(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
US can’t decouple from China without China’s help
By DAVID P. GOLDMAN
08/02/2022
สหรัฐฯจะต้องนำเข้าสินค้าทุนของจีนกันไปอีกหลายๆ ปี จึงจะสามารถลดการพึ่งพาอาศัยจีนได้ในระยะยาว
การนำเอาเศรษฐกิจสหรัฐฯหย่าร้างแยกขาดจากเศรษฐกิจจีน ฟังดูแล้วเป็นไอเดียที่ดีทีเดียว ในความคิดของชาวอเมริกันผู้ประณามกล่าวโทษยักษ์ใหญ่เอเชียรายนี้ว่าเป็นตัวการทำให้ตำแหน่งงานในโรงงานของสหรัฐฯต้องหายสูญไปมากมายมหาศาลระหว่างช่วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ความลำบากยุ่งยากอยู่ตรงที่ว่าสินค้าทุนของสหรัฐฯนั้นส่วนใหญ่แล้วได้มาจากการนำเข้า ดังนั้นในความพยายามที่จะลดการพึ่งพาอาศัยจีนในระยะยาว สหรัฐฯก็จะต้องนำเข้าสินค้าทุนเพิ่มมากขึ้นเป็นเวลาหลายๆ ปีทีเดียว –ซึ่งก็ต้องนำเข้าจากจีนสูงขึ้นด้วยนั่นแหละ
กอร์ดอน ชาง (Gordon Chang) ผู้มีแนวคิดสายเหยี่ยวเป็นปฏิปักษ์กับจีน (China Hawk) อย่างขึ้นชื่อลือชา ทวิตเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยประกาศว่า “ในยุคสมัยแห่ง #การรุกรานก้าวร้าวของจีน เราไม่สามารถที่จะยอมให้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของเรา เมดอิน #ไชน่า ได้ ทำไมเรายังต้องอยู่อย่างอ่อนแอถูกเล่นงานได้ง่ายๆ จากระบอบปกครองที่เที่ยวส่งเสริมอะไรๆ ที่เลวร้าย ซึ่งอย่างหนึ่งก็คือการมุ่งโค่นล้มรัฐบาลของเราโดยใช้ความรุนแรง? ต้องช่วยกันนำเอาโรงงานทุกแห่งกลับมายังฟากฝั่งนี้ของ #แปซิฟิก”
ผมได้ทวิตตอบกลับไปดังนี้: “สหรัฐฯเวลานี้บริโภคสินค้าทุนที่ผลิตขึ้นภายในบ้าน (total shipments net of exports) น้ อ ย ก ว่ า สินค้าทุนที่นำเข้า การลงทุนเพิ่มขึ้นเพื่อสร้างอุตสาหกรรมสหรัฐฯขึ้นมาใหม่ หมายความถึง การนำเข้าสินค้าทุน เ พิ่ ม ขึ้ น รวมทั้งนำเข้าจากจีนด้วย นี่แหละคือสิ่งที่ช่วงเวลา 20 ปีของความกลวงโบ๋ เหลือทิ้งไว้ให้กับเรา”
ชาง เขียนหนังสือชื่อดังเอาไว้เล่มหนึ่งเมื่อปี 2001 ใช้ชื่อเรื่องว่า The Coming Collapse of China (การพังทลายที่กำลังจะมาถึงแล้วของจีน) แต่แทนที่จะพังทลาย จีนกลับเพิ่มขนาดเศรษฐกิจของตนให้ใหญ่ขึ้นเป็น 3 เท่าตัวในช่วงเวลาเหล่านี้
ชาร์ตที่นำมาแสดงนี้ เป็นมูลค่าสินค้าทุนที่ไม่ใช่ด้านกลาโหมตามที่มีการขนส่ง (shipments of nondefense capital goods) แต่ไม่รวมพวกเครื่องบิน โดยมีการปรับลดสินค้าทุนของสหรัฐฯที่ส่งออก ซึ่งจริงๆ ก็มีมูลค่าไม่มากนักอยู่แล้ว ดังนั้น ที่เหลือจึงเป็นมูลค่าสินค้าทุนสำหรับการใช้ภายในประเทศที่มีการขนส่ง ทั้งนี้ ในปี 2021 สินค้าทุนที่นำเข้ามา อยู่ในระดับสูงกว่าสินค้าทุนสำหรับการใช้ภายในประเทศที่มีการขนส่ง เป็นครั้งแรก
เมื่อปรับตัวเลขโดยคำนึงถึงปัจจัยเงินเฟ้อด้วย คำสั่งซื้อ และสินค้าทุนที่ไม่ใช่ด้านกลาโหม แต่ไม่รวมพวกเครื่องบิน ที่มีการขนส่ง โดยรวมๆ ของสหรัฐฯเวลานี้ อยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงพีคเมื่อปี 1999 ราวๆ 10%
มันช่างน่าสังเวช
