ยูเครนปฏิเสธไม่ยอมรับข้อเสนอรัสเซียที่ประกาศหยุดยิงครั้งใหม่ในวันจันทร์ (7 มี.ค.) เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนชาวยูเครนอพยพ แต่กำหนดเส้นทางมุ่งหน้าเข้ารัสเซียและเบลารุสเท่านั้น ด้านอเมริกาอ้างมีหลักฐานน่าเชื่อถือเครมลินจงใจโจมตีพลเรือน พร้อมเผยกำลังหารือกับอียูเพื่อแบนการนำเข้าน้ำมันรัสเซีย ปรากฏว่าข่าวนี้ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบชนิดเบรนต์ทะยานเฉียดสถิติสูงสุดนับจากปี 2008 โดยอยู่ที่ 139.13 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ก่อนลดลงเล็กน้อยในเวลาต่อมา
การประกาศหยุดยิงล่าสุดของรัสเซียคราวนี้ มีขึ้นหลังจากความพยายามอพยพชาวยูเครนล้มเหลวทั้ง 2 ครั้งก่อนหน้านี้ โดยที่ฝ่ายตะวันตกและยูเครนกล่าวหาว่ารัสเซียยังคงระดมโจมตีเมืองต่างๆ ทั่วยูเครนทั้งจากอากาศ ภาคพื้นดิน และทะเล เคียฟกระทั่งระบุว่า กองทัพมอสโก “จงใจฆาตกรรม” พลเรือน ขณะที่ฝ่ายรัสเซียบอกว่าเป็นเพราะฝ่ายยูเครนทำผิดเงื่อนไข ทำให้ไม่สามารถเปิดทางให้อพยพต่อไปได้
ปฏิบัติการโจมตีของรัสเซียจนถึงเวลานี้ ส่งผลให้มีประชาชนกว่า 1.5 ล้านคนหนีออกจากยูเครน และประชาชนอีกจำนวนหนึ่งต้องทิ้งบ้านหรือติดอยู่ในเมืองที่ถูกถล่มอ่างหนัก ขณะที่ผู้รุกรานอย่างรัสเซียถูกนานาชาติแซงก์ชันครั้งมโหฬารที่สุด
กระทรวงกลาโหมรัสเซียประกาศเมื่อเช้าวันจันทร์ (7) ซึ่งเป็นวันที่ 12 ที่ยูเครนถูกรุกราน เปิดเส้นทางอพยพพลเรือนครั้งใหม่ให้ออกจากเคียฟ มารีอูโปล คาร์คิฟ และซูมี ซึ่งล้วนถูกโจมตีหนักหน่วง แต่เส้นทางอพยพเหล่านี้มุ่งหน้าสู่รัสเซียและเบลารุสเท่านั้น ทำให้ฝ่ายยูเครนและตะวันตกตั้งคำถามเกี่ยวกับความปลอดภัยของผู้อพยพ
โฆษกของประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน ประณามว่า แผนการของรัสเซียต่ำช้าอย่างที่สุด และสำทับว่า มอสโกกำลังพยายามใช้ความทุกข์ยากของประชาชนสร้างภาพบนหน้าจอทีวี
ทางด้านมอสโกซึ่งสื่อตะวันตกมองว่ามีชั้นเชิงในการออกข่าวประชาสัมพันธ์สู้ฝ่ายยูเครนที่มีประธานาธิบดีเป็นอดีตดาราตลกไม่ได้เลย อ้างว่าการตัดสินใจนี้มีขึ้นหลังจากประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส เอ่ยปากขอเป็นการส่วนตัวระหว่างหารือทางโทรศัพท์กับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน เมื่อวันอาทิตย์
ทั้งนี้ ความพยายามอพยพประชาชนออกจากเมืองท่าสำคัญทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ของยูเครนอย่างมารีอูโปล ทั้ง 2 ครั้งก่อนหน้านี้กลายเป็นหายนะ เนื่องจากพลเรือนตกเป็นเป้าหมายการโจมตี และทั้งสองฝ่ายต่างกล่าวโทษกันว่า ละเมิดข้อตกลงหยุดยิง
หลังความพยายามอพยพครั้งที่สองเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาล้มไม่เป็นท่า คณะกรรมการกาชาดสากลระบุว่า ประชาชนราว 200,000 คนยังติดค้างอยู่ในมารีอูโปลโดยไม่มีน้ำ อาหาร ท่ามกลางการโจมตีหนักหน่วงจนไม่สามารถอพยพผู้บาดเจ็บออกมาได้
มีครอบครัวหนึ่งที่หนีออกมาได้ในที่สุดเล่าว่า ก่อนหน้านั้นต้องหลบภัยอยู่นานหนึ่งสัปดาห์โดยไม่มีทั้งเครื่องทำความร้อน ไฟฟ้า อาหารและน้ำ นอกจากนั้น ยังพบศพทั้งคนยูเครนและรัสเซียบนถนนตลอดทาง
ในเมืองอื่นๆ ก็มีรายงานเรื่องพลเรือนถูกกระหน่ำโจมตีระหว่างพยายามหนีตลอดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงในเมืองเออร์ปิน ที่อยู่นอกกรุงเคียฟ โดยนายกเทศมนตรีเล่าว่า เห็นพ่อแม่และลูกอีก 2 คนเสียชีวิตต่อหน้าต่อตา และบางพื้นที่ถูกรัสเซียยึดได้แล้ว
