(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
US forces in Japan were a ‘Trojan tank’ for Covid
By JAKE ADELSTEIN
20/01/2022
ขณะที่ตัวกลายพันธุ์ “โอมิครอน” แพร่ระบาดออกไปอย่างรวดเร็วในญี่ปุ่น ความโกรธเกรี้ยวก็เพิ่มทวีขึ้นจากกรณีที่กองทหารสหรัฐฯหละหลวมไม่ใช้มาตรการสกัดกั้นโรคอย่างเคร่งครัด –โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่จุดเดือดเรื้อรังอย่างเกาะโอกินาวา
โตเกียว - จำนวนผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ทั่วประเทศญี่ปุ่น ทะยานขึ้นมาจากวันละไม่ถึง 100 รายเมื่อตอนสิ้นปีที่ผ่านมา กลายเป็นกว่า 30,000 รายต่อวันในเวลานี้ และความโกรธเกรี้ยวเพิ่มทวีขึ้นทุกทีก็กำลังพุ่งไปที่ ... กองทหารอเมริกัน
เมื่อมาถึงประเด็นปัญหาด้านกลาโหมโดยภาพรวม ญี่ปุ่นกับสหรัฐฯอาจจะเหมือนแฝดสยามที่มีส่วนก้นเชื่อมต่อติดกัน แต่การที่พวกฐานทัพทหารสหรัฐฯในญี่ปุ่นย่อหย่อนไม่มีมาตรการป้องกันที่เข้มงวดเพียงพอ จึงกำลังถูกประณามว่ามีส่วนสำคัญทำให้เกิดการระบาดของโควิดรอบนี้ในญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นรอบที่ 6 แล้ว
นายกรัฐมนตรีฟุมิโอะ คิชิดะ เพิ่งคุยอวดไปแท้ๆ ว่า ญี่ปุ่นมี “การควบคุมชายแดนอย่างกวดขันที่สุดในบรรดาชาติกลุ่ม จี7 ด้วยกัน” –ทว่าการควบคุมเหล่านั้นกลับไม่สามารถสกัดกั้นไม่ให้ตัวกลายพันธุ์โอมิคอรนเข้ามาอาละวาดในแดนอาทิตย์อุทัยได้ และการมีกองทหารสหรัฐฯเข้ามาประจำอยู่ในประเทศ –ประมาณกันว่ามีจำนวนราว 55,000 คน— ก็ไม่ได้ช่วยอะไรเลย
ตรงกันข้าม กองทหารสหรัฐฯกำลังถูกมองว่า ทำตัวเหมือนเป็น “ไส้ศึก” ให้ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่แอบหลบซ่อนเข้าสู่ญี่ปุ่น เสมือนกับเป็น “รถถังกรุงทรอย” (Trojan Tank) ให้แก่ไวรัสร้ายตัวนี้ สืบเนื่องจากฝ่ายบังคับบัญชากองทหารอเมริกันบกพร่องละเลยไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำเรื่องการกักกันโรคซึ่งบังคับใช้อยู่ตลอดทั่วประเทศญี่ปุ่น (ยกเว้นเขตฐานทัพสหรัฐฯ) และกระทั่งว่าไม่ได้ปฏิบัติตามระเบียบพิธีการที่ทหารอเมริกันยินยอมกระทำในประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงของญี่ปุ่น อย่างเกาหลีใต้ เสียด้วยซ้ำ
พิจารณาจากการที่ญี่ปุ่นทุ่มเทหวังพึ่งพาอาศัยความเป็นพันธมิตรระหว่างตนกับสหรัฐฯอย่างมากมายเหลือเกิน สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจึงเป็นความยุ่งยากแสนอ่อนไหวในทางการเมืองสำหรับคิชิดะ แล้วมันยังหนักหนาสาหัสขึ้นมาอีกเท่าตัว เมื่อศูนย์กลางของการระบาดรอบล่าสุดนี้คือโอกินาวา