ทัศนะความเห็นที่สมเหตุสมผลมากขึ้น ปรากฏให้เราเห็นในหน้าบทความของนิวยอร์กไทมส์เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ โดยเป็นข้อเขียนของนักเขียนฝ่ายอนุรักษนิยม 3 คือ คือ โซหรับ อาห์มารี (Sohrab Ahmari) , แพตทริก เดนีน (Patrick Deneen), และ แกล็ดเดน แพปพิน (Gladden Pappin)
พวกเขาเขียนเอาไว้อย่างนี้: “ชาวอเมริกันควรระมัดระวังลัทธิสายเหยี่ยวมุ่งเป็นปฏิปักษ์กับจีนแบบไร้สมอง (mindless China hawkism) เป็นความจริง สหรัฐฯมีความผิดแผกแตกต่างกับปักกิ่งจริงๆ เราต้องลงโทษเล่นงานการจารกรรมทางอุตสาหกรรม เราต้องปกป้องคุ้มครองพวกพันธมิตรตามสนธิสัญญาของเรา และเราต้องหาทางทำให้มีความสัมพันธ์ทางการค้าที่มีความสมดุลมากขึ้น แต่เราก็ควรต้องค้นหาพื้นที่ของการร่วมมือกัน, การแลกเปลี่ยนกัน, และผลประโยชน์ต่างๆ ที่มีร่วมกัน, การหาทางหลีกเลี่ยงสงครามใดๆ ในอนาคต และตรงกันข้ามเราควรให้มีการติดต่อสื่อสารกันด้วยความเคารพซึ่งกันและกันสำหรับความเท่าเทียมกันในทางอารยธรรม”
ในระหว่างประเทศอุตสาหกรรมด้วยกันแล้ว จีนมีโครงสร้างด้านการคมนาคมขนส่งบางอย่างซึ่งอยู่ในระดับดีที่สุดในโลก เป็นต้นว่า รางรถไฟไฮสปีดความยาว 40,000 กิโลเมต ขณะที่สหรัฐฯมีบางอย่างซึ่งอยู่ในระดับเลวร้ายที่สุด อย่างการไม่มีรางรถไฟไฮสปีดเลยแม้สักกิโลเมตรเดียว ภาวะคอขวดทางการคมนาคมขนส่งเป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ที่สุดในห่วงโซ่อุปทานของสหรัฐฯ และเป็นที่มาสำคัญอย่างหนึ่งของภาวะเงินเฟ้อ
ด้วยเครื่องจักรอุปกรณ์ของจีน สหรัฐฯสามารถที่จะสร้างเครือข่ายรางรถไฟใหม่ๆ ขึ้นมาในราคาต่ำ เวลานี้จีนผลิตเครื่องจักรอุปกรณ์วางรางซึ่งสามารถสร้างเส้นทางรถไฟข้ามหุบเขาได้เป็นระยะทาง 700 เมตรต่อวัน
อย่างที่รายงานชิ้นหนึ่งของ บีบีซี เคยอธิบายเอาไว้ “เครื่องจักรอุปกรณ์ที่เรียกกันว่า SLJ นี้ เป็นเครื่องจักรแบบออลอินวันครบถ้วนในตัวมันเอง มันสามารถที่จะทั้งขน, ยก, และวางรางกันครั้งหนึ่งเป็นท่อนยาวๆ รางนี้ฝังอยู่บนแผ่นหินบล็อกหนักอึ้ง เครื่องจักร SLJ จะขน, ยก, และวางแผ่นหินบล็อกพาดเชื่อมต่อระหว่างเสาตอม่อแต่ละต้น... หลังจากวางบล็อกรางแต่ละท่อนแล้ว SLJ ซึ่งมีรูปร่างเป็นยานยนต์ความยาว 92 เมตรนี้ (ด้วยความช่วยเหลือจากล้อของมันซึ่งมีทั้งหมด 64 ล้อ) ก็จะแล่นกลับไปขนหินบล็อกท่อนใหม่มาวางต่อไปอีก โดยที่มันจะต้องแล่นผ่านไปบนรางส่วนซึ่งเพิ่งวางเสร็จหยกๆ ... เครื่องจักรแบบนี้ถูกนำมาใช้งานในโครงการทางรถไฟไฮสปีดหลายสายแล้ว รวมทั้งสายใหม่ที่เชื่อมระหว่างมองโกเลียใน กับส่วนอื่นๆ ของจีน และมีส่วนในการขับดันให้จีนไปสู่เป้าหมายในการสร้างรางรถไฟไฮสปีดให้ได้ 30,000 กิโลเมตรภายในปี 2020”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.bbc.com/news/world-asia-china-41206772)
ยังมีหนทางอื่นๆ อีกมากมายที่จีนสามารถช่วยเหลือสหรัฐฯในการสร้างอุตสาหกรรมขึ้นมาใหม่ ดังนั้นจีนจึงจะมีส่วนอยู่ด้วย สำหรับการที่สหรัฐฯจะเลือกว่าจะพึ่งพาอาศัยจีนต่อไปหรือไม่