xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus : ไบเดนเย้ย ‘ปูติน’ คิดผิดที่บุกยูเครน โลกหวั่นบานปลายเป็น ‘สงครามนิวเคลียร์’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กระทรวงมหาดไทยยูเครนเผยภาพเสาสัญญาณโทรทัศน์หลักในกรุงเคียฟถูกขีปนาวุธรัสเซียยิงโจมตีเมื่อวันที่ 1 มี.ค.
ปฏิบัติการรุกรานยูเครนของรัสเซียส่อแววยืดเยื้อและทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ โดยกองทัพรัสเซียยังคงเปิดฉากยิงถล่มเมืองใหญ่ๆ ของยูเครนต่อเนื่อง หลังการเจรจาระหว่างผู้แทน 2 ประเทศที่ชายแดนเบลารุส-ยูเครนรอบแรกไร้ผล ขณะที่กระแสคว่ำบาตรที่กว้างขวางและครอบคลุมจากนานาชาติส่งผลให้ค่าเงินรูเบิลรัสเซียอ่อนยวบลงไปแล้วถึง 1 ใน 3 ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ส่วนนักวิเคราะห์เริ่มออกมาคาดการณ์ทิศทางของการสู้รบครั้งนี้ว่าจะบานปลายจนถึงขั้นกลายเป็น “สงครามนิวเคลียร์” หรือไม่

ในขณะที่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน เชื่อมั่นในแสนยานุภาพของทัพรัสเซียว่าสามารถที่เอาชนะยูเครนได้ไม่ยากเย็น ทว่าการตัดสินใจของเขาในวันนี้กลับทำให้รัสเซียต้องเผชิญกับ “สงครามเศรษฐกิจ” ครั้งใหญ่ที่สุด ซึ่งคู่ขัดแย้งไม่ใช่แค่เพียงสหรัฐฯ หรือยุโรป หากแต่เป็น “ประชาคมโลก” ที่รับไม่ได้กับการก่อสงครามครั้งนี้

กองกำลังรัสเซียยกระดับการโจมตีต่อพื้นที่เขตเมืองที่มีผู้คนพักอาศัยอยู่หนาแน่นในวันอังคาร (1 มี.ค.) โดยทิ้งระเบิดถล่มจัตุรัสใจกลางเมืองคาร์คีฟ เมืองใหญ่อันดับ 2 ในภาคตะวันออกของยูเครน รวมไปถึงหอส่งสัญญาณโทรทัศน์หลักของกรุงเคียฟ ในสิ่งที่ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครนออกมาประณามว่าเป็นการ “ก่อการร้าย” อย่างโจ่งแจ้ง

หน่วยงานตอบสนองภัยพิบัติฉุกเฉินของยูเครนอ้างว่า สงครามครั้งนี้ได้คร่าชีวิตพลเรือนยูเครนไปแล้วกว่า 2,000 คน ทั้งยังทำลายโครงสร้างพื้นฐานอีกนับร้อยๆ แห่งไม่ว่าจะเป็นระบบขนส่งมวลชน โรงพยาบาล โรงเรียนอนุบาล รวมไปถึงบ้านเรือนของประชาชน

เซเลนสกี อ้างว่า กองกำลังยูเครนสามารถสกัดกั้นและสังหารทหารรัสเซียไปแล้วเกือบ 6,000 นายในช่วง 6 วันแรกของการโจมตี พร้อมย้ำว่าเครมลินจะไม่สามารถยึดครองประเทศของเขาได้ด้วยระเบิดหรือการโจมตีทางอากาศ

ภาพถ่ายดาวเทียมของ Maxar เมื่อวันที่ 28 ก.พ. เผยให้เห็นขบวนรถหุ้มเกราะของกองทัพรัสเซียที่ยาวเหยียดกว่า 64 กิโลเมตรกำลังมุ่งหน้าเข้าประชิดกรุงเคียฟ ก่อนกองกำลังเหล่านี้จะหยุดเคลื่อนพลชั่วคราว ซึ่งเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ คาดว่าอาจจะเกิดจากปัญหาด้านโลจิสติกส์ การขาดแคลนอาหารและเชื้อเพลิง หรือแม้กระทั่งเป็นการหยุดเพื่อประเมินสถานการณ์และปรับยุทธวิธีใหม่

