เอพี/เอเจนซีส์/MGRออนไลน์ - “fake it until you make it” อาจเป็นสิ่งที่ เอลิซาเบธ โฮล์มส์ วัย 37 ปี ซีอีโอใหญ่บริษัทเทคโนโลยีทางการแพทย์ในการตรวจเลือดชื่อดัง “เทราโนส” ใช้ จนกระทั่งล่าสุดเมื่อวันจันทร์ (3 ม.ค.) คณะลูกขุนศาลรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ในเมืองซานโฮเซ ตัดสินว่ามีความผิดในคดีฉ้อโกงในมหากาพย์อเมริกันดรีมซิลิคอนแวลลีย์ ลาออกจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดชื่อดังตั้งแต่อยู่ปี 2 ระดมทุนจากคนดัง ทั้งรูเพิร์ต เมอร์ด็อค รวมถึง แลร์รี เอลลิสัน ตั้งบริษัทสตาร์ทอัป “เทราโนส” กระหึ่มจากการค้นพบวิธีตรวจเลือดแห่งอนาคต จนบริษัทมีมูลค่า 9 พันล้านดอลลาร์กลายเป็น “สตีฟ จ็อบส์ เวอร์ชัน 2.0” ของอเมริกา มีคอนเน็กชันกับบุคคลทางการเมืองหลายคน รวม เฮนรี คิสซินเจอร์ และประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนปัจจุบัน แต่สุดท้ายถูกแฉว่าเป็นแค่การต้มตุ๋นเทคโนโลยีที่ว่าไม่มีจริง
เอพีรายงานเมื่อวานนี้ (5 ม.ค.) ว่า คดีประวัติศาสตร์ที่สร้างความสนใจไปทั่วอเมริกาในประเทศที่ยกย่องคนเก่งที่สร้างตัวเองขึ้นมาจนประสบความสำเร็จ
คดีฉาวบริษัทสตาร์ทอัป เทราโนส (Theranos) โยงใยบุคคลสำคัญ ตั้งแต่เจ้าพ่อสื่อโลกตะวันตก โรเพิร์ต เมอร์ด็อค Rupert Murdoch ซีอีโอบริษัทซอฟต์แวร์ แลร์รี เอลลิสัน (Larry Ellison) ตระกูลวอลตัน (Walton) แห่งห้างวอลมาร์ท ไปจนถึงเฮนรี คิสซินเจอร์ (Henry Kissinger) และประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนปัจจุบัน โจ ไบเดน ถูกคณะลูกขุนตัดสินของศาลรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ในเมืองซานโฮเซ (San Jose) ในวันจันทร์ (3) ตัดสินให้ เอลิซาเบธ โฮล์มส (Elizabeth Holmes) วัย 37 ปี อดีตซีอีโอใหญ่ผู้ก่อตั้งบริษัทมีความผิดในคดีฉ้อโกง ทำให้นักลงทุนเชื่อว่าบริษัทสตาร์ทอัป “เทราโนส” มีนวัตกรรมเครื่องมือที่สามารถตรวจจับโรคได้มากมาย รวมไปถึงอาการป่วยต่างๆ จากแค่ใช้วิธีวิเคราะห์ผลเลือดตรวจเลือดแห่งอนาคตของเธอที่ใช้ตัวอย่างเลือดเพียงไม่กี่หยด
ในรายงานของบีบีซี สื่ออังกฤษ อัยการสหรัฐฯ ชี้ว่า โฮล์มส์ โกหกเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่เธออ้างว่าสามารถค้นพบโรคจำนวนมากเพียงใช้ตัวอย่างเลือดจำนวนเล็กน้อย
แต่อย่างไรก็ตาม คณะลูกขุนในวันจันทร์ (3) พบว่าเธอ "มีความผิด" ในข้อหาสมคบคิดฉ้อโกงต่อกลุ่มนักลงทุนและอีก 3 ข้อหาในการฉ้อโกงทางอิเล็กทรอนิกส์ (wire fraud)
โฮล์มส์เดินทางออกมาจากศาลหลังฟังคำตัดสินจากคณะลูกขุนในเมืองซานโฮเซ ซึ่งเธอปฏิเสธความผิดในทุกข้อกล่าวหา ซึ่งแต่ละข้อหามีโทษจำคุกสูงสุด 20 ปีในเรือนจำ นักข่าวรายงานว่า โฮล์มส์ซึ่งเป็นหญิงอเมริกันผิวขาวผมบลอนด์อยู่ในชุดสูทนักธุรกิจหญิงแสดงอารมณ์เล็กน้อยเมื่อคำตัดสินถูกอ่านออกมา และเธอตรงเข้าสวมกอดสามี บิลลี อีแวนส์ (Billy Evans) และพ่อแม่ของตัวเองก่อนเดินทางออกจากศาลไป
