xs
xsm
sm
md
lg

‘สหรัฐฯ’ต้องการอะไรจากการโหมกระแสรัสเซียบุกยูเครน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เอ็ม. เค. ภัทรกุมาร


สมาชิกของกองกำลังรักษาดินแดนของยูเครน เข้ารับการฝึกทหารในสวนสาธารณะแห่งหนึ่งในกรุงเคียฟ ช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา ท่ามกลางการโหมประโคมของสหรัฐฯที่ว่า รัสเซียกำลังจะบุกโจมตียูเครนอย่างใหญ่โตอยู่รอมร่อแล้ว
US war hysteria over Ukraine won’t gel
BY M. K. BHADRAKUMAR
12/02/2022

ถึงแม้รัสเซียย้ำแล้วย้ำอีกว่า กองกำลังอาวุธของตนจะไม่ทำให้วิกฤตการณ์บริเวณใกล้ๆ ชายแดนติดต่อกับยูเครนยิ่งหนักหนาสาหัสมากขึ้นอีก รวมทั้งรัสเซียจะถอนทหารออกจากเบลารุสภายหลังการซ้อมรบสิ้นสุดลง แต่แทนที่จะสานต่อจากการรับประกันที่สำคัญยิ่งจากมอสโกเหล่านี้ วอชิงตันกลับกำลังทำสิ่งที่ตรงกันข้าม นั่นคือ การโหมกระพือซ้ำแล้วซ้ำอีกเหมือนคนเป็นโรคประสาทหวาดระแวงว่า สงครามใหญ่กำลังจะเกิดขึ้นแล้ว รัสเซียจะบุกยูเครนในไม่กี่วันข้างหน้านี้แล้ว

ประเด็นสำคัญ 2 ประเด็นจากการที่ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส เดินทางไปเยือนกรุงมอสโก และการเจรจาอย่างยาวนานถึง 6 ชั่วโมงของเขากับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ก็คือ คำรับประกันซึ่งให้โดยฝ่ายหลังที่ว่า กองกำลังของรัสเซียจะไม่ทำให้วิกฤตการณ์ในบริเวณใกล้ๆ ชายแดนติดต่อกับยูเครนยิ่งหนักหนาสาหัสเพิ่มขึ้นไปอีก -- “มันจะไม่มีทั้งการย่ำแย่ลงหรือการบานปลายขยายตัวเพิ่มขึ้น” – และประเด็นที่ 2 คำรับรองที่ว่ารัสเซียจะถอนทหารออกไปจากเบลารุสภายหลังสิ้นสุดการซ้อมรบซึ่งกำลังดำเนินอยู่ในเวลานี้ตรงบริเวณๆ ใกล้ๆ ชายแดนทางตอนเหนือของยูเครน

จากข้อเท็จจริงที่ว่า ฝ่ายฝรั่งเศสนำเอารายละเอียดอ่อนไหวเช่นนี้ออกมาเผยแพร่ต่อสาธารณชน บ่งชี้ให้เห็นว่ามอสโกไม่ได้เห็นว่าการบอกกล่าวอย่างนี้จะเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องอะไร มอสโกเพียงแค่อธิบายเพิ่มเติมให้กระจ่างว่า การถอนกำลังทหารออกจากเบลารุสภายหลังการซ้อมรบนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นเนื่องจากมี “การทำความตกลง” ใดๆ กับฝรั่งเศส แต่เป็นเจตนารมณ์ของรัสเซียเองอยู่แล้ว

แต่ความย้อนแย้งก็คือว่า แทนที่จะทำอะไรเป็นการสานต่อจากการรับประกันที่สำคัญยิ่งยวดเหล่านี้จากทางมอสโก นับจากนั้นมาวอชิงตันกลับเลือกที่จะเดินไปในทิศทางตรงกันข้าม ด้วยการที่ทำเนียบขาวเที่ยวโหมประโคมไปทั่วตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาในอาการเหมือนคนเป็นโรคประสาทหวาดระแวงว่าสงครามกำลังจะเกิดขึ้นมาแล้ว ทั้งประธานาธิบดีไบเดน และ เจค ซุลลิแวน (Jake Sullivan) ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของเขา ต่างพยายามร่ายมนตร์ให้ผู้คนเชื่อถือในฉากทัศน์แห่งโลกาวินาศที่พวกเขาวาดภาพออกมา
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.whitehouse.gov/briefing-room/press-briefings/2022/02/11/press-briefing-by-press-secretary-jen-psaki-and-national-security-advisor-jake-sullivan-february-11-2022/)