ขณะที่แผนการหลักของรัสเซียดูจะเน้นหนักการโจมตีพื้นที่ภาคใต้ และภาคตะวันออกของยูเครน รวมทั้งการเชื่อม 2 พื้นที่นี้เข้าด้วยกัน แต่มีรายงานว่ามอสโกเดินหน้าถล่มเมืองต่างๆ ทั่วยูเครนตลอดคืนวันอาทิตย์ เช่น ที่ คาร์คีฟ เมืองใหญ่อันดับ 2 ซึ่งอยู่ในภาคตะวันออก ถูกโจมตีทางอากาศหนักหน่วงและมีการสู้รบต่อเนื่องมาหลายวัน
เสนาธิการกองทัพบกยูเครนแถลงว่า ศัตรูระดมโจมตีต่อเนื่องโดยเน้นการโอบล้อมเคียฟ คาร์คีฟ เชอร์นิฮีฟ ซูมี และมิโคลายิฟ
นับจากการรุกราน พันธมิตรตะวันตกระดมมาตรการแซงก์ชันรุนแรงและครอบคลุมอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนต่อธุรกิจธนาคาร และมหาเศรษฐีเพื่อปิดกั้นเศรษฐกิจรัสเซีย และบีบให้มอสโกยุติการโจมตียูเครน
ทว่า ปูตินประกาศว่า มาตรการแซงก์ชันเช่นนี้เท่ากับเป็นการประกาศสงครามกับรัสเซีย นอกจากนั้น ระหว่างหารือกับประธานาธิบดีเรเจป ไตยิป แอร์โดอัน ของตุรกีเมื่อวันอาทิตย์ ประมุขเครมลินยังยืนกรานว่า พร้อมเจรจาหากทหารยูเครนเลิกต่อต้านและปฏิบัติตามคำขอของมอสโก
ก่อนหน้านี้ปูตินประกาศว่า จะทำให้ยูเครนกลายเป็นประเทศที่มีสถานะเป็นกลาง ไม่ว่าจะด้วยการเจรจาหรือสงคราม ขณะที่หลายฝ่ายไม่คาดหวังกับผลการหารือรอบสามระหว่างตัวแทนสองประเทศที่กำหนดไว้ในวันจันทร์
ด้านองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) ปฏิเสธคำขอของยูเครนให้ประกาศน่านฟ้ายูเครนเป็นขตห้ามบิน โดยแม้กระทั่ง มาร์โค รูบิโอ วุฒิสมาชิกอเมริกันสายแข็งกร้าว ยังระบุว่า การกระทำดังกล่าวเท่ากับเป็นการจุดชนวนสงครามโลกครั้งที่ 3 กับรัสเซียที่มีอาวุธนิวเคลียร์
ปูตินเองก็ขู่ว่า การบังคับใช้เขตห้ามบินจะนำมาซึ่งหายนะครั้งใหญ่ไม่เฉพาะยุโรปเท่านั้น แต่รวมถึงทั่วโลก พร้อมเตือนเพื่อนบ้านของยูเครน อย่ายอมอนุญาตให้เคียฟนำเครื่องบินทหารไปลงจอด เพราะจะกลายเป็นการพาตัวเองเข้าสู่ความขัดแย้งทางการทหาร
เคียฟยังเรียกร้องให้ตะวันตกเพิ่มความช่วยเหลือทางทหาร โดยเซเลนสกี ร้องขอเครื่องบินที่ผลิตโดยรัสเซียซึ่งนักบินยูเครนมีความชำนาญ ซึ่งแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เปิดเผยเมื่อวันอาทิตย์ว่า วอชิงตันกำลังพิจารณาวิธีส่งเครื่องบินไปทดแทนให้โปแลนด์ หากโปแลนด์ตัดสินใจส่งเครื่องบินไปให้ยูเครน
บลิงเคน สำทับว่า อเมริกาได้รับรายงานที่น่าเชื่อถือว่า รัสเซียจงใจโจมตีพลเรือนยูเครน และได้จัดทำเป็นหลักฐานสนับสนุนการสอบสวนคดีอาชญากรสงครามต่อรัสเซียแล้ว
ขณะเดียวกัน ราคาน้ำมันดิบชนิดเบรนต์สัญญาส่งมอบเดือนพฤษภาคม ทะยานเฉียดสถิติสูงสุดนับจากปี 2008 ที่ 139.13 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเมื่อวันอาทิตย์ ก่อนลดลงเล็กน้อยในเวลาต่อมา หลังจากคณะบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน เผยว่า กำลังศึกษาลู่ทางในการแบนการนำเข้าน้ำมันของรัสเซีย ซึ่งล่าสุดญี่ปุ่นเผยว่า กำลังหารือกับอเมริกาและสหภาพยุโรป (อียู) เกี่ยวกับเรื่องนี้เช่นกัน ทั้งนี้ ชาติในยุโรปคือผู้นำเข้าน้ำมันและก๊าซรายใหญ่จากแดนหมีขาว ดังนั้นมาตรการเช่นนี้จะทำได้หรือไม่จึงต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมของทางยุโรปเป็นสำคัญ
สำหรับตัวเลขพลเรือนที่เสียชีวิตจากสงครามในยูเครนนั้น เจ้าหน้าที่ยูเอ็นเผยว่า มีพลเรือนในยูเครนเสียชีวิต 364 คน ซึ่งรวมถึงเด็กกว่า 20 คน แต่สำทับว่า ตัวเลขจริงอาจสูงกว่านี้มาก ขณะที่รัสเซียยอมรับว่า ทหารเสียชีวิตเกือบ 500 นาย ทว่า ยูเครนแย้งโดยไม่แสดงหลักฐานข้อพิสูจน์ว่าตัวเลขจริงมีหลายพันนาย
(ที่มา : เอเอฟพี, รอยเตอร์, เอพี)