xs
xsm
sm
md
lg

ญี่ปุ่นวันนี้มีแต่ของถูก ทัวริสต์แฮปปี้ พี่ยุ่นจนลง ต้องแก้ที่ปัญหาค่าแรงต่ำฉุดอำนาจซื้อ - ศก.โตไม่ขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เจค อเดลสไตน์


แสงสีเจิดจ้าในย่านกินซ่าซ่อนความเป็นจริงอันน่าปวดใจ กล่าวคือ ญี่ปุ่นผู้ร่ำรวยอันดับสามของโลก เผชิญอยู่กับปัญหาความยากจนขยายตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังล้มเหลวที่จะพลิกฟื้นออกจาก 3 สถานการณ์ย่ำแย่ ได้แก่ ราคาสินค้าที่แสนถูกและไม่อาจปรับขึ้นไปได้ ค่าแรงแสนต่ำกระทั่งอำนาจซื้อของผู้บริโภคถูกทำลาย และระบบเศรษฐกิจชะงักงันโงหัวไม่ขึ้น - ภาพจากวิกิคอมมอนส์
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.asiatimes.com)

Japan pays a high price as it goes down market
By JAKE ADELSTEIN
31/12/2021

ญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่ร่ำรวยอันดับสามของโลก เผชิญอยู่กับความยากจนที่ขยายขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลจากปัญหาอำนาจซื้อในหมู่ผู้บริโภคถูกทำลายจากความไม่เท่าเทียมและค่าแรงต่ำ นายกฯ ฟุมิโอะ คิชิดะ เริ่มแนวทางแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างแล้ว

เดี๋ยวนี้ ญี่ปุ่นไม่แพงแล้ว แถมยังถูกเหลือเชื่ออีกต่างหาก เรื่องนี้อาจทำให้หลายท่านประหลาดใจ โดยเฉพาะผู้ที่จดจำฝังลึกว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เหนือชั้นด้านความเป็นเลิศของผลิตภัณฑ์ของกิน ของใช้ ของไฮเทคโนโลยี ผู้ซึ่งสร้างแบรนด์ให้เลอเลิศด้วยการอัดฉีดมูลค่าเพิ่ม กระทั่งสามารถขายสินค้าอันงดงามและเปี่ยมคุณค่าในระดับราคาที่สูงลิ่ว ปรากฏการณ์นี้ดาษดื่นในยุคฟองสบู่อันเป็นเวลาซึ่งราคาที่ดินในญี่ปุ่นก็ทะยานเสียดฟ้า แต่ในหลายปีที่ผ่านมา มันไม่ใช่อย่างนั้นกันแล้ว

แผ่นดินแดนปลาดิบเปลี่ยนไปในทิศทางขาลง หลังประสบปัญหาเศรษฐกิจแก้ไม่ตกอย่างต่อเนื่องหลายทศวรรษ โดยเฉพาะ 1.ปัญหาอัตราค่าแรงนิ่งสนิท ไม่มีการขยับขึ้นเลย จนทำให้อำนาจการซื้อของผู้บริโภคเหือดแห้ง และ 2.ปัญหาเงินฝืด ตลอดจน 3.อาการน็อกเพราะหมัดตุ๊ยท้องหนักหน่วงผลพวงจากนโยบายเศรษฐกิจ “อาเบะโนมิกส์” ของอดีตนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ที่กำหนดให้เงินเยนอ่อนค่ามาตลอดนับตั้งแต่ปี 2012 จนถึงปี2020 และมนต์สาปแห่งสองอสูรร้าย ได้ทำลายพลังการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ผลกระทบจากเงินเยนอ่อนตัว - ค่าแรงถูก - การลงทุนแท้จริงซบเซา ขณะที่ระบบเศรษฐกิจไม่สามารถขยายตัวได้ ส่งให้ญี่ปุ่นมีสภาพการณ์แห่งการเป็น “ร้านไดโซะ” ของโลก

ไดโซะอย่างไร? ต้องดูหลายๆ ตัวอย่างสินค้าและบริการที่มีสนนราคาถูกชนิดที่ไม่อยากจะเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง

- ในบรรดาประเทศต่างๆ 141 ประเทศ ญี่ปุ่นกลายเป็นชาติที่มีอัตราเงินเดือนขั้นเริ่มต้น ต่ำที่สุดอันดับสี่ของโลก

- ค่าบัตรผ่านประตูเข้าดิสนีย์แลนด์ที่ญึ่ปุ่นราคาถูกที่สุดในโลก

- บิ๊กแมคในญี่ปุ่นมีราคาเท่ากับที่ขายกันในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ทั้งปวง อยู่ที่ 3.4 ดอลลาร์ สรอ. ขณะที่ขายในไทยที่ 3.9 ดอลลาร์ สรอ. ส่วนที่สหรัฐฯ ขายที่ราคา 5.7 ดอลลาร์

