อาจารย์โจว จูกวง (Zhou Zhuguang) จอมกูรูแฟชั่นย้อนยุคสุดคลาสสิก นำนักข่าวเอเอฟพีเดินชมการปฏิบัติงานของบรรดาช่างตัดเย็บชุดกี่เพ้าคอตั้งสูงสง่า ซึ่งดำเนินภารกิจกันอย่างเพลิดเพลิน ไม่เก้อเขินเมื่อช่างภาพกดแชะๆ ถ่ายรูปพวกเธอและชิ้นงานเลิศๆ ทั้งปวงในมือของพวกเธอ กี่เพ้าแสนงามเหล่านี้เมื่อเสร็จออกจากเวิร์กชอปของอาจารย์โจว จะหลั่งไหลไปโอบกอดเรือนร่างของมนุษย์มหาเศรษฐีด้วยสนนราคาชุดละหลายพันดอลลาร์สหรัฐอเมริกา โดยบางตัวซึ่งวิจิตรเลอเลิศจากศิลปะอันประณีตและวัตถุดิบอันยอดเยี่ยม จะแพงระยับไปได้ถึงมาตรฐานราคาของห้องเสื้อชื่อดังในยุโรปคือชุดละ 5,000 ดอลลาร์ สรอ. หรือ 160,000 บาทโดยประมาณ กันเลยทีเดียว
“งานของห้องเสื้อเราเป็นหัตถกรรมที่ต้องใช้ความชำนาญขั้นสูงอย่างมากน่ะครับ” อาจารย์โจว ผู้ร่วมก่อตั้งห้องเสื้อฮั่นอาร์ต กล่าวด้วยความมั่นใจ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาในเมื่อ “ฮั่นอาร์ต” โด่งดังคับฟ้านครเซี่ยงไฮ้ระดับท็อป-10 และเป็นหนึ่งในผู้ผลิตกี่เพ้าที่มีชื่อเสียงสูงส่งของประเทศจีน
“ช่างเสื้อของเราบางท่านสั่งสมองค์ความรู้และเคล็ดวิชาตัดเย็บกี่เพ้ามาแบบชั่วชีวิตเลยครับ” อาจารย์โจว เล่าข้อมูลดังกล่าวให้แก่นักข่าวเอเอฟพี
ป้ายราคาของกี่เพ้าที่แลดูว่าแพงระยับจับใจ มิใช่แค่จะสะท้อนถึงคุณภาพมาตรฐานแห่งฝีมือและวัตถุดิบชั้นเยี่ยม หากยังบ่งบอกว่าผลิตภัณฑ์งานศิลป์สวมใส่ได้เหล่านี้ เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคกันมหาศาลประมาณใด
กี่เพ้าคือที่ระลึกเสรีภาพของสตรีจีนในยุคผันผ่าน: สมบูรณาญาฯ สู่ประชาธิปไตย-ขุนศึก สู่คอมมิวนิสต์
ชุดกี่เพ้า หรือก็คือ ฉีเผ่าในสำเนียงแมนดาริน จะถูกเรียกว่า ฉ่องซัม (cheongsam) ภายในฮ่องกงและในชุมชนคนจีนโพ้นทะเลหลายๆ แห่ง โดยกี่เพ้าที่แสนสง่าและเน้นทรวดทรงอรชรนุ่มนวลของอิสตรี ซึ่งชาวโลกได้พบเห็นและชื่นชมกันมาถึงปัจจุบัน นั้น เป็นเครื่องแต่งกายที่ปรากฏขึ้นมาในช่วงทศวรรษ 1920 ด้วยการปรับชุดกี่เพ้าคอตั้งสูงและทรงหลวมลงมาตรงๆ จนถึงข้อเท้า ตามประเพณีนิยมของชนชั้นสูงชาวแมนจูในราชสำนักจีนยุคราชวงศ์ชิง (1636-1912) ให้เปลี่ยนมาเป็นทรงกระชับแนบลำตัวตลอดเรือนร่าง อันได้แก่
‘การกระชับและโอบอุ้มส่วนนูนอิ่มของทรวงอก เข้าไปแนบชิดกับบริเวณหน้าท้อง และกระชับแนบส่วนเว้าหลัง ที่ลาดจากไหล่ลงสู่บั้นท้ายและก้นกอย ตลอดจนกระชับบริเวณคอดเว้าของเอวตัวเอส และส่วนโค้งมลของสะโพกผาย พร้อมกับเปิดเผยเนื้อนวลของช่วงแขนกลมกลึง อีกทั้งผ่าข้างขึ้นไปเหนือเข่า แลเห็นเรียวขาผุดผ่องเย้ายวน ยากที่จะละสายตาได้หวาดไหว’
