xs
xsm
sm
md
lg

สุดฮือฮา! ศาลสูงอังกฤษสั่ง “เจ้าผู้ครองนครดูไบ” จ่ายค่าหย่าขาดอดีตพระชายาที่ลอบมีสัมพันธ์สวาทกับราชองครักษ์หนุ่มผิวขาวแดนผู้ดีสูงลิ่ว 728 ล้านดอลลาร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเจนซีส์ - กลายเป็นที่ฮือฮาไปทั่วเมื่อศาลอังกฤษวันอังคาร (21 ธ.ค.) ออกคำสั่งเจ้าผู้ปกครองดูไบ ชีค โมฮัมเหม็ด บิน ราชิด อัล-มัคตูม จ่ายค่าเลี้ยงดูสูงถึง 728 ล้านดอลลาร์ในคดีหย่าร้างกับอดีตพระชายา เจ้าหญิงฮายา วัย 47 พรรษา หลังแอบหลบมาอาศัยในอังกฤษตั้งแต่ปี 2019 พร้อม 2 พระธิดา กลายเป็นหนึ่งในคดีหย่าร้างบนศาลอังกฤษที่มีราคาแพงที่สุดในประวัติศาสตร์

CNN สื่อสหรัฐฯ รายงานวันนี้ (21 ธ.ค.) ว่า ในคำพิพากษาที่ถูกเผยแพร่ในวันอังคาร (21) ผู้พิพากษาศาลสูงอังกฤษและเวลส์ ท่านผู้พิพากษามัวร์ (เซอร์ ฟิลิป มัวร์ : Sir Philip Moor) พบว่าภัยคุกคามสูงสุดที่อดีตพระชายาเจ้าผู้ครองนครดูไบ เจ้าหญิงฮายา บินต์ อัล-ฮุสเซน (Princess Haya bint al-Hussein) และพระธิดา 2 พระองค์ของพระองค์คือ เจ้าหญิงจูลิลา (Jalila) และเจ้าหญิงซาเยด (Zayed) นั้นมาจาก ชีค โมฮัมเหม็ด บิน ราชิด อัล-มัคตูม (Sheikh Mohammed bin Rashid al-Maktoum) อดีตพระสวามี  73 พรรษา เจ้าครองนครดูไบ และยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่มีอำนาจล้นฟ้าและมีประวัติการคุกคามเจ้าหญิงฮายา ปัจจุบันวัย  47 ปี และยังเป็นพระชายาอายุน้อยที่สุดของพระองค์ที่มีไม่ต่ำกว่า 6 คน ตั้งแต่การแอบใช้สปายแวร์เพื่อแฮกโทรศัพท์มือถือพระชายาและคนรอบข้างของพระนางระหว่างที่กระบวนการในชั้นศาลอังกฤษยังคงอยู่ พยายามใช้เงิน 30 ล้านปอนด์เพื่อซื้อบ้านติดกับพระชายาเพื่อหาทางคุกคาม

ทั้งนี้ ในคดีประนีประนอมหย่าร้างของชีคเจ้าครองนครดูไบ พบว่า ท่านผู้พิพากษามัวร์ออกคำสั่งให้ชีคโมฮัมเหม็ดต้องจ่ายค่าเลี้ยงดูแก่เจ้าหญิงฮายามูลค่าสูงถึง 728 ล้านดอลลาร์ หรือราว 500 ล้านปอนด์ ถือเป็นหนึ่งในในคดีหย่าร้างบนศาลอังกฤษที่มีมูลค่าสูงที่สุดในประวัติศาสตร์เท่าที่เคยมีมา

โดยตัวเลขค่าเลี้ยงดู 728 ล้านดอลลาร์นี้ครอบคลุมไปถึงค่าใช้จ่ายในการรักษาความปลอดภัยตลอดชีวิตของเจ้าหญิงฮายา และค่าเลี้ยงดูของพระธิดาทั้ง 2 พระองค์ คือ เจ้าหญิงจูลิลา และเจ้าหญิงซาเยด ที่เสด็จมาอังกฤษพร้อมกับพระมารดา

