เอเจนซีส์ - แอนน์ แฟรงค์ เด็กหญิงชาวยิววัย 15 ปี ที่โด่งดังไปทั่วโลกผ่านไดอารีที่เธอได้แอบจดบันทึกเอาไว้ก่อนที่จะจบชีวิตลงในค่ายกักกันนาซีสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ทีมสืบสวนพิเศษเปิดเผยชื่อ “คนทรยศ” เมื่อ 77 ปีก่อนหน้าเป็นทนายรับรองเอกสารชาวยิวในเมืองอัมสเตอร์ดัม แต่ช็อกกว่าพ่อของเด็กหญิงอาจรู้ตัวคนทรยศแต่ปกปิดไว้
บีบีซี สื่ออังกฤษ รายงานวานนี้ (17 ม.ค.) ว่า ทีมสืบสวนพิเศษที่ประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์และสาขาอื่นๆ รวมไปถึงอดีตเจ้าหน้าที่ FBI สหรัฐฯ ประสบความสำเร็จสามารถหาตัวบุคคลที่ทรยศต่อเด็กหญิงชาวยิว แอนน์ แฟรงค์ วัย 15 ปี และครอบครัวของเธอให้กับกองทัพนาซีในขณะนั้น
โดยคดีนี้ใช้เวลาถึง 6 ปีในการสอบสวนที่มีการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าช่วย เป็นต้นว่า อัลกอริทึมของคอมพิวเตอร์เพื่อค้นหาความเชื่อมโยงระหว่างบุคคลจำนวนมากเป็นสิ่งที่หากใช้แรงงานมนุษย์จะต้องใช้เวลาหลายพันชั่วโมงจึงจะประสบความสำเร็จ
อาร์โนลด์ แวน เดน เบิร์ก (Arnold Van den Bergh) ถูกทีมสืบสวนพิเศษประกาศว่าเป็นบุคคลที่ทรยศต่อ "แอนน์ แฟรงค์" และเขาเป็นสมาชิกสภาชาวยิวในเมืองอัมสเตอร์ดัม (Jewish Council) หน่วยงานที่บังคับใช้นโยบายนาซีในชุมชนยิวในพื้นที่ แต่องค์กรนี้ถูกยุบไปในปี 1943 และสมาชิกขององค์กรถูกส่งเข้าค่ายกักกัน
เดอะซัน หนังสือพิมพ์อังกฤษชี้ว่า เป็นที่น่าแปลกใจที่ผู้ที่หักหลัง แอนน์ แฟรงค์ ไม่ใช่นาซีที่กระหายอำนาจ แต่เป็นชาวยิวที่ต้องการจะช่วยครอบครัวของตัวเองจากเงื้อมมือนาซี พบว่าเขามีอาชีพเป็นทนายรับรองเอกสาร (Notary Public) ซึ่งในเวลานี้เชื่อว่า บุคคลนี้เป็นผู้ที่ให้ข้อมูลกับหน่วยเอสเอสถึงที่อยู่ของแอนน์ แฟรงค์ และครอบครัวซึ่งซ่อนตัวมาร่วม 2 ปีในเมืองอัมสเตอร์ดัม “Prinsengracht-263” ซึ่งเป็นที่จดจำไปทั่วโลก
บีบีซีรายงานว่า ทีมสืบสวนพิเศษค้นพบว่าขณะที่สมาชิกสภาชาวยิวคนอื่นๆ ถูกส่งไปยังค่ายกักกัน แต่กลับพบว่า แวน เดน เบิร์กเท่านั้นที่ได้รับการยกเว้นและยังสามารถใช้ชีวิตตามปกติในเมืองอัมสเตอร์ดัมต่อไป และอีกทั้งมีข้อมูลบ่งชี้ว่า สมาชิกสภาชาวยิวรายนี้ได้แอบป้อนข้อมูลลับให้กองทัพนาซี
“เมื่อแวน เดน เบิร์ก สูญเสียข้อมูลทั้งหมดสำหรับการปกป้องตัวเขาและครอบครัวไม่ให้ต้องถูกส่งตัวเข้าค่ายกักกัน เขาจำเป็นต้องป้อนข้อมูลที่มีคุณค่าให้พวกนาซีที่เขาติดต่อด้วยที่ปล่อยให้ตัวเขาและภรรยาอยู่ได้อย่างปลอดภัยในเวลานั้น” วินซ์ แพนโค๊ก (Vince Pankoke) อดีตเจ้าหน้าที่ FBI กล่าวในรายการ 60 นาทีทางสถานีโทรทัศน์ CBS
