เอเจนซีส์/MGRออนไลน์ - สื่อธุรกิจชื่อดังปูดบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ของไทย บริษัทปตท. กำลังพยายามที่จะเข้าควบคุมโครงการหลุมก๊าซยาดานา (Yadana) ในพม่า ถึงแม้จะโดน NGO ต่างๆ รวม "กลุ่มฮิวแมนไรท์วอช" กดดันให้ถอนตัว หัวหน้าโฆษกรัฐบาลพม่า ซอว์ มิน ตุน ชี้คณะผู้บริหารบริษัท ปตท.อยู่พม่า หารือเกี่ยวกับข้อเสนอสัญญากับเจ้าหน้าที่กระทรวงไฟฟ้าและพลังงาน เชื่ออาจมีผลการตัดสินใจออกมาถึงคำขอของ ปตท.ภายในเดือนนี้
ไทม์สออฟอินเดียรายงานเมื่อวานนี้ (12 ก.พ.) ว่า ขณะที่พม่าในเวลานี้กำลังถูกชาติตะวันตกนำโดยสหรัฐฯ แคนาดา และอังกฤษ เว้นออสเตรเลียประกาศคว่ำบาตรรอบใหม่ในโอกาสครบรอบ 1 ปีการยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนของพรรคอองซานซูจีเมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม พบว่าในการหารือร่วมกันในการประชุม QUAD ระดับรัฐมนตรีต่างประเทศที่เมืองเมลเบิร์น ซึ่งออสเตรเลียเป็นเจ้าภาพในวันศุกร์ (11) ระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศอินเดีย สุบราห์มันยาม ชัยชันการ์ (Subrahmanyam Jaishankar) แอนโธนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศออสเตรเลีย มารีส เพย์น และรัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น โยชิฮิมาสะ ฮายาชิ (Yoshimasa Hayashi)
อินเดียซึ่งที่ผ่านมาประกาศไม่ยึดตามแต่ละประเทศที่ออกมาตรการคว่ำบาตรลงโทษแต่ฝ่ายเดียว แต่เลือกที่จะให้ความสนใจไปที่การประกาศคว่ำบาตรของสหประชาชาติเท่านั้นขณะที่นโยบายเกี่ยวกับพม่าของอินเดียนั้นนำโดยมาตรการความมั่นคงบริเวณพรมแดนติดกันเพื่อปราบปรามกองกำลังติดอาวุธ และคานอำนาจการแผ่อิทธิพลของจีนเข้ามาภายในภูมิภาค
ชัยชันการ์ ไม่เห็นด้วยกับบลิงเคนที่ระบุว่า สถานการณ์ในพม่าที่พัฒนานั้นเลวร้ายลงอย่างหนัก รวมไปถึงกลุ่มรัฐประหารยังเพิ่มการกดขี่และความรุนแรง โดยเขาชี้ว่า นโยบายเกี่ยวกับพม่าของอินเดียนั้นถูกนำโดยความวิตกเฉพาะด้านเท่านั้นที่เกี่ยวกับกลุ่มติดอาวุธตามพรมแดน ซึ่งไทม์สออฟอินเดียชี้ว่า ทำให้ในเวลานี้อินเดียยังไม่ลงดาบลงโทษพม่าตามอย่างสหรัฐฯ ซึ่งนอกเหนือจากอินเดีย พบว่า ออสเตรเลียซึ่งเป็นชาติตะวันตกและร่วมสมาชิกกลุ่ม QUAD ยังไม่ประกาศคว่ำบาตรพม่าเนื่องในโอกาสครบรอบ 1 ปีการทำรัฐประหารตามแรงกดดันสหรัฐฯ ยุโรป และกลุ่ม NGO ที่สำคัญคือกลุ่มฮิวแมนไรท์วอช