เดลีเมล สื่ออังกฤษรายงานว่า เจ้าหญิงฮายาทรงแอบหลบหนีออกมาจากนครดูไบ มาที่อังกฤษตั้งแต่เมษายนปี 2019 หลังพระนางพบปืนที่มีกระสุนโหลดไว้ในห้องบรรทมและพระนางยังได้รับการบอกว่าอาจมีเฮลิคอปเตอร์บินลงจอดในพระราชวังเพื่อนำพระองค์ไปเรือนจำ ทำให้เจ้าหญิงฮายาทรงกลัวว่าอาจจะมีภัยถึงแก่ชีวิต

ในคำพิพากษาจำนวน 73 หน้าของศาลสูงสุดอังกฤษ พบว่า ชีคโมฮัมเหม็ด ต้องจ่ายเงินค่าเลี้ยงดูล่วงหน้าอีกจำนวน 333 ล้านดอลลาร์หรือราว 251.5 ล้านปอนด์ในกำหนด 3 เดือนข้างหน้า พร้อมกับให้ค้ำประกันทางธนาคารจำนวน 290 ล้านปอนด์สำหรับการจ่ายประจำปี

อ้างอิงจากเดลีเมล สื่ออังกฤษพบว่า เงินจำนวน 251.5 ล้านปอนด์ที่ท่านผู้พิพากษามัวร์สั่งให้จ่ายล่วงหน้านี้เป็นค่าใช้จ่ายการอารักขาเจ้าหญิงฮายา และพระธิดาทั้ง 2 พระองค์จากการถูกคุกคามและลักพาตัวพระธิดากลับเมืองดูไบ

และจำนวนเงิน 290 ล้านปอนด์ พบว่า เป็นเงินค่าเลี้ยงดูพระธิดาตลอดพระชนม์ชีพของเจ้าหญิงจาลิลาวัย 14 พรรษา และเจ้าหญิงซาเยด วัย 9 พรรษา

เดอะการ์เดียนชี้ว่า ศาลสูงอังกฤษและเวลส์ออกคำสั่งให้เจ้าผู้ครองนครดูไบจ่ายค่าคุ้มกันตลอดชีวิตแก่อดีตพระชายาที่ครองคู่กันมานาน 16 ปีเป็นเงินจ่ายล่วงหน้ามากกว่าที่จะเป็นการจ่ายประจำปี เพราะศาลเกรงว่าอาจจะนำไปสู่สถานการณ์ที่อดีตพระสวามีของเจ้าหญิงฮายา อาจต้องการลดจำนวนเงินที่ต้องจ่ายลงและอาจเป็นการทำให้พระนางมีความปลอดภัยน้อยลงจากอดีตพระสวามี

ทั้งนี้ เจ้าหญิงฮายาในระหว่างประทับอยู่ในนครดูไบ ทรงได้รับเงินค่าใช้จ่ายภายในราชวังจำนวน 83 ล้านปอนด์ต่อปี รวมไปถึงเงินประจำปีส่วนพระองค์อีก 9 ล้านปอนด์และของกำนัลมูลค่าสูงอื่นๆ สื่ออังกฤษชี้ว่าในกระบวนการทางยุติธรรมอังกฤษไม่พบว่าพระนางทรงเรียกร้องเป็นเงินอื่นๆ สำหรับพระองค์ นอกจากพระประสงค์เงินชดเชยครอบคลุมไปถึงเครื่องประดับและฉลองพระองค์ส่วนพระองค์ที่พระองค์ต้องเสียไปเนื่องมาจากการหย่าร้าง

ในคำพิพากษาศาลอังกฤษวันอังคาร (21) ได้แสดงไปถึงชีวิตสมรสของพระนางเพราะในระหว่างที่ยังทรงเป็นพระชายาในเจ้านครดูไบ พระนางลอบมีสัมพันธ์สวาทกับหนึ่งในราชองครักษ์ที่มีทั้งหมด 4 คน โดยมีหลักฐานปรากฏชัดว่าเจ้าหญิงฮายา ทรงจ่ายค่าแบล็กเมล์ให้ 3 ราชองครักษ์ ราว 8.8 ล้านดอลลาร์ หรือราว 7 ล้านปอนด์เพื่อให้เรื่องเงียบหลังจากถูกคนเหล่านี้ข่มขู่จะนำเรื่องออกแฉ

ซึ่งพระนางทรงยอมรับต่อศาลอังกฤษอย่างไม่อายว่าพระองค์ใช้เงินบัญชีธนาคารของพระธิดาเพื่อจ่ายค่าแบล็กเมล์ปิดปาก ซึ่งพระนางชี้ว่าการใช้เงินจากบัญชีพระธิดานั้นเป็นสิ่งที่สะดวกและพระองค์ทรงตั้งพระทัยที่จะจ่ายกลับคืนแต่ยังไม่ได้กระทำ

