ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน สั่งให้เจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงดำเนินการเพื่อให้กองกำลังด้านนิวเคลียร์ของรัสเซีย เข้าสู่ “กฎเกณฑ์พิเศษของการปฏิบัติหน้าที่สู้รบ (special regime of combat duty) โหมกระพือความกังวลไปทั่วโลก
แต่พวกนักวิเคราะห์บางส่วนเชื่อว่าบางทีความเคลื่อนไหวของเขาอาจสามารถตีความได้ว่า เป็นเพียงการส่งเสียงเตือนไปยังประเทศอื่นๆ ว่าอย่าได้ขยายขอบเขตการมีส่วนร่วมในยูเครน แทนที่จะเป็นการส่งสัญญาณถึงความปรารถนาใช้อาวุธนิวเคลียร์จริงๆ
อาวุธนิวเคลียร์นั้นมีมานานเกือบ 80 ปีแล้ว หลายประเทศมองในมันในฐานะอาวุธสำหรับป้องปรามเพื่อรับประกันความมั่นคงแห่งชาติตนเอง
อย่างไรก็ตาม ด้วยด้วยสถานการณ์ล่าสุดในยูเครน ประกอบกับคำสั่งของประธานาธิบดีปูติน สำนักข่าวบีบีซีของอังกฤษจึงเผยแพร่รายงานตีแผ่ข้อมูลต่างๆ ของอาวุธนิวเคลียร์ ทั้งในแง่การครอบครองและประสิทธิภาพทำลายล้างของมัน
รัสเซียมีอาวุธนิวเคลียร์มากแค่ไหน?
ข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับอาวุธนิวเคลียร์นั้นเป็นเพียงการคาดการณ์ อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของสหพันธ์นักวิทยาศาสตร์อเมริกัน (FAS) ระบุว่ารัสเซียมีหัวรบนิวเคลียร์ 5,977 ลูก แต่ในนั้นมีประมาณ 1,500 ลูกที่ปลดระวางแล้วและเตรียมที่จะถูกปลดชนวน
ที่เหลือประมาณ 4,500 ลูก หรือมากกว่านั้น ส่วนใหญ่ถูกมองว่าเป็นอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธศาสตร์ ทั้งขีปนาวุธแบบทิ้งตัวหรือจรวด ซึ่งสามารถเล็งเป้าหมายในระยะไกล โดยอาวุธเหล่านี้ปกติแล้วมักเกี่ยวข้องกับสงครามนิวเคลียร์
ส่วนที่เหลือนั้นเป็นอาวุธนิวเคลียร์ขนาดเล็กและมีพลานุภาพทำลายล้างน้อยกว่า สำหรับโจมตีเป้าหมายพิสัยใกล้ทั้งในสนามรบและกลางทะเล
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลดังกล่าวก็ไม่ได้หมายความว่ารัสเซียมีอาวุธนิวเคลียร์พิสัยไกลหลายพันลูกสำหรับพร้อมโจมตี ด้วยพวกผู้เชี่ยวชาญประมาณการว่าปัจจุบันมีหัวรบรัสเซียอยู่ในสถานะประจำการ หรือติดตั้งอยู่ตามฐานยิงขีปนาวุธและฐานเครื่องบินทิ้งระเบิด และกองเรือดำน้ำราวๆ 1,500 ลูก
เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ รวมถึงนาโต้
มีอยู่ 9 ประเทศบนโลกที่มีอาวุธนิวเคลียร์ ประกอบด้วย จีน ฝรั่งเศส อินเดีย อิสราเอล เกาหลีเหนือ ปากีสถาน รัสเซีย สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร
จีน ฝรั่งเศส รัสเซีย สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร เป็นหนึ่งใน 191 รัฐที่ลงนามในสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว พวกเขาจำเป็นต้องลดคลังแสงหัวรบนิวเคลียร์ลง และในทางทฤษฎี ต้องมุ่งมั่นกำจัดอาวุธนิวเคลียร์ของตนเองโดยสมบูรณ์
อินเดีย อิสราเอล และปากีสถาน ไม่เคยเข้าร่วมสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ และเกาหลีเหนือถอนตัวจากสนธิสัญญาในปี 2003
อิสราเอลเป็นเพียงประเทศเดียวใน 9 ชาติที่ไม่เคยยอมรับอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ของตนเอง แต่ยอมรับอย่างกว้างขวางว่ามีหัวรบนิวเคลียร์
ยูเครนไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ และแม้มีคำกล่าวหาจากประธานาธิบดีปูติน แต่ก็ไม่พบหลักฐานว่ายูเครนพยายามมีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครอง
สนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ช่วยลดจำนวนหัวรบนิวเคลียร์ในคลังแสงของแต่ละประเทศลงอย่างมากนับตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1970 และ 1980 อย่างไรก็ตาม หากดูข้อมูลในปัจจุบันที่เปิดเผยโดยบีบีซี ถือว่าไม่น้อยเลยทีเดียว
บีบีซีระบุว่า รัสเซียมีหัวรบนิวเคลียร์ 5,977 ลูก ส่วนนาโต้มีหัวรบนิวเคลียร์รวมกันน้อยกว่านิดหน่อย 5,943 ลูก แบ่งเป็นของสหรัฐฯ 5,428 ลูก ฝรั่งเศส 290 ลูกและสหราชอาณาจักร 225 ลูก
ส่วนประเทศอื่นๆ ที่อยู่รอบนอกความขัดแย้ง จีนมีหัวรบนิวเคลียร์ 350 ลูก ปากีสถาน 165 ลูก อินเดีย 160 ลูก อิสราเอล 90 ลูก และเกาหลีเหนือ 20 ลูก
อย่างไรก็ตาม บีบีซีเน้นย้ำว่าทั้งหมดนี้เป็นเพียงการคาดการณ์
อาวุธนิวเคลียร์มีพลานุภาพมากน้อยแค่ไหน?
บีบีซีระบุว่าอาวุธนิวเคลียร์ถูกออกแบบมาเพื่อก่อความเสียหายขั้นสูงสุด ขอบเขตการทำลายล้างขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ในนั้นประกอบด้วยขนาดของหัวรบ ความสูงเหนือพื้นดินตอนที่จุดชนวนระเบิด และสภาพแวดล้อมในพื้นที่
อย่างไรก็ตาม แม้กระทั่งหัวรบนิวเคลียร์ขนาดเล็กที่สุดสามารถก่อความสูญเสียชีวิตมหาศาลและก่อผลกระทบในระยะยาว
ระเบิดนิวเคลียร์ที่ใช้เข่นฆ่าชีวิตผู้คนมากกว่า 146,000 คนในฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 มีน้ำหนักเพียง 15 กิโลกรัม
และด้วยหัวรบนิวเคลียร์ในปัจจุบันสามารถมีน้ำหนักมากกว่า 1,000 กิโลตัน จึงคาดหมายว่าในเขตพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการระเบิดของอาวุธนิวเคลียร์คงมีน้อยชีวิตที่จะอยู่รอด
(ที่มา : บีบีซี)