xs
xsm
sm
md
lg

ตัวกลายพันธุ์ ‘โอไมครอน’ ร้ายกาจจริงหรือ ควรกังวลกันแค่ไหน ?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตัวกลายพันธุ์ตัวใหม่ล่าสุด ของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งเพิ่งได้รับการขนานนามตามตัวอักษรกรีกจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ว่า “โอไมครอน” (Omicron) กำลังก่อให้เกิดความวิตกกังวลกันทั่วโลก

โอไมครอน ซึ่งถูกระบุแยกแยะออกมาเป็นครั้งแรกในแอฟริกาใต้ เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน แต่ก็ตรวจสอบพบแล้วในประเทศอื่นๆ ทั้งทางยุโรปและเอเชียเช่นกัน มันดูน่ากลัวเนื่องจากมีการกลายพันธุ์จำนวนหนึ่งซึ่งอาจช่วยให้มันแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว หรือกระทั่งสามารถหลบหลีกแอนติบอดี้ที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อก่อนหน้านี้ หรือจากการฉีดวัคซีน

ข่าวของตัวกลายพันธุ์นี้ ทำให้ประเทศจำนวนมากรีบประกาศมาตรการใหม่ๆ ในการเข้มงวดการเดินทางตั้งแต่วันศุกร์ (26 พ.ย.) ที่ผ่านมา รวมทั้งส่งผลให้พวกผู้ผลิตยาวุ่นวายสาละวนตรวจสอบว่า วัคซีนโควิด-19 ของพวกเขายังคงมีความสามารถในการคุ้มครองป้องกันได้มากน้อยขนาดไหน

ทำไมพวกนักวิทยาศาสตร์จึงรู้สึกกังวลกับตัวกลายพันธุ์ใหม่ตัวนี้ ?

องค์การอนามัยโลกประกาศในวันศุกร์ (26) ให้ตัวกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ SARS-CoV-2 ที่มีชื่อว่า “โอไมครอน” หรือ B.1.1.529 เป็น “ตัวกลายพันธุ์ที่น่ากังวล” โดยระบุว่า มันอาจจะกระจายออกไปได้อย่างรวดเร็วยิ่งกว่าไวรัสโคโรนารูปแบบอื่นๆ

ปัจจุบันตัวกลายพันธุ์ “เดลต้า” ยังคงเป็นตัวกลายพันธุ์ที่ครอบงำทั่วโลก ตัวอย่างเช่น ในจำนวนผู้ติดเชื้อในสหรัฐฯ ปรากฏว่าเป็นเดลต้าถึง 99.9% นอกจากนั้นเวลานี้ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า โอไมครอน จะสามารถขึ้นมาแทนที่ เดลต้า ได้หรือไม่ นี่เป็นความเห็นของ น.พ.เกรแฮม สไนเดอร์ ผู้อำนวยการด้านการแพทย์ ของภาควิชาการป้องกันการติดเชื้อและระบาดวิทยาโรงพยาบาล แห่งศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยพิตต์สเบิร์ก ในอเมริกา

แต่เรื่องที่น่าวิตกก็คือ ตัวกลายพันธุ์ใหม่นี้มีการกลายพันธุ์ถึงกว่า 30 ตำแหน่งในส่วนของไวรัสซึ่งเป็นเป้าหมายเล่นงานของวัคซีนต่างๆ ในปัจจุบัน นอกจากนั้นมันยังถูกสงสัยว่าเป็นตัวการขับดันให้เกิดเคสติดเชื้อใหม่ๆ พุ่งพรวดขึ้นมาอย่างแรงในแอฟริกาใต้อีกด้วย

มันมี “การกลายพันธุ์มากที่สุดเท่าที่เราพบเห็นกันจนถึงเวลานี้” เป็นคำกล่าวของ ศาสตราจารย์โมซา โมชาเบลา ผู้ช่วยอธิการบดีด้านการวิจัยและนวัตกรรม แห่งมหาวิทยาลัยควาซูลู-นาทัล