- เมนูเนื้ออร่อยๆ ขายกันแค่ชามละ 90 บาท

- สำหรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศกลุ่มเงินถุงเงินถังได้พบว่า ค่าห้องพักโรงแรม 5-6 ดาวในญี่ปุ่นดิ่งลงเหลือคืนละ 23,000 บาท ซึ่งห้องพักแบบเดียวกันนี้ในสหรัฐอเมริกาจะต้องจ่ายกันที่ 46,000 บาท

ในการใช้นโยบายอาเบะโนมิกส์ซึ่งกำหนดให้เศรษฐกิจของประเทศมีเม็ดเงินในระบบมากๆ และให้เงินเยนอ่อนตัว ซึ่งก็คือ การทำให้สินค้าและบริการทั้งปวนในญี่ปุ่นมีสนนราคาที่ถูกลงมา โดยหวังว่าจะส่งผลเป็นการส่งเสริมให้ระบบเศรษฐกิจเติบใหญ่ขยายตัวคึกคัก นั้น ญี่ปุ่นต้องแบกภาระการขาดดุลงบประมาณหนักหนามากมาโดยตลอด และนับวันแต่จะสาหัสขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่การขยายตัวก็ไม่ยอมเกิดขึ้น ต้นทุนมหาศาลที่ญี่ปุ่นต้องจ่ายเพื่อการนี้ ถูกเขียนไว้ในหนังสือขายดีเบสต์เซลเลอร์ที่ถูกพูดถึงมากที่สุดเล่มหนึ่งของปี 2021 คือ Cheap Japan: Stagnation Indicated By Prices หรือประมาณว่า ญี่ปุ่นขายถูกๆ: ระดับราคาบ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจชะงักงัน (นิกเกอิ พับลิชชิง อิงค์ – 8 มีนาคม 2021)

ในหนังสือเล่มนี้ ไร นากาฟูจิ นักข่าวสายการเงินแห่ง นิกเกอิ สื่อมวลชนค่ายยักษ์ของญี่ปุ่น ให้ภาพอันย่ำแย่ของญี่ปุ่นในปัจจุบัน อันเป็นระบบเศรษฐกิจที่มีการใช้มาตรการนานัปการเพื่อกระตุ้นให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ แต่ตลอดที่ผ่านมา มาตรการเหล่านั้นล้วนประสบความล้มเหลวหนักหนากระทั่งว่าราคาสินค้าบางตัวดิ่งลงมาเท่ากับราคาที่ซื้อขายกันในบรรดาระบบเศรษฐกิจเกิดใหม่ และประเทศกำลังพัฒนาทั้งปวง

ราคาบิ๊กแมคในญี่ปุ่นถูกสตางค์อย่างเหลือเชื่อ โดยมีราคาเท่ากับที่ขายกันในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ทั้งปวง อยู่ที่ 3.4 ดอลลาร์ สรอ. ขณะที่ขายในไทยที่ 3.9 ดอลลาร์ สรอ.  ส่วนที่สหรัฐฯ ขายที่ราคา 5.7 ดอลลาร์
เป็นประเทศของถูกขนานแท้ แม้แต่ค่าแรงยังถูกติดดิน

ญี่ปุ่นเป็นประเทศของถูกขนานแท้ ไล่เรียงได้ตั้งแต่สินค้า บริการ ขึ้นไปจนกระทั่งในเศรษฐกิจมหภาค โดยจะพบว่าทรัพยากรมนุษย์ในแดนซามูไรแห่งนี้ ก็ถูกเหลือเชื่อ ญี่ปุ่นมีอัตราเงินเดือนขั้นเริ่มต้นสำหรับบัณฑิตจบใหม่ ที่ต่ำเตี้ยเรี่ยดินแสนสาหัสเสียจนกลายไปสู่ปัญหาสมองไหลและแรงงานฝีมือขาดแคลน

นากาฟูจิเสนอว่าญี่ปุ่นดำเนินอยู่ในเส้นทางที่ถดถอยไปสู่โมเดลของประเทศยากจน คือคอยแต่จะพึ่งพิงรายได้จากภาคท่องเที่ยว ขณะที่ทรัพยากรมนุษย์ที่ฉลาดปราดเปรื่องและยังมากมายด้วยพลังความหนุ่มสาว พากันโบกมือลาแผ่นดินถิ่นเกิด แห่ไปทำงานในประเทศต่างๆ เพื่อให้ได้งานที่ดีกว่า งานที่ให้ราคาค่าตัวตลอดจนเงื่อนไขการทำงานที่สมกับความสามารถและความทุ่มเท