วันที่ 2 มี.ค. กองทัพยูเครนประกาศผ่านแอปพลิเคชัน Telegram ว่ารัสเซียได้ส่งกองกำลังพลร่ม (airborne troops) บุกเข้าไปยังคาร์คีฟ หลังจากที่ยิงขีปนาวุธถล่มที่ว่าการเมืองจนพังเสียหายยับเยิน และมีผู้เสียชีวิตไปหลายสิบคนเมื่อ 1 วันก่อนหน้า

คาร์คีฟซึ่งมีประชากรราว 1.4 ล้านคน และส่วนใหญ่พูดภาษารัสเซีย ถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญที่รัสเซียต้องการยึดให้ได้ นับตั้งแต่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ออกคำสั่ง “ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร” ในยูเครนเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 24 ก.พ.

ประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ กล่าวแถลงนโยบายประจำปี (State of the Union) ต่อสภาผู้แทนราษฎรที่อาคารรัฐสภาในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อวันที่ 1 มี.ค. โดยมีการกล่าวประณามผู้นำรัสเซียอย่างรุนแรง กรณีส่งทหารรุกรานยูเครน
ผู้แทนยูเครนและรัสเซียได้เปิดเจรจาครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งก็จบลงแบบไม่มีข้อสรุป หลังจากที่ประธานาธิบดีปูติน ได้ยื่นเงื่อนไขให้ยูเครนต้องพิจารณาผลประโยชน์ด้านความมั่นคงที่ชอบธรรมตามกฎหมายของรัสเซียโดยปราศจากข้อแม้ รับรองอำนาจอธิปไตยของรัสเซียเหนือไครเมีย ลดทอนเพิกถอนความเป็นรัฐทหารและความเป็นนาซี รวมถึงรับประกันว่ายูเครนจะดำรงสถานะเป็นกลาง

แม้ทั้ง 2 ฝ่ายจะยังคงเปิดโอกาสในเจรจารอบสอง แต่โอกาสที่จะคลี่คลายสถานการณ์ด้วยวิธีเจรจายังดูริบหรี่เต็มทน

สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรพร้อมใจกันประกาศมาตรการคว่ำบาตรที่พุ่งเป้าไปยังระบบเศรษฐกิจและการเงินของรัสเซีย รวมไปถึงตัว ปูติน และเหล่าคนวงในใกล้ชิด

ระหว่างการแถลงนโยบายประจำปี (State of the Union) ต่อสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เมื่อค่ำวันที่ 1 มี.ค. ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ตราหน้า ปูติน ว่าเป็น “เผด็จการ” ที่จะต้องเผชิญกับมาตรการโดดเดี่ยวทั้งทางเศรษฐกิจและการทูต พร้อมเตือนว่าโลกกำลังเผชิญการต่อสู้ครั้งใหญ่ระหว่างประชาธิปไตยกับระบอบเผด็จการ

ผู้นำสหรัฐฯ ระบุว่า ปูติน “ประเมินสถานการณ์ผิดพลาด” ซึ่งทำให้ตอนนี้เศรษฐกิจรัสเซียกำลังทรุดหนัก ซึ่งความรับผิดชอบทั้งหมดตกอยู่ที่ ปูติน แต่เพียงผู้เดียว

“เขาหลงคิดว่าตัวเองจะสามารถบุกยูเครนโดยที่ทั่วโลกไม่สามารถทำอะไรได้ แต่ตรงกันข้าม...เขากลับต้องเผชิญกำแพงอันแข็งแกร่งที่ตัวเขาเองก็ไม่เคยนึกฝันมาก่อน สิ่งที่เขากำลังเผชิญหน้าคือประชาชนชาวยูเครน... นับตั้งแต่ประธานาธิบดีเซเลนสกี เรื่อยลงมาจนถึงชาวยูเครนทุกคน ความไม่หวาดกลัว ความกล้าหาญ และความมุ่งมั่นของพวกเขา สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนทั่วโลก” ไบเดน กล่าว

