ทีมแพทย์อเมริกันประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก ในการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจหมูที่ผ่านการดัดแปลงพันธุกรรม ให้แก่คนไข้ที่ป่วยด้วยโรคหัวใจระยะสุดท้าย คาดอาจเป็นความหวังในการแก้ปัญหาการขาดแคลนอวัยวะจากการรับบริจาค
การผ่าตัดครั้งประวัติศาสตร์นี้ที่เกิดขึ้นเมื่อวันศุกร์ (7 ม.ค.) โดยทีมแพทย์ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแมริแลนด์ ถือเป็นหนึ่งในการผ่าตัดครั้งแรกๆ ที่แสดงให้เห็นความไปได้ในการปลูกถ่ายหัวใจหมูมายังร่างกายมนุษย์ โดยเฉพาะด้วยเครื่องมือใหม่ๆ ในการตัดต่อพันธุกรรม
นายแพทย์บาร์ตลีย์ กริฟฟิธ ที่เป็นผู้ผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจหมูให้ผู้ป่วยรายนี้ แถลงเมื่อวันจันทร์ (10) ว่า ความสำเร็จนี้อาจทำให้นักวิจัยเข้าใกล้วิธีแก้ปัญหาวิกฤตอวัยวะขาดแคลนอีกก้าวหนึ่ง โดยในเวลานี้เนื่องจากไม่มีหัวใจที่ได้รับการบริจาคมากพอรองรับรายชื่อคนไข้ผู้รอคอยขอรับบริจาคจึงยาวเหยียด
ด้าน เดวิด เบนเน็ตต์ ผู้ป่วยวัย 57 ปี จากแมริแลนด์ กล่าวก่อนการผ่าตัดหนึ่งวันว่า การปลูกถ่ายหัวใจครั้งนี้เป็นโอกาสสุดท้ายของตนเอง ล่าสุดเขาอยู่ระหว่างการพักฟื้นและติดตามอาการอย่างใกล้ชิดเพื่อดูว่า อวัยวะใหม่ทำงานปกติดีหรือไม่
ก่อนหน้านั้น เบนเน็ตต์เป็นผู้ป่วยติดเตียงที่ต้องใช้เครื่องปอดและหัวใจเทียม
เพื่อให้การผ่าตัดเชิงทดลองครั้งนี้เกิดขึ้นได้ มหาวิทยาลัยแมริแลนด์ได้ขออนุญาตฉุกเฉินจากคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐฯ (เอฟดีเอ) ซึ่งให้การอนุมัติเมื่อวันที่ 31 ธันวาคมที่ผ่านมา
นายแพทย์มูฮัมหมัด โมฮุดดิน หัวหน้าโครงการปลูกถ่ายอวัยวะสัตว์ในมนุษย์ของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ เผยว่า เอฟดีเอใช้ข้อมูลของมหาวิทยาลัยและข้อมูลเกี่ยวกับหมูที่ใช้ในการทดลอง ในการพิจารณาอนุญาตการปลูกถ่ายหัวใจขั้นสุดท้ายให้ผู้ป่วยรายนี้ที่ไม่มีทางเลือกให้ใช้การรักษาวิธีอื่นๆ
ขณะที่นายแพทย์กริฟฟิธ ศัลยแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดคราวนี้ซึ่งกระทำกันที่โรงพยาบาลบัลติมอร์ โดยใช้เวลา 7 ชั่วโมง บอกว่า อาการของคนไข้ซึ่งทั้งหัวใจล้มเหลวและมีความผิดปกติในการเต้นของหัวใจ ทำให้เขาไม่สามารถรับการปลูกถ่ายเปลี่ยนหัวใจมนุษย์ ตลอดจนการปั๊มหัวใจได้
นายแพทย์โมฮุดดิน ยังบอกอีกว่า การผ่าตัดครั้งนี้เป็นผลจากการวิจัยนานนับปีเกี่ยวกับการปลูกถ่ายอวัยวะหมูในลิงบาบูน โดยมีระยะเวลารอดชีวิตเกิน 9 เดือน และเสริมว่า กระบวนการที่ประสบความสำเร็จนี้นำมาซึ่งข้อมูลอันมีค่าที่จะช่วยให้ประชาคมการแพทย์ปรับปรุงวิธีรักษาชีวิตผู้ป่วยในอนาคต
ข้อมูลจาก organdonor.gov ระบุว่า ปัจจุบัน มีชาวอเมริกันราว 110,000 คนรอรับการปลูกถ่ายอวัยวะ และแต่ละปีมีผู้ป่วยกว่า 6,000 คนเสียชีวิตระหว่างการรอคอย
หัวใจหมูผ่านการดัดแปลงทางพันธุกรรมที่ใช้ในการผ่าตัดครั้งนี้มาจากรีไววิเคอร์ ซึ่งเป็นบริษัทเวชศาสตร์ฟื้นฟูสภาวะเสื่อมที่ตั้งอยู่ในรัฐเวอร์จิเนีย โดยในช่วงเช้าวันผ่าตัด ทีมปลูกถ่ายอวัยวะได้ย้ายหัวใจหมูและเก็บรักษาไว้ในอุปกรณ์พิเศษเพื่อให้ฟังก์ชันต่างๆ ยังคงทำงานอยู่ระหว่างการผ่าตัด
หมูได้รับการพิจารณาว่าจะเป็นแหล่งที่มาสำคัญที่เป็นไปได้สำหรับการปลูกถ่ายอวัยวะให้แก่คนมานานแล้ว เนื่องจากมีอวัยวะใกล้เคียงมนุษย์ ก่อนหน้านี้มีการวิจัยเพื่อปลูกถ่ายอวัยวะต่างๆ ของหมู เช่น ตับ ไต และปอด ในมนุษย์ ทว่า การปลูกถ่ายหลายครั้งในอดีตล้มเหลวเนื่องจากความแตกต่างด้านพันธุกรรมที่ทำให้มีร่างกายมนุษย์ปฏิเสธอวัยวะ หรือไม่ก็จากไวรัสที่ทำให้มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ
อย่างไรก็ดี นักวิจัยของมหาวิทยาลัยแมริแลนด์ได้จัดการปัญหาเหล่านี้ด้วยการตัดต่อยีน 3 ตัวที่ก่อนหน้านี้เชื่อมโยงกับการปฏิเสธอวัยวะออกจากหมูที่เป็นผู้บริจาค และใส่ยีนของมนุษย์ 6 ตัวที่เชื่อมโยงกับการยอมรับของระบบภูมิคุ้มกันเข้าไปในจีโนมของหมู
นักวิจัยยังตัดยีนเพื่อป้องกันไม่ให้เนื้อเยื่อหัวใจหมูเจริญเติบโตมากเกินไปออกอีกด้วย
นอกจากนี้ เบนเน็ตต์ยังได้รับยาป้องกันการปฏิเสธอวัยวะที่ปลูกถ่ายของคินิกซา ฟาร์มาซูติคัลส์ ที่ตั้งอยู่ในรัฐแมสซาชูเสตส์
(ที่มา : เอเอฟพี, เอพี, รอยเตอร์)