สื่ออังกฤษชี้ว่า โฮล์มส์ถูกดำเนินคดีทั้งหมด 11 ข้อหาแต่ไม่พบมีความผิดในอีก 4 ข้อหาที่เกี่ยวข้องกับการฉ้อโกงสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับแพทย์ พยาบาล และผู้ป่วยที่ได้รับผลการตรวจเลือดผิดพลาดที่อาจถึงแก่ชีวิต
โดยอัยการสหรัฐฯ สเตฟานี ฮินด์ส (Stephanie Hinds) กล่าวในแถลงการณ์ที่เป็นลายลักษณ์อักษร ระบุว่า สำหรับความผิดในการฉ้อโกงสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยนั้นเป็นการยากที่จะพิสูจน์ เพราะโฮล์มส์ไม่เคยติดต่อโดยตรงกับคนเหล่านั้นต่างจากกลุ่มผู้ถือหุ้น
ด้านศาสตราจารย์โรเบิร์ต เวสเบิร์ก (Robert Weisberg) ประจำคณะกฎหมาย มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดแสดงความเห็นเพิ่มเติมผ่านบล็อกประจำคณะว่า คดีฉ้อโกงสาธารณะนั้นเป็นคดีที่มีสัดส่วนน้อยสำหรับคดีภาครัฐ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้พิพากษาคดีเทราโนสต้องการจำกัดระยะเวลาของคดี แต่เชื่อว่าคณะลูกขุนรู้สึกเคลือบแคลงสงสัยเป็นเพราะต่างจากบรรดานักลงทุนส่วนใหญ่ที่แพทย์และคนไข้ส่วนใหญ่เชื่อในคำโฆษณาของบริษัทเทราโนส หรือจากการรู้มาจากที่อื่นที่เกี่ยวข้องกับคำอ้างของเจ้าของบริษัท เอลิซาเบธ โฮล์มส์
เวสเบิร์ก ยังชี้ไปถึงคำให้การของคนไข้ในข้อเท็จจริงที่สับสนเกี่ยวข้องความเสียหายทางสุขภาพและการเงินที่พวกเขาได้รับที่สามารถโยงใยโดยตรงไปถึงโฮล์มส์
เอลิซาเบธ โฮล์มส์ ปัจจุบันวัย 37 ปี เป็นตัวแทนความฝันอเมริกันชนที่ชื่นชมในคนธรรมดาที่มีความฉลาดระดับอัจฉริยะและสามารถประสบความสำเร็จ มีทรัพย์สินพันล้านด้วยการสร้างจากลำแข้งของตัวเอง เธอถูกขนานนามว่าเป็น สตีฟ จ็อบส์ เวอร์ชัน 2.0 และไม่ต่างจาก มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก ที่ยอมลาออกจากมหาวิทยาลัยชื่อดังเพื่อมาตั้งบริษัทของตัวเอง
CNN สื่อสหรัฐฯ รายงานว่า โฮล์มส์ได้แรงบันดาลใจจากการกลัวเข็มฉีดยา และตั้งบริษัทของตัวเองเมื่อมีอายุ 19 ปีในปี 2003 และลาออกจากสาขาวิศวกรรมเคมีของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ในขณะที่อยู่ชั้นปี 2 โดยชื่อบริษัทเทราโนส หรือ Theranos นั้นมาจากคำว่า therapy และ diagnose
โฮล์มส์ที่ได้ถูกขนานนามว่าเป็นสตีฟ จ็อบส์คนถัดไปมีความหลงไหลคลั่งไคล้ในตัวผู้ก่อตั้งบริษัทแอปเปิลเป็นอย่างมาก โดยหนังสือพิมพ์เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์ ชี้ว่า เธอได้รับแรงบันดาลใจในการแต่งตัวของจ็อบส์ที่กลายเป็นเอกลักษณ์ของซีอีโอบริษัทแอปเปิลคนปัจจุบันมาใช้เพื่อสร้างจุดเด่นด้วยชุดดำพร้อมเสื้อคอเต่าสีดำ ผมบลอนด์หางม้า และลิปสติกสีแดง รวมไปถึงเสียงที่ทุ้มต่ำกว่าปกติทั่วไป แต่ทว่าอดีตพนักงานบริษัท อานา อาร์ริโอลา (Ana Arriola) ออกมาแฉว่าสิ่งเหล่านี้เป็นโฮล์มส์สร้างขึ้นมาในภายหลังเพื่อทำให้ตัวเองดูมีความน่าเชื่อถือ