การอุบัติขึ้นของกี่เพ้าอันทรงเสน่ห์แห่งทศวรรษ 1920 ซึ่งเฟื่องฟูตลอดยุคสาธารณรัฐจีน (1912-1949) ดำเนินอยู่ในบริบทสังคมที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงพลิกฟ้าพลิกแผ่นดินและยืดเยื้อหลายทศวรรษ โดยราชวงศ์ชิงแห่งระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เพิ่งถูกโค่นล้มหมดสิ้นในปี 1912 แล้วต่อด้วยบรรยากาศแห่งเสรีภาพ ประชาธิปไตย การเลือกตั้ง และความเท่าเทียมแบบโลกตะวันตก คู่ขนานกับการสู้รบระหว่างขุนศึกที่แย่งชิงอำนาจบริหารปกครองสูงสุด จนกระทั่งเข้าสู่สองทศวรรษ (1930s – 1940s) แห่งการต่อสู้ระหว่างรัฐบาลพรรคก๊กมิ่นตั๋ง ของเจียงไคเชกกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งยุติด้วยชัยชนะของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในปี 1949
ในสภาพการณ์และบรรยากาศดังกล่าวซึ่งร่วมสมัยกับ The Great Gatsby วรรณกรรมอเมริกันปี 1925 ที่โด่งดังทั่วโลก นั้น นครเซี่ยงไฮ้ซึ่งได้สมญานามว่า นครปารีสแห่งโลกตะวันออก ได้ซึมซับอิทธิพลยุโรปและอเมริกันไว้มากมาย พร้อมกับส่งผลในทางรูปธรรมต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้านแฟชั่น
โดยที่ว่าขณะที่แฟชั่นอเมริกันและยุโรปมีความเปลี่ยนแปลงสู่คอนเซ็ปต์ที่เปิดเสรีภาพให้แก่สตรีมากขึ้น เช่น ชายกระโปรงที่เขยิบสูงและเปิดให้เห็นปลีน่องงามเรียว นั้น นักออกแบบแฟชั่นในเซี่ยงไฮ้ก็ลุกขึ้นมาทำการปฏิรูปคอนเซ็ปต์เครื่องแต่งกายกันขนานใหญ่เช่นกัน โดยปรับเปลี่ยนเสื้อผ้าหรูหราของชนชั้นสูงแห่งยุคแมนจูของราชวงศ์ชิง กลายไปเป็นชุดกระโปรงเซ็กซี่สง่าและปราดเปรียวอย่างคลาสสิก ที่เอื้อให้สตรีในจีนมีความสุขกับภาพลักษณ์อันงดงามมากขึ้นของพวกเธอ
ในการปฏิรูปนี้ แฟชั่นกระแสใหม่ที่เป็นสัญลักษณ์แห่งความทันสมัย ได้เปิดเสรีภาพแก่สตรีให้อวดเสน่ห์หญิงได้อย่างสง่างามและทรงอิทธิพลเหนือใจชาย กระแสตอบรับคอนเซ็ปต์ของกี่เพ้านิวลุคยุคใหม่จึงเป็นไปอย่างฟู่ฟ่าและกระเพื่อมเป็นระลอกใหญ่ไปทั่วประเทศ เพราะนวัตกรรมเรื่องนี้ตอบสนองความต้องการของอิสตรีที่จะปลดปล่อยตนเองออกจากสถานะทาสรับใช้บุรุษ มาเป็นมหาเทวีผู้เปี่ยมด้วยพลังทางเพศ และสามารถมีอำนาจบงการชายได้ดั่งปรารถนา