เกาะทางตอนใต้ของญี่ปุ่นแห่งนี้ –ซึ่งเป็นสมรภูมิของการสู้รบชนิดมุ่งเข่นฆ่าและทำลายล้างกันระหว่างกองทัพจักรพรรดิญี่ปุ่นกับกองทัพสหรัฐฯในช่วงปิดท้ายของสงครามโลกครั้งที่ 2 – ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของฐานทัพซึ่งทหารอเมริกันในญี่ปุ่นส่วนใหญ่ประจำการอยู่
ขณะที่โอกินาวาคุกรุ่นด้วยอารมณ์ต่อต้านต่อต้านฐานทัพสหรัฐฯเรื่อยมา โดยมีการเคลื่อนไหวประท้วงในประเด็นต่างๆ ตั้งแต่สิ่งแวดล้อมที่ย่ำแย่ลงเนื่องจากฐานทัพ, มลพิษทางเสียงจากเครื่องบินรบอเมริกัน, ไปจนถึงอาชญากรรมรุนแรงที่กระทำโดยทหารจีไอที่นั่น
หนึ่งในสมาชิกคนสำคัญที่สุดของขบวการต่อต้านเช่นนี้ คือ เดนนี โทมากิ (Denny Tamaki) ผู้ว่าการจังหวัดโอกินาวา โทมากิเตือนโตเกียวมาตั้งแต่เดือนธันวาคมด้วยความไม่พอใจที่ระเบียบพิธีจัดการกับโควิดของฐานทัพอเมริกาเหล่านี้มีความย่อหย่อน—ทว่าก็ไม่ได้ผลอะไร
โอมิครอน ถล่ม โอกินาวา
สถานการณ์การระบาดระลอกปัจจุบันของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ โดยเฉพาะตัวกลายพันธุ์ “โอมิครอน” ที่แพร่เชื้อได้ง่ายมาก ทำให้จำนวนเคสติดเชื้อรายวันของทั่วประเทศญี่ปุ่นพุ่งทะลุขีด 30,000 รายเป็นครั้งแรก และสร้างสถิติใหม่ที่ 32,197 รายในวันที่ 18 มกราคม
สถิติสูงสุดก่อนหน้านี้คือมีเคสติดเชื้อ 25,992 รายต่อวัน ทำไว้เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2521
ตั้งแต่วันศุกร์ (21 ม.ค.) เป็นต้นไป รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศบังคับใช้มาตรการกึ่งฉุกเฉิน ซึ่งกำหนดกันขึ้นมาเพื่อมุ่งจำกัดกิจกรรมทางสังคมและกิจกรรมทางธุรกิจ ตลอดทั่วกรุงโตเกียวและพื้นที่จำนวนมากของประเทศ
มาตรการเหล่านี้ยังห่างไกลจากการล็อกดาวน์แบบเบ็ดเสร็จ กระนั้นสำหรับประชากรที่มีความเหน็ดหน่ายกับโควิด และสำหรับธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้องแล้ว มาตรการเหล่านี้ย่อมต้องเป็นภาระอันหนักหน่วงแสนสาหัส
ทั้งนี้ในสถานการณ์กึ่งฉุกเฉินนั้น พวกผู้ว่าการจังหวัดสามารถออกคำสั่งให้ร้านอาหารและบาร์ทั้งหลายลดชั่วโมงประกอบการสั้นลง รวมทั้งให้งดขายแอลกอฮอล์ในพื้นที่ซึ่งกำหนดขึ้นมา ธุรกิจที่ไม่ปฏิบัติตามอาจถูกปรับเป็นเงินสูงถึง 200,000 เยน (ราว 58,000 บาท) ประชาชนผู้พำนักอาศัยในพื้นที่เหล่านี้ยังถูกขอร้องอย่าได้เดินทางข้ามเขตไปจังหวัดอื่นๆ