ทำเนียบขาวอ้างว่าตนมีข้อมูลข่าวกรองในเรื่องนี้ ทว่าหลบเลี่ยงไม่ยอมให้รายละเอียดใดๆ โดยทั้งหมดที่เราทราบๆ กันก็มีเพียงภาพถ่ายดาวเทียมบางภาพจากบริษัท แมกซาร์ (Maxar) (ซึ่งทำงานให้แก่พวกหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯอยู่แล้ว) เรื่องซึ่งดูมีรายละเอียดกระจัดกระจายไม่ปะติดปะต่อกันเช่นนี้นะหรือที่กำลังชักนำให้ไบเดนถึงขนาดคาดเดากะเก็งว่า กำลังจะเกิดสงครามโลกขึ้นมาแล้ว!

เวลาเดียวกันนั้น คณะบริหารไบเดนยังพยายามหาทางสร้างพลังเสริมฤทธิ์ทางการทูตขึ้นมาจากการปลุกปั่นความหวาดผวาว่าจะเกิดสงครามนี้อีกด้วย โดยเมื่อวันศุกร์ (11 ก.พ.) รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน ได้ยื่นข้อเสนออย่างห้าวหาญขอร้องให้พวกชาติที่เป็นหุ้นส่วนอยู่ในกลุ่มคว็อด (QUAD) ซึ่งนำโดยสหรัฐฯ ช่วยรับรองเห็นพ้องเรื่องที่วอชิงตันกล่าวหาว่ารัสเซีย “ก้าวร้าวรุกราน” –ถึงแม้ว่ากลุ่มคว็อดนี้ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาความมั่นคงทางทวีปยุโรปเลยก็ตามที
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://sputniknews.com/20220211/ukraine-crisis-didnt-make-it-to-quads-joint-statement-because-of-india-reckons-australian-expert-1092935505.html)

อีกเรื่องหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นในวันศุกร์ (11 ก.พ.) เช่นกัน ได้แก่การที่ ไบเดน ลงนามในคำสั่ง ซึ่งส่งผลเท่ากับว่าอเมริกาเข้ายึดทุนสำรองเงินตราต่างประเทศที่อยู่ในสหรัฐฯของอัฟกานิสถานเอาไว้ โดยว่ากันว่ามีจำนวนมากกว่า 7,000 ล้านดอลลาร์ ตามรายงานของนิวยอร์กไทมส์ระบุว่า “เป็นเรื่องผิดปกติอย่างมากสำหรับการที่รัฐบาลสหรัฐฯจะเข้ายึดทรัพย์สินของประเทศต่างแดนที่เก็บเอาไว้ในดินแดนของสหรัฐฯ”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://sputniknews.com/20220211/biden-signs-order-freezing-7bn-in-afghan-assets-1092943237.html)

แต่ ไบเดน ทำท่าสามารถหลุดรอดการถูกตรวจสอบได้อย่างสบายๆ จากการแสดงพฤติการใช้อำนาจบาตรใหญ่เช่นนี้ ซึ่งอาจถูกโจมตีได้ว่ากระทำผิดกฎหมาย หรือ ไร้ศีลธรรม หรือ มุ่งดูหมิ่นเหยียดหยามประเทศอื่น ในเมื่อพวกชนชั้นนำของสหรัฐฯในกรุงวอชิงตันต่างตกอยู่ในความปั่นป่วนบ้าคลั่งท่ามกลางกระแสกระพือแรงที่ว่ากำลังจะเกิดสงครามกับรัสเซียอยู่รอมร่อแล้ว!

