xs
xsm
sm
md
lg

คุณพ่อหน้าบาง! พยายามฆ่าตัวตาย อับอายลูกชายอายุ 29 ยังหาเมียไม่ได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คุณพ่อรายหนึ่งในจีน พยายามฆ่าตัวตาย แต่สุดท้ายยังไม่ถึงขั้นเสียชีวิต และว่ากันว่ามันมีสาเหตุมาจากความอับอายที่ลูกชายวัย 29 ปี ยังไม่แต่งงานเสียที

สื่อมวลชนท้องถิ่น KNews รายงานว่าคุณพ่อวัย 55 ปีรายนี้ มอบจดหมายฉบับหนึ่งให้บรรดาเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของสถานีรถไฟเซี่ยงไฮ้ เมื่อวันที่ 22 มกราคม ทว่าในตอนนั้นเขาบอกกับ รปภ.เพียงว่าเขากินยาเกินขนาด จากนั้นก็ฟุบหมดสติไปในที่เกิดเหตุ ตามคำบอกเล่าของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยรายหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม รายงานข่าวระบุว่าในจดหมายดังกล่าวซึ่งจ่าหน้าซองถึงลูกชาย เขียนว่า "เขามีชีวิตอยู่ด้วยความอับอาย" เพราะลูกชายของเขาไม่เริ่มต้นมีครอบครัวเสียที
เนื้อหาในจดหมายเขียนว่า "คนในหมู่บ้านที่อายุเท่าฉัน ต่างมีลูกๆ หลานๆ กันหมดแล้ว" และ "แต่แกอายุ 29 แล้ว และยังไม่ประสบความสำเร็จอะไรเลย"

ชายรายนี้รอดชีวิตจากความพยายามฆ่าตัวตาย และว่ากันว่ากำลังนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล อย่างไรก็ตาม คดีนี้เรียกประเด็นถกเถียงบนสื่อสังคมออนไลน์ ในกรณีที่คนหนุ่มสาวชาวจีนถูกกดดันให้รีบลงหลักปักฐานตั้งแต่เนิ่นๆ

บนเว่ยปั๋ว สื่อสังคมออนไลน์คล้ายทวิตเตอร์ของจีน ผู้ใช้คนหนึ่้งเขียนแสดงความคิดเห็นในฐานะพ่อคนหนึ่ง "ความรับผิดชอบของคนเป็นพ่อ คือเลี้ยงลูกให้เติบใหญ่เป็นคนดีและมอบการศึกษาที่ดีแก่เขา แต่ก็อยากเห็นเขาแต่งงานและเริ่มประกอบธุรกิจ เมื่อถึงตอนนั้นภารกิจถึงจะเสร็จสมบูรณ์"

ส่วนคนอื่นๆ แสดงความคิดเห็นว่าเวลานี้ลูกชายของคุณพ่อรายดังกล่าวคงหาสาวแต่งงานด้วยยากขึ้นไปอีก เพราะว่าฝ่ายหญิงคงเห็นแล้วว่าการเป็นลูกสะใภ้ของครอบครัวนี้ต้องเผชิญกับแรงกดดันนั้นมากมายขนาดไหน

ในจีน มีความคาดหมายให้หนุ่มๆ สาวๆ แต่งงานก่อนอายุ 30 ปี และถือเป็นเรื่องปกติที่พ่อแม่เคี่ยวเข็ญให้ลูกๆ หาแแฟนให้ได้ บางรายถึงขั้นจัดการนัดบอดให้เลยก็มี

ถ้าผู้หญิงอายุเกิน 27 ปีแล้วยังไม่แต่งงาน พวกเธอจะถูกเรียกว่า “ผู้หญิงที่ยังเหลือ” ซึ่งจะถูกสังคมมองว่าเป็นตัวประหลาด หลายครั้งก็ซุบซิบนินทาและเหยียดหยามดูหมิ่น และตามปกติแล้วชาวจีนจะเตรียมความพร้อมให้ลูกสาวของตนแต่งงานออกเรือนเมื่อถึงวัยที่เหมาะสม แต่ถ้าพวกเธอไม่แต่งงานเมื่อถึงวัยที่ถูกต้อง ครอบครัวจะมองว่าเป็นเรื่องน่าอับอาย

ในส่วนของคนหนุ่ม จะถูกกดดันให้ลงหลักปักฐานเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะพวกเขาถูกคาดหมายให้เป็นผู้สืบสกุล" มู่ เจิ้ง ผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมวิทยา แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์เปิดเผยกับเว็บไซต์อินไซเดอร์ "การแต่งงานยังเป็นเครื่องหมายที่สำคัญของการเติบโตทางสังคมและความสำเร็จส่วนบุคคล" เธอกล่าว

(ที่มา : อินไซเดอร์)


กำลังโหลดความคิดเห็น