ตั้งแต่วันที่ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมา คิชิดะผู้ป่าวร้องสนับสนุน “การบริหารจัดการวิกฤตโดยถือหลักที่ว่า ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนเสมอว่าจะเจอภาวะเลวร้ายที่สุด” ประกาศระงับไม่ให้ผู้เดินทางจากทั่วโลกเข้าประเทศเป็นการชั่วคราว โดยเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามของเขาที่จะทำให้มาตรการต่อสู้โควิดมีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น
เขาคุยโวว่า “ผมเตรียมพร้อมแล้วที่จะแบกรับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่จะพูดกันว่า ‘คิชิดะระมัดระวังเกินไปแล้ว’” –ถึงแม้การประกาศของเขาคราวนี้ยังจุดชนวนให้มีเสียงกล่าวหาด้วยว่า คือมาตรการแบบเป็นโรคหวาดกลัวคนต่างชาติ
แต่ถึงแม้มีการควบคุมพรมแดนเช่นนี้ วันรุ่งขึ้นยังคงมีรายงานว่าพบเคสผู้ติดเชื้อโอมิครอนรายแรกในญี่ปุ่น และถึงวันที่ 13 มกราคม มีรายงานว่าพบเชื้อนี้ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ
พิจารณาจากที่แดนอาทิตย์อุทัย มีการใช้มาตรการควบคุมพรมแดนอย่างเคร่งครัด –มีบางคนบอกว่า ควรจะเรียกว่าเป็นมาตรการโหดๆ --เพื่อสกัดกั้นเชื้อร้ายเช่นนี้ ทว่ายังคงเอาไม่อยู่ ใครๆ จึงพากันชี้นิ้วกล่าวโทษพวกที่สามารถเล็ดลอดไม่ต้องอยู่ใต้ระเบียบการตรวจคนเข้าเมืองของทางการญี่ปุ่น คนเหล่านี้ที่เป็นกลุ่มก้อนใหญ่กว่าเพื่อนก็คือพันธมิตรสำคัญของญี่ปุ่นนั่นเอง
แยงกี้โคตรหย่อนยาน
การระบาดใหญ่ครั้งแรกของโอมิครอนเกิดขึ้นที่โอกินาวา ซึ่งเป็นที่ตั้งของฐานทัพสหรัฐฯในญี่ปุ่นราว 70%
จำนวนผู้ติดเชื้อเริ่มพุ่งพรวดในจังหวัดนี้ ภายหลังมีรายงานพบคลัสเตอร์ใหญ่ในค่ายแฮนเสน (Camp Hansen) ของเหล่านาวิกโยธินอเมริกันที่นั่นเมื่อกลางเดือนธันวาคม จากนั้นจุดศูนย์กลางของการระบาดต่อๆ มาคือพื้นที่รอบๆ ค่ายทหารอเมริกันแห่งอื่นๆ
ผลที่ตามมาก็คือ พื้นที่ซึ่งถูกประกาศบังคับใช้มาตรการกึ่งฉุกเฉินเพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อโรคร้ายในรอบแรกสุด ก็คือในโอกินาวา ตลอดจนที่จังหวัดยามางูจิ (Yamaguchi) และจังหวัดฮิโรชิมา (Hiroshima)
ในจังหวัดยามางูจิ มีประชาชน 325 คนติดเชื้อไวรัสนี้ในช่วงเวลา 2 สัปดาห์นับจนถึงวันที่ 5 มกราคม ในจำนวนนี้ 230 คนเป็นผู้พำนักในเมืองอิวากูนิ (Iwakuni) ซึ่งเป็นที่ตั้งสถานีทางอากาศอิวากูนิของเหล่านาวิกโยธินสหรัฐฯ (US Marine Corps Air Station Iwakuni)