ทั้งนี้เป็นเรื่องแน่นอนอยู่แล้วว่า ตลอดทั้งวันศุกร์ (11 ก.พ.) ทีเดียว ทำเนียบขาวพยายามอย่างหนักเพื่อรักษาให้เรื่อง “ความก้าวร้าวรุกรานของรัสเซีย” ยังคงกลายเป็นข่าวพาดหัวแบบไม่หลุดหายไปไหน โดยที่ตัวไบเดนเองจัดการประชุมทางวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กับพวกชาติพันธมิตรยุโรปของสหรัฐฯ ขณะที่ ซุลลิแวน ประสานงานจัดทำเครือข่ายกับพวกข้ารัฐการสหภาพยุโรปในกรุงบรัสเซลส์ ในเรื่อง “การเตรียมการสำหรับทำให้เกิดผลต่อเนื่องอย่างหนักหนาสาหัสและก่อให้เกิดต้นทุนทางเศรษฐกิจอย่างร้ายแรงต่อรัสเซีย ถ้าหากรัสเซียเลือกที่จะทำให้เกิดการบานปลายขยายตัวทางการทหาร”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.whitehouse.gov/briefing-room/statements-releases/2022/02/11/readout-of-president-bidens-video-call-with-transatlantic-leaders/ และ https://www.whitehouse.gov/briefing-room/statements-releases/2022/02/11/statement-by-nsc-spokesperson-emily-horne-on-national-security-advisor-jake-sullivans-video-call-with-bjoern-seibert-head-of-cabinet-of-the-president-of-the-european-commission/)

ซุลลิแวนยังจัดการแถลงข่าวที่ทำเนียบขาว โดยมุ่งเน้นย้ำว่า “เรากำลังอยู่ในกรอบแห่งความเป็นไปได้ที่ การรุกราน (ของรัสเซีย) อาจเริ่มต้นขึ้นมาเมื่อใดก็ได้ ถ้าหาก วลาดิมีร์ ปูติน ตัดสินใจออกคำสั่งเรื่องนี้ ผมจะไม่ขอให้ความเห็นเกี่ยวกับรายละเอียดของข้อมูลข่าวกรองของเรา แต่ผมต้องการพูดให้ชัดเจนไปเลยว่า มันอาจเริ่มต้นขึ้นระหว่างโอลิมปิก (ฤดูหนาว)”

เป็นอันว่า เวอร์ชั่นล่าสุดของ ซุลลิแวน ก็คือบอกว่ารัสเซียอาจจะรุกราน ยูเครน ก่อนวันที่ 20 กุมภาพันธ์ (กีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวในกรุงปักกิ่งขณะนี้ มีกำหนดปิดการแข่งขันวันอาทิตย์ที่ 20 ก.พ. -ผู้แปล) อย่างไรก็ดี ไทม์ไลน์ในเรื่องนี้ของทำเนียบขาวมีการพลิกพลิ้วไปมาอยู่เรื่อยๆ อย่างเมื่อสักสัปดาห์มานี้เอง คำทำนายยังอยู่ที่การรุกราน “กำลังจะเกิดขึ้นแล้ว” –และก่อนหน้านั้นขึ้นไปอีก ก็คือ มันจะเกิดขึ้นหลังจากที่อากาศหนาวจัดจนพื้นดินจับตัวเป็นน้ำแข็งซึ่งจะทำให้รถถังสามารถเคลื่อนที่ไปตามภูมิประทศของยูเครนได้!

กระนั้นก็ตาม มันไม่ใช่เรื่องน่าอัศจรรย์ใจหรอกหรือที่ว่า ในช่วงเวลาที่ต้องถือว่าสับสนอลหม่านที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ หลังจาก ไบเดน พูดออกมาอย่างเป็นรูปธรรมทีเดียวถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดสงครามโลกขึ้นมา เขากลับส่งรัฐมนตรีต่างประเทศของเขาออกจากสหรัฐฯเดินทางไปยังเอเชีย-แปซิฟิกเป็นเวลาถึง 6 วัน? ในความเป็นจริงแล้ว ระหว่างการเดินทางเที่ยวนี้ บลิงเคนมีการเดินทางกลับไปกลับมาในดินแดนแถบเส้นศูนย์สูตร –ระหว่าง ฟิจิ กับ ฮาวาย --ที่ชวนให้นึกถึงการพักร้อนและการตากอากาศเสียมากกว่า

