เอเอฟพี/เอเจนซีส์ - กองทัพเรืออินโดนีเซียแถลงว่า รัสเซียและกองกำลังชาติสมาชิกอาเซียนเริ่มต้นการฝึกซ้อมรบร่วมกันทางทะเลเป็นครั้งแรกตลอดแนวช่องแคบมะละกา พบการฝึกซ้อมที่จะเริ่มเปิดฉากตั้งแต่วันพุธ (1 ธ.ค.) ยาวไปจนถึงวันศุกร์ (3 ธ.ค.) กองทัพไทยส่งยุทโธปกรณ์เรือรบหรือเครื่องบินรบเข้าร่วมด้วย ผู้เชี่ยวชาญชี้เหมือนเป็นการส่งสารทางการเมืองกลายๆ ไปให้ทั้ง “สหรัฐฯ” และ “จีน”
เอเอฟพีรายงานวันนี้ (1 ธ.ค.) ว่า ท่ามกลางความตรึงเครียดในทะเลจีนใต้ที่จีนประกาศความเจ้าของเป็นส่วนใหญ่ รัสเซียและสมาชิกอาเซียน 10 ชาติเริ่มเปิดฉากร่วมฝึกซ้อมรบทางทะเลเป็นครั้งแรกในวันพุธ (1) นอกชายฝั่งอินโดนีเซีย
เอเอฟพีชี้ว่า 10 ชาติสมาชิกอาเซียนทั้งหมดจะเข้าร่วมการฝึกทางทะเลกับรัสเซียที่จะมีการฝึกยาวตลอดแนวช่องแคบมะละกา นิเคอิเอเชีย สื่อญี่ปุ่นชี้ว่า ความร่วมมือใหม่ทางความมั่นคงที่มี “รัสเซีย” เข้ามานี้เหมือนเป็นการส่งสัญญาณไปที่พันธมิตร 3 ชาติ AUKUS ได้แก่ สหรัฐฯ อังกฤษ และออสเตรเลีย และยังกระทบต่อไปถึง “จีน”
การฝึกจะมีการนำเรือรบและเครื่องบินรบเข้าร่วมจากไทย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม พม่า มาเลเซีย และบรูไน ขณะที่ฟิลิปปินส์ทำหน้าที่เป็นผู้สังเกตการณ์อยู่ห่างๆ โดยจะทำการฝึกร่วมกับเรือรบพิฆาตแอดมิรอล พานเตเลเยฟ (Admiral Panteleyev destroyer) จากกองเรือแปซิฟิกของรัสเซีย
โดยในการฝึกจะประกอบไปด้วยแบบเสมือนจริงและกลางทะเลที่จะมีการใช้สถานที่การฝึกเกิดขึ้นในน่านน้ำอินโดนีเซียนอกสุมาตราเหนือ (North Sumatra)
ในพิธีเปิดงาน อเล็กซานเดอร์ อีวานนอฟ (Alexander Ivanov) เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำอาเซียนให้สัมภาษณ์กับนักข่าวในพิธีเปิดว่า “การฝึกครั้งนี้เกี่ยวข้องกับสันติภาพ เสถียรภาพ และความมั่งคั่งภายในภูมิภาค” และชี้ต่อว่า “เรากำลังเปิดหน้าใหม่ในความสัมพันธ์ทางยุทธศาสตร์ของพวกเรา”
สื่อเวียดนามรายงานว่า อีวานนอฟให้สัมภาษณ์กับสปุตนิค นิวส์ ระบุว่า การฝึกซ้อมจะเกิดขึ้นเป็นเวลา 3 วันระหว่างวันที่ 1 ธ.ค.ไปจนถึงวันที่ 3 ธ.ค. และเวียดนามจัดส่งเรือรบชั้นฟริเกต HQ-012 Ly Thai To ที่ถูกต่อขึ้นในรัสเซียและติดอาวุธยุทโธปกรณ์ทันสมัยเข้าร่วม
ทหารเวียดนามจะร่วมในการฝึกซ้อมเป็นต้นว่า การสื่อสาร การจัดขบวน ค้นหาและกู้ภัย และการทักทายกันในทะเลระหว่างการฝึกซ้อมที่น่านน้ำอินโดนีเซีย
