(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
Why Russia will likely intervene in Ukraine
By MK BHADRAKUMAR
27/01/2022
มอสโกมองเห็นถึงยุทธศาสตร์ของนาโต้ซึ่งนำโดยอเมริกันที่มุ่งมั่นต้องการปิดล้อมตน อย่างไรก็ตาม รัสเซียก็ตระหนักเป็นอย่างดีถึงข้อจำกัดต่างๆ ของตนเองด้วย
การเจรจาระหว่างสหรัฐฯกับรัสเซียที่นครเจนีวา 2 ครั้ง 2 คราใน 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่สามารถก่อให้เกิดการผ่าทางตันใดๆ โดยพื้นฐานแล้ว นี่เป็นความข้ดแย้งกันที่ไม่สามารถคลี่คลายได้อย่างง่ายดาย
รัสเซียมองเห็นว่ามันอยู่ในขอบเขตแห่งการดำรงคงอยู่ของตน ในเมื่อองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนกติกเหนือ (นาโต้) รุกคืบเข้ามายังประเทศเพื่อนบ้านทางด้านตะวันตกประชิดกับตนเองเช่นนี้
รัสเซียไม่สามารถอดทนอดกลั้นได้อีกต่อไปแล้วกับการที่ นาโต้ มาปรากฏตัวตรงพรมแดนด้านตะวันตกของตนเช่นนี้ การชักนำเอายูเครนเข้าสู่ระบบพันธมิตรทางทหารของฝ่ายตะวันตกอย่างนาโต้ ย่อมหมายความว่าขีปนาวุธสหรัฐฯสามารถโจมตีใส่กรุงมอสโกได้ในเวลา 5 นาที เป็นการสยบระบบป้องกันภัยทางอากาศของรัสเซียให้หมดประโยชน์และล้าสมัยไปเลย
การที่นาโต้แผ่ขยายเข้าสู่ภูมิภาคทะเลบอลติกและทะเลดำลึกเข้ามาเรื่อยๆ เป็นการกลืนกินเอาดินแดนซึ่งเป็นกันชนทางฟากตะวันตกของรัสเซีย เมื่อคำนึงว่าการตัดสินใจที่สำคัญๆ ทั้งหมดของนาโต้ และกระทั่งการตัดสินใจในเรื่องเล็กๆ แทบทั้งหมดด้วยซ้ำ กระทำกันในวอชิงตัน มอสโกจึงมีความรับรู้ความเข้าใจว่าทั้งหมดเหล่านี้คือยุทธศาสตร์ของอเมริกันที่มุ่งปิดล้อมตน มุ่งบั่นทอนความเป็นอิสระในทางยุทธศาสตร์และความเป็นตัวของตัวเองทางด้านนโยบายการต่างประเทศของรัสเซีย
ในทางตรงกันข้าม สหรัฐฯปฏิเสธไม่ยินยอมเห็นด้วยในการให้นาโต้ถอยหลังกลับใดๆ ทั้งนั้น วอชิงตันยืนกรานว่ารัสเซียไม่มีปากมีเสียงใดๆ ทั้งสิ้นในการตัดสินใจของกลุ่มพันธมิตรนาโต้ อย่างดีที่สุดก็คือสหรัฐฯอาจจะยอมเจรจากับรัสเซีย เกี่ยวกับมาตรการบางอย่างบางประการเพื่อสร้างความเชื่อมั่นระหว่างกันขึ้น ขณะที่การขยายตัวของนาโต้ที่กระทำมาตั้งแต่ปี 1997 (ซึ่งเป็นการตรงกันข้ามกับสิ่งที่พวกผู้นำตะวันตกได้ให้คำยืนยันเอาไว้กับ มิคฮาอิล กอร์บาชอฟ Mikhail Gorbachev ผู้นำสหภาพโซเวียตคนสุดท้าย ในปี 1990 ระหว่างเกิดเหตุการณ์รวมเยอรมันตะวันตกและตะวันออกเข้าเป็นประเทศเดียวกัน) ต้องถือเป็นกิจที่สำเร็จเสร็จสิ้นไปแล้ว ซึ่งรัสเซียควรจะต้องทำใจ
กล่าวโดยพื้นฐาน สหรัฐฯกลายเป็นฝ่ายได้เปรียบภายหลังความพยายามอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลา 3 ทศวรรษที่ผ่านมา นับตั้งแต่ที่คณะบริหารบิลล์ คลินตัน กระทำสิ่งซึ่งกลายเป็นยุทธศาสตร์ทีมีการประสานสอดคล้องจากหลายฝ่าย เพื่อคอยกดดันหมีขาวเอาไว้ สืบเนื่องจากคาดการณ์กันว่ารัสเซียจะกลับฟื้นตัวผงาดขึ้นมาใหม่ได้ เพียงแต่ว่าในจังหวะเวลาไหนเท่านั้น มาถึงตอนนี้สหรัฐฯเป็นฝ่ายกุมความเหนือกว่าเอาไว้ได้อย่างชัดเจน และไม่ยินดีเลยที่จะทอดทิ้งฐานะเช่นนี้
จากทัศนะมุมมองของวอชิงตัน นี่คือแบบอย่างหลักแบบหนึ่งของการต่อสู้ทางภูมิรัฐศาสตร์ที่กำลังคลี่คลายออกมาให้ปรากฏภายในระเบียบโลกใหม่ ในยุคหลังจากการผงาดขึ้นมาของจีน และพลวัตทางอำนาจก็เกิดการปรับเปลี่ยนจากตะวันตกมายังตะวันออก
การหาทางตัดลดขนาดของรัสเซียลง รวมทั้งสามารถที่จะข่มขู่แดนหมีขาวให้หงอได้ คือสถานการณ์ที่จำเป็นจะต้องทำขึ้นมาให้สำเร็จ ก่อนที่สหรัฐฯจะรวมศูนย์กำลังเข้าไปถล่มเล่นงานจีนอย่างครอบคลุมรอบด้าน ดังนั้น จึงสามารถที่จะพูดได้ว่า ยูเครนได้กลายเป็นสมรภูมิซึ่งกำลังมีการทดสอบความมุ่งมั่นตั้งใจของฝ่ายต่างๆ อย่างใหญ่โตมโหฬาร
ยูเครน ในความหมายเชิงปฏิบัติทั้งหมดแล้ว ก็คือผู้แบกรับภาระแทนสหรัฐฯ ขณะที่การเปลี่ยนผ่านของยูเครนให้กลายเป็นรัฐต่อต้านรัสเซียภายหลังการปลี่ยนแปลงการปกครองในกรุงเคียฟเมื่อปี 2014 ก็อยู่ในขั้นก้าวหน้าเต็มที่ ถึงแม้ยูเครนยังไม่ได้เป็นสมาชิกของนาโต้ แต่กลุ่มพันธมิตรทางทหารนี้ก็ได้ดำเนินการต่างๆ จนสามารถปรากฏตัวอย่างมีความสำคัญในประเทศนี้ทั้งทางการทหารและทางการเมือง
