xs
xsm
sm
md
lg

‘ฮาร์วาร์ด’และ‘กูเกิล’เตือน‘สหรัฐฯ’ ระวัง‘จีน’กำลังก้าวขึ้นครอบงำ‘เทค’แห่งอนาคต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เดวิด พี. โกลด์แมน


จีนกำลังกลายเป็นคู่แข่งที่จริงจังน่ากลัวของสหรัฐฯ ในเรื่องเทคโนโลยีซึ่งเป็นพื้นฐานของศตวรรษที่ 21
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Harvard and Google warn of China’s tech dominance
By DAVID P. GOLDMAN
09/12/2021

จีนกลายเป็นคู่แข่งที่จริงจังน่าวิตกไปแล้ว ในเรื่องเทคโนโลยีพื้นฐานทั้งหลายของศตวรรษที่ 21 ซึ่งได้แก่ ปัญญาประดิษฐ์, 5จี, วิทยาการข้อมูลข่าวสารควอนตัม, เซมิคอนดักเตอร์, เทคโนโลยีชีวภาพ, และ พลังงานสีเขียว โดยที่ “ในการแข่งขันบางด้าน พวกเขากลายเป็นอันดับ 1 เรียบร้อยแล้ว ขณะที่ในด้านอื่นๆ เมื่อดูจากเส้นทางโคจรในปัจจุบัน จีนก็จะแซงหน้าสหรัฐฯได้ภายในทศวรรษหน้า” รายงานฉบับใหม่ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดระบุ

ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เกรแฮม แอลลิสัน (Graham Allison) และอดีตซีอีโอของกูเกิล อีริค ชมิดต์ (Eric Schmidt) เตือนว่า จีนน่าจะกลายเป็นผู้นำของโลกในเทคโนโลยีด้านต่างๆ ที่เป็นตัวตัดสินชี้ขาดอนาคต พวกเขาเสนอเอาไว้เช่นนี้ในรายงานฉบับใหม่ที่ส่งให้แก่ ศูนย์กลางเบลเฟอร์ (Belfer Center) ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.belfercenter.org/sites/default/files/GreatTechRivalry_ChinavsUS_211207.pdf)

ผู้เขียนรายงานทั้งสองเตือนว่า “จีนกลายเป็นคู่แข่งที่จริงจังน่าวิตกไปแล้ว ในเรื่องเทคโนโลยีพื้นฐานทั้งหลายของศตวรรษที่ 21 ซึ่งได้แก่ ปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence หรือ AI), 5จี, วิทยาการข้อมูลข่าวสารควอนตัม (quantum information science หรือ QIS), เซมิคอนดักเตอร์, เทคโนโลยีชีวภาพ, และ พลังงานสีเขียว

“ในการแข่งขันบางด้าน พวกเขากลายเป็นอันดับ 1 เรียบร้อยแล้ว ขณะที่ในด้านอื่นๆ เมื่อดูจากเส้นทางโคจรในปัจจุบัน จีนก็จะแซงหน้าสหรัฐฯได้ภายในทศวรรษหน้า”

รายงานชิ้นนี้ปรากฏออกมา ในฐานะเป็นผลพวงของ “โครงการเพื่อหลีกเลี่ยงสงครามระหว่างมหาอำนาจยิ่งใหญ่” (Avoiding Great Power War Project) โดยที่เมื่อปี 2018 แอลลิสันได้ผลักดันเสริมต่อทฤษฎีแนวความคิดเรื่อง “กับดักทิวซิดิดีส” (Thucydides Trap) ที่เขาเสนอเอาไว้ ซึ่งมีเนื้อหาสาระเป็นการย้ำเตือนว่า การที่มหาอำนาจซึ่งกำลังก้าวผงาดขึ้นมาใหม่ ท้าทายมหาอำนาจเดิมที่ปักหลักมั่นคงอยู่เดิมแล้วนั้น บ่อยครั้งทีเดียวในประวัติศาสตร์ มันจะนำไปสู่สงคราม

