รอยเตอร์/เอเจนซีส์ - เอกอัครราชทูตยูเครนประจำญี่ปุ่น แถลงวันนี้ (11 มี.ค.) ว่า มีความเป็นไปได้ที่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน อาจจะใช้อาวุธนิวเคลียร์ในยูเครน เกิดขึ้น 1 วันหลังทำเนียบขาวยืนยันหากว่าเครมลินคิดจะยึดทรัพย์สินทางธุรกิจคนอเมริกันในรัสเซียตามรายงานอาจจะต้องพบกับความหายนะทางเศรษฐกิจมากกว่าเดิมในท้ายที่สุด เปิดโผรายชื่อธุรกิจต่างชาติที่อาจส่อถูกยึดทรัพทย์ รวมแอปเปิล ไมโครซอฟท์ อิเกีย โตโยต้า น้ำมันเชลล์ เป็นต้น
รอยเตอร์รายงานวันนี้ (11 มี.ค.) ว่า เอกอัครราชทูตยูเครนประจำญี่ปุ่น เซอร์เก คอร์ซุนสกี (Sergiy Korsunsky) เปิดใจในวันศุกร์ (11) ว่า มีความเป็นไปได้ที่ผู้นำรัสเซียอาจหันไปใช้อาวุธนิวเคลียร์ในยูเครนหลังเผชิญแรงต่อต้านอย่างแรงกล้าต่อการบุกเข้ายึดของรัสเซีย
ทั้งนี้ เขากล่าวในการให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ว่า “พวกเราจะสู้จนกว่าจะถึงวาระสุดท้าย พวกเราจะไม่ยอมอยู่ในรัฐที่รัสเซียเป็นคนปกครอง”
และเสริมต่อว่า “ไม่มีเหตุผลที่เชื่อว่าได้ว่าเขา (ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน) สามารถข่มขู่เราได้เหมือนที่เขาคิด จากการที่คาดว่าพวกเราจะออกมาโค่นล้มรัฐบาลของพวกเรา และเราจะต้อนรับรัสเซียในสิ่งที่พวกเขาทำต่อพวกเรา ไม่มีทางเลย ดังนั้น เขาอาจจะใช้อาวุธนิวเคลียร์”
ในเดือนที่ผ่านมา ปูตินออกคำสั่งให้กองกำลังนิวเคลียร์ของรัสเซียอยู่ในการเตรียมความพร้อม นิวส์วีคชี้ว่า ซึ่งถึงแม้ว่าในขณะที่เขาไม่ได้ออกมาข่มขู่การใช้อาวุธนิวเคลียร์โดยตรงแต่ได้อ้างไปถึงแสนยานุภาพทางการทหารที่ยิ่งใหญ่ของรัสเซีย โดยเฉพาะขุมกำลังอาวุธนิวเคลียร์ของเขา ส่งผลทำให้ประชาชนในยุโรปแตกตื่นหันไปซื้อเม็ดไอโอดีนไว้ติดบ้านทันทีเพื่อป้องกันกัมมันตภาพรังสี
คอร์ซุนสกี กล่าวเปิดเผยว่า ยูเครนจะพึ่งพาพันธมิตรของยูเครนในความพยายามที่จะไม่ให้เกิดการยกระดับความรุนแรงใดๆ ขึ้นมา
“พวกเราจะร่วมมือกับพันธมิตรของพวกเราซึ่งเป็นบรรดาชาติมหาอำนาจทางนิวเคลียร์ทั้งหลายที่ทราบดีว่าจะเฝ้าจับตาสถานการณ์ในอาวุธนิวเคลียร์ได้อย่างไร และซึ่งมันจะช่วยเราป้องกันไม่ให้สิ่งนี้เกิดขึ้น”
ขณะเดียวกัน โฆษกทำเนียบขาวของสหรัฐฯ ในวันพฤหัสบดี (10) ออกมากล่าวต่อรายงานที่ว่ามีความเป็นไปได้ที่เครมลินอาจจะยึดธุรกิจอเมริกันในรัสเซีย โดยนิวสวีครายงานว่า มีรายงานล่าสุดออกมาชี้ว่า รัฐบาลเครมลินอาจกำลังวางแผนที่จะยึดทรัพย์สินของบริษัทชาติตะวันตกในยุโรป ญี่ปุ่น และโดยเฉพาะของสหรัฐฯ ที่ได้หยุดการดำเนินงานในรัสเซียหลังเครมลินถูกรัฐบาลสหรัฐฯ และทั่วโลกรุมคว่ำบาตรฐานบุกยึดยูเครน