โยชิฮิโกะ ฟุกุดะ (Yoshihiko Fukuda) นายกเทศมนตรีอิวากูนิ กล่าวระหว่างแถลงข่าวเมื่อต้นเดือนมกราคมว่า ชาวญี่ปุ่นผู้หนึ่งที่เป็นลูกจ้างในฐานทัพสหรัฐฯและติดเชื้อโอมิครอน กับลูกจ้างของร้านอาหารแห่งหนึ่งที่ล้มป่วย ต่างมีจีโนมไวรัสประเภทเดียวกัน ทั้งนี้ผลการตรวจได้รับการยืนยันจากสถาบันการศึกษาเชื้อโรคแห่งชาติ (National Institute of Disease Studies) แล้ว
“เป็นไปได้มากที่ตัวกลายพันธุ์โอมิครอนซึ่งอยู่ข้างในฐานทัพ ได้รั่วไหลออกมาสู่ชุมชนข้างนอก” ฟุกุดะบอก
คลัสเตอร์ผู้ติดเชื้อขนาดใหญ่ที่ฐานทัพอิวากูนิ ในจังหวัดยามางูจิ ซึ่งได้รับการยืนยันชัดเจนแล้ว ดูเผินๆ ไม่น่ามีอะไรเกี่ยวข้องเชื่อมโยงไปถึงฮิโรชิมาได้ อย่างไรก็ดี ฐานทัพแห่งนี้ใช้เวลาเดินทางด้วยรถไฟไปยังเมืองฮิโรชิมาเพียงแค่ประมาณ 50 นาที และฮิโรชิมาคือสิ่งที่ใกล้เคียงกับแหล่งบันเทิงเริงรมย์แบบเมืองใหญ่ซึ่งอยู่ใกล้ฐานทัพที่สุด
สำหรับที่จังหวัดโอกินาวา พวกเจ้าหน้าที่ที่นั่นยืนยันในวันที่ 5 มกราคมว่า มีประชาชน 623 คนติดเชื้อ วันเดียวกันนั้น รัฐบาลท้องถิ่นของโอกินาวาแถลงว่าได้พบชาวญี่ปุ่นหลายคนซึ่งเป็นลูกจ้างทำงานที่ค่ายแฮนเสนติดเชื้อโอมิครอน ส่วนประชาชนคนอื่นๆ ก็เชื่อว่าติดไวรัสตัวกลายพันธุ์นี้จากการแพร่เชื้อในชุมชน
“สาเหตุสำคัญประการหนึ่งของการระบาดของตัวกลายพันธุ์โอมิครอน ได้แก่การที่มันหลุดรั่วออกมาจากทหารสหรัฐฯ” เดนนี ทามากิ ผู้ว่าการจังหวัดโอกินาวากล่าวในการแถลงข่าว
ข้อตกลงที่ทำให้อเมริกันมีอภิสิทธิ์
เช่นเดียวกับที่ทำไว้กับพวกพันธมิตรของตนในส่วนอื่นๆ ของโลก สหรัฐฯก็มีการทำข้อตกลงที่เรียกว่า “ความตกลงสถานะของกองกำลัง” (Status of Forces Agreement หรือ SOFA) กับญี่ปุ่น ทำให้บุคลากรทางทหารอเมริกันได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายภายในประเทศของแดนอาทิตย์อุทัย
ในบรรดากฎหมายและกฎระเบียบที่ได้รับยกเว้นเหล่านี้ ครอบคลุมถึงพวกมาตรการเกี่ยวกับการเข้าประเทศ, การออกจากประเทศ, และการกักกันโรคด้วย ถึงแม้รัฐบาลญี่ปุ่นและรัฐบาลสหรัฐฯตกลงกันไว้เมื่อฤดูร้อนปีที่แล้วว่า กองทหารสหรัฐฯในแดนอาทิตย์อุทัยจะใช้มาตรการ “ที่สอดคล้อง” กับมาตรการควบคุมชายแดนของญี่ปุ่น
อย่างไรก็ตาม การณ์กลับปรากฏว่ากองทัพสหรัฐฯได้ยกเลิกการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี PCR กับบุคลากรทางทหารที่เดินทางออกจากแผ่นดินใหญ่สหรัฐฯมายังญี่ปุ่น ในช่วงระหว่างเดือนกันยายนจนถึงวันที่ 25 ธันวาคมปีที่แล้ว