เราสามารถจะหาข้อสรุปอะไรได้บ้างจากปริศนาแห่งการกระพือเรื่องสงครามอย่างบ้าคลั่งคราวนี้? ที่มองเห็นกันได้ชัดๆ มี 3 ประการด้วยกัน อย่างแรก สหรัฐฯเวลานี้รู้สึกว่าจำเป็นที่จะต้องคอยตะล่อมสร้างกระแสปลุกเร้าจิตใจของพวกชาติพันธมิตรยุโรป ผู้ซี่งมีความข้องใจสงสัยว่าปีศาจรัสเซียที่ถูกวาดขึ้นมานี้เป็นความจริงมากน้อยแค่ไหน ตรงนี้แหละที่การเร่งโหมเรื่องสงครามอย่างกับคนเป็นโรคประสาทขวัญผวาสามารถช่วยได้ ประการที่สอง วอชิงตันมีความปรารถนาอย่างออกนอกหน้าที่จะสะบั้นความสัมพันธ์ซึ่งรัสเซียมีอยู่กับพวกประเทศยุโรป โดยที่ความร่วมมือกันทางด้านพลังงานคือรูปแบบสำคัญอย่างหนึ่งของความสัมพันธ์ดังกล่าวนี้ ซึ่งสำหรับในปัจจุบันแล้ว สัญลักษณ์ที่เห็นได้อย่างถนัดถนี่ก็คือ สายท่อส่งแก๊ส “นอร์ดสตรีม 2” (Nord Stream 2)

ประการที่ 3 ซึ่งเป็นประการสำคัญที่สุด การโหมกระพือกระแสสงครามอย่างบ้าคลั่ง ทำให้สามารถอ้างเป็นหลักฐานสำหรับการที่สหรัฐฯจะเพิ่มระดับการส่งกำลังทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ไปประจำการในยุโรปตะวันออกและเขตบอลติก ขนาดของกองกำลังนาโต้ที่ประจำอยู่บริเวณชายแดนด้านตะวันตกของรัสเซียเวลานี้ขึ้นไปอยู่ที่ 175,000 คนเรียบร้อยแล้ว! นอกจากนั้นยังมีการนำเอาอาวุธก้าวหน้าทันสมัยต่างๆ เข้าประจำการด้วย (รวมทั้ง เครื่องบินทิ้งระเบิด บี-52 ซึ่งมีสมรรถนะติดอาวุธนิวเคลียร์ จำนวนรวม 8 ลำ ก็ได้ถูกส่งไปประจำการที่ฐานทัพส่วนหน้าแห่งหนึ่งในสหราชอาณาจักร) พูดกันโดยสรุป สหรัฐฯได้จัดตั้ง “แอร์บริดจ์” (air bridge) ขึ้นมาแล้ว เพื่อคอยส่งอาวุธต่างๆ ไปให้แก่ยูเครน ทั้งนี้นับถึงวันศุกร์ (11 ก.พ.) มีเที่ยวบินทางทหารมากกว่า 15 เที่ยวลงจอดในยูเครน เพื่อจัดส่งวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ คิดเป็นน้ำหนัก 1,200 ตัน

มีความชัดเจนอยู่แล้วว่า การกระพือกระแสสงครามอย่างบ้าคลั่งนี้ไม่สามารถที่จะดำเนินการไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด มันจะต้องมีเวลาเลิกรากัน เวลานี้ คำถามใหญ่จึงมีอยู่ว่า จะเป็นอย่างไรต่อไปถ้าหากจนแล้วจนรอดรัสเซียไม่ได้รุกรานยูเครน เป็นจริงตามที่มีรายงานว่าปูตินได้ให้คำรับรองเอาไว้แก่ มาครง โดยครั้งล่าสุดคือเมื่อวันจันทร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา?

เห็นได้จะๆ ว่า สหรัฐฯตกอยู่ในสภาพที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก 2 ทบ 2 ชั้นซ้อนกันอยู่ กล่าวคือ ขณะที่การกระพือภัยสงครามอย่างบ้าคลั่ง ช่วยปลุกระดมพวกพันธมิตรยุโรป แต่เวลาเดียวกันนั้นวอชิงตันย่อมไม่สามารถที่จะปล่อยให้ฝ่ายยุโรปเข้าครอบงำเส้นทางแห่งการสนทนากับมอสโกเอาไว้ ไม่ยังงั้นการสนทนาเช่นนี้ก็อาจจะสร้างพลวัตความเคลื่อนไหวของตัวมันเองขึ้นมาได้ วอชิงตันนั้นไม่ได้มีความไว้วางใจอะไร มาครง อยู่แล้ว เนื่องจากประธานาธิบดีฝรั่งเศสผู้นี้เป็นผู้ศรัทธาอย่างแรงกล้าในเรื่องที่ยุโรปควรต้องมีความริเริ่มของตนเองเกี่ยวประเด็นปัญหาต่างๆ ที่เป็นเรื่องความมั่นคงของยุโรป ไม่ใช่คอยเอาแต่เดินตามวอชิงตันต้อยๆ