การฝึกซ้อมร่วมระหว่างรัสเซียและชาติสมาชิกอาเซียนนี้เกิดมาจากข้อตกลงที่เกิดขึ้นระหว่างการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนที่มีเวียดนามเป็นเจ้าภาพุ และในเวลาเดียวกันยังแสดงให้เห็นการสนับสนุนของเวียดนามต่อความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียและกลุ่มอาเซียนไปในตัว
ด้านผู้บัญชาการกองเรือที่ 1 ของอินโดนีเซีย อาร์สยาด อับดุลลาห์ (Arsyad Abdullah) กล่าวว่าิ่ การฝึกซ้อมร่วมกับรัสเซียครั้งแรกจะช่วยเพิ่มทักษะความสามารถในปฏิบัติการร่วมและความเข้าใจอันดีระหว่างกองทัพรัสเซียและกองทัพชาติสมาชิกอาเซียนทั้งหลาย
สื่อเวียดนามชี้ต่อว่า เป้าหมายการฝึกมีเพื่อพัฒนาความร่วมมือระหว่างกองทัพเรือรัสเซียและกองทัพเรือของสมาชิกชาติอาเซียนเพื่อให้ความมั่นคงกับการเคลื่อนไหวเศรษฐกิจทางทะเลและการจราจร
ทั้งนี้ รัฐมนตรีกลาโหมอินโดนีเซีย ปราโบโว สุเบียนโต (Prabowo Subianto) มีแผนที่จะเปิดการฝึกซ้อมรบบนเรือต่อต้านเรือดำน้ำแอดมิรอล พานเตเลเยฟ (Admiral Panteleev)
นิกเคอิ เอเชียชี้ว่า คอลลิน โค้ว (Collin Koh) ผู้เชี่ยวชาญความมั่นคงทางทะเลประจำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนานยางของสิงคโปร์แสดงความเห็นว่า ถึงแม้การฝึกซ้อมรบร่วมทางทะเลระหว่างรัสเซียและ 10 ชาติสมาชิกอาเซียนไม่น่าจะมีการฝึกที่มีการแสดงทักษะสมรรถภาพการรบครั้งสูงรวมอยู่ด้วย แต่มันได้ส่งสารทางการเมืองที่สำคัญเกี่ยวกับความมุ่งมั่นของกลุ่มอาเซียนออกมา
“รัสเซียถือเป็นหนึ่งในชาติมหาอำนาจใหญ่และดังนั้นจึงมีความสำคัญที่อาเซียนจะต้องแสดงให้เห็นความสำคัญว่าต้องการสร้างความสัมพันธ์ทางความมั่นคงกับผู้เล่นคนสำคัญทุกคน” โค้วชี้และเสริมต่อว่า “ชาติสมาชิกอาเซียนที่ผ่านมาต่างตั้งความหวังถึงการเข้าร่วมเพิ่มขึ้นของรัสเซียในภูมิภาคและนี่เป็นหนึ่งในสิ่งที่พวกเราสามารถสร้างได้”
ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน ระหว่างการประชุมซัมมิตทางไกลเมื่อวันที่ 28 ต.ค ที่ผ่านมาโดยทั้งรัสเซียและอาเซียนได้ร่วมลงนามแผนเชิงปฏิบัติครอบคลุม 103 ข้อสำหรับความร่วมมือในวงกว้างระหว่างปี 2021-2025 ได้แถลงยืนยันว่า การกระชับความสัมพันธ์ให้แข็งแกร่งกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นยังคงเป็นสิ่งที่เป็นหนึ่งในเป้าหมายระดับสูงในนโยบายต่างประเทศรัสเซีย
ขณะที่ กริกอรี โลคชิน (Grigory Lokshin) นักวิจัยชั้นนำประจำสถาบันวิทยาศาสตร์อคาเดมีรัสเซียด้านการศึกษาตะวันออกไกลอธิบายว่า “การพิทักษ์สันติภาพและเสถียรภาพ” ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเริ่มมีความสำคัญมากขึ้นต่อเครมลินที่ต้องการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาครัสเซียตะวันออกไกล
“การรวมตัวกับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะเป็นการส่งสารทางการเมืองที่สำคัญในสถานการณ์ปัจจุบันที่โลกตะวันตกสั่งคว่ำบาตรต่อเรา” เขาอ้างไปถึงการคว่ำบาตรเพื่อตอบโต้ที่รัสเซียใช้กำลังเข้าผนวกแหลมไครเมียของยูเครนเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย
นิกเคอิ เอเชียรายงานว่า จากมุมมองของมอสโกความเคลื่อนไหวทางการทหารสหรัฐฯ ภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คุกคามต่อ "เสถียรภาพ" ซึ่งในเดือนมิถุนายนก่อนหน้า รัฐมนตรีกลาโหมรัสเซีย เซอร์เก ซอยกู (Sergei Shoigu) ออกมาวิพากษ์วิจารณ์สหรัฐฯ ต่อการส่งกลุ่มกองเรือบรรทุกเครื่องบินที่มีสมรรถนะสูงและมีความพร้อมในการรบเข้าไปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยชี้ว่าการทำเช่นนั้นอาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุทางทหารได้
“ปัญหาเหล่านี้ถูกแสดงอย่างเด่นชัดมากที่สุดปัจจุบันนี้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ซอยกูชี้อีกว่า “บรรดาประเทศในภูมิภาคถูกบังคับให้ต้องเลือกข้างซึ่งเป็นการเกิดโครงสร้างคล้ายคลึงกับของนาโตที่กำลังถูกใช้กับคนเหล่านี้"
โลคชินกล่าวว่า ถึงแม้รัสเซียจะต่อต้านความพยายามของสหรัฐฯ ที่ต้องการตัด “จีน” ออกไปภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แต่ทว่ารัสเซีย "ไม่เห็นด้วย" ต่อการกระทำของจีนที่แสดงความก้าวร้าวและแสดงให้เห็นว่าตัวเองสำคัญในทะเลจีนใต้ และอีกทั้งรัสเซียไม่เห็นด้วยต่อความพยายามของจีนที่ต้องการบีบบังคับให้บริษัทพลังงานต่างชาติต้องออกไปรวมไปถึงบริษัทรอสเนฟต์ (Rosneft) และลัคออย (Lukoil) ของรัสเซียเองออกไปจากการขุดเจาะในพื้นที่ทะเลเขตพิพาทนอกชายฝั่งเวียดนาม
ขณะที่โค้วจากสิงคโปร์แสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า มีหลายชาติสมาชิกอาเซียนต่างมีความเห็นร่วมกันกับมอสโกว่า กลุ่มพันธมิตร AUKUS ที่นำโดยสหรัฐฯ จะเร่งทำให้เกิดความตึงเครียดเพิ่มมากขึ้นและทางกลุ่มมีความยินดีต้อนรับการช่วยเหลือจากรัสเซีย แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญสิงคโปร์กล่าวเตือนว่า หากรัสเซียต้องการที่จะเพิ่มอิทธิพลขึ้นภายในภูมิภาคในระยะยาว รัสเซียจำเป็นต้องแสดงจุดยืนแสดงความเป็นกลางในทะเลจีนใต้ออกมาให้ชาติในภูมิภาคให้ได้เห็นถึงแม้รัสเซียจะมีความร่วมมือใกล้ชิดทางการทหารมากขึ้นกับจีนก็ตามเมื่อไม่นานที่ผ่านมา