แฟชั่นกี่เพ้าแสนเสน่ห์จึงผงาดขึ้นมาครองใจบรรดาสตรีแห่งแวดวงชนชั้นสูงและแวดวงธุรกิจบันเทิง ส่งผลให้กี่เพ้ากลายเป็นมาตรฐานแฟชั่นที่ผู้หญิงทั่วแผ่นดินจีนรับมาใช้ด้วยความภาคภูมิใจ ยิ่งกว่านั้น ความป๊อบปูลาร์ของชุดอันทรงพลังอำนาจนี้ที่แผ่ไปทั่วถึงและยาวนานกว่า 30 ปี ทำให้กี่เพ้ากลายเป็นหนึ่งในชุดประจำชาติของจีนกันเลยทีเดียว
แต่แล้ว กี่เพ้าต้องหายสาบสูญไปจากแผ่นดินจีนนานหลายทศวรรษ นับจากปี 1949 เมื่อระบอบการเมืองของประเทศถูกเปลี่ยนแปลงสู่การปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์ ผู้ซึ่งประณามว่ากี่เพ้าเป็นความชั่วร้ายและเป็นเครื่องแต่งกายของชนชั้นกระฎุมพี ในการนี้ กี่เพ้าถูกอพยพออกไปปักหลักที่ไต้หวันด้วยกันกับบรรดาครอบครัวของพรรคก๊กมิ่นตั๋ง ขณะที่ช่างเสื้อกี่เพ้าจำนวนมากมายทยอยอพยพไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ฮ่องกง
กระนั้นก็ตาม เมื่อรัฐบาลจีนหันมาเดินนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจแบบตลาดและเปิดประเทศอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นับแต่ปี 1992 บรรยากาศทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมการกินอยู่และการจับจ่ายใช้สอยที่เปลี่ยนไป ได้เปิดโอกาสให้บุคลากรผู้ทรงภูมิปัญญาทั้งหลาย อาทิ อาจารย์โจว ผู้ประกอบการซึ่งหลงใหลในความงดงามของกี่เพ้า มีช่องทางที่จะฟื้นฟูองค์ความรู้แห่งศิลปะขั้นสูงจากโบราณกาล ให้กลับมาโลดแล่นในวิถีชีวิตของผู้คนอีกครั้งหนึ่ง
“In the Mood for Love” หนังโรแมนติกดราม่า จุดประกายให้ กี่เพ้า ฟื้นความป๊อบปูลาร์
อาจารย์โจวเริ่มต้นด้วยการจับตลาดกี่เพ้าสำหรับลูกค้าเบี้ยน้อยหอยน้อย จนกระทั่งได้มาก่อตั้งห้องเสื้อฮั่นอาร์ตในปี 1998 ด้วยกันกับหุ้นส่วนผู้เป็นสุดยอดนักออกแบบกี่เพ้าระดับตำนาน คือ อาจารย์ฉู่ หงเซิง Chu Hongsheng ผู้อำนวยการผลิตชุดแต่งกายกี่เพ้าให้นักแสดงสวมใส่เข้าฉากในสุดยอดภาพยนตร์แห่งปี 2000 คือ In the Mood for Love ของผู้กำกับหว่อง กาไว นำแสดงโดยจาง ม่านอวี้ และเหลียง เฉาเหว่ย
ในปีที่ภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าโรงหนัง อายุอานามของอาจารย์ฉู่อยู่ที่ 82 กะรัต โดยที่สุขภาพยังแข็งแรงเหลือเชื่อ อาจารย์ฉู่ซึ่งจากโลกไปด้วยสิริอายุเลขสวย 99 ปีนั้น เริ่มตัดเย็บกี่เพ้ามาตั้งแต่เป็นหนุ่มทีนเอจ วัยเพียง 16 ปี และสามารถรักษาตัวรอดได้ตลอดยุคปฏิวัติวัฒนธรรม จนกระทั่งมาร่วมหุ้นธุรกิจและส่งมอบเคล็ดวิชากี่เพ้าทั้งปวงให้แก่อาจารย์โจว