ตอนนี้ มาครงกำลังพูดอย่างเปิดเผยต่อสาธารณชนว่า ความมั่นคงของยุโรปเป็นสิ่งที่ไม่อาจรับประกันได้ ถ้าหากรัสเซียไม่ได้รับการค้ำประกันความมั่นคงด้วย ในทำนองเดียวกัน การที่นายกรัฐมนตรีของเยอรมนี โอลาฟ ชอลซ์ กำลังจะเดินทางไปมอสโกเช่นกันในวันอังคาร (15 ก.พ.) ก็สร้างความตื่นตระหนกให้แก่พวกชนชั้นนำในวอชิงตัน มิหนำซ้ำเป็นที่คาดหมายกันว่า มาครง ยังจะมีการพูดคุยทางโทรศัพท์กับ มาครง ในวันเสาร์ (12 ก.พ.) อีก! น่าประหลาดใจไหมล่ะ ไบเดนในที่สุดก็ตัดสินใจว่า เขาด้วยควรจะต้องโทรศัพท์ไปหา ปูติน ในช่วงต่อไปของวันเสาร์ (12 ก.พ.) เหมือนกัน
(เรื่องความแตกตื่นของชนชั้นปกครองวอชิงตันจากการที่นายกฯเยอรมนีจะไปเยือนมอสโก ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.gmfus.org/news/recommendations-chancellor-scholzs-visit-moscow)

ยิ่งไปกว่านั้น สหราชอาณาจักรเป็นอีกรายหนึ่ง ซึ่งออกมาแสดงตัวขอเข้าสู่เส้นทางการต่อสู้ในทางการทูตกับเขาด้วยเหมือนกัน โดยเครื่องบ่งชี้ทั้งหลายทั้งปวงออกมาว่า การพูดจาของรัฐมนตรีกลาโหมสหราชอาณาจักร เบน วอลเลซ (Ben Wallace) กับรัฐมนตรีกลาโหม เซียร์เก ชอยกู ของรัสเซีย ในกรุงมอสโก เมื่อวันศุกร์ (11 ก.พ.) มีอะไรที่เป็นเรื่องเป็นราวทีเดียว (สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งก็คือ ประธานคณะเสนาธิการทหารของสหราชอาณาจักร พลเรือเอก เซอร์ โทนี ราดาคิน Admiral Sir Tony Radakin ผู้ร่วมอยู่ในคณะของ วอลเลซ ไปมอสโกครั้งนี้ ยังได้แยกไปหารือกับ พลเอก วาเลรี เกราซิมอฟ Valery Gerasimov ผู้ดำรงตำแหน่งเดียวกันกับเขาของฝ่ายรัสเซีย)

วอลเลซ พูดถึงบรรยากาศการหารือของเขาว่า เป็นไปอย่าง “ตรงไปตรงมาและสร้างสรรค์” ขณะที่บันทึกการหารือคราวนี้ที่เผยแพร่โดยกระทรวงกลาโหมในลอนดอน มีท่าทีหลบๆ ซ่อนๆ โดยใช้น้ำเสียงบันยะบันยัง ราวกับว่าสหราชอาณาจักรไม่ได้สะดุ้งสะเทือนอะไรไปกับการกระพือโหมภัยสงครามอย่างกับเป็นโรคฮิสทีเรีย ของ ไบเดน และ ซุลลิแวน โดยจุดสำคัญอยู่ที่ว่า บันทึกนี้เน้นย้ำเรื่องที่ ชอยกู ให้ความมั่นใจแก่ วอลเลซ ว่า รัสเซียจะไม่รุกรานยูเครน
(ดูเพิ่มเติม บันทึกการหารือของกระทรวงกลาโหมสหราชอาณาจักรได้ที่ https://www.gov.uk/government/news/defence-secretary-meets-russian-counterpart-in-moscow)

น่าสังเกตว่า บันทึกการหารือของฝ่ายรัสเซียก็เช่นเดียวกัน มุ่งหาทางย้ำเน้น “มาตรการเร่งด่วนเพื่อให้มีการยืนยันรับรองเรื่องหลักประกันด้านความมั่นคง” แก่รัสเซีย บันทึกนี้ระบุว่า “ พลเอก เอส. เค. ชอยกู ชี้ว่า สถานการณ์ทางการทหารและทางการเมืองในยุโรป อยู่ในภาวะเลวร้ายลงไปอย่างมากมายจากความตึงเครียดที่ปะทุขึ้นอย่างรวดเร็ว สืบเนื่องจากการปรากฏตัวทางทหารของ ยูเครน และ นาโต้ ในบริเวณใกล้ๆ แนวชายแดนของรัสเซีย”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://tass.com/world/1401941)