ไบเดน ย้ำว่า ปูติน ละเลยความพยายามที่จะป้องกันสงคราม และการบุกยูเครนนั้นเป็นสิ่งที่ผู้นำหมีขาว “วางแผนเอาไว้ล่วงหน้า” โดยปราศจากการยั่วยุ

“เขาปฏิเสธความพยายามทางการทูต เขาคิดว่าตะวันตกและนาโต้คงจะไม่ตอบโต้ และเขาคิดว่าจะสามารถทำให้พวกเราที่นี่แตกแยกกันได้... แต่ ปูติน คิดผิด พวกเรามีความพร้อม” ไบเดน ระบุ

ผู้นำสหรัฐฯ ยังเตือนว่ารัสเซียจะต้อง “จ่ายราคาแพงในระยะยาว” เนื่องจากสหรัฐฯ และพันธมิตรจะปิดกั้นไม่ให้รัสเซียเข้าถึงเทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งจะเป็นการบ่อนทำลายความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ และทำให้กองทัพรัสเซียอ่อนแอลงในอีกหลายปีข้างหน้า แต่ถึงกระนั้นก็ยืนยันว่าจะไม่ส่งทหารอเมริกันเข้าร่วมในสงครามที่ยูเครน

“ผมขอพูดชัดๆ ตรงนี้ว่าทหารของเราจะไม่เข้าไปมีส่วนร่วมทำสงครามกับกองกำลังรัสเซียในยูเครน” ไบเดน กล่าว


สภาแอตแลนติก (Atlantic Council) เผยแพร่บทความของ อินนา ซอฟซุน (Inna Sovsun) นักการเมืองหญิงชาวยูเครน ซึ่งระบุว่า ปูติน กำลังตกเป็นเหยื่อ “การโฆษณาชวนเชื่อ” ของตัวเอง และหลงคิดไปว่าชาวยูเครนคงจะเป็นประชากรที่เฉื่อยชาและไม่ใส่ใจการเมืองเช่นเดียวกับคนรัสเซียส่วนใหญ่ เขาเชื่อว่ารัสเซียสามารถทำสงครามเพื่อโค่นล้มผู้นำทางการเมืองของยูเครนอย่างเฉพาะเจาะจงได้ และเชื่อว่าการข่มขู่หรือถอดถอนผู้นำยูเครนแค่ 2-3 คนก็คงจะช่วยให้สามารถ “เทกโอเวอร์” ประเทศนี้ได้ไม่ยาก ทว่าในความเป็นจริง ปูติน กลับพบว่าเขาจะต้องสู้กับประชากรยูเครนทั้ง 40 ล้านคน

ประธานาธิบดีเซเลนสกี ออกมาเรียกร้องให้ชาวต่างชาติร่วมสมัครเป็น "กำลังพลอาสาสมัครนานาชาติ" เพื่อช่วยยูเครนต่อสู้กับกองกำลังรัสเซียผู้รุกราน ซึ่งล่าสุดมีรายงานว่าพลเมืองญี่ปุ่น 70 คน ซึ่งรวมถึงอดีตสมาชิกกองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่น 50 คน และอดีตสมาชิกกองทหารต่างด้าวของฝรั่งเศส 2 คน ได้ยื่นใบสมัครที่จะไปช่วยยูเครนรบ ส่วนที่ประเทศไทยก็มีผู้ใช้ทวิตเตอร์เผยแพร่ภาพคนไทยที่เดินทางไปติดต่อสถานทูตยูเครนประจำประเทศไทย เพื่อสมัครเป็นทหารอาสาเช่นกัน