ในสงครามข้อมูลข่าวสาร สหรัฐฯวาดภาพรัสเซียให้กลายเป็นนักรุกรานก้าวร้าวซึ่งคอยเล่นงานเพื่อนบ้านที่อ่อนแอ ถึงแม้ในความเป็นจริงแล้ว มันเป็นสถานการณ์แบบที่สหรัฐฯสามารถประกาศว่า “ออกหัว ข้าชนะ ออกก้อย แกก็แพ้” ต่างหาก ดังนั้นถ้ารัสเซียไม่ได้ทำอะไรเลย มันก็อาจเป็นการยอมปล่อยให้ยูเครนถูกเหนี่ยวนำเข้าไปในนาโต้อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ส่วนรัสเซียก็ต้องทำใจอยู่กับศัตรูที่คุกคามอยู่หน้าประตู
แน่นอนทีเดียว นี่จะเป็นการปรับเปลี่ยนดุลทางยุทธศาสตร์ของโลกเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ให้ไปในทางที่สหรัฐฯเป็นฝ่ายได้เปรียบ
ในอีกด้านหนึ่ง ถ้ารัสเซียลงมือในทางการทหารเพื่อป้องกันไม่ให้นาโต้เดินทัพเข้าสู่ยูเครน วอชิงตันก็จะเล่นเกมโหด วอชิงตันเตรียมพร้อมเอาไว้หมดแล้วสำหรับการนำเอาประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน มาใส่ขื่อคาประจานแบบมุ่งเล่นงานเขาเป็นการส่วนตัว รวมทั้งประกาศจะบังคับใช้ “มาตรการแซงก์ชั่นจากนรก” ต่อรัสเซีย ด้วยแผนการเล่นสุดเหี้ยมที่มุ่งทำให้เศรษฐกิจของแดนหมีขาวบาดเจ็บถึงตาย และอุดปากบีบคอให้ศักยภาพแห่งการขึ้นเป็นเพลเยอร์ระดับโลกรายหนึ่งของรัสเซีย ดับสิ้นคามือไปเลย
ในการประเมินของสหรัฐฯนั้น ปูตินโดยส่วนตัวจะต้องเป็นผู้แบกรับราคาทางการเมืองอย่างหนักหน่วงยิ่ง ถ้าหากเงื่อนไขการครองชีพภายในรัสเซียเลวร้ายลงในช่วงเวลาตั้งแต่ตอนนี้จนถึงปี 2024 เมื่อถึงกำหนดการเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซียครั้งต่อไป และเขาอาจถูกบังคับให้ต้องยอมก้าวลงจากอำนาจ จากทัศนะมุมมองของฝ่ายอเมริกัน มันจะเป็นเรื่องดีงามเลยถ้าหากเกิดมีผู้นำอ่อนปวกแบบ บอริส เยลต์ซิน (Boris Yeltsin) คนที่ 2 เข้าสืบทอดเป็นผู้นำรัสเซียต่อจากปูติน
อย่าได้มองผิดมองพลาดไปทีเดียว ส่วนหนึ่งของสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นเวลานี้ คือกระบวนการทำให้บุคลิกลักษณะทางการเมืองของปูตินกลายเป็นภาพของปีศาจร้าย เพื่อบั่นทอนความนิยมในหมู่ประชาชนรัสเซียของเขาที่ยังคงสูงลิ่ว (65%) ซึ่งกลายเป็นการขัดขวางไม่ให้นักการเมืองโปรตะวันตกคนใดสามารถก้าวผงาดขึ้นมาในรัสเซียในอนาคตอันใกล้นี้
เท่าที่ผ่านมาเป็นสิบๆ ปี ความพยายามทั้งหมดทั้งสิ้นของหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯในการสร้างแพลตฟอร์ม “เสรีนิยม” ขึ้นมาในวงการเมืองรัสเซีย ยังคงประสบความล้มเหลวจวบจนถึงเวลานี้ ข้อเท็จจริงของเรื่องนี้ก็คือ ประชาชนชาวรัสเซียส่วนข้างมากหวาดกลัวการต้องหวนกลับไปสู่ระเบียบปกครองแบบ “เสรีนิยม” ของช่วงทศวรรษ 1990 (ยุค บอริส เยลต์ซิน)
วอชิงตันโพสต์ ซึ่งเป็นสื่อที่มีความเชื่อมโยงพัวพันกับพวกผู้นำในแวดวงความมั่นคงของสหรัฐฯ เผยแพร่ข้อเขียนหยาบคายต่ำช้าชิ้นหนึ่งเมื่อวันที่ 19 มกราคมซึ่งลงนามทรชนคนพาลที่รู้จักกันดีผู้หนึ่งเป็นผู้เขียน และใช้ชื่อเรื่องว่า พวก ส.ส. ของพรรครีพับลิกันมุ่งหมายที่จะแซงก์ชั่นทั้งตัวปูติน, ครอบครัวของเขา, และภรรยาลับของเขา
ข้อเขียนนี้กล่าวว่า “ความพยายามของคณะบริหารไบเดน ในการการเดินหมากทางการทูตอย่างระมัดระวัง ผสมผสานกับการข่มขู่ใช้มาตรการแซงก์ชั่นเพิ่มขึ้นอีก ดูจะไม่อาจทำให้ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย เปลี่ยนใจจากการเข้ารุกรานยูเครนและเริ่มต้นทำสงคราม เวลานี้ จึงมี ส.ส. พรรครีพับลิกันกลุ่มใหญ่กำลงผลักดันประธานาธิบดีไบเดนให้เพิ่มทวีแรงกดดันต่อตัวปูตินโดยตรง ด้วยการตามติดมุ่งเล่นงานทั้งตัวเขาและพวกลูกน้องบริวารของเขา สำหรับการทุจริตคอร์รัปชั่นที่กระทำกันมานานและปักหลักเหนียวแน่นของพวกเขา”
เห็นได้ชัดเจนว่า วอชิงตันจะทำทุกๆ อย่างเพื่อก่อให้เกิดความไม่ลงรอยกันในหมู่ชนชั้นนำของรัสเซีย และบ่อนทำลายเสถียรภาพทางการเมืองของแดนหมีขาว
ทำไมมอสโกจึงต้องตัดสินใจบุกยูเครน ?
