แผ่นดินไหวรุนแรงระดับ 7.4 แมกนิจูดบริเวณนอกชายฝั่งเมืองฟูกูชิมะ ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น ทำให้ผู้คนนับหมื่นครัวเรือนต้องอยู่กันโดยไม่มีไฟฟ้าและน้ำประปาในวันพฤหัสบดี (17 มี.ค.) ขณะที่รถไฟหัวกระสุน “ชินคันเซ็น” ก็ต้องหยุดให้บริการ หลังมีขบวนหนึ่งตกรางบางส่วน นอกจากนั้น ยังบังคับให้โรงงานต่างๆ ต้องหยุดงานชั่วคราว เป็นการเพิ่มปัญหาด้านห่วงโซ่อุปทานให้แก่พวกผู้ผลิตสมาร์ทโฟน เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ และรถยนต์ทั่วโลก
แผ่นดินไหวคราวนี้ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเวลา 23.36 น.ของวันพุธ (16) โดยจุดศูนย์กลางเหนือแผ่นดินไหวอยู่ในทะเลบริเวณด้านตะวันออกของจังหวัดฟูกูชิมะ และจุดศูนย์กลางอยู่ ณ ความลึก 60 กิโลเมตร ทั้งนี้ ตามข้อมูลของสำนักงานอุตุนิยมวิทยาของญี่ปุ่น จังหวัดฟูกูชิมะ คือพื้นที่เดียวกันกับที่ประสบความหายนะจากแผ่นดินใหญ่ครั้งใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นเมื่อ 11 ปีก่อน โดยที่คราวนั้นแผ่นดินไหวรุนแรงมากระดับ 9.1 แมกนิจูด ยังทำให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิโถมใส่แผ่นดินชายฝั่ง คร่าชีวิตผู้คนไปเกือบ 2 หมื่นคน รวมทั้งก่อให้เกิดวิกฤตร้ายแรงขึ้นที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์
สำหรับธรณีพิโรธครั้งนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปอย่างน้อย 2 คน ซึ่งเป็นการแก้ไขตัวเลขลงมาจาก 4 คนตามที่เคยแถลงกันไว้ในตอนแรก ส่วนผู้บาดเจ็บมี 161 คน
ทางการยังได้ออกประกาศเตือนภัยสึนามิ ก่อนจะยกเลิกคำเตือนในช่วงเช้าวันพฤหัสบดี (17) ขณะที่บางพื้นที่มีรายงานระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น ทว่ายังไม่พบความเสียหายรุนแรง
ยังไม่มีรายงานว่าเกิดความผิดปกติใดๆ ขึ้นกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไม่ว่าแห่งไหน ถึงแม้พวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบบอกว่า สัญญาณเตือนภัยไฟไหม้เกิดดังขึ้นที่อาคารเครื่องกังหันไอน้ำของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งที่เกิดอุบัติเหตุจนเตาปฏิกรณ์เสียหายหนักในปี 2011
อย่างไรก็ตาม แผ่นดินไหวครั้งนี้ยังคงสร้างความสับสนอลหม่านให้แก่อุตสาหกรรมต่างๆ
บริษัทผู้ผลิตชิป เรเนซัส อิเล็กทรอนิกส์ คอร์ป ซึ่งเป็นซัปพลายเออร์รายใหญ่รายหนึ่งของชิปที่ใช้สำหรับรถยนต์ ต้องระงับการผลิตในโรงงานเซมิคอนดักเตอร์ 2 แห่ง และหยุดงานบางส่วนในโรงที่ 3
แห่งหนึ่งในจำนวนนี้คือโรงงานของเรเนซัสที่เมืองนากะ ในจังหวัดอิบารากิ ซึ่งอยู่นอกโตเกียวออกไปทางตอนเหนือ โดยที่โรงงานแห่งนี้เป็นผู้จัดส่งชิปให้แก่พวกบริษัทรถยนต์ทั่วโลก ก่อนหน้านี้ภาวะขาดแคลนชิปสืบเนื่องจากความติดขัดที่เกี่ยวข้องกับโรคระบาดใหญ่โควิด-19 ก็บังคับให้บริษัทรถยนต์จำนวนมากต้องตัดลงการผลิตลงมาอยู่แล้ว
ด้าน มูราตะ แมนูแฟคเจอริ่ง ที่เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ต้องหยุดการทำงานในโรงงานหลายแห่งของตนเช่นกัน หนึ่งในนั้นเป็นโรงงานผลิตชิ้นส่วนสมาร์ทโฟน ซึ่งเกิดไฟไหม้ขึ้นมาภายหลังแผ่นดินไหวคราวนี้
ส่วนบริษัทโซนี่ กรุ๊ป คอร์ป ระงับการผลิตที่โรงงาน 2 แห่งในจังหวัดมิยางิ และโรงงานแห่งที่ 3 ในจังหวัดยามากาตะ โรงงานเหล่านี้ผลิตพวกอุปกรณ์เก็บข้อมูล เลเซอร์ ไดโอด และอิมเมจ เซ็นเซอร์
สำหรับโตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป แถลงว่าจะเริ่มเดินเครื่องทำงานกันใหม่แต่ด้วยศักยภาพที่ลดลง ณ โรงงาน 2 แห่งในคืนวันพฤหัสบดี หลังจากการดำเนินงานถูกระงับไปไม่นานนักหลังแผ่นดินไหว
เอเนออส คอร์ป บริษัทโรงกลั่นน้ำมันใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น สั่งปิดโรงกลั่นที่เมืองเซนไดของตน ซึ่งในนี้มีหน่วยกลั่นน้ำมันดิบที่มีศักยภาพกลั่นน้ำมันได้ 145,000 บาร์เรลต่อวัน
สำหรับรถไฟชินคันเซ็นนั้น ทางการผู้รับผิดชอบสั่งระงับการเดินรถไฟความเร็วสูงไป 1 สายแบบไม่มีกำหนด นอกจากนั้น ยังปิดทางหลวงสำคัญในภูมิภาคนี้อย่างน้อย 1 สายเพื่อตรวจสอบความปลอดภัย
ความรุนแรงของแผ่นดินไหวยังส่งผลให้อาคารบ้านเรือนและทรัพย์สินของประชาชนพังเสียหาย และมีรายงานไฟฟ้าดับในบางพื้นที่ของกรุงโตเกียว แต่ทางการสามารถซ่อมระบบจ่ายไฟกลับคืนมาได้ภายใน 3 ชั่วโมง
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลล่าสุดเมื่อเวลา 10.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น พบว่า ชาวบ้าน 24,270 ครัวเรือนในพื้นที่ให้บริการของบริษัท โทโฮกุ อิเล็กทริก เพาเวอร์ โค ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น ยังคงไม่มีไฟฟ้าใช้ โดยทางบริษัทคาดว่าจะสามารถจ่ายไฟได้ตามปกติภายในวันพฤหัสบดี
นายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ แห่งญี่ปุ่น แถลงว่ารัฐบาลได้เตรียมพร้อมขั้นสูงสุดในกรณีที่อาจจะเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ตามมาอีกภายในช่วง 2-3 วันข้างหน้า
(ที่มา : รอยเตอร์, เอเอฟพี)