สื่อเดลีเมลของอังกฤษรายงานว่า ทหารอาสาต่างชาติที่เข้าร่วมรบกับยูเครนจะได้รับค่าตอบแทน 100,000 ฮริฟเนีย หรือราวๆ 108,800 บาทต่อเดือน ส่วนค่าใช้จ่ายในการเดินทางนั้นต้องออกเอง โดยขณะนี้การเดินทางเข้ายูเครนมีอยู่เพียงวิธีเดียวคือต้องบินไปลงที่โปแลนด์ ก่อนจะเดินข้ามพรมแดนทางบกฝ่าคลื่นผู้อพยพยูเครนเข้าไป

ขณะเดียวกัน รัฐบาลและบริษัทชั้นนำทั่วโลกก็ทยอยคว่ำบาตรและตัดความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับรัสเซีย โดยสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และสหราชอาณาจักรได้ประกาศตัดรัสเซียออกจากระบบ SWIFT ซึ่งเป็นเครือข่ายการเงินที่เชื่อมโยงธนาคารและสถาบันกว่า 11,000 แห่งในกว่า 200 ประเทศ โดยมาตรการนี้จะส่งผลให้ภาคธุรกิจรัสเซียไม่สามารถทำธุรกรรมการเงินได้แบบเรียลไทม์ นอกจากนี้ สหรัฐฯ และพันธมิตรอีกหลายชาติยังได้ประกาศมาตรการ “ปิดน่านฟ้า” ห้ามเครื่องบินรัสเซียผ่านเข้าออกด้วย

แอปเปิล อิงค์ แถลงเมื่อวันอังคาร (1 มี.ค.) ว่าได้หยุดจำหน่ายไอโฟนและผลิตภัณฑ์อื่นๆ ในรัสเซีย พร้อมถอดแอปสื่อรัสเซียอย่าง Sputnik News และ RT ออกจากแอปสโตร์ ขณะที่ Meta ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของเฟซบุ๊ก Alphabet Inc บริษัทแม่ของกูเกิล Youtube รวมไปถึง TikTok ต่างมีมาตรการบล็อกแอปของสื่อ RT และ Sputnik ในสหภาพยุโรป

โบอิ้ง ค่ายอากาศยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ประกาศระงับให้บริการด้านอะไหล่ การบำรุงรักษาและการสนับสนุนทางเทคนิคให้แก่สายการบินของรัสเซีย ขณะที่ค่ายยานยนต์ระดับโลกไม่ว่าจะเป็นฟอร์ด บีเอ็มดับเบิลยู ฮอนด้า มาสด้า รวมถึงฮาร์เลย์-เดวิดสัน พร้อมใจสั่งระงับการปฏิบัติงานในรัสเซีย และหยุดส่งออกยานพาหนะไปยังรัสเซีย

บทลงโทษจากนานาชาติเริ่มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของรัสเซียอย่างหนัก โดยค่าเงินรูเบิลนั้นร่วงหนักถึง 30% แตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ 110 รูเบิลต่อดอลลาร์เมื่อวันที่ 2 มี.ค. จากเดิมซึ่งเคยอยู่ที่ระดับ 75 รูเบิลต่อดอลลาร์ ก่อนที่รัสเซียจะประกาศรับรองเอกราชให้แก่ 2 แคว้นกบฏยูเครนตะวันออก

ภาพถ่ายดาวเทียมของ Maxar Technologies เผยให้เห็นขบวนรถหุ้มเกราะของรัสเซียซึ่งยาวเหยียดถึง 64 กิโลเมตรกำลังแล่นผ่านเมือง Invankiv เพื่อมุ่งหน้าไปยังกรุงเคียฟ เมื่อวันที่ 28 ก.พ.
ผู้นำรัสเซียเองก็พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อที่จะบรรเทาผลกระทบจากบทลงโทษของตะวันตก เช่น ออกกฤษฎีกาห้ามประชาชนนำเงินสดสกุลต่างชาติออกนอกประเทศเกินกว่า 10,000 ดอลลาร์ โดยเริ่มมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 2 มี.ค. บังคับให้ผู้ส่งออกรัสเซียต้องเทขาย 80% ของรายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศ ห้ามมิให้ประชาชนทำสัญญาปล่อยกู้เงินตราต่างประเทศให้แก่บุคคลที่ไม่ได้เป็นผู้พำนัก (non-residents) รวมถึงนำเงินตราต่างประเทศเข้าไปฝากไว้กับบัญชีธนาคารต่างชาติ เป็นต้น

