือเอาเสียเลย [22] สำหรับการที่ยูเครนจะลดทอนการสร้างสมแสนยานุภาพทางการทหาร ในเมื่อต้องเผชิญกับภัยคุกคามอย่างต่อเนื่องจากรัสเซีย
กระนั้นก็ตาม ยังคงมีความพยายามอยู่บ้างที่จะลดทอนการบานปลายขยายตัวของสถานการณ์ ตัวอย่างเช่น การที่ นาโต้ ออกมาปฏิเสธอย่างชัดเจ้งต่อหน้าสาธารณชน ไม่ทำตามข้อเรียกร้องของประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี้ แห่งยูเครน ที่จะให้จัดตั้งเขตห้ามบินเหนือยูเครนขึ้นมา [23] ทว่าความพยายามเหล่านี้ถูกบ่อนทำลายจากแรงจูงใจด้านการเงินก้อนใหญ่มหึมาในทั้งสองฝ่าย [24] โดยที่เงินเหล่านี้จะได้มาจากการยกระดับเพิ่มการการประกอบติดตั้งประจำการอาวุธยุทโธปกรณ์
สิ่งที่ฝ่ายตะวันตกและฝ่ายรัสเซียมีอยู่เหมือนๆ กันทั้งคู่ ได้แก่ การที่มีอุตสาหกรรมทางทหารซึ่งสนิทแนบแน่นกับฝ่ายทหารของประเทศอย่างซับซ้อนลึกซึ้ง (military industrial complex) [25] ทั้งสองฝ่ายต่างพึ่งพาอาศัย, ต่างอาจถูกส่งอิทธิพล, และก็ต่างถูกครอบงำด้วยอิทธิพลของอุตสาหกรรมอาวุธขนาดมโหฬารของตนเอง เรื่องนี้ยิ่งเพิ่มพูนแข็งแกร่งมากขึ้นด้วยสมรรถนะทางอาวุธเชิงรุกระดับไฮเทครุ่นใหม่ๆ ตั้งแต่ โดรน ไปจนถึงพวกระบบอาวุธอัตโนมัติที่ชี้นำด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ [26]
ถ้าหากเป้าหมายขั้นสูงสุดคือการลดทอนไม่ให้สถานการณ์บานปลายขยายตัว และทำให้เกิดสันติภาพที่มีความยั่งยืนขึ้นมาแล้ว ก็มีความจำเป็นที่จะต้องสร้างกระบวนการซึ่งให้ผลอย่างจริงจังในการโจมตีเล่นงานพวกสาเหตุรากเหง้าทางเศรษฐกิจของการก้าวร้าวรุกรานทางการทหารเช่นนี้ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เพิ่งแถลงว่า สหรัฐฯจะใช้มาตรการแซงก์ชั่นโดยตรงต่ออุตสาหกรรมกลาโหมรัสเซีย ทำให้อุตสาหกรรมนี้ประสบความยากลำบากมากขึ้นในการจัดหาวัตถุดิบต่างๆ รวมทั้งในการขายผลิตภัณฑ์ของพวกตนในระดับนานาชาติ เพื่อนำเงินมาลงทุนใหม่ในอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ เพิ่มมากขึ้นอีก [27]
แต่จากการพูดเช่นนี้ ในอีกด้านหนึ่ง นี่ก็อาจกลายเป็นการสร้างโอกาสเชิงพาณิชย์ให้แก่พวกบริษัทรับเหมารับจ้างด้านกลาโหมของฝ่ายตะวันตก มันอาจก่อให้เกิดสุญญากาศแบบชั่วคราวขึ้นมาที่ทำให้พวกบริษัทสหรัฐฯและบริษัทยุโรปสามารถเพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขันของพวกตนมากขึ้นอีก ซึ่งจะส่งผลให้มีการขยายการแข่งขันด้านอาวุธในระดับโลก และสร้างแรงจูงใจทางธุรกิจที่ใหญ่โตยิ่งขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำสำหรับการทำให้เกิดการสู้รบขัดแย้งครั้งใหม่ๆ
หลังจากสงครามคราวนี้สิ้นสุดลงแล้ว เราควรที่จะสำรวจค้นหาวิธีการต่างๆ ในการจำกัดอำนาจและอิทธิพลของอุตสาหกรรมนี้ เรื่องนี้อาจจะรวมถึงการทำข้อตกลงนานาชาติฉบับต่างๆ เพื่อจำกัดการขายอาวุธพิเศษเฉพาะบางอย่างบางชนิด, การให้ความสนับสนุนระดับพหุภาคีสำหรับประเทศต่างๆ ซึ่งให้คำมั่นที่จะลดทอนอุตสาหกรรมกลาโหมของพวกตนลงมา, และการแซงก์ชั่นลงโทษพวกบริษัทอาวุธที่ดูเหมือนกำลังล็อบบี้เพื่อให้เพิ่มงบประมาณรายจ่ายทางการทหาร
สิ่งที่จะมีผลสะเทือนในระดับรากฐานมากกว่านี้อีก ก็คือ ความพยายามในเรื่องนี้ควรที่จะเกี่ยวข้องกับการสนับสนุนขบวนการความเคลื่อนไหวทั้งหลาย ซึ่งมุ่งท้าทายตั้งคำถามกับการที่จะพัฒนาสมรรถนะทางทหารต่างๆ ต่อไปอีก
แน่นอนทีเดียว มันไม่ได้มีคำตอบที่จะทำกันได้ง่ายๆ รวมทั้งจะไม่สามารถเกิดขึ้นคืนในค่ำคืนเดียวหรอก แต่มันเป็นความจำเป็นสำหรับพวกเราที่จะต้องรับรู้รับทราบว่า ในฐานะเป็นประชาคมนานาชาติแล้ว สันติภาพที่ยืนยาวถาวรเป็นสิ่งที่ไม่สามารถเกิดขึ้นมาได้ หากปราศจากการกำจัดลิดรอนการทำและการขายอาวุธในลักษณะที่เป็นอุตสาหกรรมซึ่งมีผลกำไรงดงามในทางเศรษฐกิจ ลงไปให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
