เอเจนซีส์ – ไฟเซอร์คาดการณ์ ยอดขายวัคซีนโควิดและยาต้านไวรัส “แพ็กโลวิด” ของบริษัทน่าจะสูงถึง 54,000 ล้านดอลลาร์ในปีนี้ ขณะ WHO กระตุ้นประเทศรวยเร่งอัดฉีดช่วยเหลือโครงการแจกจ่ายวัคซีน เพื่อปิดฉากโควิด-19 ในฐานะสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสุขภาพทั่วโลกภายในปี 2022 พร้อมย้ำอย่าประมาทไวรัสโคโรนากลายพันธุ์สายพันธุ์โอมิครอน แม้อาการไม่หนัก แต่นับจากพบครั้งแรกจนถึงตอนนี้ทำให้มีผู้ติดเชื้อแล้ว 130 ล้านคน และเสียชีวิต 500,000 คน พร้อมกันนี้ยัง
บริษัทไฟเซอร์ แถลงคาดการณ์เมื่อวันอังคาร (8 ก.พ.) ว่า ยอดขายวัคซีนโควิดและยาต้านไวรัส “แพ็กโลวิด” ของบริษัทในปีนี้อาจสูงถึง 54,000 ล้านดอลลาร์ นอกจากนั้นไฟเซอร์ยังแจกแจงว่า บริษัทกำลังเจรจากับกว่า 100 ประเทศเกี่ยวกับแพ็กโลวิด และสามารถผลิตยาตัวนี้ได้ถึง 120 ล้านคอร์ส หากจำเป็น
ไฟเซอร์บอกว่า ในปีนี้รายรับจากยา “แพ็กโลวิด” น่าจะได้สูงเป็นกอบเป็นกำ ถึงแม้วัคซีนที่บริษัทพัฒนาร่วมกับไบโอเอ็นเทคของเยอรมนีนั้น อาจมียอดขายสุดท้ายต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 32,000 ล้านดอลลาร์ หรือลดลงจากยอดขายปีที่ผ่านมา 13% โดยปีที่แล้วไฟเซอร์ต้องปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์ยอดขายวัคซีนหลายรอบเนื่องจากได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากทั่วโลก
ในอีกด้านหนึ่ง อับดิ มาฮาหมูด ผู้จัดการฝ่ายอุบัติการณ์ขององค์การอนามัยโลก (WHO) แถลงเมื่อวันอังคาร (8 ก.พ.) ว่า นับจากที่โอมิครอนได้รับการประกาศว่า เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวลเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว จนถึงขณะนี้ ทั่วโลกมีเคสผู้ติดเชื้อ 130 ล้านคน และเสียชีวิต 500,000 คน ทั้งๆ ที่ช่วงเวลานี้โลกมีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพแล้วก็ตาม
เขาสำทับว่า ขณะที่ทุกคนพูดกันว่า โอมิครอนไม่ร้ายแรง แต่คนเหล่านั้นมองข้ามข้อเท็จจริงที่ว่า มีคนตายถึงครึ่งล้านแล้วนับจากตัวกลายพันธุ์นี้ถูกตรวจพบครั้งแรก
ทางด้าน มาเรีย ฟาน เคอร์โคฟ หัวหน้าฝ่ายเทคนิคเกี่ยวกับโควิด-19 ของWHO สำทับว่า เพียงแค่จำนวนผู้ติดโอมิครอนที่ทราบแน่ชัดก็ยังน่าตกตะลึง โดยตัวเลขจริงจะสูงกว่านี้มาก และเสริมว่า ขณะนี้โลกยังอยู่ในระยะกลางๆ ของการระบาดใหญ่ โดยสถานการณ์การระบาดของโอมิครอนในหลายประเทศยังไม่ถึงจุดสูงสุด และเป็นไปได้ว่า จำนวนผู้เสียชีวิตจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอีกหลายสัปดาห์
ในข้อมูลทางระบาดวิทยาประจำสัปดาห์ซึ่งปรับปรุงแก้ไขล่าสุด ที่เผยแพร่ในเวลาต่อมาของวันอังคาร WHO ระบุว่า สัปดาห์ที่แล้วพบผู้เสียชีวิตเกือบ 68,000 คน เพิ่มขึ้น 7% จากสัปดาห์ก่อนหน้า อย่างไรก็ดี จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลง 17% อยู่ที่เกือบ 19.3 ล้านคน
