xs
xsm
sm
md
lg

แผ่นดินไหวเขย่าภาคกลาง-ภาคตะวันตกของญี่ปุ่นเช้านี้หลายระลอกแรงสูงสุด 5.4 ริกเตอร์ คนตื่นหวั่นทำ “ภูเขาไฟฟูจิระเบิด”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเจนซีส์/รอยเตอร์ - เช้าวันศุกร์ (3 ธ.ค.) ญี่ปุ่นเกิดแผ่นดินไหวที่ตะวันตกในจังหวัดวากายามะ (Wakayama) ความแรง 5.4 แมกนิจูด หลังไม่นานก่อนหน้าเกิดแผ่นดินไหวแรง 4.8 แมกนิจูดใกล้กรุงโตเกียว ประชาชนแตกตื่นลือไปทั่วโซเชียลมีเดียกลัวแผ่นดินไหวทำภูเขาไฟฟูจิระเบิด

เจแปนไทม์ส สื่อญี่ปุ่นรายงานวันนี้ (3 ธ.ค.) ว่า แผ่นดินไหวลูกที่ 2 ความแรงราว 5.4 แมกนิจูดเกิดขึ้นที่จังหวัดวากายามะ (Wakayama) ทางตะวันตกของญี่ปุ่นเมื่อเวลาราว 09.28 น. ถูกจัดความแรงตามมาตรฐานญี่ปุ่นในระดับ 5 ที่อ่อนของจากทั้งหมด 7 ระดับที่ทางเหนือของจังหวัด

โดยในเบื้องต้นยังไม่มีรายงานบาดเจ็บหรือความเสียหายร้ายแรงต่อระบบโครงสร้างพื้นฐานเนื่องมาจากการเกิดแผ่นดินไหวที่วากายามะ เจ้าหน้าที่ชี้

สำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นกล่าวว่า ไม่มีคำเตือนคลื่นยักษ์สึนามิออกมาหลังเกิดแผ่นดินไหว 2 ลูกที่ภาคกลางและภาคตะวันตกของญี่ปุ่นในเช้าวันศุกร์ (3)

โดยแผ่นดินไหวลูกแรกเกิดขึ้นก่อนหน้าที่จังหวัดยามานาชิ (Yamanashi) ใกล้กับกรุงโตเกียวในเวลา 06.37 น.โดยมีความแรงอยู่ที่ 4.8 แมกนิจูด เจแปนไทม์สชี้ว่า แผ่นดินไหวที่ภาคกลางนี้ถูกวัดว่าอยู่ในความแรงมาตรฐานญี่ปุ่นในระดับ 5 ที่อ่อนในโอตสึกิ (Otsuki) ทางตะวันออกของจังหวัดและตามมาตรฐานญี่ปุ่นระดับ 4 ในบางพื้นที่ของจังหวัดคานากาวะ (Kanagawa) รวมถึงเมืองซางามิฮาระ (Sagamihara) และเมืองอัตสึงิ (Atsugi)

สำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นยืนยันว่า ไม่มีความเสี่ยงต่อการเกิดคลื่นยักษ์สึนามิหลังจากเกิดแผ่นดินไหวลูกแรกซึ่งความแรงของแผ่นดินไหวสามารถรับรู้ได้ในพื้นที่บางส่วนของกรุงโตเกียว

แต่ทางสำนักงานเตือนว่าอาฟเตอร์ช็อกอาจสามารถเกิดขึ้นได้ภายใน 1 สัปดาห์

และในแถลงการณ์ยังชี้ว่า แผ่นดินไหวซึ่งเกิดในพื้นที่ทะเลาบทั้ง 5 แห่งภูเขาไฟฟูจิ (Fuji Five Lakes) ที่อยู่บริเวณตีนเขาทางเหนือของภูเขาไฟฟูจิที่โด่งดังของญี่ปุ่นเกิดขึ้นในระดับความลึกราว 19 กิโลเมตร

สื่อญี่ปุ่นชี้ว่า ก่อนหน้าระลอกแผ่นดินไหวความแรง 4.1 แมกนิจูด หรือระดับ 4 ตามมาตรฐานญี่ปุ่น และแผ่นดินไหวระดับความแรง 3.6 แมกนิจูดเกิดในพื้นที่เดียวกันในเวลา 02.18 น. และ 02.23 น.ตามลำดับ