ที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 25 ม.ค. กลุ่มฮิวแมนไรท์วอช ออกรายงานแถลงการณ์ของตัวบนเว็บไซต์ของตัวเองกระตุ้นให้ชาติต่างๆ ร่วมกันกดดันกลุ่มรัฐประหารพม่า โดยชี้ไปถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการต้องปิดกั้นรายได้ต่างชาติเข้าสู่กระเป๋าของบรรดานายพลกองทัพพม่า
ฮิวแมนไรท์วอช ชี้ว่า กองทัพพม่ายังคงเก็บเกี่ยวผลประโยชน์มหาศาลจากก๊าซธรรมชาติและอุตสาหกรรมทรัพยากรธรรมชาติที่ขุดขึ้นมาได้อื่นๆ เว้นแต่ว่ามาตรการคว่ำบาตรใหม่แบบมีเป้าหมายจะสามารถเกิดขึ้นเพื่อปิดกั้นการจ่ายทางธุรกรรมการเงินต่างชาติที่มันจะถูกใช้เพื่อสนับสนุนการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลรัฐประหาร
ซึ่งในแถลงการณ์ฉบับนี้ กลุ่มฮิวแมนไรท์วอชชี้ไปถึงการออกมาประกาศของโททาลฝรั่งเศส และเชฟรอนของสหรัฐฯ ที่ประกาศยุติการดำเนินงานทั้งหมดในพม่าเพื่อประท้วงการเกิดรัฐประหาร กลุ่มฮิวแมนไรท์วอช ชี้ว่า บริษัทพลังงาน ปตท.ของไทย และบริษัทพลังงานเกาหลีใต้ POSCO ที่ยังคงดำเนินกิจการอยู่ในพม่า ดังนั้นแล้วรัฐบาลของทั้งสองชาติสมควรที่จะส่งสัญญาณเพื่อสนับสนุนมาตรการต่อต้านเช่นเดียวกันกับฝรั่งเศส และสหรัฐฯ
โดยในการแถลงเมื่อวันที่ 25 ม.ค. ฮิวแมนไรท์วอช กล่าวว่า บริษัท ปตท.ที่ยังคงเป็นพาร์ตเนอร์โปรเจกต์ต่างชาติในโครงการยาดานาที่ในเวลานั้น ปตท.กล่าวว่า "กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อพิจารณาถึงทิศทางความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญ"
ทั้งนี้ โครงการหลุมก๊าซธรรมชาติยาดานานี้ปตท.ถือหุ้นอยู่ 25.5% โดยโครงการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติทั้งหมดในพม่าทำรายได้ให้กลุ่มรัฐประหารถึง 1 พันล้านดอลลาร์ต่อปี ถือเป็นตัวเลขรายได้ต่างชาติก้อนใหญ่ที่สุดของรัฐบาลทหารพม่า
กลุ่มฮิวแมนไรท์วอช กล่าวว่า เงินถูกจ่ายในรูปสกุลดอลลาร์สหรัฐ และถูกโอนไปยังบริษัทพลังงานเมียนมาร์ MOGE และบัญชีธนาคารต่างๆ ในต่างแดนที่กองทัพพม่าควบคุมไว้ซึ่งที่ได้มาจากค่าธรรมเนียม ภาษี ค่าสัมปทาน และรายได้จากการส่งออกก๊าซธรรมชาติซึ่งส่วนใหญ่ผ่านทางเครือข่ายท่อส่งก๊าซเข้ามาที่ "ไทย" หรือ "จีน"
เมื่อวันศุกร์ (11) บลูมเบิร์ก สื่อธุรกิจรายงานว่า ปตท. ในเวลานี้มีรายงานว่ากำลังมีความพยายามที่จะเข้าควบคุมโครงการหลุมก๊าซยาดานา หลังจากบริษัทโททาลของฝรั่งเศสมีสัดส่วนถือหุ้น 31.2375 % ถอนตัวออกไป