การยกเลิกนี้ไม่ได้มีการแจ้งให้ฝ่ายญี่ปุ่นทราบ จึงดูเหมือนกับว่าโตเกียวไม่ได้รับรู้สถานการณ์ที่เป็นจริงเลย จวบจนกระทั่งมันสายเกินไปเสียแล้ว
น.พ.ยาสุฮารุ โทกุดะ (Yasuharu Tokuda) ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาทางคลินิก ซึ่งพำนักอาศัยอยู่ในโอกินาวา เขียนบทความเนื้อหาเจ็บแสบเผยแพร่ทางออนไลน์ โดยชี้ว่า เมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2021 การติดเชื้อทั่วทั้งญี่ปุ่นได้ลดน้อยลงไปอย่างฮวบฮาบแล้ว เขาแสดงความเดือดดาลเป็นพิเศษกับการที่สหรัฐฯหยุดตรวจหาเชื้อด้วยวิธี PCR ในช่วงเวลาที่โควิด-19 กำลังอาละวาดหนักทั่วทั้งสหรัฐฯ
เขาเขียนเอาไว้ว่า “ในวันปีใหม่ปี 2022 วันเดียวมีบุคลากรทางทหารสหรัฐฯติดเชื้อ 235 คน ถึงแม้มีข้อเท็จจริงว่า มีผู้คนติดเชื้อเพิ่มขึ้นวันละหลายแสนคนในสหรัฐฯตอนนั้น แต่สหรัฐฯยังคงประกาศว่า สหรัฐฯไม่ดำเนินการตรวจเชื้อด้วยวิธี PCR หรือใช้มาตรการกักกันโรคอย่างเข้มงวด กับทหารที่กำลังเดินทางจากสหรัฐฯมายังโอกินาวา ไม่ว่าจะก่อนหรือหลังจากที่พวกเขามาถึง
“พวกฐานทัพสหรัฐฯในเกาหลีใต้และออสเตรเลีย ยังคงมีการดำเนินการตรวจเชื้อและการกักกันโรคกันอยู่ แต่เป็นที่ชัดเจนว่าญี่ปุ่นและโอกินาวาถูกทอดทิ้งถูกละเลยไปเสียแล้ว”
เขาเขียนสรุปท้ายด้วยถ้อยคำแสบสันต์ว่า “ชัดเจน เป็นพวกฐานทัพทหารสหรัฐฯนั่นแหละที่จุดชนวนให้เชื้อโรคร้ายนี้เกิดการระบาดอย่างรวดเร็ว”
นายกรัฐมนตรีคิชิดะก็ไม่อาจรอดพ้นจากความรับผิดชอบได้ เขาเพิกเฉยไม่ได้ทำอะไร เมื่อตอนที่ผู้ว่าการ ทามากิ ร้องเรียนตั้งแต่ช่วงกลางเดือนธันวาคมให้ห้ามบุคลากรทางทหารสหรัฐฯเข้ามาหรือออกไปจากฐานทัพต่างๆ ของพวกเขาบนเกาะโอกินาวา
การระบาดที่โอกินาวายังก่อให้เกิดการทะเลาะโต้เถียงกันมากเป็นพิเศษ สืบเนื่องจากภูมิหลังที่ชาวโอกินาวาจำนวนมากไม่พอใจที่เกาะของพวกเขาต้องรับภาระหนักอย่างไม่เป็นธรรมจากการเป็นที่ตั้งของฐานทัพสหรัฐฯในญี่ปุ่นส่วนใหญ่ และคิดว่าพวกเมืองมหานครควรที่จะแบกรับกันให้มากกว่านี้ ตัวทามากิเองก็มีความเชื่อเช่นนี้ด้วย
และแล้วความกลัวของโอกินาวาที่ว่าเชื้อโรคโควิด—19 จะแพร่ออกมาพวกฐานทัพอเมริกัน ไม่เพียงกลายเป็นความจริงขึ้นมาเท่านั้น แต่ตัวกลายพันธุ์โอมิครอนยังระบาดอย่างรวดเร็วในจังหวัดและลามต่อไปยังส่วนอื่นๆ ของญี่ปุ่น แม้กระทั่งเคสที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในโอซากาที่อยู่ห่างออกไปไกลทีเดียว ก็กำลังมีการประณามกล่าวโทษกันว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะเส้นทางบินระหว่างโอซากากับโอกินาวา มีจำนวนเที่ยวบินมากที่สุดในแต่ละวัน นอกจากนั้นชาวโอซากาจำนวนมากยังนิยมเดินทางมายังโอกินาวาที่มีแสงแดดสดใสในช่วงเทศกาลวันหยุดปีใหม่