รายงานความยาว 50 หน้าฉบับนี้ เป็นการสรุปพวกเอกสารตลอดจนวัสดุที่มีการเผยแพร่ต่อสาธารณชนอยู่แล้ว และไม่ได้มีการเปิดเผยสิ่งใหม่ๆ น่าตื่นตาตื่นใจใดๆ ผมเองได้รายงานเนื้อหาเหล่านี้เกือบทั้งหมดเอาไว้แล้วในหนังสือตีพิมพ์เมื่อปี 2020 ของผม เรื่อง You Will Be Assimilated: China’s Plan to Sino-Form the World
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.amazon.com/You-Will-Be-Assimilated-Sino-form/dp/1642935409/ref=sr_1_2?crid=BX6II3ZV4AN0&keywords=you+will+be+assimilated+china%2527s+plan+to+sino-form+the+world&qid=1639009000&sprefix=you+will+be+assim%252Caps%252C268&sr=8-2)

ทว่าน้ำหนักของเอกสารซึ่งพวกเขารวบรวมมานั้นต้องถือว่าน่าประทับใจ พวกเขาสรุปรายงานชิ้นนี้ด้วยการอ้างอิงข้อความจากรายงานเมื่อปี 2020 ของบัณฑิตยสภาศิลปะและวิทยาศาสตร์อเมริกัน (American Academy of Arts and Sciences) ที่บอกว่า “พิจารณาจากขนาดขอบเขตอันมหึมาตลอดจนอัตราความก้าวหน้าของเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งของจีน สหรัฐฯจะพบว่าการพลิกตัวไต่ขึ้นมาใหม่จากการไหลรูดลงต่ำของตนเองนั้น จะเป็นเรื่องที่ทำได้ด้วยความยากลำบากมาก ... ถ้าหากเราละเลยเพิกเฉยประเด็นปัญหานี้ ความตกต่ำในชีวิตความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจของพลเมืองของเรา ตลอดจนในความสามารถของเราที่จะส่งอิทธิพลต่อกิจการต่างๆ ของโลก ก็จะเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้”

สิ่งที่ถูกชี้ออกมาให้เห็นเป็นพิเศษ ได้แก่การที่รายงานฉบับนี้เสนอการถกเถียงอภิปรายเกี่ยวกับเรื่องบรอดแบนด์ 5จี และผลกระทบอันกว้างขวางของมันที่เรียกได้ว่าไปถึงทุกๆ ด้านทุกๆ มิติของชีวิตทางเศรษฐกิจ “ขณะที่ในยุค 4จี เราเห็น ไอโฟนของแอปเปิล, แอนดรอยด์โอเอส ของกูเกิล, และ โฮโลเลนซ์ของ ไมโครซอฟท์ ทำหน้าที่เชื่อมต่อยูสเซอร์เข้ากับระบบนิเวศน์เทค ทว่าสำหรับ 5จี มันทำท่าว่าจะถูกครอบงำโดยเครือข่ายหัวเว่ยซึ่งเสนอการต่อเชื่อมในทุกหนทุกแห่ง ให้แก่เครื่องสมาร์ตโฟนของ เสี่ยวมี่, โซลูชั่นนครอัจฉริยะของ เทนเซนต์, และ โรโบแท็กซี่ (robotaxis) ของ ไป่ตู้”

หัวเว่ย ยักษ์ใหญ่เทคจีน กลายเป็นผู้นำของโลกในเรื่องการติดตั้งนำเอาบรอดแบนด์ 5จี ออกมาใช้งาน
เมื่อพูดเรื่องจุดที่ได้เปรียบของฝ่ายอเมริกัน ปรากฏว่า แอลลิสันและชมิดต์ ให้ข้อมูลในทางร้ายๆ เอาไว้หลายประการ จุดสำคัญๆ ในรายงานของพวกเขามีดังเช่น:

