xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus : ส่องแผนอินโดนีเซีย ‘ย้ายเมืองหลวง’ จาก ‘จาการ์ตา’ สู่ ‘นูซันตารา’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจำลองแบบก่อสร้าง “ทำเนียบประธานาธิบดี” แห่งใหม่ของอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการย้ายเมืองหลวงจากกรุงจาการ์ตาไปยังจังหวัดกาลีมันตันตะวันออก
เป็นอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวในภูมิภาคอาเซียนที่น่าจับตามอง หลังจากรัฐสภาของอินโดนีเซียได้มีมติผ่านร่างกฎหมายว่าด้วยการย้ายเมืองหลวงของประเทศจากกรุงจาการ์ตา ไปยังพื้นที่เกาะบอร์เนียวซึ่งอยู่ห่างไกลออกไปราว 2,000 กิโลเมตร โดยจะตั้งชื่อเมืองหลวงแห่งใหม่นี้ว่า “นูซันตารา” (Nusantara) ซึ่งแปลว่า “หมู่เกาะ” ขณะที่โครงการดังกล่าวยังคงเผชิญกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่จะตามมา

กฎหมาย New State Capital Law ได้วางกรอบการดำเนินงานทั้งในแง่ของงบประมาณก่อสร้าง รวมถึงการบริหารจัดการเมืองหลวงแห่งใหม่ ซึ่งถือเป็นโครงการลงทุนระดับเมกะโปรเจกต์ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์แดนอิเหนา

ซูฮาร์โซ โมโนอาร์ฟา รัฐมนตรีกำกับดูแลแผนพัฒนาแห่งชาติของอินโดนีเซีย แจ้งต่อรัฐสภาเมื่อวันจันทร์ (17) ว่า ประธานาธิบดี โจโก วิโดโด ได้เห็นชอบให้มีการตั้งชื่อเมืองหลวงใหม่ว่า “นูซันตารา” หลังจากที่ได้มีการหารือกับนักประวัติศาสตร์และนักภาษาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญ โดยพิจารณาคัดเลือกจาก 80 รายชื่อที่มีผู้เสนอมา เช่น เนอการา จายา (Negara Jaya) และนูซันตารา จายา (Nusantara Jaya) เป็นต้น

สำหรับเหตุผลที่เลือกใช้ชื่อ "นูซันตารา" เพราะว่าเป็นคำที่รู้จักกันมายาวนาน มีความเป็นสากล เรียบง่าย และมีความหมายสะท้อนถึงสภาพภูมิศาสตร์ของอินโดนีเซียที่ประกอบด้วยหมู่เกาะจำนวนมาก อีกทั้งเป็นคำที่ประชาชนชาวอินโดนีเซียทุกภูมิภาคให้การยอมรับ

ประธานาธิบดีวิโดโด ได้ประกาศไว้เมื่อปี 2019 ว่าจะย้ายศูนย์กลางการบริหารของประเทศจากจาการ์ตาไปยังพื้นที่ชนบทในจังหวัดกาลีมันตันตะวันออก ซึ่งในทางภูมิศาสตร์ถือว่าใกล้กับศูนย์กลางของหมู่เกาะอินโดนีเซีย โดยเมืองหลวงแห่งใหม่นี้จะถูกสร้างขึ้นระหว่างเมืองซามารินดา (Samarinda) กับเมืองท่าบาลิกปาปัน (Balikpapan) และคาดว่าจะมีประชากรอยู่อาศัยราว 6-7 ล้านคน

โครงการสร้างเมืองหลวงใหม่คาดว่าจะใช้งบประมาณราว 466 ล้านล้านรูเปียห์ หรือราว 1 ล้านล้านบาท

อันที่จริงการย้ายเมืองหลวงเป็นสิ่งที่ประธานาธิบดีอินโดนีเซียหลายต่อหลายคนเคยคิดมาก่อนแล้ว ทว่าไม่มีรัฐบาลไหนที่สามารถผลักดันแผนดังกล่าวให้เข้าใกล้ความจริงได้มากเท่านี้

สภาพการจราจรที่ติดขัดอย่างหนักในกรุงจาการ์ตาของอินโดนีเซีย
- จาการ์ตา ‘เมืองจมน้ำ’

สาเหตุหลักที่ทำให้อินโดนีเซียตัดสินใจย้ายเมืองหลวงคือ สภาพความแออัดและปัญหาสิ่งแวดล้อมในกรุงจาการ์ตา ซึ่งเป็นเมืองหลวงมาตั้งแต่อินโดนีเซียได้รับเอกราชในปี 1949

มหานครซึ่งมีพื้นที่เพียง 661.5 ตารางกิโลเมตร แต่มีผู้อยู่อาศัยทั้งในเขตเมืองและปริมณฑลรวมกันกว่า 30 ล้านคนนี้เผชิญปัญหาเรื้อรังในด้านโครงสร้างพื้นฐานมานาน อีกทั้งยังขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองที่รถติดสาหัส และมีค่ามลพิษสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

จาการ์ตายังมีอัตราการทรุดของตัวพื้นดินเฉลี่ย 20 เซนติเมตรต่อปี ซึ่งทำให้ประสบปัญหาน้ำท่วมรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยมีผู้เชี่ยวชาญประเมินว่าพื้นที่ราว 1 ใน 3 ของจาการ์ตาอาจ “จมทะเล” ภายในปี 2050 หากไม่มีมาตรการป้องกันแก้ไข