รัฐบาลยูเครนได้ออกมาเรียกร้องเมื่อวันที่ 2 มี.ค. ให้มีการพิจารณาถอดถอนความเป็น “สมาชิกถาวร” ของรัสเซียในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ซึ่งจะทำให้มอสโกสูญเสียสิทธิ์ “วีโต้” เพื่อปัดตกร่างมติต่างๆ โดย ดมิโตร คูเลบา รัฐมนตรีต่างประเทศยูเครน ชี้ว่ารัสเซียนั้น “หมดความชอบธรรมที่จะอยู่ในคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นต่อไป”

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้มีมติท่วมท้นเมื่อวันพุธ (2) “คัดค้าน” การที่รัสเซียใช้กำลังทหารรุกรานยูเครน โดยเรียกร้องให้มอสโกยุติการสู้รบและถอนกำลังทหารทันที โดยมตินี้ได้รับเสียงสนับสนุนจาก 141 ชาติจากทั้งหมด 193 สมาชิกของสมัชชาใหญ่ยูเอ็น และมี 5 ประเทศโหวตคัดค้านได้แก่ รัสเซีย เบลารุส ซีเรีย เอริเทรีย และเกาหลีเหนือ ขณะที่อีก 35 ประเทศรวมถึงอินเดียและจีนงดออกเสียง

ทั้งนี้ ร่างมติซึ่งถูกเสนอโดยกลุ่มชาติยุโรปและยูเครนได้ถูกปรับแก้เนื้อหาตามที่คาดการณ์กันไว้ โดยแทนที่จะ “ประณาม” ก็เปลี่ยนมาใช้คำว่า “คัดค้านด้วยถ้อยคำรุนแรงที่สุดต่อการรุกรานยูเครนโดยสหพันธรัฐรัสเซีย”

แม้มติของที่ประชุมสมัชชาใหญ่ยูเอ็นจะไม่มีข้อผูกมัดทางกฎหมาย แต่มีน้ำหนักทางการเมืองในระดับโลกอยู่บ้าง และผลการลงมติในวันพุธ (2) ถือว่าเป็นชัยชนะเชิงสัญลักษณ์สำหรับยูเครน และเป็นการโดดเดี่ยวมอสโกในเวทีนานาชาติมากยิ่งขึ้น

วาเลนติน รีบาคอฟ เอกอัครราชทูตเบลารุสซึ่งเป็นอดีตรัฐโซเวียตและประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดกับรัสเซีย ออกมาปกป้องการกระทำของมอสโกแบบสุดลิ่มทิ่มประตู และวิจารณ์การคว่ำบาตรของตะวันตกว่าเป็น “ตัวอย่างอันเลวร้ายที่สุดของการก่อการร้ายทางเศรษฐกิจและการเงิน” ขณะที่ทูตซีเรียก็ประณามตะวันตกว่า “ใช้สองมาตรฐาน” ทั้งที่พวกตัวก็เคยรุกรานลิเบีย อิรัก และอัฟกานิสถานมาก่อนเช่นกัน

ญี่ปุ่นและนิวซีแลนด์เป็นหัวหอกทางฝั่งเอเชียที่กล่าวประณามรัสเซียในเวทียูเอ็น ขณะที่มหาอำนาจอย่าง “จีน” และ “อินเดีย” ซึ่งมีสายสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจที่แน่นแฟ้นกับรัสเซียมานาน คงจุดยืนงดออกเสียงตามเคย โดยปักกิ่งนั้นย้ำว่า “โลกจะไม่ได้ประโยชน์อะไรจากสงครามเย็นครั้งใหม่”