**การเปิดตัวโครงสร้างพื้นฐาน 5จี ของอเมริกา เกิดขึ้นตามหลังจีนหลายๆ ปี จึงกลายเป็นการมอบความได้เปรียบให้แก่จีนในฐานะเป็นผู้เริ่มเคลื่อนไหวคนแรก ในเรื่องการพัฒนาแพลตฟอร์มต่างๆ สำหรับยุค 5จี ... ทีมยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ (Economic Strategy Team) ของ ควอลคอมม์ (Qualcomm) ประมาณการเอาไว้ว่า ในช่วงเวลา 15 ปีต่อจากนี้ไป 5จี จะ “เพิ่มเศรษฐกิจขนาดเท่ากับอินเดีย” ให้แก่โลก โดยที่ส่วนแบ่งสำคัญที่สุดของเศรษฐกิจนี้อยู่ในเส้นทางที่จะตกเป็นของจีน

**สำหรับการสื่อสารระบบควอนตัม (quantum communication) นั้น จีนเลยหน้าสหรัฐฯไปเรียบร้อยแล้ว อีกทั้งในเรื่องควอนตัมคอมพิวติ้ง (quantum computing) ก็ไล่กวดจนช่วงห่างในการนำของอเมริกาหดแคบลงอย่างรวดเร็ว

**ทางด้าน เอไอ การพุ่งพรวดขึ้นมาของจีนเป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงหลังๆ เอามากๆ จนใครก็ตามที่ไม่ได้คอยเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิดน่าจะพลาดพลั้งมองไม่เห็น แท้จริงแล้วในการแข่งขันหลายๆ อย่างที่ผ่านมา จีนแซงหน้าสหรัฐฯและกลายเป็นหมายเลข 1 ของโลกอย่างไม่อาจโต้เถียงคัดค้านได้ไปเรียบร้อยแล้ว เวลานี้พวกผู้บริโภคมีการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์เอไอในตลาดกันอย่างไร ย่อมเป็นหลักฐานอันหนักแน่นในตัวมันเองอยู่แล้ว โดยที่ปรากฏว่าในเรื่องเทคโนโลยีเสียงพูด (speech technology) พวกบริษัทจีนกำลังชนะบริษัทอเมริกันในทุกๆ ภาษา รวมทั้งภาษาอังกฤษด้วย

**ในแต่ละปีเวลานี้จีนมีผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาด้านสะเต็มศึกษา (STEM ย่อมาจาก Science วิทยาศาสตร์, Technology เทคโนโลยี, Engineering วิศวกรรม, Mathematics คณิตศาสตร์) มากกว่า 4 เท่าตัวของสหรัฐฯ รวมทั้งอยู่ในเส้นทางที่จะมีผู้จบปริญญาเอกด้านสะเต็มศึกษา มากเป็น 2 เท่าตัวของสหรัฐฯภายในปี 2025

**ถึงแม้คณะบริหารทรัมป์ใช้ความพยายามเพื่อ “ฆ่าหัวเว่ย” อย่างที่อดีตเจ้าหน้าที่สภาความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯผู้หนึ่งได้พูดเอาไว้ แต่เมื่อปีที่แล้วยักษ์ใหญ่เทคจีนรายนี้ยังคงจัดสร้างสถานีฐาน 5จี ในจีนเป็นจำนวนมากกว่า 300,000 แห่ง

**ศักยภาพของจีนในการกลายเป็นผู้นำด้านเซมิคอนดักเตอร์เป็นเรื่องที่ไม่สามารถดูเบาได้อีกต่อไปแล้ว และเมื่อดูจากเส้นทางโคจรในปัจจุบัน ประธานาธิบดีสี น่าที่จะทำได้สำเร็จมากกว่าจะทำไม่สำเร็จ ในการบรรลุเป้าหมายของเขาที่จะให้จีนกลายเป็นเพลเยอร์ระดับท็อปรายหนึ่งในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ภายในปี 2030

**ความได้เปรียบที่มีอยู่ในทุกๆ จุดเชื่อมต่อของห่วงโซ่อุปทานพลังงานสีเขียว ทำให้จีนอยู่ในฐานะที่จะกลายเป็นผู้นำระดับโลกในด้านพลังงานสีเขียวได้ในอนาคตอันใกล้นี้

**เนื่องจากทรัพย์สินสำคัญอย่างหนึ่งในการนำเอา เอไอ มาใช้อย่างได้ผล คือ ปริมาณของข้อมูลที่มีคุณภาพ ดังนั้น จีนจึงกำลังกลายเป็น ซาอุดีอาระเบีย แห่งศตวรรษที่ 21 จากการมีสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีมูลค่ามากที่สุดนี้อยู่ในความครอบครอง


