xs
xsm
sm
md
lg

ยูเครนกำลังยอมรับความปราชัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เอ็ม. เค. ภัทรกุมาร


คณะผู้แทนของยูเครน (ซ้าย) และของรัสเซีย (ขวา) ณ การประชุมสันติภาพรอบที่ 3 ซึ่งจัดขึ้นในภูมิภาคเบรสต์ ประเทศเบลารุส เมื่อวันจันทร์ (7 มี.ค.)
ยูเครนกำลังยอมรับความปราชัย
โดย เอ็ม. เค. ภัทรกุมาร

Ukraine faces defeat
BY M. K. BHADRAKUMAR
08/03/2022

พวกนักวิเคราะห์ฝ่ายตะวันตกผู้ซึ่งคาดหมายเอาไว้ว่า บรรดานายพลรัสเซียจะประพฤติตัวแบบนายพลแพตตัน หรือนายพลแมคอาร์เธอร์ ด้วยการระดมกำลังเข้าโจมตีเคียฟอย่างใหญ่โตมโหฬารนั้น กลับต้องกลายเป็นประจักษ์พยานให้แก่ยุทธศาสตร์รัสเซียซึ่งชวนให้พวกเขาสับสนงุนงง -- นั่นคือ การปฏิบัติการเป็นไปอย่างช้าๆ, มีการหยุดเป็นพักๆ โดยไม่มีการใช้กำลังอย่างเกินเลย, และโดดเด่นด้วยความนิยมที่จะหลีกเลี่ยงการสู้รบ โดยใช้การโอบล้อม และการข้ามการลอดพวกหย่อมพื้นที่ซึ่งมีการต่อต้าน รวมทั้งหลีกเลี่ยงสมรภูมิที่มีการจัดวางเอาไว้ล่วงหน้า

มันเป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่าพวกสื่อมวลชนตะวันตกเข้าใจผิดพลาด หรือเชื่ออย่างผิดพลาด เวลานี้การปฏิบัติการพิเศษของรัสเซียในยูเครนกำลังเข้าสู่การปิดเกมอย่างประสบความสำเร็จในเส้นทางการเมืองและการทูต ด้วยความรวดเร็วยิ่งกว่าที่เคยคิดกันเอาไว้มากทีเดียว

เมื่อพิจารณากันอย่างใกล้ชิดถึงผลลัพธ์ของการเจรจาสันติภาพรอบที่ 3 ที่กระทำกันในเบลารุสเมื่อวันจันทร์ (7 มี.ค.) จะอ่านได้ว่าทางคณะผู้เจรจาฝ่ายยูเครนได้ขอเวลาเพิ่มเติมสักระยะหนึ่ง เพื่อจะได้ตอบสนองอย่างเต็มที่ต่อเงื่อนไขต่างๆ ของฝ่ายรัสเซียในเรื่องการหยุดยิง

ฝ่ายยูเครนยังเพิ่งส่งสัญญาณว่ามีความเต็มใจที่จะเป็นประเทศเป็นกลาง ซึ่งปฏิเสธไม่เข้าเป็นสมาชิกขององค์การนาโต้ จุดหลักๆ ที่ยังติดขัดอยู่จึงหดแคบลงเหลือ ก) การยอมรับรองว่าไครเมียเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย และ ข) อธิปไตยของ ลูกันสก์ (Lugansk) และ โดเน็ตสก์ (Donetsk)
(ลูกันสก์ Lugansk เป็นการเรียกชื่อเขตนี้ของฝ่ายรัสเซีย ขณะที่ฝ่ายยูเครนเรียกว่า ลูฮันสก์ Luhansk ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Luhansk -ผู้แปล )

เงื่อนไขเหล่านี้เป็นข้อเรียกร้องต้องการของฝ่ายรัสเซียที่ไม่สามารถเจรจาต่อรองได้ แต่มันก็เป็นยาขมสำหรับคณะผู้นำยูเครนที่จะต้องกลืนกินลงไป จุดยืนของฝ่ายยูเครนคือข้อเรียกร้องเหล่านี้ เป็นไปไม่ได้ “ในทางปฏิบัติ (“practically” impossible)

แต่อย่างที่ วลาดิมีร์ เมดินสกี้ (Vladimir Medinsky) หัวหน้าของทีมเจรจาฝ่ายรัสเซีย บอกกับสื่อ RT ว่า “ในความเห็นของผมแล้ว มีความแตกต่างกันอย่างใหญ่โตทีเดียว ระหว่าง เป็นไปไม่ได้ กับ เป็นไปไม่ได้ “ในทางปฏิบัติ” ... ผมหวังว่าในที่สุดแล้วพวกเราจะสามารถหาทางออกกันได้”
RT (เครือข่ายโทรทัศน์ระหว่างประเทศที่อยู่ในความควบคุมของทางการรัสเซีย เมื่อก่อนใช้ชื่อว่า Russia Today ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/RT_(TV_network) -ผู้แปล)