ญี่ปุ่นได้เสื่อมลงมาอยู่ในทิศทางดังกล่าว ทั้งที่ว่าเมื่อ 30 ปีที่แล้วประเทศหมู่เกาะแห่งนี้เคยเป็นดินแดนที่ทุกสิ่งอย่างล้วนแต่แพงระยับที่สุดของโลก

เป็นดินแดนแห่งร้านไดโซะของโลก เพราะราคานิ่งงันไม่เขยิบขึ้นเลย

แนวคิดธุรกิจไดโซะมีต้นตอจาก “ร้าน 100 เยน” ซึ่งทุกสิ่งอย่างในร้านจะซื้อขายกันที่ราคา 100 เยน แน่นอนว่าในปัจจบันนี้ ร้านมีสินค้ามากมายที่ติดราคา 200 เยนบ้าง หรือ 300 เยน หรือสูงกว่านั้น อย่างไรก็ตาม คอนเซปต์ของร้านยังปักหลักมั่นคงว่า: เชิญมาช็อปที่นี่ เรามีแต่ของถูก

ตามข้อมูลที่เผยแพร่กันเร็วๆ นี้ ไดโซะไปเปิดร้านขายของถูกในต่างประเทศรวมได้มากถึง 2,248 ร้านใน 26 ประเทศตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก โดยเปิดให้บริการ 1,365 แห่งในเกาหลีใต้ 120 แห่งในไทย และ 44 แห่งในประเทศเลิศๆ แห่งตะวันออกกลาง คือ ยูเออี หรือสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แต่จะมีเฉพาะในญี่ปุ่นเท่านั้นที่ยังเสนอขายสินค้าที่ราคาชิ้นละ 100 เยน หรือสามสิบกว่าบาท

สำหรับไดโซะในไทยซึ่งมีภาพลักษณ์ว่ายากจนกว่าญี่ปุ่นอย่างมากมาย จะเสนอขายสินค้าส่วนใหญ่ในราคาประมาณ 210 เยน หรือราว 60 บาท ด้านไดโซะในสหรัฐอเมริกา สนนราคาอยู่ที่ประมาณ 173 เยน หรือราว 50 บาท

คุณูปการของการเป็น “ญี่ปุ่นขายถูกๆ” ส่งผลดีแบบเต็มร้อยไปยังอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในท้องถิ่นสวยงามต่างๆ ของถิ่นซามูไร สมกับที่อุตสาหกรรมนี้ถูกวางตัวให้เป็นจุดขายสำหรับประเทศในยุคอาเบะโนมิกส์

“สินค้าและบริการในญี่ปุ่นมีราคาถูกกว่าที่ซื้อขายกันในประเทศอื่นๆ เป็นอานิสงส์แห่งค่าเงินเยนอ่อนตัว และนี่เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคุญที่ขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในญี่ปุ่นเติบใหญ่เฟื่องฟูในห้วงเวลาที่ผ่านมา” นากาฟูจิเขียนไว้ในหนังสือเบสต์เซลเลอร์ของตน

นากาฟูจิให้ข้อมูลไว้ด้วยว่า ยอดจับจ่ายใช้สอยที่นักท่องเที่ยวต่างชาติมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ได้เพิ่มทะยานขึ้นกว่า 3 เท่าตัว โดยแตะระดับ 4.52 ล้านล้านเยนในปี 2018 (41,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1.31 ล้านล้านบาท) จากเมื่อปี 2013 หรือประมาณปีกว่านับจากที่ญี่ปุ่นเข้าสู่ยุคอาเบะโนมิกส์และเริ่มนโยบายทำเงินเยนให้อ่อนค่าด้วยหลากหลายมาตรการทางการเงิน

แน่นอนว่าความสำเร็จดังกล่าวได้อานิสงส์มหาศาลจากการยกระดับศักยภาพของภาคบริการภายในกรุงโตเกียว และการรณรงค์ส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ดำเนินการโดยรัฐบาล ประกอบกับบุญหนุนส่งจากการที่ญี่ปุ่นคว้าสิทธิได้เป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาโลกที่สำคัญหลายรายการ อาทิ รักบี้ชิงแชมป์โลก 2019

กระนั้นก็ตาม มันน่าตกใจที่ได้ทราบว่านักท่องเที่ยวจากนานาประเทศพากันมาพักผ่อนประจำปีที่ญี่ปุ่น (ก่อนที่หายนะภัยโรคระบาดโควิดจะมาเล่นงานญี่ปุ่นอย่างหนักหน่วง) ด้วยเหตุผลสำคัญคือค่าใช้จ่ายที่ญี่ปุ่นถูกมาก

ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติแฮปปี้มีความสุข แต่นี่ไม่ใช่เรื่องดีต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจในระยะยาวของญี่ปุ่น ในเมื่อไดโซะเติบใหญ่ได้เพราะประเทศติดกับอยู่ในวงจรแห่งปัญหาค่าแรงต่ำและระดับราคาสินค้า/บริการย่ำแย่ไม่รู้จบ