อาร์ริโอลา เปิดเผยว่าในช่วงปีแรกๆ ของบริษัท โฮล์มส์สวมเสื้อสเวตเตอร์เทศกาลคริสต์มาสที่ตลกและเชย และเสียงของโฮล์มส์ดูปกติ ไม่ได้มีเสียงทุ้มต่ำเหมือนเช่นในการให้สัมภาษณ์ระยะหลังจากนั้น
การปฏิวัติทางการแต่งกายของโฮล์มส์ แสดงให้เห็นถึงการสร้างบุคลิกภาพใหม่ของเธอเพื่อให้เป็นที่รู้จักและน่าเชื่อถือในแวดวงซิลิคอนแวลลีย์ ที่ขึ้นชื่อว่าผู้ชายเป็นใหญ่และเป็นพวกกลุ่มคนอัจฉริยะโดยอาร์ริโอ ก่อนที่จะมาร่วมงานกับเทราโนส เธอเคยทำงานให้กับบริษัทแอปเปิลและมีส่วนในการออกแบบโทรศัพท์ไอโฟน
อดีตพนักงานเทอราโนส เปิดเผยว่า โฮล์มส์ถามเธอเกี่ยวกับการแต่งกายของสตีฟ จ็อบส์ที่เธอชี้ว่าเขามีความประทับใจจากผลงานนักออกแบบชาวญี่ปุ่น อิเซ่ มิยาเกะ (Issey Miyake) ที่เคยสร้างสรรค์ชุดเสื้อผ้าฝ่ายบริหารให้บริษัทโซนี่มาแล้ว และการเปลี่ยนภาพลักษณ์ตามจ็อบส์ ทำให้โฮล์มส์ประสบความสำเร็จบนหน้าปกนิตยสารชื่อดัง เป็นต้นว่า นิตยสารฟอร์จูน ฟอร์บส์ และนิวยอร์กไทม์ส สไตล์
ทั้งนี้ หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์สเคยรายงานเกี่ยวกับโฮล์มส์ ว่า เธอได้สร้างรูปลักษณ์ของตัวเองขึ้นมาเพื่อให้สอดคล้องกับค่านิยมตามวัฒนธรรมของซิลิคอนแวลลีย์ ที่ว่า การมีเครื่องแบบที่เป็นมาตรฐานทำให้ไม่ต้องเสียเวลาที่จะคิดว่าต้องสวมอะไรในวันพรุ่งนี้ แต่ให้ความสนใจไปที่งานเป็นอย่างเดียว
บริษัทเทราโนสของโฮล์มส์ที่สร้างขึ้นมานั้นเสนอทางเลือกในการตรวจพบโรคเป็นจำนวนมากและปัญหาสุขภาพอื่นๆ ที่มีค่าใช้จ่ายถูกกว่า สะดวกสบายมากขึ้นและเจ็บปวดน้อยลงด้วยการใช้ตัวอย่างเลือดจากการเจาะที่ปลายนิ้วจำนวนไม่กี่หยด แทนที่จะต้องแทงเข็มเข้าเส้นเลือดเหมือนทั่วไป
เอพีพบว่า เธอมีเป้าหมายต้องการเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมแล็บเทคนิกการแพทย์ที่มีบริษัทยักษ์ใหญ่ Quest Diagnostics และ Labcor คุมอยู่ด้วยการจับมือเป็นพันธมิตรกับบริษัทร้านยายักษ์ใหญ่ วอลกรีนส์ (Walgreens) และห้างเซฟเวย์ (Safeway) เพื่อตั้งห้องแล็บขนาดเล็กทั่วสหรัฐฯ โดยใช้เครื่องมือของเทราโนส ชื่อ เอดิสัน (Edison) สำหรับการประเมินผลตรวจเลือดได้อย่างรวดเร็ว แต่สิ่งที่คนไม่รู้ในเวลานั้นคือเทคโนโลยีใหม่นี้ส่งผลตรวจผิดพลาดให้ผู้ป่วยจำนวนมากที่มาใช้บริการที่ร้านขายยาวอลกรีนส์ ซึ่งหลักฐานปรากฏในชั้นไต่สวนยังแสดงให้เห็นว่า เอลิซาเบธ โฮล์มส์ โกหกในข้อตกลงที่บริษัทของเธอทำร่วมกับบริษัทยาไฟเซอร์ และกองทัพสหรัฐฯ
บริษัทเทราโนสโด่งดังเป็นพลุแตกในปี 2014 แต่ทว่าหลังจากนั้น John Carreyrou นักข่าวจากวอลสตรีทเจอร์นัลในปี 2015 ได้เปิดเผยตีแผ่ความลับที่นำมาสู่การตัดสินความผิดฉ้อโกงของคณะลูกขุนศาลรัฐบาลกลางเมืองซานโฮเซในวันจันทร์ (3) ในที่สุด