เขาอธิบายต่อไปว่า “การกลายพันธุ์เหล่านี้บางตำแหน่งเป็นสิ่งที่เราเคยพบเห็นมาก่อนแล้วในตัวกลายพันธุ์เดลต้า และเบต้า” ทว่ามีการกลายพันธุ์ในตำแหน่งอื่นๆ ซึ่งไม่เคยเห็นกันในตัวกลายพันธุ์เดิมๆ และ “เรายังไม่ทราบว่าการผสมผสานของการกลายพันธุ์เหล่านี้จะนำไปสู่อะไร”

ขณะที่ ตูลิโอ เดอ โอลิเวียรา นักระบาดวิทยาลัยชั้นนำบอกว่า โอไมครอน มีการกลายพันธุ์รวมทั้งหมดราว 50 ตำแหน่ง ในจำนวนนี้ 30 ตำแหน่งเป็นการกลายพันธุ์ที่โปรตีนหนาม ซึ่งเป็นจุดสนใจของวัคซีนส่วนใหญ่ เนื่องจากมันเป็นส่วนที่ทำให้ไวรัสสามารถเข้าสู่เซลล์ของมนุษย์ได้

น.พ.เดวิด โฮ ศาสตราจารย์ด้านจุลชีววิทยาและวิทยาภูมิคุ้มกัน แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ชี้ว่า การกลายพันธุ์ของ โอไมครอน น่าจะทำให้มันสามารถลบล้างการบำบัดรักษาโรค โควิด-19 ที่เคยทำกันมาบางอย่างบางประการ รวมทั้งทำให้ แอนติบอดี้ที่ผลิตจากโรงงานบางตัว ให้หมดประสิทธิภาพไป

ขณะที่พวกยาเม็ดต่อต้านไวรัสที่กำลังอยู่ระหว่างการทดลอง เป็นต้นว่า แพกซ์โลวิด ของไฟเซอร์ และ โมลนูพิราเวียร์ ของเมิร์ค มีเป้าหมายมุ่งเล่นงานส่วนอื่นๆ ของไวรัสที่ใน โอไมครอน ไม่ได้มีการกลายพันธุ์เกิดการเปลี่ยนแปลง แล้วยิ่งถ้าหากปรากฏว่าภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นจากการกระตุ้นของวัคซีนในปัจจุบันหรือที่ได้มาจากธรรมชาติ ถูกคุกคามเอา โอ ไมครอน ไม่อยู่ด้วยแล้ว ยาเหล่านี้ก็จะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นไปอีก

สิ่งที่เรายังไม่รู้

บรรดานักวิทยาศาสสตร์บอกว่า อาจต้องใช้เวลาอีกหลายๆ สัปดาห์ทีเดียว ก่อนที่พวกเขาจะสามารถพูดได้อย่างชัดเจนว่าตัวกลายพันธุ์นี้จะก่อให้เกิดโรคโควิด-19 ซึ่งมีจุดเด่นจุดด้อยอย่างไร หรือให้การวินิจฉัยว่ามันสามารถแพร่ระบาดได้มากน้อยแค่ไหน ตลอดจนมันสามารถกระจายไปได้กว้างไกลเพียงใด

มีนักวิทยาศาสตร์บางรายชี้ว่า ตัวกลายพันธุ์ตัวอื่นๆ ซึ่งก็ถูกระบุว่าเป็นตัวกลายพันธุ์ที่น่ากังวลเช่นเดียวกัน เป็นต้นว่า เบต้า ที่ตรวจพบครั้งแรกสุดในแอฟริกาใต้เช่นเดียวกันนั้น ปรากฏว่าในที่สุดแล้วก็ถูกแทนที่โดย เดลต้า

กระนั้น คำถามข้อใหญ่ที่สุดยังคงมีอยู่ว่า อำนาจในการปกป้องและต่อสู้ของวัคซีนโควิด-19 ในปัจจุบัน – ซึ่งมีการฉีดในทั่วโลกไปแล้วเกือบๆ 8,000 ล้านโดส -- สามารถรับมือกับตัวกลายพันธุ์ตัวนี้ได้แค่ไหน และผู้ที่เคยติดเชื้อไวรัสโคโรนาจนร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา จะสามารถต้านทาน โอไมครอน ได้เพียงใด