กล่าวคือ สาเหตุที่ราคาสินค้า/บริการต่างๆ อยู่ในระดับต่ำ เป็นเพราะญี่ปุ่นกลายเป็นชาติของคนยากจนหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่าเส้นแบ่งระหว่างความถูกสตางค์ กับความยากจนนั้น เบลอร์อย่างยิ่ง

รัฐบาลญี่ปุ่นหันไปพึ่งอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้ช่วยหนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐบาลชุดชินโซ อาเบะ ซึ่งใช้หลายมาตรการกดดันให้ค่าเงินเยนอ่อนตัว ราคาสินค้าและบริการต่างๆ ในญี่ปุ่นจึงถูกลงมหาศาล และส่งผลเป็นการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ
ความถูกไม่ดีหรอก: ญี่ปุ่นมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร

ญี่ปุ่นมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร นากาฟูจิไม่ได้ให้คำตอบฟันธงโชะชะเพียงหนึ่งเดียว หากแต่นำเสนอสาเหตุให้พิจารณามาเป็นชุด โดยระบุถึงสาเหตุตัวเอ้ ด้วยถ้อยคำของโตชิฮิโร นากาฮามะ ประธานคณะนักเศรษฐศาสตร์แห่งสถาบันวิจัยไดอิชิ ไลฟ์ ดังนี้

สภาพการณ์เงินฝืดอันเรื้อรังในระบบเศรษฐกิจญี่ปุ่น ได้ทำลายกลไกที่บริษัทผู้ประกอบการธุรกิจจะสามารถส่งภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ไปยังผู้บริโภค ผ่านวิธีขึ้นราคา นากาฮามะอธิบายอย่างนั้น พร้อมกับไล่เรียงผลกระทบที่ชิ่งใส่กันเป็นทอดๆ ว่า

“ถ้าบริษัทธุรกิจทั้งหลายไม่สามารถเพิ่มราคาสินค้า พวกเขาก็ไม่สามารถทำกำไร เมื่อไม่สามารถทำกำไร บริษัทก็ไม่สามารถเพิ่มค่าจ้างให้แก่พนักงาน เมื่อค่าจ้างอันเป็นรายได้ของผู้บริโภคไม่เขยิบขึ้นไป การบริโภคก็จะไม่ขยาย แล้วผลสุดท้าย ระดับราคาจึงค้างเติ่งที่เดิม ในรูปการณ์อย่างนี้ ‘อำนาจซื้อ’ ในหมู่ผู้บริโภคของญี่ปุ่นจึงอ่อนแอลง”

อำนาจซื้อลดต่ำ พลังการสร้างครอบครัว-มีลูกมีหลาน ก็แผ่วลงเป็นเงาตามกัน

ความเดือดร้อนของญี่ปุ่นไม่ได้จบลงที่อำนาจซื้อที่ถูกบ่อนทำลาย หากยังต้องเดือดร้อนจากพลังการสร้างครอบครัวที่อ่อนแอตามไปด้วย ปัญหาประชากรหดตัวและญี่ปุ่นตกอยู่ในชะตากรรมที่ต้องกลายเป็นสังคมคนแก่มากขึ้นๆ ส่งผลกระทบไปยังปัญหาการขาดแคลนแรงงานฝีมือซึ่งเรื้อรังต่อเนื่องปีแล้วปีเล่า

ในด้านหนึ่ง ปัญหาตรงนี้กลายเป็นปัจจัยหนุนให้มีการพัฒนานวัตกรรมต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเร่งพัฒนาหุ่นยนต์ฉลาดๆ มาทดแทนมนุษย์ อาทิ หุ่นยนต์ที่ทำหน้าที่พนักงานต้อนรับที่เคาน์เตอร์ลงทะเบียนผู้เข้าพักโรงแรม และกระทั่งการพัฒนาให้ไฟฟ้าขับเคลื่อนโดยไม่มีพนักงานดำเนินการ

แต่ในอีกด้านหนึ่งที่สร้างผลกระทบมากกว่าคือ การขาดแคลนซัปพลายด้านแรงงานไม่ได้ช่วยให้ค่าจ้างขยับสูงขึ้น ดังเห็นได้ว่าค่าจ้างแท้จริง เมื่อปรับเอาส่วนของเงินเฟ้ออันน้อยนิดออกไปแล้ว นั้น ลดต่ำลงตลอด 30 ปีที่ผ่านมา อีกทั้งยังปักหลักอยู่ที่ระดับเดิมเมื่อเทียบกับเมื่อสองทศวรรษที่แล้ว