โดยกล่าวว่า อ้างอิงจากโฆษกรัฐบาลพม่า ซอว์ มิน ตุน (Zaw Min Tun) พบว่า บริษัท ปตท.สผ.ซึ่งเป็นหน่วยขุดเจาะและค้นหาพลังงานของ ปตท. ได้เสนอขอซื้อหุ้นรวมกัน 59.5% ที่ถือโดยโททาลและเชฟรอนในนามของยูโนแคลเมียนมา ออฟชอร์ และที่ตั้งไม่กี่แห่งของบริษัทจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของโปรเจกต์ยาดามา และได้มีการเริ่มหารือระหว่างกันระหว่างรัฐบาลพม่า บริษัท ปตท.สผ. (PTTEP) และผู้ซื้อรายสำคัญอื่นๆ
ซอว์ มิน ตุน กล่าวเปิดเผยในวันพฤหัสบดี (10) ว่า "ทาง ปตท.สผ.เสนอมาที่เราว่าจะขอซื้อหุ้นทั้งหมดจากโททาลและเชฟรอน แต่ทางเรายังไม่มั่นใจว่าพวกเราสมควรที่จะยอมอนุญาตให้บริษัทสามารถซื้อหุ้นทั้งหมดเหล่านี้ได้"
บลูมเบิร์ก ชี้ว่า ปตท.กำลังจะกลายเป็นหนึ่งในผู้รับผลประโยชน์ในพม่าท่ามกลางการไหลออกของคู่แข่งชาติตะวันตกในพม่าและจากอุตสาหกรรมพลังงานในพม่า ขณะที่มีความวิตกไปถึงการคว่ำบาตรพม่ารอบใหม่ไปพร้อมกัน ซึ่งถึงแม้สหรัฐฯ จะเสียงแข็งสั่งคว่ำบาตรรอบล่าสุดโดยพุ่งเป้าไปที่บุคคล องค์กรที่เชื่อมโยงกับกลุ่มรัฐประหารแต่สหรัฐฯ ยังไม่ก้าวไปถึงบริษัทพลังงานต่างๆ ในพม่า
ทั้งนี้ ในแถลงการณ์ของบริษัท ปตท.ในวันพฤหัสบดี (10) ที่ออกมามีเนื้อหาคล้ายกับที่เคยออกในวันที่ 21 ม.ค. โดยบริษัทกล่าวว่า
"ปตท.สผ.อยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางดำเนินการโปรเจกต์ยาดานา และ MGTC และในขณะที่จะคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดด้านความมั่นคงทางพลังงานของไทยและพม่าเป็นสำคัญ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้พลังงานของประชาชนทั้งสองประเทศ"
อ้างอิงจากบริษัทพลังงานโททาล พบว่า 70% ของการผลิต 6 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี ที่ได้จากโปรเจกต์หลุมก๊าซยาดานานั้นถูกส่งเข้าไทยผ่านเครือข่ายท่อส่งก๊าซของ MGTC และส่วนจำนวนก๊าซธรรมชาติที่เหลือจะถูกขายให้ผู้ใช้ในพม่าเอง
ซอว์ มิน ตุนกล่าวว่า "ทางเราคาดหวังที่จะสามารถออกคำตัดสินใจที่หนักแน่นได้ภายในเดือนนี้" พร้อมเสริมต่อว่า คณะผู้บริหารบริษัท ปตท.ในเวลานี้อยู่ที่พม่า กำลังหารือเกี่ยวกับข้อเสนอสัญญากับเจ้าหน้าที่กระทรวงไฟฟ้าและพลังงานพม่า
ทั้งนี้ แต่เดิมโครงการยาดานาและบริษัท MGTC มีผู้ร่วมทุน ประกอบด้วย บริษัทโททาลเอนเนอร์ยีส์ อีพี เมียนมา ถือสัดส่วนการลงทุน 31.2375% บริษัท ยูโนแคลเมียนมา ออฟชอร์ ของบริษัทเชฟรอน สหรัฐฯ 28.2625% บริษัท ปตท.สผ.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ปตท.สผ. 25.5% และบริษัท เมียนมา ออยล์ แอนด์ แก๊ซ เอ็นเตอร์ไพรส์ (MOGE) 15%