ผู้เชี่ยวชาญยังบอกว่าต้องขอเวลาอีกระยะหนึ่งจึงจะวินิจฉัยได้ว่า โอไมครอน จะทำให้เกิดโรคโควิด-19 ที่รุนแรงกว่าหรือเบาบางกว่าตัวกลายพันธุ์ตัวอื่นๆ ของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่

ป้ายที่เนินเล่นสกี เราเฮอร์ บุช ในเขตเมืองวินเทอร์แบร์ก, เยอรมนี เมื่อวันเสาร์ (27 พ.ย.) แนะนำวิธีป้องกันโควิด-19 ด้วยการสวมหน้ากากและการเว้นระยะห่าง  ซึ่งผู้เชี่ยวชาญบอกว่ายังใช้ป้องกันไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้ดี ไม่ว่าจะเป็นตัวกลายพันธุ์ชนิดไหน
การตอบโต้รับมือที่ดีที่สุด

นอกจากในแอฟริกาแล้ว เวลานี้มีการตรวจพบ โอไมครอน ในเคสคนไข้ทั้งในยุโรป, เอเชีย, และออสเตรเลีย แล้ว ขณะที่ยังไม่พบในสหรัฐฯ ถึงแม้พวกนักวิทยาศาสตร์คิดว่ามันน่าจะอยู่ที่นั่นเรียบร้อยแล้วเช่นกัน

กระทั่งยังไม่มีตัวกลายพันธุ์ใหม่เลย อัตราการติดเชื้อโรคโควิด-19 ในสหรัฐฯก็เพิ่มสูงขึ้นอยู่แล้วในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ในรัฐทางตอนเหนือ ขณะที่ผู้คนหันไปใช้ชีวิตภายในอาคารบ้านเรือนกันมากขึ้น เพื่อหลีกหนีอากาศหนาวเย็นของฤดูหนาว

มีหลายประเทศได้ประกาศมาตรการจำกัดการเดินทางของผู้คนจากแอฟริกาตอนใต้เข้ามายังบ้านเมืองของพวกตน แต่นอกเหนือจากมาตรการจำกัดเข้มงวดยิ่งขึ้นซึ่งประกาศออกมาโดยภาครัฐบาลแล้ว ศาสตราจารย์สไนเดอร์ แห่งศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยพิตต์สเบิร์ก แนะนำว่า พวกเราแต่ละคนควรต้องประเมินตนเองว่ามีความอ่อนเปราะต่อโควิด-19 ขนาดไหน และสามารถแบกรับความเสี่ยงได้เพียงใด ในเวลาที่พวกเขาตัดสินใจเรื่องเกี่ยวกับการเดินทางในช่วงเทศกาลหยุดยาวๆ ของฤดูหนาวปีนี้

สไนเดอร์กับนักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ บอกว่า เรื่องการฉีดวัคซีนยังคงต้องถือว่ามีลำดับความสำคัญสูง ถึงแม้เกิดคำถามต่างๆ เกี่ยวกับประสิทธิภาพในการต่อสู้กับ โอไมครอน ก็ตาม เนื่องจากวัคซีนทั้งหลายยังคงน่าที่จะช่วยคุ้มครองปกป้องเราได้ในขอบเขตหนึ่ง นอกจากนั้นทุกๆ คนยังควรดำเนินชีวิตแบบป้องกันตนเอง เป็นต้นว่า สวมหน้ากาก, หลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในฝูงชน, ทำให้ห้องหับต่างๆ มีอากาศถ่ายเท, และล้างมือบ่อยๆ

“เราต่างก็มีเครื่องมือพวกนี้ทั้งหมดอยู่แล้ว เป็นเครื่องมือที่จะใช้ได้ผลในการต่อสู้กับตัวกลายพันธุ์ไม่ว่าตัวไหนก็ตาม” เป็นคำกล่าวของ น.พ.อีริค โทโพล นักวิจัยอาวุโสด้านการแพทย์ ที่ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการของสถาบันสคริปส์เพื่อการนำผลวิจัยไปใช้งาน ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองลาโจลลา รัฐแคลิฟอร์เนีย

(เก็บความและรวบรวมจากเรื่อง EXPLAINER-How worried should we be about the Omicron variant? ของสำนักข่าวรอยเตอร์ และเรื่อง What is known so far about new Covid variant Omicron ของสำนักข่าวเอเอฟพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น