เดลีเมลกล่าวในรายละเอียดถึงความสัมพันธ์สวาทระหว่างพระนาง และราชองครักษ์ที่มีชื่อว่า รัสเซล ฟลาวเวอร์ส (Russell FlowersFlower) วัย 37 ปี ซึ่งเป็นอดีตทหารอังกฤษผิวขาว พบว่าเขาเคยรับราชการทหารเป็นระยะเวลา 5 ปีในกรมทหารราบชื่อดังของอังกฤษ PWRR (The Princess of Wales's Royal Regiment) ก่อนที่จะเริ่มต้นทำงานอารักขาแบบเต็มเวลาให้เจ้าหญิงฮายา เมื่อปี 2016 และยังติดตามอารักขาเจ้าหญิงในการเสด็จไปต่างแดนหลายหน

เดลีเมลชี้ว่า เขาเริ่มต้นมีความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับพระนางหลังจากถูกส่งไปอารักขาเจ้าหญิงฮายาที่พระตำหนักดาลแฮม (Dalham Hall) พื้นที่ราว 3,000 เอเคอร์ หรือ 7,590 ไร่ ในซัฟฟอล์ก (Suffolk) อังกฤษ

เพื่อนใกล้ชิดแหล่งข่าวระบุว่า ทั้งคู่มีห้องเชื่อมถึงกันในระหว่างการเสด็จต่างแดนของเจ้าหญิงฮายา และมิสเตอร์ฟลาวเวอร์ส ตามอารักขา ซึ่งในรายงานพบว่า มิสเตอร์ฟลาวเวอร์ส ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นในเรื่องนี้กับเดลีเมล อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับเจ้าหญิงแห่งดูไบทำให้มิสเตอร์ฟลาวเวอร์ส ต้องจบชีวิตครอบครัวนาน 4 ปีของตัวเองลง

ทั้งนี้ เจ้าหญิงฮายาทรงให้การในชั้นศาลถึงเงินค่าปิดปากว่า “เงินเหล่านี้เป็นสิ่งที่ข้าพเจ้าสามารถได้มาเพื่อการจ่ายอย่างรวดเร็วนั้นเป็นสิ่งที่ข้าพเจ้าสามารถเข้าถึงได้”

อย่างไรก็ตาม ศาลอังกฤษแสดงความเห็นใจพระนางที่ไม่สมควรที่จะมีใครต้องถูกแบล็กเมล์ และเชื่อว่าพระองค์ทรงมีความหวาดกลัวต่อภัยคุกคามอย่างแท้จริง แต่ยังเตือนว่าเห็นสมควรให้เจ้าหญิงฮายาใช้เงินส่วนพระองค์ที่ทรงได้รับเพื่อจ่ายค่าแบล็กเมล์มากกว่า

โดยในศาลไม่มีการระบุชื่ออดีตราชองครักษ์ 3 คนที่แอบรับเงิน โดยมีการระบุเพียงชื่อย่อว่า มิสเตอร์ เอ. มิสเตอร์ บี. และมิสเตอร์ ซี. ที่ถูกกล่าวว่ามิสเตอร์ เอ.ได้รับ 2.5 ล้านปอนด์ ขณะที่มิสเตอร์ บี.และมิสเตอร์ ซี แบ่งกันในจำนวนเงิน 4.45 ล้านปอนด์

เจ้าผู้ครองนครดูไบและเจ้าหญิงฮายา

(ขวา) เจ้าผู้ครองนครดูไบ ชีค โมฮัมเหม็ด บิน ราชิด อัล-มัคตูม และ (กลาง) สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งอังกฤษ

(วงกลม) อดีตราชองครักษ์ที่มีความสัมพันธ์ รัสเซล ฟลาเวอร์ส (กลาง) เจ้าหญิงฮายา และ (ขวา) เจ้าผู้ครองนครดูไบ ชีค โมฮัมเหม็ด บิน ราชิด อัล-มัคตูม

พระตำหนักดาลแฮม (Dalham Hall) ที่มีพื้นที่กว้างราว  3


กำลังโหลดความคิดเห็น