สถานการณ์จึงกำลังกลายเป็นเรื่องน่าอับอายขายหน้าในทางการเมืองสำหรับพันธมิตรญี่ปุ่น-สหรัฐฯ
ในที่สุด เมื่อวันที่ 9 มกราคม กองทัพสหรัฐฯจึงต้องประกาศใช้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคร้ายนี้ เป็นต้นว่า การห้ามออกนอกที่พักในเวลากลางคืน
สัปดาห์ถัดมา คิชิดะบอกกับที่ประชุมแถลงข่าวว่า “เราจะหารือกันถึงประเด็นปัญหาด้านสุขภาพและสุขอนามัยที่เกี่ยวข้องกับการมีกองทหารสหรัฐฯมาประจำอยู่ในญี่ปุ่น โดยใช้คณะกรรมการร่วมญี่ปุ่น-สหรัฐฯ (Japan-US Joint Commission) ซึ่งจัดตั้งขึ้นมาตามความตกลงสถานะของกองกำลัง SOFA”
ทางด้านรัฐมนตรีต่างประเทศ โยชิมาซะ ฮายาชิ ก็จัดการเจรจาหารือแบบทางไกลกับรัฐมนตรีต่างประเทศ แอนโทนี บลิงเคน ของสหรัฐฯ และขอร้องให้ฐานทัพอเมริกันบังคับใช้มาตรการต่างๆ อย่างเข้มงวดยิ่งขึ้น เป็นต้นว่า การจำกัดช่วงเวลาที่บุคลากรทางทหารสหรัฐฯสามารถออกจากที่พักของพวกตนได้
ข้อเสนอแนะของ ฮายาชิ ที่จริงก็เป็นมาตรการเดียวกับที่ ทามากิ—ผู้มีฐานะเป็นคนนอกของศูนย์รวมอำนาจของโตเกียว ได้เรียกร้องเอาไว้ในเดือนธันวาคม
แต่ ทามากิ ก็ไม่ยอมอยู่นิ่งเฉย เขากับพวกผู้นำระดับจังหวัดคนอื่นๆ กำลังเรียกร้องให้แก้ไขข้อตกลง SOFA ทามากิโต้แย้งครั้งแล้วครั้งเล่าว่า ควรต้องเพิ่มมาตรการเกี่ยวกับการกักกันโรคเอาไว้ในข้อตกลงนี้ด้วย พวกสมาชิกของพรรคการเมืองฝ่ายค้านหลักในสภาไดเอะก็เรียกร้องให้มีการแก้ไขทำนองเดียวกันนี้
แต่การแก้ไขข้อตกลง SOFA เป็นสิ่งที่ทั้งมีความอ่อนไหวสูง และทั้งต้องสู้รบปรบมือกับระบบราชการอย่างน่าเบื่อเอือมระอา ถึงแม้ระหว่างการแถลงข่าวของเขา ตัวคิชิดะพูดว่าจะมีการหารือกันเกี่ยวกับ SOFA แต่เท่าที่ เอเชียไทมส์ทราบว่าน้น แท้จริงแล้วระบบราชการของญี่ป่นไม่ได้กำลังพิจารณาเรื่องนี้กันเลย
“การแก้ไขความตกลงสถานะของกองกำลัง เป็นเรื่องที่จุดไม่ติดหรอก” แหล่งข่าวรายหนึ่งในกระทรวงการต่างประเทศของโตเกียวบอกกับเอเชียไทมส์ “ทันทีที่เราเริ่มต้นขอร้องเรื่องนี้ สหรัฐฯก็จะตอบกลับมาด้วยข้อเรียกร้องมากขึ้นเป็นสองเท่า –มันเป็นวงจรอุบาทว์แบบนี้แหละ เราก็ได้แต่ตั้งความหวังว่าต่อไปสหรัฐฯจะปฏิบัติต่อญี่ปุ่นด้วยข้อพิจารณาอย่างเดียวกับที่พวกเขาปฏิบัติต่อเกาหลีใต้ และตรวจทดสอบทหารของพวกเขาก่อนที่จะปล่อยให้พวกเขาเดินทางมาที่นี่”