ไม่ต้องสงสัยเลย รัสเซียมีความตระหนักสำนึกเป็นอย่างดีเกี่ยวกับข้อจำกัดต่างๆ ของตนเอง มอสโกก็มีการคาดคำนวณอะไรบางอย่างแบบผิดพลาดร้ายแรงยิ่งเหมือนกัน มอสโกวางเดิมพันว่ายูเครนจะไม่เข้าร่วมนาโต้ และในระหว่างเวลานั้น ในกรุงเคียฟก็จะเกิดมีสติสัมปชัญญะเพิ่มขึ้นมาภายใต้ผู้นำที่มองสิ่งต่างๆ อย่างสอดคล้องความเป็นจริงและมุ่งผลในทางปฏิบัติ ซึ่งจะตัดสินใจยกเลิกวาระ “กระบวนการทำให้ประเทศกลายเป็นยูเครน” (Ukrainization นั่นคือ ลดอิทธิพลวัฒนธรรมรัสเซีย และหันไปฝักใฝ่ตะวันตก -ผู้แปล), ซ่อมแซมฟื้นคืนความผูกพันที่มีอยู่กับรัสเซีย (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแวดวงทางเศรษฐกิจ), และที่สำคัญมากเลยก็คือ การปรองดองทำความตกลงกับความมุ่งมาดปรารถนาของภูมิภาคทางยูเครนตะวันออกซึ่งประชากรเป็นชาวชาติพันธุ์รัสเซีย
แต่สิ่งที่ปรากฏออกมากลับกลายเป็นว่า “กระบวนการทำให้ประเทศกลายเป็นยูเครน” มีแต่ยิ่งเร่งตัว โดยที่มีอเมริกันคอยสนับสนุนอย่างอ้อมๆ มอสโกตระหนักขึ้นมาแล้วว่า เวลาไม่ได้อยู่ทางข้างตนเองอีกต่อไปแล้ว
การคาดคำนวณอย่างผิดพลากมากอีกอย่างหนึ่งคือ มอสโกยังคาดหวังได้รับอะไรบางอย่างที่เป็นรูปธรรมจากฝ่ายอเมริกัน ขณะที่ผลประโยชน์ด้านความมั่นคงที่ทรงความสำคัญถึงขั้นเป็นตายของตนตกอยู่ในอันตรายเช่นนี้ ดังเห็นได้จากการที่คณะผู้นำของเครมลิน ซึ่งก็รวมถึงตัว ปูติน ด้วย ได้ประกาศกรอบ “แนวเส้นแดงที่ห้ามล่วงล้ำ” ของรัสเซีย ออกมาอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมา
แต่แล้วมันกลับเกิดผลในทางตรงกันข้าม วอชิงตันเอาแต่คอยถ่วงเวลายังไม่ตัดสินใจอะไร เนื่องจากประเมินว่าถึงยังไงเวลาก็อยู่ข้างฝ่ายตน เมื่อมองจากทัศนะมุมมองของรัสเซีย สภาพเช่นนี้เป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้ เนื่องจากมันกำลังขยับไปถึงจุดที่การเข้าเป็นสมาชิกนาโต้ของยูเครน เป็นเรื่องที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงพลิกกลับได้อีกต่อไปแล้ว
เราสามารถที่จะกล่าวได้ว่า ประธานาธิบดีไบเดนนั้นไม่ต้องการเคลื่อนไหวไปในทิศทางของการปรองดองยอมรับผลประโยชน์อันชอบธรรมของรัสเซีย ทั้งนี้เมื่อพิจารณาถึงแรงดึงและแรงผลักจากสถานการณ์ภายในประเทศของสหรัฐฯเอง และจากการที่พวกชาติพันธมิตรยุโรปก็มีความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลายกันมาก มิหนำซ้ำการทำให้มีบรรดารัฐโปรตะวันตกมาปิดล้อมรัสเซียเอาไว้ กลับเป็นวัตถุประสงค์ทางยุทธศาสตร์ในแนวนโยบายที่วอชิงตันมีต่อรัสเซีย ซึ่งคณะบริหารอเมริกันชุดแล้วชุดเล่าดำเนินสืบทอดกันมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ประธานาธิบดีบิลล์ คลินตัน แล้วมาถึงตอนนี้ มันยังให้ประโยชน์ที่มองเห็นกันได้ชัดๆ อีกประการหนึ่งด้วย นั่นคือ มันกลายเป็น “จุดประสงค์” ซึ่งสามารถเรียกความสนับสนุนจากทั้งสองพรรคในหมู่ชนชั้นนำในวอชิงตัน ขณะที่การเมืองอเมริกันมาถึงหัวเลี้ยวหัวต่อที่ทัศนะความคิดเห็นในเรื่องอื่นๆ แทบทั้งหมดมีความแตกแยกร้าวฉานกันอย่างล้ำลึก
ยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันด้วยแล้ว ไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือไม่เจตนาก็ตามที วอชิงตันยังมัดมือตัวเองด้วยการให้คำมั่นว่าจะไม่เจรจาข้ามหัวของยูเครน ด้วยเหตุนี้ เมื่อนำเอาปัจจัยทั้งหมดมาพิจารณาแล้ว จึงมีความน่าจะเป็นอย่างสูงมากๆ ที่รัสเซียจะต้องเข้าไปแทรกแซงในยูเครนตะวันออก ด้วยความคิดที่จะสร้างข้อเท็จจริงใหม่ๆ ในภาคสนามขึ้นมา เพื่อเป็นการรักษาผลประโยชน์ด้านความมั่นคงแห่งชาติของตน โดยเวลาเดียวกันนั้นยังมีความมุ่งหมายที่จะหาทางรอมชอมทางการเมืองสำหรับช่วงระยะกลางและระยะยาวไปด้วย
มันจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป?