ในความเคลื่อนไหวที่ยิ่งกระพือความหวาดหวั่นสงครามนิวเคลียร์ สำนักข่าว RIA ของรัสเซียได้เผยแพร่ถ้อยแถลงของ เซียร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย ซึ่งระบุเมื่อวันพุธ (2) ว่า หากสงครามโลกครั้งที่ 3 จะเกิดขึ้นจริงก็จะเป็นสงครามที่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งจะก่อให้เกิดการทำล้ายล้างอย่างรุนแรงต่อมวลมนุษยชาติ

ลาฟรอฟ ย้ำว่า รัสเซียเองจะเผชิญ “อันตรายอย่างแท้จริง” หากปล่อยให้เคียฟได้ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์จากตะวันตก

ผู้นำรัสเซียมีคำสั่งเมื่อวันอาทิตย์ (27) ให้กองกำลังป้องปรามทางนิวเคลียร์ของรัสเซียเตรียมพร้อมในระดับสูง ซึ่งความหมายในทางปฏิบัติยังไม่เป็นที่ชัดเจน เพราะโดยปกติแล้วกองกำลังนิวเคลียร์ทางยุทธศาสตร์ของรัสเซียและสหรัฐฯ ต่างมีอาวุธนิวเคลียร์ที่ติดตั้งประจำการทางภาคพื้นดินและในเรือดำน้ำ ซึ่งมีการระมัดระวังและเตรียมพร้อมสำหรับการสู้รบตลอดเวลาอยู่แล้ว

รัฐมนตรีกลาโหม เบน วอลเลซ ของอังกฤษ เชื่อว่าประกาศดังกล่าวของ ปูติน เป็นเพียง “การขู่” เท่านั้น ขณะที่ กอร์ดอน โคเรรา ผู้สื่อข่าวสายความมั่นคงของ BBC ออกมาวิเคราะห์ว่า ไม่ว่า ปูติน จะมีเจตนาเพียงแค่ขู่ หรือตั้งใจจะนำอาวุธทำลายล้างสูงออกมาใช้งานจริง ล้วนแต่มีความเสี่ยงที่จะเกิดการ “เข้าใจผิด” ซึ่งอาจทำให้สถานการณ์ลุกลามบานปลายจนถึงขั้นควบคุมไม่ได้

สิ่งที่น่ากังวลอีกประการหนึ่งคือ เวลานี้ ปูติน กำลังถูกโดดเดี่ยวอย่างหนัก และอาจมีที่ปรึกษาเพียงแค่ไม่กี่คนที่พร้อมจะ “พูดความจริง” ด้วย นั่นอาจทำให้การตัดสินใจของผู้นำรัสเซียเป็นไปอย่างหลงทิศหลงทาง แต่ถึงกระนั้น โคเรรา ยังเชื่อว่ามีความเสี่ยงไม่มากนักที่จะเกิดสงครามนิวเคลียร์ขึ้นจริงๆ

ภาพเหตุการณ์ขณะขีปนาวุธรัสเซียพุ่งเข้าถล่มที่ทำการรัฐบาลในเมืองคาร์คีฟ (Kharkiv) เมืองใหญ่อันดับ 2 ของยูเครน เมื่อวันที่ 1 มี.ค.

ชาวยูเครนในเมือง Zhytomyr กำลังฝึกขว้างระเบิดเพลิง เพื่อช่วยกันปกป้องเมืองจากการโจมตีของทหารรัสเซีย

ตามข้อมูลขององค์การสหประชาชาติเมื่อวันที่ 2 มี.ค. คาดว่ามีพลเรือนลี้ภัยสงครามออกนอกยูเครนแล้วเกือบ 875,000 คน นับตั้งแต่รัสเซียเริ่มส่งกองกำลังเข้ารุกรานเมื่อวันที่ 24 ก.พ.
กำลังโหลดความคิดเห็น