การค้นพบโควิด-19 ตัวกลายพันธุ์ใหม่ซึ่งได้รับชื่อสดๆ ร้อนๆ จากองค์การอนามัยโลก (WHO) ว่า “โอไมครอน” กระพือความหวั่นวิตกในระดับนานาชาติ และทำให้หลายประเทศสั่งปิดพรมแดนเพื่อกันผู้เดินทางจากแอฟริกาตอนใต้ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าความพยายามดังกล่าวอาจ “ช้าเกินไป”
WHO แถลงว่า เชื้อโอไมครอนมีแนวโน้มแพร่กระจายได้ไวกว่าโควิด-19 สายพันธุ์ก่อนหน้า และผู้ที่เคยป่วยแล้วมีความเสี่ยงที่จะกลับมาติดเชื้อซ้ำมากขึ้น
ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยายอมรับว่า มาตรการจำกัดการเดินทางที่หลายประเทศนำมาใช้อาจ “สายเกินไป” ที่จะป้องกันไม่ให้เชื้อโอไมครอนแพร่กระจายไปทั่วโลก และจนถึงขณะนี้มีรายงานพบผู้ติดเชื้อแล้วทั้งแอฟริกาใต้, เบลเยียม, บอตสวานา, อิสราเอล และฮ่องกง
นับตั้งแต่วันจันทร์ที่จะถึงนี้ (29 พ.ย.) สหรัฐอเมริกาจะเริ่มใช้มาตรการแบนผู้เดินทางส่วนใหญ่จาก 8 ประเทศแอฟริกาตอนใต้ ได้แก่ แอฟริกาใต้, บอตสวานา, ซิมบับเว, นามิเบีย, เลโซโท, เอสวาตินี, โมซัมบิก และมาลาวี โดยชาวต่างชาติที่เคยเดินทางไปประเทศเหล่านี้ในช่วง 14 วันจะไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าสหรัฐฯ
ด้านแคนาดาก็ประกาศปิดพรมแดนไม่รับผู้เดินทางจากกลุ่มประเทศแอฟริกาตอนใต้เช่นกัน ตามหลังคำสั่งแบนเที่ยวบินที่ประกาศโดยอังกฤษ, และสหภาพยุโรป (อียู)
ประเทศอื่นๆ ที่เริ่มใช้มาตรการจำกัดการเดินทางแล้วเช่นกัน ได้แก่ สิงคโปร์, อินเดีย, ญี่ปุ่น, อิสราเอล, ตุรกี, สวิตเซอร์แลนด์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นต้น
นักวิทยาศาสตร์พบว่า เชื้อโอไมครอนมีการกลายพันธุ์มากถึง 50 ตำแหน่ง โดย 32 ตำแหน่งเป็นการกลายพันธุ์ในส่วนของโปรตีนหนาม (spike protein) ซึ่งอาจทำให้วัคซีนที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีประสิทธิภาพในการป้องกันลดลง
“โควิดสายพันธุ์ใหม่นี้ถือว่าน่ากังวลมาก และเป็นเวอร์ชั่นที่มีการกลายพันธุ์มากที่สุดเท่าที่เราเคยพบมา” ลอว์เรนซ์ ยัง นักไวรัสวิทยาจากมหาวิทยาลัยวอร์วิคในอังกฤษ ให้ความเห็น
ไมค์ ไรอัน ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการฉุกเฉินของ WHO ออกมาเตือนทุกประเทศว่าไม่ควรรีบร้อนแบนเที่ยวบินจากแอฟริกาเพื่อสกัดเชื้อโอไมครอน ขณะที่ ริชาร์ด เลสเซลส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อในแอฟริกาใต้ ก็ตำหนิมาตรการจำกัดการเดินทางทั่วโลกนำมาใช้ และย้ำว่าสิ่งสำคัญในตอนนี้คือการเร่งกระจายวัคซีนไปยังประเทศที่ขาดแคลน
“นี่คือเหตุผลที่เราต้องพูดเรื่องความเสี่ยงจากการเหลื่อมล้ำทางวัคซีน (vaccine apartheid) ไวรัสจะสามารถพัฒนาตัวเองได้ หากประชากรยังได้รับวัคซีนไม่มากพอ” เลสเซลส์ ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์
เชื้อโควิด-19 ได้แพร่ระบาดไปทั่วทุกมุมโลกภายในระยะเวลา 2 ปีหลังจากที่พบผู้ป่วยเคสแรกๆ ที่เมืองอู่ฮั่นของจีนเมื่อปลายปี 2019 และจนถึงตอนนี้มีผู้ติดเชื้อสะสมทั่วโลกราว 260 ล้านคน เสียชีวิต 5.4 ล้านคน
เบน โคว์ลิง ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาจากมหาวิทยาลัยฮ่องกง ระบุว่า “มีความเป็นไปได้สูงที่เชื้อกลายพันธุ์ตัวนี้อาจแพร่เข้าไปยังหลายประเทศเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดังนั้นการปิดพรมแดนจึงอาจจะสายเกินไป”
การค้นพบโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ยังเกิดขึ้นในช่วงที่ยุโรปและสหรัฐฯ ย่างเข้าสู่ฤดูหนาว และผู้คนต่างใช้เวลาอยู่ในอาคารมากขึ้นในช่วงก่อนเทศกาลคริสต์มาส ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการแพร่เชื้อ
ที่มา: รอยเตอร์