ชัดเจนว่ารัสเซียจะไม่หาทางผนวกดินแดนยูเครนทั้งประเทศ สิ่งที่มอสโกต้องการคือการจำกัดการแทรกแซงของตนให้อยู่แต่ในยูเครนตะวันออก โดยมุ่งไปที่พวกภูมิภาคซึ่งประชากรเป็นคนพูดภาษารัสเซีย และก็มุ่งที่จะสร้างเขตพื้นที่กันชนขึ้นมา มีนักวิเคราะห์ชาวอเมริกันบางรายประมาณการอย่างกว้างๆ ว่า หากรัสเซียเข้าแทรกแซงจริง ก็จะจำกัดอยู่แค่ไปจนถึงดินแดนติดแม่น้ำดนีปร์ (Dnepr หรือ ดนีเปอร์ Dnieper) ซึ่งไหลจากรัสเซียผ่านเบลารุสและยูเครน ไปลงทะเลที่ทะเลดำ เรื่องนี้ดูมีความเป็นไปได้อยู่มากทีเดียว
แน่นอน ในสถานการณ์ทางทหารใดๆ ที่จะเกิดขึ้นมานั้น ย่อมมีตัวแปรต่างๆ เป็นจำนวนมาก รัสเซียจะตอบโต้อย่างหนักแน่นแน่นอนถ้าฝ่ายตะวันตกเข้าแทรกแซงในยูเครนไม่ว่าในรูปแบบใด –ถึงแม้วอชิงตันแถลงบอกปัดว่ามันจะไม่เกิดขึ้น (อันที่จริงแล้ว ยังมีคำถามด้วยซ้ำไปว่า สหรัฐฯมีสมรรถนะในการเข้าทำสงครามระดับภาคพื้นทวีปอย่างขนานใหญ่โดยที่มีเวลาเตรียมตัวสั้นๆ เช่นนี้หรือไม่)
การปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียจะดำเนินไปอย่างเด็ดขาด ด้วยกำลังยิง (firepower) อันใหญ่โตมโหฬาร และการใช้ระบบอาวุธก้าวหน้าล้ำสมัยในแนวรบต่างๆ หลากหลาย โดยมีเจตนาที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ทางการเมืองให้สำเร็จภายในระยะเวลาสั้นที่สุดเท่าที่จะเป็นได้
พวกนักหนังสือพิมพ์สหรัฐฯเขียนถึงเรื่อง “การต่อต้าน” ในยูเครน ทว่ามันเป็นแค่รายงานขยะเท่านั้น การปฏิบัติการของรัสเซียจะใช้เวลาสั้นๆ และเด็ดขาด ขวัญกำลังใจของฝ่ายยูเครนในปัจจุบันซึ่งอยู่ในภาวะที่กองทหารเสียขวัญและประชาชนรู้สึกผิดหวังนั้น จะพากันพังทะลายลงได้อย่างง่ายดาย
จากสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดเหล่านี้ สิ่งซึ่งยังจำเป็นต้องระลึกเอาไว้ด้วยก็คือ ถึงแม้สหรัฐฯเที่ยวล้างสมองปลูกฝังความเชื่อเกี่ยวกับปีศาจร้ายรัสเซียอย่างหนักหน่วง แต่ประชาชนชาวยูเครนยังคงมีความใกล้ชิดทางอารยธรรมอย่างลึกซึ้งกับชาวรัสเซีย เรื่องนี้อยู่ลึกลงไปนิดเดียวจากเปลือกข้างนอก
จุดสำคัญที่สุดคือ การทุจริตคอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้นกว้างขวางเหลือเกินในยูเครน ทำให้มีช่องทางมากมายที่จะจ่ายเงินเพื่อซื้อหาความจงรักภักดี –ในความเป็นจริงแล้ว น่าจะไม่มีการสู้รบกันจริงๆ มากมายนักหรอกในภาคส่วนจำนวนมาก นอกจากนั้นแล้วยังจำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยที่ว่าสถานการณ์ทางการเมืองในกรุงเคียฟเวลานี้อยู่ในภาวะไร้เสถียรภาพอย่างสูงอยู่แล้ว อย่างที่ความอลเวงจากกรณีตั้งข้อหากบฎทรยศชาติต่ออดีตประธานาธิบดีเปโตร โปโรเชนโก (Petro Poroshenko) ครั้งล่าสุดได้แสดงให้เห็นแล้ว
โวโลดีมีร์ เซเลนสกี (Volodymyr Zelensky) ชนะได้เป็นประธานาธิบดีในปี 2019 บนพื้นฐานของการให้คำมั่นสัญญาที่จะทำงานเพื่อรอมชอมกับรัสเซีย เวลานี้เขากลายเป็นบุคคลที่ขาดไร้ความน่าเชื่อถืออย่างหมดสิ้น ประชาชนรู้สึกว่าถูกทรยศหักหลัง ความพ่ายแพ้ทางการทหารแบบถูกบดขยี้ย่อมหมายถึงว่าเส้นทางเดินทางการเมืองสำหรับเซเลนสกีสิ้นสุดลง
ความปั่นป่วนทางการเมืองในยูเครน ปัจจัยที่ยังเป็นปริศนา
ความปั่นป่วนวุ่นวายทางการเมืองภายในยูเครนซึ่งจะติดตามมาหลังจากรัสเซียเข้าแทรกแซง คือปัจจัย “เอ็กซ์” ที่ยังเป็นปริศนาไร้ความชัดเจน พวกนักวิเคราะห์ชาวอเมริกันจงใจหลีกเลี่ยงไม่พูดถึงเรื่องนี้ แต่เราสามารถที่จะสรุปว่า ชาวรัสเซียนั้นมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับทิศทางความผันผวนในการเมืองของชาวยูเครนตลอดจนพวกผู้ทรงอิทธิพลของประเทศนี้ สืบนื่องจากมีความเชื่อมโยงร่วมกันมายาวนานทั้งทางประวัติศาสตร์, วัฒนธรรม, การเมือง, และสังคม