ฝ่ายรัสเซียรู้สึกมีกำลังใจ ถึงแม้ว่าการเจรจาในวันจันทร์ (7 มี.ค.) ไม่ได้มีผลลัพธ์ที่จับต้องได้ใดๆ ออกมาก็ตาม พวกเขาอยู่ในสภาพที่ไม่รู้สึกว่าต้องรีบร้อนเข้าสู่การรุกทางทหารครั้งใหญ่

อันที่จริงแล้ว แบบแผนที่ดำเนินมาโดยตลอดของการสู้รบคราวนี้ก็คือ พวกนายพลรัสเซียจะใช้แสนยานุภาพทางทหารเชิงบีบบังคับ มาสร้างให้เกิดเป็นพลังผนึกร่วม เพื่อผลักดันเส้นทางด้านการเมือง/การทูตที่ทำคู่ขนานกันอยู่ ให้บรรลุถึงจุดมุ่งหมายของมอสโก (โดยจุดมุ่งหมายที่ว่านี้ ไม่ได้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการพิชิตครอบครองดินแดนเลย)

พวกนักวิเคราะห์ฝ่ายตะวันตกผู้ซึ่งคาดหมายเอาไว้ว่า บรรดานายพลรัสเซียจะประพฤติตัวแบบนายพลแพตตัน หรือนายพลแมคอาร์เธอร์ ด้วยการระดมกำลังเข้าโจมตีเคียฟอย่างใหญ่โตมโหฬารนั้น กลับต้องกลายเป็นประจักษ์พยานให้แก่ยุทธศาสตร์รัสเซียซึ่งชวนให้พวกเขาสับสนงุนงง -- นั่นคือ การปฏิบัติการเป็นไปอย่างช้าๆ, มีการหยุดเป็นพักๆ โดยไม่มีการใช้กำลังอย่างเกินเลย, และโดดเด่นด้วยความนิยมที่จะหลีกเลี่ยงการสู้รบ โดยใช้การโอบล้อม และการข้ามการลอดพวกหย่อมพื้นที่ซึ่งมีการต่อต้าน รวมทั้งหลีกเลี่ยงสมรภูมิที่มีการจัดวางเอาไว้ล่วงหน้า

ปูตินเปิดเผยในวันจันทร์ (7 มี.ค.) ว่า “พวกทหารเกณฑ์ไม่ได้เข้าร่วมและจะไม่ได้เข้าร่วมในการทำสงคราม รวมทั้งจะไม่มีการเรียกพวกกำลังพลสำรองจากหน่วยทหารสำรองมาเพิ่มเติมใดๆ ทั้งนั้น ... ภารกิจต่างๆ กระทำไปโดยทหารอาชีพเท่านั้น

ฝ่ายยูเครนกำลังตระหนักถึงความเป็นจริงว่า ยุทธศาสตร์รัสเซียกำลังชนะ ขณะที่กองทหารรัสเซียกำลังโอบล้อมเคียฟทั้งจากด้านตะวันตกเฉียงเหนือ, ด้านตะวันตก,และด้านตะวันออก พวกท่าเรือริมทะเลดำทั้งหลายไม่สามารถเข้าถึงได้อีกต่อไปแล้ว, ส่วนกองกำลังของฝ่ายยูเครนที่อยู่ในภาคตะวันออกก็ติดกับ เมื่อวันจันทร์ (7 มี.ค.) (ประธานาธิบดียูเครน โวโลดีมีร์) เซเลนสกี้ย์ยอมรับว่าสถานการณ์อยู่ในสภาพเลวร้าย

หลังจากการเจรจาสงบศึกรอบที่ 3 ระหว่างรัสเซียกับยูเครน ในเบลารุส เขากระวีกระวาดออกมายืนยันว่าการเจรจาจะดำเนินต่อไปจนกระทั่งบรรลุข้อตกลง! เขาพูดเอาไว้อย่างนี้

“วันนี้ การเจรจารอบที่ 3 มีขึ้นในเบลารุส และผมปรารถนาเหลือเกินที่จะพูดว่า ‘รอบที่สามและรอบสุดท้าย’ แต่เราเป็นพวกคำนึงถึงความเป็นจริง (realist) ด้วยเหตุนี้ เราจะเจรจา เราจะยืนยันเจรจาไปจนกระทั่งเราพบหนทางที่จะบอกกับประชาชนของเราว่า ‘นี่คือวิธีที่เราจะไปสู่สันติภาพ’”