อ้างอิงจากเดอะซันพบว่า แวน เดน เบิร์ก เป็น 1 ใน 7 ของทนายรับรองเอกสารชาวยิวในเมืองอัมสเตอร์ดัมก่อนสงครามจะเกิดขึ้น และพบว่าเขาและภรรยา ออกุสเตอ (Auguste) นั้นมีลูกสาวฝาแฝดคือ เอมมา (Emma) และเอสเธอร์ (Esther) และยังมีลูกสาวคนเล็ก แอนน์ มารี (Anne Marie) ที่มีอายุเท่ากับแอนน์ แฟรงค์ วัย 15 ปี เจ้าของผลงานบันทึกลับของแอนน์ แฟรงค์ (The Diary of a Young Girl)
เดอะซันกล่าวว่า เมื่อกองทัพนาซีเริ่มต้นสังหารหมู่ชาวยิวทั่วยุโรป แวน เดน เบิร์ก ตัดสินใจที่จะทุกวิธีเพื่อที่จะปกป้องครอบครัวของเขา
และในปี 1941 หรือ 1 ปีหลังจากที่เยอรมันบุกยึดเมืองอัมสเตอร์ดัม พบว่า แวน เดน เบิร์ก เป็นหนึ่งในสมาชิกก่อตั้งสภาชาวยิวที่มีหน้าที่ตัดสินใจว่าจะส่งชาวยิวคนใดไปยังค่ายกักกันและต้องประชุมสัปดาห์ละครั้งร่วมกับหน่วยเอสดี ซึ่งเป็นหน่วยข่าวกรองของหน่วยเอสเอสของกองทัพนาซี
ทีมสืบสวนพยายามอย่างหนักสำหรับการเปิดเผยที่มีการบ่งชี้ว่าอาจมีชาวยิวอีกคนเป็นผู้ทรยศแต่ทว่ายังมีหลักฐานปรากฏที่อาจจะช็อกโลกโดยเฉพาะแฟนๆ ของแอนน์ แฟรงค์ที่ว่า... ออตโต แฟรงค์ (Otto Frank) พ่อของแอนน์ แฟรงค์ เจ้าของไดอารีนั้นอาจรู้เรื่องแต่เก็บไว้เป็นความลับ
ทั้งนี้ ในรายงานของทีมสืบสวนชุดก่อนหน้ามีการระบุถึงบันทึกปริศนาที่ส่งไปยังพ่อของแอนน์ แฟรงค์ ที่ระบุชื่อ “อาร์โนลด์ แวน เดน เบิร์ก” เป็นคนที่ทรยศต่อเขาและครอบครัวแฟรงค์
แพนโค๊ก กล่าวให้เหตุผลในรายการถึงการตัดสินใจของออตโต แฟรงค์ ที่ไม่ยอมเปิดเผยความจริงนี้ต่อสาธารณะเนื่องมาจากการต่อต้านชาวยิว
“บางทีเขาอาจจะรู้สึกว่าหากว่าผมนำเรื่องนี้ขึ้นมาอีกครั้ง...มันจะยิ่งทำให้เรื่องลุกลาม” แพนโค๊ก กล่าวในรายการ 60 นาที และเสริมต่อว่า “แต่เราต้องจำไว้ว่าความจริงที่ว่า (แวน เดน เบิร์ก) เป็นชาวยิวที่หมายความว่าเขาถูกพวกนาซีวางไว้ในสถานะที่ไม่สามารถป้องกันตัวเองได้และทำทุกอย่างเพื่อรักษาชีวิตตัวเขาเอง”
ทั้งนี้ หนังสือพิมพ์ดัตช์ de Volkskrant รายงานว่า อาร์โนลด์ แวน เดน เบิร์ก เสียชีวิตในปี 1950
พิพิธภัณฑ์บ้านแอน์ แฟรงค์ (Anne Frank House museum) ซึ่งตั้งอยู่ที่ Westermarkt 201016 DK ในเมืองอัมสเตอร์ดัม กล่าวแสดงความชื่นชมในการค้นพบทีมสืบสวนผ่านแถลงการณ์ โดยผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ โรนัลด์ ลีโอโพลด์ (Ronald Leopold) ชี้ว่า การสอบสวนใหม่ทำให้เกิดการค้นพบข้อมูลใหม่ที่สำคัญและสมมติฐานที่น่าทึ่งซึ่งมีคุณค่าสำหรับการสืบสวนเพิ่มเติมในอนาคต
อย่างไรก็ตาม พิพิธภัณ์บ้านแอนน์ แฟรงค์กล่าวว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงในการสืบสวนนี้แต่ได้อนุญาตให้ทีมสืบสวนสามารถใช้ข้อมูลที่ถูกเก็บรวบรวมไว้รวมไปถึงตัวพิพิธภัณฑ์เพื่อประโยชน์ในการหาข้อมูล