ความจริงที่ร้ายกาจกว่านั้นมีอยู่ว่า แรงงานที่จ้างแบบพนักงานชั่วคราว (ไม่ได้รับสวัสดิการเต็มแพ็กเก็จ) มีจำนวนมากขึ้นๆ อย่างต่อเนื่อง และจะกลายเป็นกลุ่มชนชั้นล่างสุดกลุ่มใหม่ของสังคม โดยขนาดของประชากรกลุ่มนี้พุ่งขึ้นจากสัดส่วน 15% ของกำลังแรงงานทั้งระบบเมื่อทศวรรษ 1980 พรวดขึ้นเป็นปริ่มๆ 40% ในปัจจุบัน

โดยทั่วไป พนักงานประจำได้ค่าแรง 2,500 เยนต่อชั่วโมง (725 บาท) ส่วนพนักงานชั่วคราวได้รับ 1,660 เยนต่อชั่วโมง (464 บาท) และพนักงานพาร์ทไทม์ได้รับ 1,050 เยนต่อชั่วโมง
(305 บาท) แต่แทบจะไม่มีพนักงานชั่วคราวกับพนักงานพาร์ทไทม์รายใดได้รับสวัสดิการประกันสุขภาพ

หุ่นยนต์ไดโนเสาร์ใส่หมวกเด็กยกกระเป๋า หรือเบลบอย พร้อมกับทำหน้าที่พนักงานต้อนรับ และกล่าวทักทายเจ้าหน้าที่โรงแรมซึ่งสาธิตให้นักข่าวได้รับชมถึงวิธีเช็คอินด้วยตนเองเพื่อเข้าพักโรงแรม เมื่อ 15 มีนาคม 2017 ที่โรงแรมเฮนน์ นา ในย่านอูรายาสุ ทางซีกตะวันออกของกรุงโตเกียว  เจ้าของโรงแรมบอกนักข่าวรอยเตอร์ว่านี่ไม่ใช่ลูกเล่นในการดึงดูดลูกค้า หากเป็นการลงทุนนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ทดแทนการจ้างพนักงาน
ความไม่เสมอภาคระหว่างหญิง-ชาย มีส่วนทำให้ ‘คุณแม่ใบเลี้ยงเดี่ยว’ ลำบากยากจน

ปัญหาความไม่เสมอภาคระหว่างหญิง-ชาย เป็นตัวกดให้แรงงานสตรีได้ค่าแรงต่ำเตี้ยเรี่ยดินกันตลอดกาล ผู้ที่ต้องรับเคราะห์หนักที่สุดคือกรณีของคุณแม่ใบเลี้ยงเดี่ยวซึ่งรับบทหัวหน้าครอบครัว โดยครอบครัวคุณแม่ใบเลี้ยงเดี่ยวทยอยกันกลายเป็นประชากรยากจนพร้อมกับเป็นชนชั้นต่ำสุดของสังคม

เมื่อเปรียบเทียบอัตราความยากจนของครอบครัวที่มีคุณแม่เลี้ยงลูกตามลำพังหรือมีคุณพ่อเลี้ยงลูกตามลำพัง ญี่ปุ่นมีครอบครัวคุณพ่อคุณแม่ใบเลี้ยงเดี่ยวซึ่งอยู่ในเกณฑ์ยากจนสูงกว่าชาติใดๆ คืออยู่ที่สัดส่วนกว่า 50% ของครอบครัวญี่ปุ่นทั้งประเทศกันเลยทีเดียว

ในการนี้ คุณแม่ใบเลี้ยงเดี่ยวของญี่ปุ่นที่ออกไปทำงานรับจ้างนั้น มีจำนวนสูงมหาศาลที่ระดับ 87.7% เรียกได้ว่าไม่มีชาติสมาชิกโออีซีดีชาติใดจะมีตัวเลขสูงไปกว่านี้

กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ คุณแม่ใบเลี้ยงเดี่ยวของญี่ปุ่นต้องทำงานรับจ้างต่างๆ หนักหนายิ่งกว่าคุณแม่ใบเลี้ยงเดี่ยวในประเทศใดๆ ความจริงที่เป็นอยู่คือ แม้จะทำงานหนักสาหัสกว่าชาติใดๆ พวกเธอก็ไม่ได้มีฐานะการเงินที่พ้นออกจากความยากจนได้ ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากสาเหตุสำคัญคือ พวกเธอได้รับเงินค่าจ้างน้อยอย่างยิ่งยวด

อัตราการฆ่าตัวตาย กลับมาเยอะมากขึ้นอีกครั้ง

จำนวนเคสของการฆ่าตัวตายในญี่ปุ่น ตลอดช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา อยู่ที่ปีละสามหมื่นกว่าถึงสองหมื่นกว่าราย โดยที่ว่านับจากปี 2009 จำนวนคนฆ่าตัวตายในแต่ละปีลดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง แต่แล้วแนวโน้มดังกล่าวเปลี่ยนไป สถิติของกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ ประกาศเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2021 บอกว่าในปี 2020 ยอดรวมเคสฆ่าตัวตายอยู่ที่ 21,081 ราย เพิ่มขึ้นกว่าเมื่อหนึ่งปีก่อนหน้า 912 ราย

ผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด 19 ถูกระบุว่าเป็นสาเหตุของความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว แต่นั่นน่าจะไม่สะท้อนภาพทั้งหมดของปัญหา

ข้อสังเกตมีอยู่ว่ายอดที่เพิ่มขึ้นนั้น เป็นเคสฆ่าตัวตายในฝ่ายหญิงซึ่งเพิ่มมากขึ้น 15% ขณะที่เคสฆ่าตัวตายในฝ่ายชายยังอยู่ในแนวโน้มลดน้อยลงต่อเนื่อง 11 ปีนับจากปี 2009 นี่อาจจะไม่ใช่เรื่องบังเอิญหรือประจวบเหมาะที่ 70% ของพนักงานสัญญาจ้างชั่วคราวซึ่งได้ค่าแรงต่ำกว่าเกณฑ์นั้น เป็นพนักงานเพศหญิง

ทหารผ่านศึกแห่งราชนาวีญี่ปุ่นถือธงอาทิตย์อุทัย เดินนำขบวนไปยังศาลเจ้ายาสุกุนิ ซึ่งนักชาตินิยมอย่างอดีตนายกฯ อาเบะ เคารพสักการะ  อย่างไรก็ตาม ดินแดนอาทิตย์อุทัยถูกฉุดรั้งจากความเรืองรองภายในบริบทแห่งความล้มเหลวในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของอาเบะที่กดดันให้ราคาสินค้าและบริการตกต่ำ
เงินเดือนบัณฑิตจบใหม่ญี่ปุ่นต่ำสุดอันดับ 4 ของโลก จากที่เคยเลื่องลือว่าจ่ายแพงกว่าชาติใดๆ ในปฐพี

บริษัทที่ปรึกษาวิลลิส ทาวเวอร์ส วัตสัน มีตัวเลขอัตราเงินเดือนต่อปีที่บัณฑิตจบใหม่ทั่วโลกได้รับในปี 2019 ดังนี้ ในสหรัฐฯ เฉลี่ยที่ 6.29 ล้านเยน ในเยอรมนี 5.31 ล้านเยน ในฝรั่งเศส 3.69 ล้านเยน และเกาหลีใต้ 2.86 ล้านเยน

แต่เงินเดือนสำหรับบัณฑิตจบใหม่ในญี่ปุ่นอยู่ที่ปีละแค่ 2.62 ล้านเยน เท่านั้น ต่ำที่สุดอันดับ 4 ในกลุ่มประเทศต่างๆ 114 ประเทศทั่วโลก เงินเดือนในญี่ปุ่นเทียบเท่ากับแค่ 1 ใน 3 ของเงินเดือนบัณฑิตจบใหม่ในสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งได้รับที่ระดับ 9.02 ล้านเยน สถานการณ์ค่าจ้างเงินเดือนแพงๆ ในสวิตเซอร์แลนด์เป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในญี่ปุ่นมาแล้ว และได้กลายเป็นเพียงความทรงจำจากอดีตไปแล้ว

ปัญหาสมองไหลจึงน่าเป็นห่วงทีเดียว

เครือธุรกิจยักษ์ของรัฐบาลจีน นามว่า CITIC Group ได้เข้าไปซื้อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ของญี่ปุ่น 14 บริษัท และจึงได้รับการถ่ายโอนเทคโนโลยีและพนักงานยอดฝีมือของบริษัทเหล่านี้ไปทั้งหมด

นี่อาจจะมองเป็นแค่เงินทุนไหลข้ามพรมแดนก็ได้ แต่ก็มิอาจปฏิเสธว่านี่คือหนึ่งในปรากฏการณ์สมองไหลในภาพรวมของแผ่นดินซามูไร

ศาสตราจารย์กิตติคุณยูกิโอะ โนกุชิ ผู้เป็นทรัพยากรบุคคลด้านเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยฮิโตสึบาชิ ได้เขียนในบทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ไมนิจิ ชิมบุง ว่า “ในยี่สิบปีข้างหน้า คนญี่ปุ่นจะอพยพไปทำงานในจีน”

ถ้าฟันธงอย่างนี้เมื่อสิบปีที่แล้ว จะไม่มีใครเห็นด้วย มีแต่จะถูกตำหนิว่าบ้าไปแล้ว

ความจริงมีอยู่ว่าที่ผ่านมามีแรงงานญี่ปุ่นอพยพไปอยู่ในจีนเรียบร้อยแล้ว และจุดที่คนญี่ปุ่นจะตกใจยิ่งกว่าคือ ส่วนใหญ่เป็นแรงงานฝีมือในอุตสาหกรรมหลักของญี่ปุ่น