ฝ่ายรัสเซียไม่ได้อยู่ในอาการรีบร้อนอย่างรุนแรงใดๆ พวกเขาหลีกเลี่ยงละเว้นการแสดงความยินดีปรีดาในความสำเร็จอย่างเกินเลย และตรงกันข้ามกลับอนุญาตให้มีที่ทางอย่างเพียงพอสำหรับฝ่ายยูเครนที่จะทำการตัดสินใจบางอย่างบางประการอันยากลำบากจริงๆ ในเรื่องการยอมแพ้ –ขณะเดียวกับที่แรงกดดันทางการทหารต่อกรุงเคียฟก็ยังคงดำเนินต่อไป โฆษกกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย มาเรีย ซัคฮาโรวา (Maria Zakharova) พูดในวันจันทร์ (7 มี.ค.) ว่า “เรายังคงเปิดประตูเอาไว้สำหรับทางเลือกในทางการทูต ทันทีที่มีสัญญาณอันสอดคล้องปรากฏออกมา เราก็จะดำเนินการกับสัญญาณเหล่านั้น”

สิ่งที่สำคัญมากก็คือ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันในเรื่องโรดแมปสำหรับการสร้างระเบียงเพื่อมนุษยธรรมขึ้นมา และฝ่ายรัสเซียได้ประกาศการหยุดยิง นอกจากนั้น ระเบียงเพื่อมนุษยธรรมเหล่านี้จะดำเนินการโดยมีการติดต่อประสานงานกันอย่างใกล้ชิดของทั้งสองฝ่ายผ่านช่องทางติดต่อสายด่วน

คำแถลงของฝ่ายรัสเซียบอกว่า “การต่อเชื่อมกันอย่างต่อเนื่องในด้านการสื่อสารระหว่างฝ่ายรัสเซียกับฝ่ายยูเครน จะได้รับการจัดวางขึ้นมา สำหรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกันเกี่ยวกับการตระเตรียมและการดำเนินการอพยพพลเรือนและพลเมืองต่างประเทศ”

จากนั้นฝ่ายรัสเซียยังได้ถ่ายทอดรายละเอียดที่เกี่ยวข้องทั้งหมดไปแจ้งแก่พวกสถานเอกอัครราชทูตต่างประเทศ, หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของสหประชาชาติ และโอเอสซีอี (องค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป), คณะกรรมการกาชาดสากล, และองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ทั้งนี้ระเบียงเพื่อมนุษยธรรมเหล่านี้ มีดังนี้:
**จากเคียฟและภูมิภาคที่อยู่ติดๆ กัน ไปยัง โกเมล (Gomel) (ในเบลารุส)
**จาก ซูมี (Sumy) ไปตามเส้นทาง 2 สาย สู่ โปลตาวา (Poltava) (ภาคกลางของยูเครน) และสู่รัสเซีย
**จาก คาร์คอฟ (Kharkov) ไปยังรัสเซีย หรือไปยัง ลวอฟ (Lvov), อูซโกร็อด (Uzhgorod), และ อีวาโน-ฟรานคอฟสก์ (Ivano-Frankovsk) (ทั้ง 3 เมืองนี้อยู่ในยูเครนตะวันตก) และ
**จาก มารีอูโปล (Mariupol) ไปตามเส้นทาง 2 สาย สู่รัสเซีย และสู่ ซาโปโรเซ (Zaporozhe) (ริมแม่น้ำดนีเปอร์ ในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของยูเครน)

งานที่ทำร่วมกันนี้ รวมทั้งการสู้รบที่สงบเงียบลงไปมาก กำลังเป็นการแผ้วถางทางให้แก่การพบปะเจรจากันที่สำคัญยิ่งยวดระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย เซียร์เก ลาฟรอฟ (Sergey Lavrov) กับรัฐมนตรีต่างประเทศยูเครน ดมีโตร คูเลบา (Dmytro Kuleba) ในเมืองรีสอร์ต อันตัลยา (Antalya) ของตุรกีวันพฤหัสบดี (10 มี.ค.) นี้ ข้อเท็จจริงที่ว่าการพูดจากันมีการยกระดับขึ้นไปเป็นระดับรัฐมนตรีต่างประเทศเช่นนี้ คือสัญญาณแห่งความหวังที่ว่า ภาวะขั้นต่ำสุดที่จะทำให้ตกลงกันได้นั้น กำลังเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาเรื่อยๆ