(ภาพจากแฟ้ม) กองกำลังของฝ่ายแยกตัวออกจากยูเครนในดินแดนดอนบาสส์  เตรียมตัวพรักพร้อมเพื่อรับการโจมตีของพวกกองกำลังอาวุธชาตินิยมสุดโต่งชาวยูเครน ซึ่งได้รับการปลุกขวัญกำลังใจจากการสนับสนุนของฝ่ายตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐฯ
ละครใบ้บนเวทีการทูตเรื่องนี้จะดำเนินต่อไปอีกนานแค่ไหนนั้นยังไม่มีความชัดเจน อย่างไรก็ตาม อันตรายที่ซุ่มซ่อนอยู่ก็คือ พวกกองกำลังชาตินิยมสุดขั้วของยูเครนซึ่งเป็นผู้ตัดสินใจตัวจริงในกรุงเคียฟ เมื่อได้วอชิงตันคอยกระตุ้นส่งเสริม ก็อาจรู้สึกเกิดความกล้าระห่ำที่จะสร้างข้อเท็จจริงใหม่ๆ ขึ้นมาในภาคสนามของดินแดนดอนบาสส์ (Donbass) และนี่แหละคือสถานการณ์ทำนองเดียวกับที่สงครามจอร์เจียระเบิดขึ้นเมื่อปี 2008
(ดินแดนดอนบาสส์ คือ ดินแดนภาคตะวันออกเฉียงใต้ของยูเครน ซึ่งเวลานี้บางส่วนยึดครองไว้โดยกลุ่มแบ่งแยกดินแดนฝักใฝ่รัสเซีย -ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Donbas)
(สงครามจอร์เจีย ปี 2008 คือ สงครามระหว่าง จอร์เจีย, รัสเซีย, และ ดินแดนเซาท์ออสเซเชีย South Ossetia กับ อับคาเซีย Abkhazia ซึ่งประกาศแยกตัวออกจากจอร์เจียและสถาปนาตนเองเป็นสาธารณรัฐ ด้วยการหนุนหลังของรัสเซีย ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Russo-Georgian_War)

จริงๆ แล้ว ในดอนบาสส์ช่วงหลังๆ นี้ กำลังปรากฏภาวะวิกฤตสูงขึ้นสู่ระดับใหม่ โดยมีการระดมกองกำลังอาวุธของฝ่ายยูเครนเพิ่มเข้ามาอย่างใหญ่โต รวมทั้งพวกทหารรับจ้างฝ่ายตะวันตกที่แสร้งทำเป็นที่ปรึกษาทางทหารด้วย ทั้งนี้ สหรัฐมีเจตนารมณ์เช่นใดในเรื่องนี้ยังไม่เป็นที่กระจ่าง
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://tass.com/world/1401723)

ถ้าหากเกิดการสู้รบขึ้นมาใน ดอนบาสส์ จะทำให้เครมลินตกอยู่ในภาวะอิหลักอิเหลื่อ เนื่องจากถ้ารัสเซียยกกำลังเข้าแทรกแซงในดอนบาสส์ เพื่อกำราบพวกองกำลังชาตินิยมชาวยูเครนหัวรุนแรงไม่ให้เที่ยวอาละวาด แน่นอนทีเดียวว่าวอชิงตันจะใช้เรื่องนี้เป็นหลักฐานในการประกาศแซงก์ชั่นอย่างสุดโหดเพื่อโดดเดี่ยวรัสเซีย และสร้างความเสียหายอย่างสาหัสให้แก่สายสัมพันธ์ที่มอสโกมีอยู่กับพวกประเทศยุโรป