กรณีตัวอย่างที่ชัดเจนคือ แรงงานฝีมือในอุตสาหกรรมการผลิตการ์ตูนอนิเมะ ซึ่งมีภาพลักษณ์เป็นไอคอนแห่งญี่ปุ่น

การ์ตูนอนิเมะเป็นหนึ่งในตัวเด่นของกลุ่มสินค้าด้านวัฒนธรรมที่ญี่ปุ่นส่งออกไปทำรายได้ในตลาดโลก ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นสะเริงสราญกับชื่อเสียงด้านฝีมือการสร้างสรรค์อนิเมชั่นที่ไม่มีชาติอื่นใดมาเทียบเคียงได้

กระนั้นก็ตาม ค่าแรงที่แรงงานฝีมือในวงการอนิเมะได้รับกลับต่ำต้อยน่าตกใจยิ่ง

ผลการเซอร์เวย์โดยสมาคมผู้อำนวยการสร้างและผู้สร้างอนิเมะญี่ปุ่น รายงานว่า 54.7% ของผู้สร้างอนิเมะได้ค่าจ้างไม่ถึง 4 ล้านเยนต่อปี ยิ่งถ้าเป็นคนหนุ่มคนสาวที่สร้างอนิเมะในบริษัทเอสเอ็มอี ค่าจ้างโดยปกติจะไม่ถึง 9 หมื่นเยนต่อเดือน

ด้วยสภาพการณ์ที่ค่าแรงต่ำและปริมาณงานหนักนักหนา ทรัพยากรมนุษย์จึงทยอยไหลออกจากญี่ปุ่น ไปสู่ตลาดจีนซึ่งขยายตัวรวดเร็ว และเป็นตลาดแรงงานที่คุณภาพชีวิตในการทำงานดีกว่ามาก

คำถามจึงเกิดขึ้นมาว่า มีทางออกให้แก่ญี่ปุ่นหรือไม่?

นายกรัฐมนตรีแห่งญี่ปุ่นฟุมิโอะ คิชิดะ กับภารกิจเข็นครกขึ้นภูเขา เพื่อกอบกู้ชื่อเสียงของญี่ปุ่นในฐานะดินแดนแห่งการสร้างมูลค่าสูงล้ำให้แก่ผลิตภัณฑ์
นโยบายเศรษฐกิจแบบคิชิดะโนมิกส์จะแก้ปัญหาสาหัสจากนโยบายอาเบะโนมิกส์ ได้หรือไม่

ถ้าจะถามหาทางออกให้แก่ญี่ปุ่น สิ่งหนึ่งที่ต้องทำแน่ๆ คือ การเลิกรานโยบายเศรษฐกิจ“อาเบะโนมิกส์” อันเป็นนโยบายเศรษฐกิจตามทฤษฎีการกระตุ้นเศรษฐกิจจากบนลงล่าง ซึ่งถูกพิสูจน์แล้วว่า ล้มเหลว โดยนโยบายนี้ได้รับการผลักดันจากอดีตนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ตลอดช่วง 8 ปีแห่งการครองอำนาจ

นายกรัฐมนตรี ฟุมิโอะ คิชิดะ ผู้เพิ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อไม่นานมานี้ ต้องเผชิญแรงกดดันให้สร้างผลงานออกมาให้เห็นกันโดยเร็ว เพราะประเทศชาติตกอยู่ในสถานการณ์เลวร้ายอันเป็นมรดกจาก 2 นายกรัฐมนตรีของพรรค LDP ก่อนหน้าเขา ซึ่งก็คือ โยชิฮิเดะ ซูงะ ที่อยู่ในอำนาจช่วงสั้นๆ และอาเบะ ผู้เป็นต้นตำรับนโยบายอาเบะโนมิกส์และทรงอิทธิพลมหาศาลกว่าซูงะ

อันที่จริง การอภิปรายกันในระดับชาติได้เริ่มต้นมาแล้ว หนังสือพิมพ์ไมนิจิ ชิมบุง ฉบับวันที่ 21 กันยายน 2021 ออกบทบรรณาธิการที่ใช้ชื่อเรื่องว่า “วิกฤตการณ์ความไม่เท่าเทียมของญี่ปุ่น เรียกร้องให้บรรดาผู้ที่หวังขึ้นเป็นผู้นำพรรค LDP ต้องขบคิดกันใหม่เกี่ยวกับ ‘อาเบะโนมิกส์’” (Japan’s inequality crisis demands LDP leadership hopefuls rethink ‘Abenomics’) ทั้งนี้ หมายรวมถึงการทบทวนมาตรการผ่อนคลายทางการเงินและการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยมาตรการทางการคลัง ซึ่งเป็นสองประเด็นสำคัญของอาเบะโนมิกส์