เมื่อตาสว่างอย่างกระจ่างแจ้งจากการทรยศหักหลังของสหรัฐฯและนาโต้ เวลานี้เซเลนสกี้ย์จึงกำลังค่อยๆ ขยับคืบหน้าสู่การทำความตกลงกับมอสโก เป็นเรื่องไร้ประโยชน์ที่จะวินิจฉัยตัดสินเอาไว้ก่อนเกี่ยวกับผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นมา แต่ว่ามันมีตัวเปลี่ยนเกมอยู่ด้วยแน่ๆ พวกประเทศยุโรปรายสำคัญๆ –สหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, เนเธอร์แลนด์— ต่างปฏิเสธไม่เอาด้วยกับข้อเสนอแบบสายเหยี่ยวของวอชิงตัน ในเรื่องการบังคับใช้มาตรการแซงก์ชั่นในเรื่องการส่งออกน้ำมันของรัสเซีย

การส่งออกน้ำมันคือแหล่งที่มาแห่งรายได้ซึ่งสำคัญที่สุดของรัสเซีย ด้วยเหตุนี้ นี่จึงเป็นการปฏิเสธอย่างแข็งขันต่อความพยายามของวอชิงตันที่จะโดดเดี่ยวรัสเซีย ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส กล่าวแบบคาดการณ์อนาคตได้อย่างเหมาะเหม็ง ในคำพูดของเขาเมื่อวันจันทร์ (7 มี.ค.) โดยเขากล่าวว่า

“มันเป็นไปไม่ได้ที่จะสร้างสันติภาพอันถาวรขึ้นมา ถ้าหากรัสเซียไม่ได้เข้ามีส่วนร่วมในการสร้างสถาปัตยกรรมแห่งความมั่นคงที่ครอบคลุมรอบด้านขึ้นบนทวีปของเราด้วย เพราะว่าประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์บงการให้เป็นเช่นนี้ ความรับผิดชอบของเราก็คือต้องสงวนรักษาสายสัมพันธ์ทุกๆ อย่างที่เราสามารถสงวนรักษาเอาไว้ได้ เราจำเป็นต้องพูดจากับประชาชนชาวรัสเซียและประชาชนชาวเบลารุสต่อไป เราจำเป็นต้องทำเช่นนี้ด้วยความช่วยเหลือจากพวกตัวแทนของโลกแห่งวัฒนธรรม, ของประชาคมด้านวิทยาศาสตร์และเทคนิค, ของบรรดาองค์กรนอกภาครัฐบาล”

เมื่อวันอาทิตย์ (6 มี.ค.) ในหน้าบทความของนิวยอร์กไทมส์ บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ก็เขียนเอาไว้ดังนี้ “เราไม่ได้มีความเป็นศัตรูใดๆ กับประชาชนชาวรัสเซีย และเราไม่ได้มีความปรารถนาใดๆ ที่จะประณามกล่าวโทษชาติที่ยิ่งใหญ่ชาติหนึ่งและมหาอำนาจรายหนึ่งของโลก ยูเครนไม่ได้มีลู่ทางโอกาสอย่างจริงจังใดๆ เลยในการเข้าเป็นสมาชิกของนาโต้ในอนาคตอันใกล้นี้ นี่ไม่ได้เป็นการสู้รบขัดแย้งของนาโต้ และมันก็จะไม่กลายเป็นเช่นนั้นไปหรอก”

เวลาเดียวกันนั้น พวกประเทศยุโรปรายสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยอรมนี ก็กำลังบอกปัดเรื่องการรับยูเครนเข้าเป็นสมาชิกอียูเช่นกัน – มันช่างย้อนแย้งอะไรอย่างนี้ เพราะประเด็นเรื่องการรับยูเครนเข้าสหภาพยุโรปนี่แหละ เคยเป็นตัวเร่งให้เกิดการรัฐประหารที่หนุนหลังโดยสหรัฐฯขึ้นในกรุงเคียฟเมื่อปี 2014 และจุดชนวนให้เกิดการเซถลาอย่างวิบัติหายนะ ไปสู่การสู้รบขัดแย้งกับรัสเซีย

เอ็ม. เค. ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเป็นเวลากว่า 29 ปี ในตำแหน่งต่างๆ เป็นต้นว่า เอกอัครราชทูตอินเดียประจำอุซเบกิสถาน (ปี 1995-1998) และเอกอัครราชทูตอินเดียประจำตุรกี (ปี 1998-2001) ปัจจุบันเขาเขียนอยู่ในบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline)

ข้อเขียนชิ้นนี้มาจากบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline) ดูต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ที่ https://www.indianpunchline.com/ukraine-faces-defeat /
กำลังโหลดความคิดเห็น