ด้านชินยะ ทซุคาดะ (Shinya Tsukada) เจ้าหน้าที่สำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นกล่าวในงานแถลงข่าวว่า “ไม่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญในข้อมูลสังเกตการณ์” เกี่ยวกับภูเขาไฟความสูง 3,776 เมตร ที่มียอดเขาสูงที่สุดในประเทศ

ทั้งนี้ พบว่าหลังเกิดแผ่นดินไหวเมื่อเวลา 06.37 น. ใกล้กรุงโตเกียวที่ความแรง 4.8 แมกนิจูด มีรถไฟญี่ปุ่นบางส่วนวิ่งลดระดับความเร็วลง แต่ไม่มีการติดขัดทางจราจรอย่างหนักเกิดขึ้น ส่วนรถไฟหัวกระสุนชิงกันเซ็ง (Shinkansen) ยังคงวิ่งตามปกติ ขณะที่การจำกัดความเร็วเกิดขึ้นในส่วนของสายชูโอ เอ็กซ์เพรส (Chuo Expressway) ขณะกำลังวิ่งผ่านจังหวัดยามานาชิได้ถูกลดความเร็วลงเหลือแค่ 50 กิโลเมตร/ชั่วโมง

อ้างอิงจากบริษัทไฟฟ้าเทปโกพบว่ามีบ้านเรือน 600 หลังในเมืองฟูจิคาวากูชิโกะ (Fujikawaguchiko) จังหวัดยามานาชิประสบปัญหากระแสไฟฟ้าดับ

ซึ่งการเกิดแผ่นดินไหวใกล้กรุงโตเกียวในเช้าวันศุกร์ (3) ทำให้มีชาวญี่ปุ่นจำนวนมากต่างออกมาวิพากษ์วิจารณ์เกรงว่าภูเขาไฟฟูจิที่ตั้งห่างจากกรุงโตเกียวไปทางตะวันตกราว 100 กิโลเมตรอาจเกิดระเบิดได้ แต่ในเบื้องต้น ยังไม่มีรายงานการบาดเจ็บ ความสูญเสีย หรือความเสียหายออกมาหลังเกิดแผ่นดินไหวไปแล้ว

รอยเตอร์รายงานว่า เจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นออกมาปรามการคาดการณ์การเกิดภูเขาไฟฟูจิระเบิดหลังมีโลกโซเชียลมีเดียติดแฮชแท็ก #ภูเขาไฟฟูจิระเบิด ระบาดไปทั่วกลายเป็นเทรนด์ของทวิตเตอร์ญี่ปุ่นไป

หนึ่งในผู้ใช้ทวิตเตอร์ออกมาแสดงความเห็นว่า “กรุงโตเกียวจะตกอยู่ในความเลวร้ายอย่างมากหากว่าภูเขาไฟฟูจิเกิดระเบิดขึ้นจริง และจากสถานการณ์การระบาดของโรคไวรัสโคโรนา พวกเราจะหลบไปอยู่ที่ไหนได้” ซึ่งภูเขาไฟฟูจิถือว่าเป็นภูเขาที่มียอดสูงที่สุดในญี่ปุ่น

ภูเขาไฟฟูจิเคยเกิดระเบิดครั้งสุดท้ายเมื่อกว่า 300 ปีก่อนหน้าแต่ยังเป็นภูเขาไฟที่ยังคงคุกรุ่น ซึ่งชุดคณะกรรมการรัฐบาลโตเกียวในปีที่ผ่านมาออกมาระบุว่า การเกิดปะทุครั้งใหญ่ใดๆู ของภูเขาไฟขึ้นมาจะส่งผลทำให้กรุงโตเกียวถกปกคลุมไปด้วยเถ้าถ่านและทำให้ระบบเครือข่ายการคมนาคมทั้งทางรถไฟและถนนไฮเวย์ต้องเป็นอัมพาตในเวลา 3 ชั่วโมง

สำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นย้ำว่า ในเวลานี้ยังไม่มีข้อมูลบ่งชี้ว่าภูเขาไฟฟูจิจะเกิดการระเบิด


กำลังโหลดความคิดเห็น