สำนักข่าวรอยเตอร์รายงาน ซาอุดีอาระเบียและไทย เห็นพ้องกันในวันอังคาร (25 ม.ค.) แลกเปลี่ยนเอกอัครราชทูตซึ่งกันและกัน ในการพบปะกันระดับสูงครั้งแรกของสองประเทศ นับตั้งแต่เกิดข้อพิพาทเกี่ยวกับเหตุขโมยเครื่องเพชรเมื่อเกือบ 3 ทศวรรษ อันนำมาซึ่งริยาดปรับลดความสัมพันธ์กับกรุงเทพฯ
เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมาร และผู้มาเยือน ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย ตกลงแต่งตั้งเอกอัครราชทูต "ในอนาคตอันใกล้นี้" และกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้า สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานอ้างถ้อยแถลงร่วมที่เผยแพร่โดยสื่อมวลชนแห่งรัฐของซาอุดีอาระเบีย
สายการบินซาอุดี อาราเบียน แอร์ไลน์ส แถลงผ่านข้อความที่โพสต์ลงบนทวิตเตอร์เมื่อวันอังคาร (25 ม.ค.) ว่าจะเริ่มกลับมาให้บริการเที่ยวบินตรงสู่ประเทศไทยในเดือนพฤษภาคม
ซาอุดีอาระเบียปรับลดความสัมพันธ์กับกรุงเทพฯ หลังเกิดประเด็นพิพาททางการทูต เกี่ยวกับเหตุขโมยเพชรพลอย มูลค่าประมาณ 20 ล้านดอลลาร์ (ราว 660 ล้านบาท) ในปี 1989 โดยคนงานทำความสะอาดชาวไทยคนหนึ่งที่เข้าไปทำความสะอาดในพระราชวังของเจ้าชายซาอุดีอาระเบียพระองค์หนึ่ง คดีที่ได้รับการขนานนามว่า "Blue Diamond Affair"
หนึ่งปีหลังเกิดเหตุขโมยเพชรพลอย ผู้แทนทูตซาอุดีอาระเบียในไทย 3 คน เสียชีวิตในเหตุลอบสังหารใน 3 เหตุการณ์แยกกันแต่เกิดขึ้นในคืนเดียว
ถ้อยแถลงของซาอุดีอาระเบียระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ แสดงความเสียใจด้วยความจริงใจต่อเหตุการณ์น่าเศร้าต่างๆ ในไทยระหว่างปี 1989 และ 1990 พร้อมบอกว่ารัฐบาลของเขาพร้อม "ยกคดีต่างๆ นี้ให้เหล่าเจ้าหน้าที่ที่มีความเชี่ยวชาญ ในกรณีที่มีหลักฐานสำคัญใหม่ๆ"
เหตุการณ์ขโมยเพชรพลอยในครั้งนี้ยังคงเป็นหนึ่งในคดีปริศนาที่ยังไม่คลี่คลายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย เช่นเดียวกับเหตุเข่นฆ่าชีวิตหลังจากนั้น ที่พบเห็นนายตำรวจระดับสูงของไทยบางรายติดร่างแหไปด้วย
จนถึงบัดนี้ยังไม่พบเพชรพลอยอีกเป็นจำนวนมาก ในนั้นรวมถึงเพชรสีน้ำเงินหายาก
รอยเตอร์ระบุว่า ไทยมีความกระตือรือร้นคืนสัมพันธ์อันปกติกับซาอุดีอาระเบีย ชาติผู้ร่ำรวยน้ำมัน หลังเหตุพิพาทกระทบต่อการค้าแบบ 2 ทาง และรายได้จากการท่องเที่ยวมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ และทำให้แรงงานต่างด้าวชาวไทยหลายหมื่นคนต้องตกงาน
(ที่มา : รอยเตอร์)