ซึ่งปูตินได้กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลของเขาจะทำการออกกฎหมายการจัดการภายนอกต่อต้านบริษัทคอร์ปอเรตต่างชาติเหล่านี้ ถึงแม้ว่าปูตินจะไม่กล่าวไปถึงขอบเขตของภัยคุกคามนี้
โฆษกทำเนียบขาว เจน ซากี กล่าวแถลงต่อรายงานข่าวรัสเซียเล็งยึดบริษัทคนอเมริกันที่ว่านี้อย่างดุเด็ดเผ็ดมันทางทวิตเตอร์ที่ออกมาเป็นชุดใหญ่ โดยเธอกล่าวประณามท่าทีของปูติน และยังกล่าวอย่างชัดเจนว่า การยึดใดๆ จะส่งผลตามมาต่อเศรษฐกิจรัสเซียอย่างแน่นอน
“ทางเราได้เห็นรายงานที่ระบุว่า รัสเซียอาจพิจารณายึดทรัพย์สินของสหรัฐฯ และบริษัทข้ามชาติต่างๆ ที่ได้ประกาศยุติการดำเนินงานในรัสเซียหรือถอนตัวออกจากตลาดรัสเซีย” และกล่าวต่อว่า “การตัดสินใจเหล่านี้ในท้ายที่สุดมันขึ้นอยู่กับบริษัทเหล่านี้”
เธอได้ชี้แจงต่อว่า “จากการที่ประธานาธิบดีไบเดนได้กล่าวไว้เมื่อต้นสัปดาห์นี้ พวกเรายินดีต่อการตัดสินใจของทางบริษัทเหล่านี้ของการออกมาจากรัสเซียเป็นเพราะพวกเขาไม่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของสงครามทางเลือกของรัสเซียต่อยูเครน”
ซากี กล่าวว่า “การตัดสินใจใดๆ ที่ปราศจากความชอบธรรมโดยรัสเซียเพื่อยึดทรัพย์สินของบริษัทเหล่านี้จะมีผลลัพธ์ในท้ายที่สุดในความเจ็บปวดที่มากกว่าทางเศรษฐกิจสำหรับรัสเซียเอง”
นอกจากนี้ โฆษกทำเนียบขาวยังย้ำว่า การยึดทรัพย์ทางธุรกิจใดๆ ก็ตามจะถือเป็นการส่งสัญญาณต่อประชาคมโลกธุรกิจอย่างชัดเจนว่า รัสเซียไม่ใช่ที่ปลอดภัยสำหรับการลงทุนและการทำธุรกิจ
ทั้งนี้เธอย้ำว่า ฝ่ายรัสเซียอาจโดนการฟ้องร้องทางกฎหมายจากบริษัทคอร์ปอเรตที่ตกเป็นเป้าและทำเนียบขาวขอยืนเคียงข้างต่อธุรกิจอเมริกันที่ต้องตัดสินใจอย่างยากลำบากต่ออนาคตของบริษัทเหล่านี้ในการดำเนินงานในรัสเซีย
และซากียังอ้างอิงไปถึงโอลิกาชรัสเซียคนหนึ่งแต่ไม่เปิดเผยชื่อโดยชี้ว่า มหาเศรษฐีรัสเซียรายนี้ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของเครมลินในการยึดทรัพย์สินธุรกิจคนอเมริกัน “นักธุรกิจคนนี้กล่าวว่ามันจะทำให้นำพวกเราย้อนกลับไปเมื่อปี 1917” และที่ว่า “ผลที่ตามมาของความเคลื่อนไหวเช่นนี้คือ ทั่วโลกจะไม่เชื่อมั่นรัสเซียในส่วนของนักลงทุน พวกเราจะต้องผจญกับมันเป็นเวลาหลายสิบปี”
ซึ่งสำนักข่าว TASS ของรัสเซียชี้ว่า ดูเหมือนเครมลินอาจจะกำลังเดินหน้าตามแผนโดยตามข่าวได้มีการอ้างไปถึงบัญชีที่องค์กรสิทธิผู้บริโภครัสเซียเป็นผู้สร้างขึ้นมาเกี่ยวข้องกับรายชื่อบริษัทต่างชาติที่ทรัพย์สินกำลังจะถูกยึดโดยเครมลิน
โดยในรายงานพบว่า รวมไปถึงบริษัท 59 แห่งที่มีจำนวนมากเป็นบริษัทข้ามชาติทรงอิทธิพลได้แก่ ไมโครซอฟท์ อิเกีย โตโยต้า แอปเปิล บริษัทน้ำมันเชลล์ และฟ้าสต์ฟูดชื่อดัง แมคโดนัลด์ เป็นต้น