“การผ่อนคลายทางการเงิน และการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยมาตรการทางการคลัง ได้กดดันให้มูลค่าเงินเยนลดต่ำ และดอกผลจากตลาดหลักทรัพย์พุ่งลิ่ว แต่ในความเป็นจริงแล้วพวกที่เก็บเกี่ยวผลประโยชน์ไปได้ก็มีแต่พวกบริษัทใหญ่ๆ และพวกที่ร่ำรวยอยู่แล้ว” หนังสือพิมพ์รายวันฉบับนี้บอก

“ในเวลาเดียวกัน จำนวนของกลุ่มลูกจ้างชั่วคราวทวีขึ้นมหาศาล กระทั่งมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมาแตะระดับเกือบ 40% ของกำลังแรงงานญี่ปุ่นเรียบร้อยแล้ว เงินใช้จ่ายของครอบครัวจึงถูกบีบรัด และการใช้จ่ายของผู้บริโภคไม่สามารถขยายตัวได้ ลงท้ายแล้วการเติบโตทางเศรษฐกิจจึงยังคงกระเสือกกระสนอยู่ในความซบเซา ขณะที่ยอดภาระหนี้สินของประเทศพุ่งพรวดทะลุฟ้า”

นายกฯ คิชิดะ เสนอแรงจูงใจด้วยการลดภาษีแก่บริษัทธุรกิจที่ปรับขึ้นเงินเดือนพนักงาน

คิชิดะดูเหมือนเอาด้วยกับเรื่องคิดใหม่ทำใหม่ในประเด็นของความไม่เท่าเทียม ดังเห็นได้ว่า ระหว่างการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2021 เขาบอกชัดเจนถึงแผนการส่งเสริมเศรษฐกิจด้วยการขึ้นค่าแรง เขากล่าวด้วยว่า พวกนโยบายแบบเสรีนิยมใหม่ของอาเบะ “เป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนอัตราเติบโตของเศรษฐกิจโลก แต่เวลาเดียวกันนโยบายเหล่านี้ก็มีผลพวงต่อเนื่องในทางลบเป็นจำนวนมาก”

แผนการของคิชิดะคือ “การทำให้ ‘ลัทธิทุนนิยมใหม่’กลายเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา ด้วยการทำเกิดทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการแบ่งปันความมั่งคั่งกันใหม่”

นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2022 เป็นต้นไป คิชิดะจะขึ้นเงินเดือน 3% ให้แก่พนักงานในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการให้การดูแล รวมถึงการดูแลเด็กและการศึกษาของเด็ก ทั้งนี้ สัดส่วน 3% ดังกล่าวคือประมาณ 110,000 เยนต่อปี

คิชิดะบอกว่า เงินเดือนของผู้ที่อยู่ในวิชาชีพพยาบาล ซึ่งทำงานอยู่ตามสถานที่ทางการแพทย์และมีเงื่อนไขต่างๆ ครบตามที่กำหนด ก็จะได้ขึ้นเงินเดือนในระดับ 3% หรือประมาณ 140,000 เยนต่อปี ในแบบค่อยเป็นค่อยไป พร้อมนี้ เขาให้สัญญาว่าจะลดหย่อนภาษีแก่บรรดาบริษัทซึ่งขึ้นเงินเดือนลูกจ้างพนักงาน – โดยจะลดหย่อนภาษีนิติบุคคลให้สูงสุดถึง 40% หากมีการขึ้นเงินเดือนไป 4%

แน่นอนว่า ไม่ใช่เรื่องที่ทำกันได้ง่ายๆ เนื่องจากมีปัจจัยที่เป็นทางตันหาทางออกไม่ได้อยู่หลายๆ ประการ

ตามรายงานของนิวยอร์กไทมส์เมื่อวันที่ 24 ธันวาคมที่ผ่านมา บรรดาบริษัทธุรกิจและกลุ่มล็อบบี้ต่างๆ ได้ออกโรงต้านข้อเสนอขึ้นเงินเดือนของคิชิดะ โดยอาจใช้วิธีเสนอให้ความมั่นคงเรื่องตำแหน่งงาน เพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่จะคงนโยบายค่าแรงต่ำที่จ่ายแก่พนักงานประจำ –พร้อมกันนั้นก็ขยายกำลังแรงงานของบริษัทด้วยการจ้างพนักงานชั่วคราว

แต่ในเวลาเดียวกันนั้นเอง พวกบริษัทเหล่านี้ก็ติดกับอยู่ในวงจรอุบาทว์ของการไม่สามารถสร้างอัตราผลกำไร


กำลังโหลดความคิดเห็น