ทั้งนี้ พบว่านักข่าววอลสตรีทเจอร์นัลที่โด่งดังได้รับเบาะแสข้อมูลที่สงสัยในประสิทธิภาพเทคโนโลยีของเทราโนส และความสนใจของเขาที่งุนงงที่โฮล์มส์ ซึ่งเพิ่งเรียนไปแค่ 2 ภาคการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดจะสามารถคิดค้นเทคโนโลยีล้ำยุคทางการแพทย์ได้สำเร็จ รวมไปถึงหน่วยตรวจสอบภายในของเทราโนสพบถึงอันตรายอย่างใหญ่หลวงในความผิดพลาดของเทคโนโลยีบริษัทที่นำไปสู่การล้มครืนในที่สุด
เอพีชี้ว่า จากแนวความคิดเทคโนโลยีใหม่ของเธอและวิธีการที่เธอใช้ในการนำเสนอส่งผลทำให้นักลงทุนมหาเศรษฐีต่างให้ความสนใจลงทุน และทำให้โฮล์มส์ประสบความสำเร็จสามารถระดมทุนให้เทราโนสได้มากกว่า 900 ล้านดอลลาร์ ที่มีบุคคลมีชื่อเสียงตกเป็นเหยื่อเช่น เจ้าพ่อสื่อโลกตะวันตก โรเพิร์ต เมอร์ด็อค (Rupert Murdoch) ซีอีโอบริษัทซอฟต์แวร์ แลร์รี เอลลิสัน (Larry Ellison) ตระกูลวอลตัน (Walton) แห่งห้างวอลมาร์ท และตระกูลดิวอส์ (DeVos) ที่อยู่เบื้องหลังธุรกิจเครือข่ายแอมเวย์ อ้างอิงจากบีบีซีในจุดหนึ่งบริษัทมีความมั่งคั่งร่วม 9 พันล้านดอลลาร์
ทั้งนี้ โฮล์มส์ยังข้องเกี่ยวคนแวดวงการเมืองสหรัฐฯ เป็นต้นว่า อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เฮนรี คิสซินเจอร์ อดีตรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ เจมส์ แมททิส อดีตวุฒิสมาชิกสหรัฐฯ แซม นันน์ (Sam Nunn) รวมไปถึงในปี 2015 เคยมีโอกาสขึ้นกล่าวพรีเซนต์บนเวที และมี แจ็ค หม่า จากบริษัทอาลีบาบาเข้าร่วมให้กับอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ บิล คลินตัน ที่ลงจากตำแหน่งแล้วในเวลานั้น และประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนปัจจุบัน โจ ไบเดน ยังเคยแสดงความชื่นชมในตัวโฮล์มส์เมื่อครั้งที่เขาเดินทางไปเยือนบริษัทเทราโนสในปี 2015 ในขณะดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ
เอลิซาเบธ โฮล์มส์ ถูกสั่งฟ้องดำเนินคดีในปี 2018 โฮล์มส์ที่มักจะพูดจาด้วยความเชื่อมั่นในตัวเองเป็นอย่างสูงและแวดล้อมไปด้วยบุคคลที่มีชื่อเสียง เป็นต้นว่า มีอดีตผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมและการป้องกันโรคสหรัฐฯ CDC นั่งอยู่ในบอร์ดบริษัท และแมททิส อดีตรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ สมัยทรัมป์ยังคอยสนับสนุนเธอ ซึ่งการโอ้อวดและการโปรโมตตัวเองเป็นสิ่งที่มักเกิดขึ้นเสมอในซิลิคอนแวลลีย์ โดย NPR สื่อสหรัฐฯ ชี้ว่า เทราโนสถือเป็นตัวอย่างของวัฒนธรรมของซิลิคอนแวลลีย์ที่ว่า “fake it until you make it” ที่มีความหมายตามวิกีพีเดียที่ว่า พยายามแสดงให้ดูมีความมั่นใจหรือการมองโลกในแง่บวกจนกระทั่งคุณสมบัติเหล่านี้เป็นจริง แต่ทว่าในกรณีของโฮล์มส และเทราโนสนั้นอาจกล่าวได้ว่า เป็นตัวอย่างของการเสแสร้งหลอกลวงและสร้างภาพจนกระทั่งประสบความสำเร็จ