ด้วยว่า In the Mood for Love เป็นหนังพีเรียดเดินเรื่องในฮ่องกงช่วงทศวรรษ 1960 ตัวละครสตรีในเรื่องจึงได้สวมกี่เพ้างดงามกันทั่วหน้า เฉพาะที่อาจารย์ฉู่ตัดเย็บให้จาง ม่านอวี้ ก็กว่า 30 ชุด ซึ่งล้วนแต่งามสง่าและเซ็กซี่หวานๆ ชวนให้อยากลองสวมดูบ้าง และจึงนำเสนอให้ชื่นชม 5 ชุด ดังนี้
ในปัจจุบันนี้ มีการผลิตกี่เพ้าแบบเสื้อโหลป้อนสู่ตลาดล่างซึ่งนิยมซื้อไปใช้ในอีเวนต์เฉพาะกิจ อย่างเช่นอีเวนต์แต่งงาน หรืออีเวนต์แบบทางการต่างๆ โดยจะมีสนนราคาถูกใจสบายกระเป๋า เช่น 100 หยวน (ประมาณ 520 บาท)
แต่สำหรับอาจารย์โจว ตลาดที่จะรักษาคุณค่าและมาตรฐานของกี่เพ้าไว้ได้ คือตลาดที่สามารถนำเสนอดีไซน์อันหรูวิไลเพื่อให้ผู้มีอำนาจซื้อสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เจ้าแม่แฟชั่นฐานะร่ำรวย ได้เลือกไปสวมใส่ เพื่อจะสวยขึ้นด้วยเทคนิคพรางหน้าท้องจนแลประหนึ่งจะราบสวย หมดความพลุ้ยได้อย่างมหัศจรรย์
จะสร้างกี่เพ้าเจาะตลาดบน คุณค่าเชิงวัฒนธรรมต้องมา สนนราคาไม่ต้องพูดถึง
“จะมาตั้งราคาขายกันถูกๆ มันไม่ได้รักษาคุณค่าแท้จริงของกี่เพ้าน่ะครับ” อาจารย์โจวบอก พร้อมเผยวิสัยทัศน์ว่าสำหรับประเทศจีนนั้น ผู้บริโภคสินค้าแฟชั่นที่มีอำนาจซื้ออย่างแท้จริงต้องการกี่เพ้าที่ใช้วัสดุคุณภาพสูง ดูหรูหรา มีดีไซน์ที่ฉีกกระแสและแตกต่าง ตลอดจนเป็นผลงานหัตถกรรมที่ประณีต คุณลักษณ์เหล่านี้ล้วนต้องใช้ต้นทุนสูง ดังนั้น ระดับราคาจึงต้องแพงตามกันไป
เมื่อปลายปีที่แล้ว อาจารย์โจวเอาผลงานกี่เพ้าออกงานสุดยอดแฟชั่นโชว์รายการหนึ่งในเซี่ยงไฮ้ โดยเสนอดีไซน์ที่ฉีกแนว โฉบเฉี่ยว ทันสมัย นวัตกรรมของอาจารย์โจวคือนำเอกลักษณ์แห่งกี่เพ้ารูปทรงกระชับเรือนกายและคอเสื้อตั้งสูงสไตล์คลาสิกของแมนดาริน มาผสานกับสิ่งประดับเสื้อที่ฉีกออกจากสไตล์ดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็นการใช้ลูกไม้บ้าง ใช้ผ้ากำมะหยี่บ้าง ใช้เครื่องประดับโลหะบ้าง อีกทั้งยังเพิ่มความหลากหลายในลวดลายเย็บปักที่อลังการหรูวิลิศ
“เราอยากให้คนรุ่นใหม่หันมาสวมใส่กี่เพ้าครับ” อาจารย์โจวกล่าว
สาว Gen-Z ถึง Gen-Y คือกลุ่มเป้าหมายที่อยากนำเสนอกี่เพ้าให้ทดลองสัมผัส
สำหรับมาดามเจสสิกา หยาง เจินเจิน (Yang Zhenzhen) สาวสวยวัย 28 กะรัต เจ้าของห้องเสื้อกี่เพ้างดงามบาดใจในเซี่ยงไฮ้ คือหนึ่งในผู้ประกอบการแฟชั่นรุ่นใหม่ วิสัยทัศน์ทันสมัย มาดามหยางดำเนินธุรกิจขนาดไม่ใหญ่และตั้งสนนราคาสูงอยู่บ้าง-แต่ไม่สูงเวอร์
ที่สำคัญ เธอเป็นเจ้าแม่คีย์บอร์ดผู้ทรงอิทธิพลในด้านสไตล์เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย
ด้วยความที่รักในกี่เพ้า มาดามหยางมีแรงบันดาลใจที่จะให้ผู้หญิงได้สัมผัสกับความงามที่ชุดกี่เพ้าสามารถดลบันดาล แล้วหันมาสวมใส่กี่เพ้าในหลายๆ สไตล์ ทั้งเก๋ เท่ สง่า อ่อนหวาน หรือประเปรียวกระฉับกระเฉง
กลยุทธ์การตลาดของเจสสิกา หยาง มีอยู่ว่า การเข้าครองตลาดหญิงสาวอายุไม่มากเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อการธำรงรักษาให้เสื้อผ้างามๆ ตามประเพณีนิยมอย่าง กี่เพ้า ได้มีที่ยืนในชีวิตของผู้คน
ห้องเสื้อของมาดามหยางจึงตั้งเป้าหมายไว้ที่ตลาดสาวๆ ที่มีกำลังซื้อเป็นของตนเองในระดับกลาง-บน ภายในกลุ่มของสาวเจเนอเรชั่น-แซด และเจเนอเรชั่น-วาย ซึ่งในขณะนี้เจริญวุฒิภาวะยู่ในช่วงอายุประมาณ 25-45 ปี ขณะที่สนนราคากี่เพ้าสวยงามน่าสวมใส่ของเธอจะอยู่ที่ประมาณชุดละ 600 ดอลลาร์สรอ. หรือราว 19,000-20,000 บาท
“สาวรุ่นใหม่จะนำชีวิตและพละกำลังใหม่ๆ” มาอัดฉีดพลังชีวิตให้แก่กี่เพ้า มาดามหยางบอกอย่างนั้น เธอเล่าถึงความหลงใหลในกี่เพ้ามาตั้งแต่ยังเด็ก และเริ่มสะสมเสื้อผ้ากี่เพ้าเมื่อห้าปีที่ผ่านมา
“หากสาวๆ รุ่นใหม่ไม่สวมใส่กี่เพ้า พอพวกเธอสูงวัยขึ้นไป ก็จะไม่มีใครอีกแล้วที่จะหยิบกี่เพ้ามาสวมใส่ค่ะ” มาดามหยางแสดงความกังวลถึงความเป็นไปได้ที่เสื้อผ้าสไตล์ยอดเยี่ยมจากอดีตกาลจะหายสาบสูญในอีกไม่กี่เจเนอเรชันข้างหน้า
มาดามมีเห็นว่าสาวรุ่นใหม่โดนยาพิษที่ทำให้เกิดความคิดว่ากี่เพ้าเป็นอาภรณ์หลักของผู้ชรา หรือไม่ก็มีความฝังใจจากวัฒนธรรมป๊อบที่ใช้ชุดกี่เพ้าเป็นสัญลักษณ์ชี้บ่งถึงความเป็นสตรีจีน
“นี่เป็นแนวคิดที่ผิดพลาดอย่างยิ่งค่ะ ดิฉันจึงอยากจะทำให้กี่เพ้าเป็นแฟชั่นที่ได้รับความนิยมกันอย่างกว้างขวางที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ พร้อมกับทำให้ผู้คนทราบถึงความหมายที่แท้จริงของกี่เพ้าน่ะค่ะ” มาดามหยางกล่าว โดยหมายถึงบทบาทของกี่เพ้าในทศวรรษ 1920 เมื่อชุดเจ้าเสน่ห์ที่ทำให้ผู้หญิงแลดูงดงามและเย้ายวนมากขึ้นนี้ ได้ทลายบรรทัดฐานเดิมที่เคยกำหนดกรอบชีวิตของอิสตรี
ความรู้สึกถึงเสรีภาพที่มาพร้อมกับชุดกี่เพ้าในทศวรรษ 1920 จะไม่มีวันล้าสมัย มาดามหยางกล่าว
สำหรับอาจารย์โจว การขายกี่เพ้าเป็นเรื่องของการทำให้มรดกวัฒนธรรมของจีนกลายเป็นอมตะ
“เราเป็นหน่วยเล็กๆ แต่เราทำหน้าที่สืบทอดผลงานวัฒนธรรมของชาติ” อาจารย์โจวกล่าว
“นั่นคือคุณค่าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเรา”
โดย รัศมี มีเรื่องเล่า
(ที่มา: เอเอฟพี China Global Television Networks thepankou.com)