หากแยกตามภูมิภาค เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ยุโรปมีสัดส่วนผู้ติดเชื้อรายใหม่ 53% ของยอดรวมทั่วโลก ขณะที่ผู้เสียชีวิตอยู่ในระดับ 35% รองลงมาคือทวีปอเมริกา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 23% ของทั่วโลก และเสียชีวิตคิดเป็น 44%
รายงานยังบอกอีกว่า ลักษณะสำคัญของโรคระบาดใหญ่ในขณะนี้ก็คือ เกิดระบาดอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องในทั่วโลกของสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งเวลานี้ตรวจพบในเกือบทุกประเทศแล้ว
ทั้งนี้ โอมิครอนคิดเป็น 96.7% ของตัวอย่างที่รวบรวมในช่วง 30 วันหลังสุด ที่ได้ทำการลำดับพันธุกรรมและอัพโหลดลงบนฐานข้อมูลกลางโควิด-19 โลก หรือ GISAID ขณะที่เวลานี้เดลตา มีสัดส่วนแค่ 3.3% เท่านั้น
ในส่วนประสิทธิภาพของวัคซีนต่อโอมิครอนนั้นยังมีข้อมูลจำกัด แต่ข้อมูลเท่าที่มีขณะนี้แสดงให้เห็นว่า วัคซีนโควิด-19 รุ่นแรกๆ มีประสิทธิภาพในการป้องกันโอมิครอนลดน้อยลงเมื่อเทียบกับสายพันธุ์ที่น่ากังวลอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความรุนแรงของโรค, การแสดงอาการ, และการติดต่อ อย่างไรก็ตาม การฉีดเข็มกระตุ้นช่วยให้ร่างกายมีภูมิต้านทาเพิ่มขึ้นอย่างมาก
ปัจจุบัน มีผู้เสียชีวิตจากโควิดรวมกว่า 5.7 ล้านคน และผู้ติดเชื้อสะสมกว่า 392 ล้านคนนับจากที่ไวรัสนี้อุบัติขึ้นในจีนเมื่อเดือนธันวาคม 2019 ขณะเดียวกันมีการฉีดวัคซีนไปแล้วเกือบ 10,250 ล้านโดส
กระนั้น ประชาชนในประเทศยากจนจำนวนมากยังไม่ได้รับวัคซีน และWHOออกมาเรียกร้องอีกครั้งให้ประเทศร่ำรวยสมทบทุน 16,000 ล้านดอลลาร์ เพื่ออัดฉีดโครงการ Access to Covid Tools Accelerator (แอค-เอ) จะได้สามารถปิดฉากโควิด-19 ในฐานะสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสุขภาพทั่วโลกภายในปีนี้
แอค-เอมีเป้าหมายในการพัฒนา ผลิต จัดซื้อ และแจกจ่ายเครื่องมือในการจัดการโรคระบาดใหญ่ ซึ่งหมายถึงวัคซีน ชุดตรวจ การรักษา และอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล โดย แอค-เอเ ป็นที่มาของโครงการโคแวกซ์ที่มีจุดประสงค์ในการทำให้ประเทศยากจนเข้าถึงวัคซีน
WHO ระบุว่า แอค-เอต้องการเงินสนับสนุน 23,400 ล้านดอลลาร์สำหรับโครงการในปีงบประมาณปัจจุบัน (ตุลาคม 2021 ถึงกันยายน 2022) แต่ขณะนี้เพิ่งได้รับเงินเพียง 800 ล้านดอลลาร์ จึงต้องการอีก 16,000 ล้านดอลลาร์จากประเทศร่ำรวย ส่วนที่เหลือนั้นประเทศที่มีรายได้ปานกลางจะรับผิดชอบเอง
เทดรอส แอดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการ WHO กล่าวว่า การระบาดอย่างรวดเร็วของโอมิครอนทำให้โครงการนี้มีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อให้แน่ใจว่า จะมีการแจกจ่ายชุดตรวจ การรักษา และวัคซีนอย่างเท่าเทียม เนื่องจากหากล้มเหลวอาจทำให้เกิดไวรัสตัวกกลายพันธุ์ที่อันตรายยิ่งขึ้น และทำให้ประสิทธิภาพของเครื่องมือที่มีอยู่ลดลง ส่งผลให้สถานการณ์การระบาดยืดเยื้อออกไปอีกหลายเดือนแม้แต่ในประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนสูงก็ตาม
(ที่มา: เอเอฟพี, รอยเตอร์, เอพี)