เอพี - คนแอฟริกา เอเชีย และละตินอเมริกาที่ถูกเลือกปฏิบัติและต้องหาทางหนีออกจากยูเครนเอง ได้ร่วมกันตั้งเครือข่ายเฉพาะหน้าเพื่อช่วยชาวต่างชาติอีกหลายพันคนหนีสงครามในยูเครน
อเล็กซานเดอร์ ซอมโต โอราห์ นักศึกษาไนจีเรีย วัย 25 ปี เป็นหนึ่งในชาวต่างชาติในยูเครนที่เผชิญประสบการณ์เลวร้ายจากความเกลียดกลัวต่างชาติและการขู่ใช้ความรุนแรงตอนที่ไปถึงชายแดนติดกับโปแลนด์หลังจากรัสเซียบุกไม่นาน
เขาเล่าว่า หน่วยรักษาความปลอดภัยชายแดนของยูเครน แยกคนแอฟริกันรวมกับคนอินเดีย และสั่งให้เดินทางไปชายแดนโรมาเนียที่อยู่ไกลมากแทน พร้อมขู่ว่า ถ้าฝ่าฝืนจะยิงทิ้ง
โอราห์เล่าต่อว่า ด้วยความกลัวและความโกรธหลังจากเดินทางฝ่าอากาศหนาวจัดมาหลายวัน นักศึกษาหนุ่มสาวเริ่มประท้วงและบอกว่า พวกเขาแค่ต้องการกลับบ้าน ก่อนที่จะได้รับอนุญาตให้ข้ามแดนได้ในที่สุด
นับจากเดินทางถึงกรุงวอร์ซอ เมืองหลวงของโปแลนด์ โอราห์กลับไปชายแดนอีกหลายครั้งเพื่อช่วยเหลือชาวต่างชาติที่ต้องการออกจากยูเครนโดยอาศัยประสบการณ์ที่พบมา
องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐานเปิดเผยเมื่อวันศุกร์ (4 มี.ค.) ว่าประชาชนของประเทศที่สามเกือบ 80,000 คนจาก 138 ประเทศได้หลบหนีออกจากยูเครนแล้ว
เทนดายิ อาเชียม ผู้เสนอรายงานพิเศษของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) แถลงเมื่อวันพฤหัสบดี (3 มี.ค.) ระบุ มีชาวต่างชาติบางคนเปิดเผยว่า ถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าไปหลบในที่หลบระเบิด ไม่ให้ใช้ระบบขนส่ง และแม้แต่เข้าถึงสถานกงสุลของประเทศบ้านเกิดของตนเองในประเทศเพื่อนบ้านของยูเครน อาเชียมสำทับว่า การเหยียดเชื้อชาติและการเกลียดกลัวต่างชาติเป็น “อันตรายถึงชีวิต”
โอจูนูเว ซาคารี นักศึกษาแพทย์วัย 21 ปีจากไนจีเรีย เล่าว่า เธอและชาวต่างชาติอีกนับร้อยยังคงตกค้างอยู่ในเมืองซูมีทางตะวันออกเฉียงเหนือของยูเครน โดยมีคนส่งเคล็ดลับการหลบหนีเข้าไปให้ในโทรศัพท์เต็มไปหมด เช่น เบอร์โทรศัพท์ผู้ที่พร้อมช่วยเหลือ คำแนะนำเกี่ยวกับเสบียงฉุกเฉิน และเอกสารที่ต้องใช้สำหรับการผ่านแดน และเสริมว่า คนจำนวนมากกำลังพยายามช่วยให้ชาวต่างชาติหนีออกจากยูเครน
รัฐบาลยูเครนพยายามจัดการข้อกล่าวหาเรื่องการเลือกปฏิบัติต่อชาวต่างชาติที่ต้องการเดินทางออกนอกประเทศท่ามกลางการวิจารณ์อย่างรุนแรง เช่น จากสหภาพแอฟริกาที่ระบุว่า การเลือกปฏิบัติต่อชาวแอฟริกันเป็น “การเหยียดเชื้อชาติอย่างน่าตกใจ” อีกทั้งละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ
เมื่อวันพุธ (2 มี.ค.) ดมิโทร คูเลบา รัฐมนตรีต่างประเทศยูเครน ทวีตว่า ชาวแอฟริกันที่ต้องการอพยพคือเพื่อนของยูเครนและจำเป็นต้องได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมในการเดินทางกลับประเทศอย่างปลอดภัย และต่อมาได้แชร์หมายเลขสายด่วนเพื่อให้ความช่วยเหลือชาวแอฟริกัน เอเชีย และนักศึกษาชาติอื่นๆ ที่ต้องการเดินทางออกจากยูเครน
ปรากฏว่า ภายใน 12 ชั่วโมงมีการรีทวิตเบอร์ติดต่อดังกล่าวมากกว่า 21,000 ครั้ง แต่ในวันต่อมา หมายเลขสายด่วนนั้นกลับไม่มีผู้รับสาย
คำแถลงเกี่ยวกับความช่วยเหลืออย่างเป็นทางการอื่นๆ แม้แต่จากประเทศแม่ของชาวต่างชาติในยูเครนดูเหมือนไกลเกินเอื้อมเช่นเดียวกัน
ตัวอย่างเช่น หลังจากรัสเซียเปิดฉากโจมตีเมื่อวันที่ 24 ก.พ. รัฐบาลซิมบับเวบอกพลเมืองของตนในยูเครนให้ติดต่อสถานทูตในเยอรมนี ซึ่งอยู่อีกฟากหนึ่งของโปแลนด์ ขณะที่รัฐบาลเคนยาแนะนำพลเมืองให้ติดต่อสถานทูตในออสเตรียซึ่งไกลโพ้นเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่นั้นมาบางประเทศประกาศข้อตกลงกับชาติเพื่อนบ้านของยูเครนในการอำนวยความสะดวกให้พลเมืองของตนเดินทางเข้าไปยังประเทศเหล่านั้น ขณะที่ประเทศอื่นๆ พยายามอพยพพลเมืองของตนที่ไม่สามารถหนีออกไปเองได้ แต่การเสียชีวิตของนักศึกษาอินเดียจากกระสุนปืนใหญ่ของรัสเซียในเมืองคาร์คิฟ ซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับ 2 ของยูเครน กระตุ้นให้ประเทศต่างๆ ตระหนักถึงสถานการณ์เร่งด่วนอีกครั้ง
นักศึกษาที่กังวลและบุคคลอื่นๆ พากันสร้างกลุ่มรับส่งข้อความในวอตส์แอปและเทเลแกรมสำหรับคนแอฟริกัน บราซิล และพลเมืองชาติอื่นๆ ที่พยายามหนีออกจากยูเครน บางแพลตฟอร์มเสนอความช่วยเหลือทางการเงินหรือคำปรึกษาเกี่ยวกับสุขภาพจิต
นอกจากนั้น ตามแนวชายแดนยูเครน ทั้งประเทศเพื่อนบ้านบางแห่ง ตลอดถึงภายในยูเครนเอง เริ่มมีการร่วมมือเพื่อช่วยเหลือชาวต่างชาติหนีออกจากยูเครน
ซานูซี ซาลิฮู นักศึกษาไนจีเรีย เล่าว่า หลังจากค้างคืนในสถานีรถไฟแห่งหนึ่งในเมืองไลอาวีฟทางตะวันตกของยูเครน เขาต้องการทั้งอาหารและที่พักพิงโดยเร่งด่วนและพบทั้งสองสิ่งจากบ้านหลังหนึ่งหลังจากที่เขาข้ามแดนเข้าสู่สโลวะเกียไม่นาน และตอนนี้เขาบอกว่า ทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้เพื่อส่งข้อความช่วยเหลือชาวต่างชาติในยูเครน