วัตถุประสงค์สูงสุดของรัสเซียก็คือการมีมียูเครนที่เป็นสหพันธรัฐขึ้นมา ด้วยการดำเนินการปฏิรูปทางรัฐธรรมนูญ โดยที่ไม่ว่าอธิปไตย, ความเป็นเอกภาพแห่งชาติ, และบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครนจะยังบริบูรณ์ไม่มีอะไรเสียหาย ขณะที่ภูมิภาคท้องถิ่นต่างๆ จะมีอำนาจในการปกครองตนเอง ยุโรปอาจจะยินดีต้อนรับสิ่งนี้ในฐานะเป็นหนทางดีที่สุดในการทำให้สถานการณ์มีเสถียรภาพ และขจัดขับไสศักยภาพที่จะทำให้เกิดการขัดแย้งสู้รบขึ้นมาในอนาคต
เป็นความจริง รัสเซียมีความคาดหวังว่ายูเครนในสภาพเช่นนี้จะไม่มีทางเข้าเป็นส่วนหนึ่งของนาโต้ได้ ในทันทีที่มีการกำหนดเอาไว้ในรัฐธรรมนูญของประเทศ ซึ่งให้หลักประกันว่านโยบายสำคัญทุกๆ อย่างที่ทางรัฐบาลกลางในกรุงเคียฟนำมาใช้ จะต้องอิงอยู่กับฉันทามติของทั่วทั้งประเทศ
ส่วนสำคัญที่สุดตามทัศนะมุมมองของรัสเซียก็คือว่า หนทางเพียงประการเดียวที่จะออกจากวิกฤตการณ์ครั้งนี้ได้ก็คือ ยูเครนต้องกลับมีอำนาจอธิปไตยแห่งชาติขึ้นมาอีกคำรบหนึ่ง และยุติการหันไปมองวอชิงตันเพื่อให้ช่วยนำร่องกำหนดทิศทางแห่งโชคชะตาของยูเครน
นี่หมายความว่าพวกมือปฏิบัติการชาวอมริกันในกรุงเคียฟผู้คอยตัดสินใจให้แก่ยูเครนจะต้องกลับบ้านไป และชาวยูเครนจะต้องกลายเป็นนายเหนือบ้านของพวกเขาเองอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่มิได้เป็นเช่นนั้นอีกต่อไปในทันทีที่หน่วยข่าวกรองสหรัฐฯแย่งชิงอำนาจไปได้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2014 โดยไม่แยแสสนใจกับคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้โดยประธานาธิบดีวิกตอร์ ยานูโควิช (Viktor Yanukovich) ในขณะนั้น (ซึ่งขึ้นครองอำนาจโดยผ่านการเลือกตั้ง) ที่จะจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่ขึ้นมา ก่อนตัดสินใจในเรื่องที่ว่ายูเครนจะสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปหรือไม่
แน่นอนทีเดียวว่า ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่พูดง่ายแต่ทำยาก และผลลัพธ์ยังอาจจะไม่ได้ดีไปกว่าความพยายามที่จะแยกไข่เจียวให้กลับมามีสภาพเหมือนก่อนที่ไข่จะถูกตี กระนั้นส่วนที่ดีก็ยังมีอยู่ว่า มีสัญญาณแสดงให้เห็นเรียบร้อยแล้วว่า ยุโรปมีความสงสัยข้องใจเกี่ยวกับการเดินต้อยๆ ตามสหรัฐฯอย่างมืดบอดต่อไปอีกในเรื่องเกี่ยวกับยูเครน
ความเป็นไปได้ที่จะเกิดความไม่ลงรอยกันในความสัมพันธ์ระหว่างสองฟากฝั่งแอตแลนติก ระหว่างสหรัฐฯกับยุโรป กำลังเพิ่มสูงขึ้น อันที่จริงแล้ว องค์การนาโต้เองก็ไม่เคยเลยที่จะเป็นกลุ่มพันธมิตรแห่งความสามัคคีอย่างแข็งขันแท้จริงอะไร ถึงแม้มันถูกจัดวางให้ทำหน้าที่เช่นนั้น
การที่ประธานาธิบดี อันด์แชย์ ดูดา (Andrzej Duda) ของโปแลนด์ ตัดสินใจที่จะเข้าร่วมกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวในปักกิ่ง คือลางบอกเหตุของสิ่งต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมา (แล้วในโอกาสนี้ ปูตินก็จะไปอยู่ในปักกิ่งด้วยเช่นกัน) หรือเยอรมนีนั้นไม่เพียงคัดค้านการถอดเอารัสเซียออกจากระบบ SWIFT เท่านั้น แต่ยังไม่เห็นด้วยกับการส่งอาวุธจากพวกประเทศนาโต้ไปให้แก่ยูเครน ตลอดจนไม่เอาด้วยกับความเคลื่อนไหวของ ลิทัวเนีย (ภายใต้คำแนะนำกำกับของสหรัฐฯ) ในการหันไปผูกสัมพันธ์กับไต้หวัน
(ดูเพิ่มเติมเรื่องประธานาธิบดีโปแลนด์จะไปร่วมโอลิมปิกฤดูหนาว ได้ที่ https://www.usnews.com/news/world/articles/2022-01-18/polands-president-to-attend-beijing-olympics-amidst-u-s-boycott)
ความผิดพลาดทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ
สหรัฐฯกระทำความผิดพลาดทางยุทธศาสตร์ จากการส่งเสริมสนับสนุนให้นาโต้ไปประทับรอยเท้าให้ติดแน่นยิ่งขึ้นไปอีกในยูเครน การให้คำมั่นสัญญาแบบครึ่งๆ กลางๆ เช่นนั้นแก่ประเทศที่มิได้เป็นสมาชิกนาโต้ จะกลายเป็นการทำลายเครดิตความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯในเวลาที่เกิดเหตุรัสเซียเข้าแทรกแซงแล้ว ทว่าเป็นไปไม่ได้เสียแล้วสำหรับวอชิงตันที่จะถอยหลังกลับในเวลานี้ เนื่องจากจะยิ่งสูญเสียเครดิตความน่าเชื่อถือมากขึ้นไปใหญ่
สิ่งที่ยังต้องเฝ้าติดตามดูกันต่อไปในทำนองเดียวกัน ก็คือสหภาพยุโรปจะสามารถอยู่รอดต่อไปได้อย่างไรในจังหวะเวลาเช่นนี้ พวกแอตแลนติกนิยม (Atlanticist) อย่างแรงกล้าที่อยู่ในคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission องค์กรฝ่ายบริหารของสหภาพยุโรป) ในกรุงบรัสเซลส์ นำโดย อัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน (Ursula von der Leyen ประธานของคณะกรรมาธิการยุโรป) และ โจเซฟ บอร์เรลล์ (Josep Borrell ผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรปเพื่อกิจการระหว่างประเทศและนโยบายความมั่นคง) ที่เป็นพวกเกลียดชังรัสเซีย กำลังกำหนดวาระของอียูตามอำเภอใจของพวกเขาอยู่ในปัจจุบันนี้ โดยละเลยไม่แยแสกับความคิดเห็นที่แตกต่างออกไปอย่างเห็นชัดเจนยิ่งในหมู่รัฐสมาชิก ทั้งนี้จากการที่ อังเงลา แมร์เคล อำลาตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเยอรมนีไปแล้วเช่นนี้ ก็ดูจะปรากฏสุญญากาศขึ้นมาซึ่งพวกข้าราชการสหภาพยุโรปเหล่านี้ต้องการเข้าไปเติมเต็ม
(พวกแอตแลนติกนิยม (Atlanticist ) เป็นพวกนิยมแนวคิดที่ให้ยุโรปร่วมมือกับสหรัฐฯทั้งทางการเมือง, เศรษฐกิจ, และการทหาร ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Atlanticism#:~:text=Atlanticism%20is%20a%20belief%20in,it%20comes%20to%20security%20issues. -ผู้แปล)
แต่สภาพเช่นนี้ก็เห็นได้ชัดว้าไม่สามารถคงอยู่ไปได้นาน ระหว่างกล่าวปราศรัยต่อรัฐสภายุโรป (European Parliament) ในเมืองสตราสบูร์ก เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส รบเร้ายุโรปให้ลงทุนในกรอบโครงด้านความมั่นคงร่วมของตนเอง และเรียกร้องให้อียูเจรจา “อย่างตรงไปตรงมา” กับรัสเซีย ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ว่า อียู หรือฝรั่งเศส ต่างก็ไม่ได้มีส่วนอะไรในการเจรจากันโดยตรงระหว่างสหรัฐฯกับรัสเซียที่เจนีวา
(การปราศรัยของมาครงที่รัฐสภายุโรป ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.france24.com/en/europe/20220119-emmanuel-macron-to-present-priorities-to-the-european-parliament)
กำลังมีการพูดกันมากมายเกี่ยวกับการข่มขู่ที่จะแซงก์ชั่นเล่นงานรัสเซีย แต่การข่มขู่ดังกล่าวจะไม่สามารถเปลี่ยนใจมอสโกได้หรอก ตั้งแต่เริ่มต้นเลย แม้กระทั่งการแซงก์ชั่นแบบสุดโหด ก็ถูกพิสูจน์ให้เห็นเสียแล้วว่าเป็นเพียงเครื่องมือใช้อำนาจบังคับที่อ่อนแอ อันที่จริงแล้ว ผลงานของสหรัฐฯในเรื่องมาตรการแซงก์ชั่นแบบใช้อำนาจบังคับ อยู่ในระดับที่ย่ำแย่เรื่อยมา ไม่ว่าจะในเกาหลีเหนือ, คิวบา, อิหร่าน, เวเนซุเอลา, เวียดนาม, ตลอดจนที่อื่นๆ
รัสเซียนั้นเป็นมหาอำนาจใหญ่ มีทุนสำรองปริมาณมหึมา โดยที่เวลานี้อยู่ในระดับ 638,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์สำหรับรัสเซีย และก็ใหญ่โตเป็นอันดับที่ 4 ของโลก ฐานะเครดิตความน่าเชื่อถือของรัสเซียก็มั่นคงดี โดยที่เป็นผู้ครอบครองหนี้สินของตนเองเอาไว้เป็นจำนวนมาก รัสเซียไม่ได้มีความจำเป็นถึงขั้นเป็นตายที่จะต้องพึ่งพานักลงทุนสหรัฐฯ และรัสเซียไม่ได้อยู่ในภาวะจำเป็นต้องดิ้นรนอย่างจนตรอกเพื่อขายสกุลเงินตราของตน