ปีเตอร์ บลูม เป็นศาสตราจารย์ด้านการบริหารจัดการ อยู่ที่มหาวิทยาลัยเอสเซ็กซ์ (University of Essex), สหราชอาณาจักร
(ข้อเขียนนี้ในภาษาอังกฤษ เผยแพร่ครั้งแรกทางเว็บไซต์ เดอะ คอนเวอร์เซชั่น https://theconversation.com/)
เชิงอรรถ
[1] https://www.thebusinessresearchcompany.com/report/defense-global-market-report#:%7E:text=The%20global%20defense%20market%20size,(CAGR)%20of%206.8%25.
[2] https://thewire.in/business/russia-ukraine-invasion-business-arms-manufacturers
[3] https://www.washingtonpost.com/nation/2022/02/26/biden-ukraine-military-aid-package/
[4] https://www.npr.org/2022/01/22/1075064514/ukraine-lethal-aid-us-russia
[5] https://www.bbc.co.uk/news/world-60655349
[6] https://www.forumarmstrade.org/ukrainearms.html
[7] https://blog.bizvibe.com/blog/largest-defense-contractors-world
[8] https://seekingalpha.com/news/3810454-hot-stocks-airlines-plunge-ba-hits-low-vsco-drops-amid-retail-slump-bbby-rallies-vet-sets-high
[9] https://www.barrons.com/articles/boeing-russia-titanium-supply-51646659011
[10] https://inthesetimes.com/article/ukraine-russia-raytheon-lockheed-martin-general-dynamics-weapons-industry
[11] https://www.thebusinessresearchcompany.com/report/defense-global-market-report#:%7E:text=The%20global%20defense%20market%20size,(CAGR)%20of%206.8%25.
[12] https://www.investors.com/news/defense-stocks-russia-ukraine-invasion-upends-military-austerity-europe/
[13] https://theconversation.com/defence-cuts-effectively-paid-for-uk-welfare-state-for-60-years-but-that-looks-impossible-after-ukraine-178680
[14] https://sipri.org/sites/default/files/2021-03/fs_2103_at_2020_v2.pdf
[15] https://www.bloombergquint.com/business/turkey-rules-out-freezing-ukraine-arms-sales-to-please-russia
[16] https://sipri.org/sites/default/files/2021-03/fs_2103_at_2020_v2.pdf
[17] https://www.haaretz.com/israel-news/.premium.HIGHLIGHT-an-early-winner-of-russia-s-invasion-israel-s-defense-industry-1.10644292
[18]https://crsreports.congress.gov/product/pdf/R/R46937#:%7E:text=Despite%20its%20global%20presence%2C%20Russia,of%20Russian%20arms%20since%202016.
[19] https://www.nationalworld.com/news/politics/uk-sell-weapons-russia-arms-exports-ukraine-crimea-3585359
[20] https://www.airforce-technology.com/analysis/can-russia-make-the-grade-with-the-checkmate/
[21] https://www.cairn.info/revue-defense-nationale-2017-7-page-64.htm
[22] https://theconversation.com/why-the-idea-of-a-neutral-ukraine-is-a-non-starter-in-peace-talks-178002
[23] https://www.reuters.com/business/aerospace-defense/nato-meets-ukraine-calls-no-fly-zone-hinder-russia-2022-03-04/
[24] https://www.investors.com/news/defense-stocks-russia-ukraine-invasion-upends-military-austerity-europe/
[25] https://www.wilsoncenter.org/blog-post/the-inner-workings-rostec-russias-military-industrial-behemoth
[26] https://fortune.com/2022/03/01/russia-ukraine-invasion-war-a-i-artificial-intelligence/
[27] https://www.state.gov/targeting-russian-elites-and-defense-enterprises-of-russian-federation/