ผลการศึกษาโดยมหาวิทยาลัย IPB University ในจังหวัดชวาตะวันตกยังพบว่า หลายเมืองบนเกาะชวามีอัตราการทรุดตัวของดินเฉลี่ย 10.7 เซนติเมตรในปี 2019 และ 2020 ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจากการขุด “น้ำใต้ดิน” ขึ้นมาใช้

ความไม่เท่าเทียมทางรายได้ซึ่งมีสาเหตุมาจากการพัฒนาที่กระจุกตัวอยู่แต่ในเกาะชวาเป็นส่วนใหญ่ ก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้รัฐบาลอินโดนีเซียต้องหาวิธีกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคอื่นๆ


- ทำไมต้อง ‘กาลีมันตันตะวันออก’

จังหวัดกาลีมันตันตะวันออก ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออกของเกาะบอร์เนียว ซึ่งเป็นเกาะที่แชร์พื้นที่กันระหว่าง 3 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และบรูไน

จังหวัดแห่งนี้ยังเต็มไปด้วยทรัพยากรน้ำและพื้นที่ป่าซึ่งสามารถแปรสภาพเป็นที่อยู่อาศัยได้ โดยมีพื้นที่ถึง 127,346.92 ตารางกิโลเมตร ขณะที่จำนวนประชากรมีเพียง 3.7 ล้านคน ซึ่งถือว่าเบาบางมากเมื่อเทียบกับกรุงจาการ์ตา

เมืองหลวงแห่งใหม่ของอินโดนีเซียจะกินพื้นที่ระหว่างเขต North Penajam Paser กับ Kutai Kartanegara โดยมีพื้นที่รวมทั้งหมดประมาณ 561.8 ตารางกิโลเมตร ขณะที่รัฐบาลอินโดนีเซียได้จัดสรรที่ดินสำหรับโครงการนี้เอาไว้ทั้งหมดถึง 2,561.42 ตารางกิโลเมตรเพื่อให้เอื้อต่อการขยายเมืองในอนาคตด้วย

ประธานาธิบดีวิโดโด เคยได้ให้สัมภาษณ์เอาไว้เมื่อ 3 ปีที่แล้วว่า “ที่ตั้งเมืองหลวงใหม่เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ดีมาก เพราะอยู่ใจกลางอินโดนีเซีย ใกล้กับเขตเมือง” พร้อมระบุว่ากรุงจาการ์ตาในวันนี้กำลังแบกรับภาระหนักเกินไป ทั้งในด้านการเป็นศูนย์กลางการปกครอง ศูนย์กลางด้านการค้า การเงิน และบริการต่างๆ

เดิมทีรัฐบาลอินโดนีเซียจะเริ่มก่อสร้างเมืองใหม่ตั้งแต่ปี 2020 ทว่าโครงการต้องล่าช้าออกไป เนื่องจากผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19

รัฐบาลอิเหนามีแผนที่จะสร้าง “กรุงนูซันตารา” ให้เป็นเมืองหลวงแบบ “สมาร์ท ซิตี” ซึ่งมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่กระนั้นก็มีนักวิจารณ์ออกมาแสดงความเป็นห่วงว่า การสร้างเมืองหลวงบนเกาะบอร์เนียวจะนำไปสู่การแผ้วถางป่าเพื่อขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน และยังเป็นการทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยของลิงอุรังอุตัง และสัตว์ป่าเขตร้อนนานาชนิด

กลุ่มตัวแทนชนพื้นเมืองบนเกาะบอร์เนียวก็ออกมาแสดงความกังวลเช่นกันว่า ความเจริญที่ย่างกรายเข้ามาอาจกระทบต่อสภาพความเป็นอยู่และวัฒนธรรมดั้งเดิมของพวกเขา

- ประเทศไหนบ้างที่ย้ายเมืองหลวง?

อินโดนีเซียไม่ใช่ชาติแรกที่ตัดสินใจย้ายเมืองหลวง มีอีกหลายประเทศที่ตัดสินใจย้ายเมืองหลวงด้วยเหตุผลต่างๆ กัน ตัวอย่างเช่น บราซิลซึ่งย้ายเมืองหลวงจากริโอเดจาเนโรไปยังกรุงบราซิเลีย ซึ่งตั้งอยู่บริเวณใจกลางประเทศมากกว่าเมื่อปี 1960 ไนจีเรียย้ายเมืองหลวงจากลากอสไปยังอาบูจา คาซัคสถานย้ายเมืองหลวงจากอัลมาตีไปยังกรุงนูร์ซุลตันในปี 1997 ส่วนพม่าเพิ่งจะย้ายเมืองหลวงจากนครย่างกุ้งไปยังกรุงเนปีดอเมื่อปี 2005 นี้เอง

ประธานาธิบดี โจโก วิโดโด แห่งอินโดนีเซีย เมื่อครั้งเดินทางไปสำรวจพื้นที่สร้างเมืองหลวงใหม่ที่เขต North Penajam Paser ในจังหวัดกาลีมันตันตะวันออก เมื่อเดือน ธ.ค. ปี 2019
กำลังโหลดความคิดเห็น