(เรื่องทุนสำรองของรัสเซีย ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.rt.com/business/546776-russia-forex-reserves-historic-high/)
(เรื่องรัสเซียไม่จำเป็นถึงขั้นเป็นตายที่จะต้องพึ่งพานักลงทุนสหรัฐฯ ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.rt.com/business/546493-russia-dumps-us-debt/)
หลังจากตลอดช่วงประวัติศาสตร์ 30 ปีภายหลังสงครามเย็น ได้เคยผ่านความรู้สึกช็อกที่สร้างบาดแผลทางจิตใจมาแล้ว 4 ครั้งก่อนหน้านี้ มาถึงปัจจุบันรัสเซียก็ทราบดีว่าจะดูดซับความรู้สึกช็อกกันได้อย่างไร ด้วยเหตุนี้ ขณะที่รัสเซียอาจจะถูกเล่นงานครั้งใหญ่ทำให้เกิดอาการบาดเจ็บ รวมทั้งอาจเกิดความผันผวนด้านค่าเงินตราซึ่งเป็นเหตุให้เกิดกระแสเงินทุนไหลออกอย่างน้อยก็ในช่วงต้นๆ ภายหลังที่ฝ่ายตะวันตกประกาศใช้มาตรการแซงก์ชั่น แต่ทุนสำรองของมอสโกก็สามารถที่จะทำหน้าที่เป็นหมอนกันกระเทือนใบใหญ่ได้เป็นอย่างดี
ยังไงก็ตาม ยุโรปจะต้องการไปไกลแค่ไหนบนเส้นทางการแซงก์ชั่นนั้น ยังคงเป็นสิ่งที่ต้องติดตามกันต่อไป เยอรมนีได้แสดงท่าทีไม่เห็นด้วยเกี่ยวกับเรื่องที่วอชิงตันคิดจะใช้ “ทางเลือกแบบระเบิดนิวเคลียร์” อันโด่งดัง ซึ่งหมายถึงการขับรัสเซียให้ออกไปจากระบบชำระเงินระหว่างประเทศ SWIFT แน่นอนทีเดียวว่า หากการส่งพลังงานรัสเซียไปให้ยุโรปเกิดการสะดุดติดขัดใดๆ ขึ้นมา ย่อมจะสร้างความเดือดร้อนให้แก่ระบบเศรษฐกิจทั้งหลายของยุโรป
(เรื่องเยอรมนีไม่เห็นด้วยกับการขับรัสเซียออกจาก SWIFT ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://whbl.com/2022/01/21/german-foreign-minister-cutting-russia-off-from-swift-not-sharpest-sword/)
ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งซึ่งไม่ค่อยเป็นที่ทราบกันก็คือว่า เวลานี้รัสเซียขายแก๊สให้แก่ยุโรปในราคาที่ต่ำมาก ขณะที่แก๊สธรรมชาติเหลว (liquefied natural gas หรือ LNG) ใดๆ ที่ส่งมาจากสหรัฐฯเพื่อทดแทนซัปพลายของรัสเซีย หมายความถึงราคาที่พุ่งพรวด และทำให้ต้นทุนการผลิตทางอุตสาหกรรมทั้งหลายของยุโรปสูงขึ้นไปด้วย พวกประเทศแถบยุโรปกลางนั้นพึ่งพาอาศัยรัสเวียถึง 100% ทีเดียวสำหรับความต้องการใช้พลังงานของพวกเขา โดยที่ระดับการพึ่งพาของเยอรมนีอยู่ที่ 40%
ปูติน กับ ปักกิ่ง
ตามรายงานข่าวหลายๆ กระแส การเดินทางของปูตินไปเยือนปักกิ่งช่วงมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว จะมีการลงนามในข้อตกลงโครงการสายท่อส่งแก๊ส “เพาเวอร์ออฟไซบีเรีย-2” (Power of Siberia-2) ที่มีขนาดยักษ์ใหญ่มหึมา เพื่อสร้างเส้นทางเพิ่มเติมขึ้นอีกสำหรับการส่งแก๊ส จากแหลมยามัล (Yamal Peninsula) ในไซบีเรีย ซึ่งเป็นแหล่งแก๊สสำรองใหญ่ที่สุดของรัสเซีย ไปยังจีน โดยผ่านมองโกเลีย
คาดกันว่าศักยภาพของสายท่อส่งแก๊สสายนี้จะอยู่ที่ 60,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี (ซึ่งมากกว่าศักยภาพของสายท่อส่งแก๊ส นอร์ด สตรีม 2 Nord Stream 2 ที่เชื่อมระหว่างรัสเซียกับเยอรมนี โดยผ่านทะเลบอลติก)
เรื่องสำคัญที่พึงต้องตระหนักกันก็คือ ปริมาณการค้าระหว่างจีนกับรัสเซียพุ่งทะลุสร้างสถิติใหม่ไปอยู่ที่ระดับ 146,880 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2021 สูงขึ้นถึง 35.8% จากปีก่อนหน้า แน่นอนที่สุดว่า การเผชิญหน้ากันระหว่างรัสเซียกับฝ่ายตะวันตกในเรื่องยูเครน ซึ่งอาจทำให้มีการใช้มาตรการแซงก์ชั่นใหม่ๆ เพื่อเล่นงานมอสโก น่าที่จะยิ่งกระชับความผูกพันระหว่างเครมลินกับปักกิ่งให้แน่นแฟ้มขึ้นไปอีก
ประเทศทั้งสองเพิ่งประกาศว่าจะเพิ่มปริมาณการค้าระหว่างกันของพวกเขาให้ถึงระดับ 200,000 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2024 เพียงพิจารณาจากแนวโน้มทางเศรษฐกิจระยะหลังๆ นี้อย่างเดียวเท่านั้น ก็บ่งชี้ว่าพวกเขาน่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายนี้ได้
ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่กำลังเพิ่มทวีขึ้นมาเช่นนี้ จะเป็นการเพิ่มแรงโมเมนตัมให้แก่ความพยายามนี้ ด้วยการทำให้ความผูกพันทางการค้าอย่างเข้มแข็งยิ่งขึ้นกับจีน กลายเป็นความจำเป็นของเครมลินขึ้นมา มอสโกย่อมจำเป็นต้องหาทางเพิ่มสมรรถนะในการส่งออกและนำเข้าจากแหล่งอื่นๆ สืบเนื่องจากการแซงก์ชั่นของอเมริกัน และจีนจะเป็นถนนสายใหญ่สายหนึ่งที่มีให้เลือกเดิน
หากมองกันที่ภาพรวมแล้ว ทางฝ่ายจีนเองก็ไม่สามารถที่จะแบกรับความเสียหายได้หรอก ถ้าอยู่เฉยๆ ปล่อยให้รัสเซียต้องล้มครืนภายใต้แรงกดดันของสหรัฐฯ
เห็นได้ชัดเจนว่า สหรัฐฯไม่ได้เคยขบคิดให้ตลอดในการเลือกปีนบันไดทำให้ความตึงเครียดยิ่งบานปลายขยายตัว เครมลินขู่วอชิงตันเอาไว้แล้วว่าจะถึงขั้นสะบั้นความสัมพันธ์อย่างหมดสิ้นกันทีเดียว ถ้าถูกบีบคั้นกันจนถึงขั้นเป็นตาย เชื่อใจได้เลยว่ามอสโกจะต้องสวนกลับเอาคืนอย่างแน่นอน
รัสเซียได้ทดสอบระบบต่อต้านดาวเทียมมาแล้วครั้งหนึ่งในเดือนพฤษภาคมปีที่ผ่านมา ด้วยการลองสอยดาวเทียมดวงหนึ่งซึ่งใช้งานไม่ได้แล้วของตน มันเป็นสัญญาณแสดงว่ารัสเซียมีสมรรถนะในการแทรกแซงระบบดาวเทียมบอกตำแหน่ง GPS ซึ่งใช้กันอย่างกว้างขวางในแวดวงต่างๆ ที่ไม่ใช่การทหาร และนั่นอาจส่งผลกระทบกระเทือนต่อภาคส่วนสำคัญๆ ของเศรษฐกิจสหรัฐฯ
เหนือสิ่งอื่นใดเลย “มาตรการแซงก์ชั่นจากนรก” ใดๆ ก็ตามที จะส่งผลสั่นคลอนขวัญกำลังใจในระดับทั่วโลกอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ มันจะเกิดความผันผวนสะท้อนกลับเพิ่มมากขึ้นอีกในเศรษฐกิจโลก ขณะที่ประเทศต่างๆ เกิดความกังวลเกี่ยวกับการที่วอชิงตันมุ่งใช้เงินดอลลาร์มาเป็นอาวุธเล่นงานปรปักษ์
บางประเทศอาจถึงขนาดรู้สึกมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องทำให้ระบบเศรษฐกิจของพวกเขามีความทนทานต่อการโจมตียิ่งขึ้นไปอีก เรื่องนี้อาจส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินระหว่างประเทศ วอชิงตันนั้นเคยต้องยอมถอยหลังกลับมาแล้วก่อนหน้านี้เมื่อสถานการณ์ดังว่านี้ปรากฏขึ้นมา (สหรัฐฯตัดสินใจเลือกที่จะไม่บังคับใช้มาตรการแซงก์ชั่นตามรัฐบัญญํติตอบโต้ปรปักษ์องอเมริกาโดยผ่านการแซงก์ชั่น Countering America's Adversaries Through Sanctions Act หรือ CAATSA เพื่อเล่นงานอินเดีย จากการจัดซื้อระบบขีปนาวุธต่อต้านอากาศยาน S-400 จากรัสเซีย)
ในอีกด้านหนึ่ง มันมีความย้อนแย้งอยู่ประการหนึ่ง นั่นคือรัสเซียต้องรู้สึกขอบคุณที่ฝ่ายตะวันตกประกาศใช้มาตรการแซงก์ชั่นระลอกแล้วระลอกเล่านับตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา จนทำให้รัสเซียอยู่ในสภาพพึ่งตนเองเพิ่มขึ้นกว่าเดิมมาก เวลานี้รัสเซียไม่มีความจำเป็นต้องได้รับอินพุตใดๆ จากฝ่ายตะวันตก สำหรับให้อุตสาหกรรมกลาโหมของตนพัฒนาระบบอาวุธใหม่ๆ
พวกเจ้าหน้าที่เพนตากอนเพิ่งยอมรับว่า รัสเซียยังคงสามารถยึดตำแหน่งนำในเทคโนโลยีล้ำสมัย อย่างเช่น ขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิก (hypersonic มีความเร็วเหนือเสียง 5 เท่าตัวขึ้นไป) และการที่สหรัฐฯจะไล่กวดให้ทันอาจต้องใช้เวลา 3 ถึง 5 ปี –ในเงื่อนไขที่ทึกทักเอาว่าอุตสาหกรรมกลาโหมของรัสเซียจะหยุดพักรออยู่เฉยๆ ให้วิ่งตามมา
ข้อเขียนนี้ผลิตขึ้นจากความร่วมมือกันระหว่าง Indian Punchline (https://indianpunchline.com/) กับ Globetrotter (https://independentmediainstitute.org/globetrotter/) ซึ่งเป็นโครงการของ Independent Media Institute ที่เป็นผู้จัดหาข้อเขียนนี้ให้แก่ เอเชียไทมส์
เอ็ม. เค. ภัทรกุมาร เป็นอดีตนักการทูตชาวอินเดีย