น่าสังเกตว่า แอลลิสัน และ ชมิดต์ ยอมรับว่า การสร้างเครือข่าย 5จี ขึ้นมาด้วยวิธีสร้างเครือข่าย Open Radio Access Networks (O-RAN) ซึ่งเน้นน้ำหนักความสำคัญไปที่ซอฟต์แวร์ อีกทั้งมีการคุยโอ่กันมากว่าจะเป็นทางเลือกแบบ “ซอฟต์แวร์กินฮาร์ดแวร์” ซึ่งสามารถใช้สู้กับ 5จี ของหัวเว่ยที่เน้นฮาร์ดแวร์ได้นั้น เอาเข้าจริงแล้วจะไม่สามารถกลายเป็นปัจจัยหนึ่งที่ลงแข่งขันกับของหัวเว่ยได้อย่างทันการณ์จริงๆ หรอก

“เครือข่าย 5จี ที่ขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวางโดยมีสมรรถนะต่างๆ ทางด้าน 5จี ของจริงของแท้ด้วยนั้น ยังคงจะต้องใช้เวลาอีก 1 ถึง 2 ปีสำหรับในสหรัฐฯ ขณะที่การยอมรับพวกโซลูชั่นที่เป็นการเสนอทางเลือกโครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆ อย่างเช่น ORAN (ซึ่งมีบางคนเสนอแนะให้ถือว่ามันเป็นคำตอบของอเมริกาในการตอบโต้การท้าทายของหัวเว่ย) มาพัฒนาจนกระทั่งกลายเป็นกระแสหลักขึ้นมาได้นั้น จะล่าช้าเกินไปเสียแล้วสำหรับการนำเอา 5จี ออกมาใช้งานของสหรัฐฯ” ทั้งคู่เขียนเอาไว้เช่นนี้

เฮนรี เครสเซล (Henry Kressel) นักฟิสิกส์ผู้มีชื่อเสียง ซึ่งเป็นนักลงทุนด้านเวนเจอร์แคปิตอลด้วย เคยกล่าวเตือนเอาไว้ในบทวิจารณ์หลายชิ้นที่เขียนให้แก่เอเชียไทมส์ว่า O-RAN จะต้องใช้เวลาในการพัฒนานานเกินไป, เสียค่าใช้จ่ายสูงเกินไป, รวมทั้งก่อให้เกิดปัญหาด้านความมั่นคงปลอดภัยมากเกินไป จนเกินกว่าที่จะท้าทายแข่งขันกับพวกผู้ผลิตที่กิจการของพวกเขามีการบูรณาการกันเป็นอย่างดีอยู่แล้ว อย่าง หัวเว่ย และ อีริคสัน
(ดูเพิ่มเติมข้อเขียนของ เครสเซล ได้ที่ https://asiatimes.com/2020/12/opening-the-telecom-equipment-market-wont-be-easy/)

อเมริกาสามารถที่จะไล่กวดให้ทันได้หรือไม่? การศึกษาคือปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญประการหนึ่ง

ทั้งคู่เขียนเอาไว้อย่างนี้ “ดูจากจำนวนรวมของผู้สำเร็จการศึกษามหาวิทยาลัยระดับปริญญาตรีในด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม อเมริกาคือผู้นำของโลกในปี 2000 ด้วยตัวเลขมากกว่า 500,000 คน ขณะที่จีนมีอยู่ในระดับต่ำกว่า 360,000 คนนิดหน่อย ทุกวันนี้ จีนมีนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาทางด้านสะเต็มศึกษา เป็นจำนวนกว่า 4 เท่าตัวของสหรัฐฯ (1.3 ล้าน VS 300.000) และ 3 เท่าตัวในด้านนักวิทยาการคอมพิวเตอร์ (185,000 VS 65,000) สำหรับเรื่องความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของพวกนักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงชั้นมัธยมปลาย เมื่อเปรียบเทียบกันในระดับระหว่างประเทศนั้น จีนก็นำหน้าสหรัฐฯอย่างสม่ำเสมอในเรื่องคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ โดยที่ในคะแนนซึ่งจัดทำโดย PISA ที่เป็นการประเมินความรู้ความสามารถทางคณิตศาสตร์, วิทยศาสตร์, และการอ่าน เมื่อปี 2018 จีนอยู่ในอันดับ 1 ขณะที่สหรัฐฯอยู่อันดับ 25”

นักศึกษาของมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหัวจง (Huazhong University of Science and Technology) เข้าร่วมในพิธีรับปริญญา ณ โรงยิมเนเซียม ในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ทางภาคกลางของจีน เมือวันที่ 4 กันยายน 2020
ข้อได้เปรียบประการหนึ่งซึ่งทางผู้เขียนทั้งสองสามารถนำมาใส่ไว้ให้แก่ทางอเมริกาได้ ก็คือ “อเมริกาสามารถระดมรับสมัครผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมจากประชากรโลกทั่วทั้ง 7,900 ล้านคน ขณะที่ภาวะการเกาะเกี่ยวอย่างโดดเดี่ยวภายในประเทศซึ่งสืบทอดมาอย่างยาวนาน กลายเป็นตัวจำกัดให้จีนมุ่งระดมหาจากประชากรของตนเองเท่านั้น”

อย่างไรก็ดี การพูดเช่นนี้ไม่ค่อยถูกต้องหรอก เวลานี้ หัวเว่ย ว่าจ้างชาวต่างประเทศเป็นจำนวนราว 50,000 คน หรือคิดคร่าวๆ ก็เท่ากับหนึ่งในสี่ของกำลังแรงงานในทั่วโลกของบริษัท อีกทั้งชาวต่างประเทศยังมีอัตราส่วนสูงยิ่งกว่านี้อีกในแผนกงานการวิจัยและพัฒนาของหัวเว่ย จึงสามารถที่จะพูดได้ว่า หัวเว่ยมีลักษณะเป็นบริษัทจีนค่อนข้างน้อย และเป็นบรรษัทนานาชาติอย่างแท้จริงมากกว่า

ตรงกันข้ามกับทัศนะความคิดเห็นของตะวันตกบางฝ่ายบางคน จีนจะไม่ก้าวไปถึงจุดที่เกิดภาวะชะงักงันอย่างยาวนาน แบบเดียวกับที่เกิดขึ้นกับญี่ปุ่นหรอก ผู้เขียนรายงานทั้ง 2 กล่าวเตือนเอาไว้อย่างนี้ “ความทะเยอทะยานทางด้านเทคโนโลยีของญี่ปุ่น เกิดการหยุดชะงักขึ้นมา เนื่องจาก “กลุ่มอาการกาลาปากอส” (Galápagos syndrome) ซึ่งหมายถึงการที่พวกเทคโนโลยีด้านนวัตกรรมของญี่ปุ่นนั้น ถูกพัฒนาขึ้นมาในสภาพที่โดดเดี่ยว และมีลักษณะพิเศษเฉพาะสูงมากสำหรับใช้กับตลาดภายในประเทศ ทว่าต้องดิ้นรนหนักในเวลาไปแข่งขันในต่างแดน

ตรงกันข้าม การเติบโตขยายตัวทางเทคโนโลยีของจีน มีการบูรณาการกับตลอดทั่วทั้งโลกอย่างลึกซึ้ง ดังปรากฏหลักฐานจากการที่จีนสามารถไปสร้าง 5จี ให้แก่ทั่วโลก ตามความเห็นของ แอนดี้ โกรฟ (Andy Grove อดีตซีอีโอคนดังของ อินเทล) ศักยภาพของจีนในการ “เพิ่มขยาย” นวัตกรรมของคนอื่นๆ คือสิ่งที่เปิดทางให้จีนสามารถขยับก้าวขึ้นไปในห่วงโซ่คุณค่าทางด้านเทค จากการเป็นโรงงานการผลิต ไปสู่ด้านการวิจัยและการพัฒนา และจากนั้นไปสู่การเป็นผู้กำหนดจัดวางมาตรฐาน
กำลังโหลดความคิดเห็น