ในทางตรงกันข้าม รัสเซียย่อมจะไม่มีทางเลือกอื่นอีกแล้วนอกจากการเข้าไปแทรกแซง ในเมื่อมีผู้คนที่ถือพาสปอร์ตรัสเซียจำนวนหลายแสนคนพำนักอาศัยอยู่ในดอนบาสส์ (มีบางรายให้ตัวเลขเอาไว้ที่ 700,000 คน) พวกชาตินิยมชาวยูเครนหัวรุนแรงฝักใฝ่แนวคิดนาซีใหม่นั้น เป็นที่ทราบกันดีว่าต่อต้านรัสเซียอย่างถึงกึ๋น และการกระทำโหดร้ายป่าเถื่อนทุกรูปแบบ –กระทั่งการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นมาได้

ยังคงมีโอกาสความเป็นได้อย่างสูงทีเดียวที่จะเกิดการสู้รบปะทุขึ้นในดอนบาสส์ ไบเดนอาจจะได้โอกาสอันยอดเยี่ยมในการกอบกู้ชื่อเสียงของเขากลับคืนมาภายหลังพังพินาศย่อยยับไปในอัฟกานิสถาน แน่นอนอยู่แล้วว่าเขาจับจ้องมองเขม็งอยู่ที่การเลือกตั้งกลางเทอมในสหรัฐฯเดือนพฤศจิกายนนี้ และบรรยากาศการให้ความสนับสนุนอย่างเป็นฉันทามติจากทั้งสองพรรคใหญ่ในการใช้แนวทางแข็งกร้าวกับ “รัสเซียของปูติน” ก็จะช่วยเขาได้เยอะ
(ดูเพิ่มเติมเรื่อง ยังมีโอกาสสูงที่จะเกิดการสู้รบขึ้นในดอนบาสส์ ได้ที่ https://tass.com/world/1401611)

โดยพื้นฐานแล้ว สหรัฐฯไม่มีเจตนารมณ์ใดๆ เลยที่จะให้หลักประกันด้านมั่นคงแก่รัสเซียตามที่มอสโกต้องการ เนื่องจากการขยายตัวไปทางตะวันออกของนาโต้ และการปิดล้อมรัสเซียนั้นคือวาระแกนกลางของวอชิงตันอยู่แล้ว และภายหลังจาก “การปฏิวัติสี” ในยูเครนเมื่อปี 2014 วาระนี้มีการคืบหน้าไปได้ไกลมาก จนกระทั่งมาถึงเวลานี้มันไม่มีทางที่จะหวนกลับคืนเสียแล้ว มันจะต้องถูกผลักดันเดินหน้ากันต่อไปจนกระทั่งไปถึงบทสรุปที่สมเหตุสมผลของมันเอง

พวกชนชั้นนำในวอชิงตันตระหนักดีว่า สหรัฐฯขาดไร้สมรรถนะที่จะรับมือจัดการกับจีนและรัสเซียไปพร้อมๆ กัน ดังนั้นจำเป็นที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์กันใหม่ ในการคาดคำนวณของสหรัฐฯนั้น การบังคับให้ ปูติน ต้องยินยอมลงจากเวทีไปภายหลังการถอยกรูดอย่างน่าอับอายในกรณียูเครน และการทำให้แสนยานุภาพทางทหารของรัสเซียอ่อนแอลงไปอย่างสาหัส มีแต่จะทำให้การผงาดขึ้นมาอีกครั้งของรัสเซียต้องเกิดภาวะการหดตัวทางยุทธศาสตร์ รวมทั้งเกิดการหดตัวในเรื่องรัสเซียจับมือเป็นพันธมิตรกับจีนด้วย

ด้วยเหตุนี้ มันจึงเป็นย่างก้าวแรกที่จะต้องกระทำ บนเส้นทางไปสู่การประจันหน้าแบบตัดสินยุคสมัยกันในท้ายที่สุดกับจีน ในเมื่อจีนกำลังกลายเป็นความท้าทายอย่างน่าเกรงขาม ต่อการวางตัวเป็นเจ้าครองโลกต่อไปของอเมริกาในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 21

เอ็ม. เค. ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเป็นเวลากว่า 29 ปี ในตำแหน่งต่างๆ เป็นต้นว่า เอกอัครราชทูตอินเดียประจำอุซเบกิสถาน (ปี 1995-1998) และเอกอัครราชทูตอินเดียประจำตุรกี (ปี 1998-2001) ปัจจุบันเขาเขียนอยู่ในบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline)

ข้อเขียนชิ้นนี้มาจากบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline) ดูต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ที่ https://www.indianpunchline.com/us-war-hysteria-over-ukraine-wont-gel/
กำลังโหลดความคิดเห็น