xs
xsm
sm
md
lg

WHOย้ำวัคซีนไม่ใช่ยาวิเศษป้องกันโควิด100% ห่วงยอดติดเชื้อทะยานพรวดทั้งฝั่งยุโรป-อเมริกา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



WHO กังวลคนจำนวนมากยังเข้าใจผิดว่า วัคซีนป้องกันการติดโควิดได้ 100% ย้ำยังต้องใช้มาตรการป้องกันอื่นๆ ร่วมด้วย ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อใหม่ทั้งในยุโรปและอเมริกายังเพิ่มสูงต่อเนื่อง โดยศูนย์เพื่อการป้องกันและควบคุมโรคแห่งยุโรปกลับลำ แนะฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ประชาชนวัยผู้ใหญ่ทั้งหมด จากก่อนหน้านี้ที่เชื่อว่า ควรฉีดเฉพาะผู้สูงวัยและผู้ที่ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอเท่านั้น

เทดรอส แอดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (WHO) แถลงเมื่อวันพุธ (24 พ.ย.) โดยแสดงความกังวลว่า ผู้ที่ฉีดวัคซีนโควิดจำนวนมากเข้าใจผิดว่า วัคซีนสามารถหยุดยั้งการติดเชื้อได้เด็ดขาด ทว่าในความเป็นจริงวัคซีนอาจช่วยรักษาชีวิต แต่ไม่ได้ป้องกันการติดเชื้ออย่างสมบูรณ์ จึงจำเป็นต้องใช้มาตรการป้องกันอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น สวมหน้ากากป้องกัน เว้นระยะห่างทางสังคม หลีกเลี่ยงสถานที่ซึ่งมีผู้คนแออัด และควรพบปะกับบุคคลอื่นๆ ในที่หกลางแจ้งหรือในบริเวณที่มีอากาศถ่ายเท

เกเบรเยซุสเสริมว่า จากข้อมูลที่มีอยู่เวลานี้บ่งชี้ว่า ก่อนมีไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตา วัคซีนลดโอกาสในการติดเชื้อได้ราว 60% แต่เมื่อเกิดสายพันธุ์เดลตาแล้ว ก็ลดโอกาสในการติดเชื้อได้เพียง 40%

เวลานี้สายพันธุ์เดลตายังคงเป็นสายพันธุ์ที่ระบาดมากที่สุดทั่วโลก จากรายงานทางระบาดวิทยาของ WHO ที่อ้างอิงจากตัวอย่างลำดับพันธุกรรม 845,000 ตัวอย่างที่เก็บในฐานข้อมูลกลางโควิด จิสเอด (GISAID) ในรอบ 60 วันที่ผ่านมาพบว่า 99.8% เป็นสายพันธุ์เดลตา

ด้าน มาเรีย ฟาน เคอร์คอฟ หัวหน้าฝ่ายเทคนิคเกี่ยวกับโควิดของ WHO สำทับว่า ไวรัสสายพันธุ์เดลตายังคงมีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง WHO กำลังพยายามติดตามการแพร่ระบาดและการเปลี่ยนแปลงของไวรัสสายพันธุ์นี้

WHO ย้ำมานานแล้วว่า วัคซีนโควิดที่มีอยู่ปัจจุบันมีเป้าหมายหลักในการลดความเสี่ยงในการป่วยหนักและการเสียชีวิตมากกว่ามุ่งป้องกันการติดเชื้อ โดย ซุมยา สวามินาทาน หัวหน้านักวิจัยของ WHO ระบุว่า แม้ประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์เดลตา ไม่ได้สูงนักเมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่นๆ แต่ยังสามารถป้องกันการป่วยหนักได้เกิน 80% ในเคสส่วนใหญ่


ปัจจุบันความล่าช้าในการฉีดวัคซีนในบางประเทศและการระบาดของสายพันธุ์เดลตาเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ยุโรปกลับมาเป็นศูนย์กลางการระบาดรอบใหม่ โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา กว่า 60% ของผู้ติดเชื้อใหม่และผู้เสียชีวิตที่ได้รับการรายงานทั่วโลกอยู่ในยุโรป หรือมากกว่า 2.4 ล้านคน เพิ่มขึ้น 11% จากสัปดาห์ก่อนหน้า เฉพาะในเยอรมนีนั้นจำนวนเคสใหม่พุ่งขึ้นถึง 31%

ข้อมูลจากสถาบันโรเบิร์ต ค็อก ของแดนอินทรีเหล็กระบุว่า เยอรมนีมีผู้เสียชีวิตจากโควิด 351 คนในวันพุธ ส่งผลให้ตัวเลขรวมนับจากเริ่มต้นการระบาดเพิ่มเป็น 100,119 คน ขณะที่อัตราการติดเชื้อใหม่ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาพุ่งขึ้นทำสถิติที่ 419.7 คนต่อประชาชน 100,000 คน

ชาติยุโรปอื่นๆ อย่าง สโลวาเกีย สาธารณรัฐเช็ก เนเธอร์แลนด์ และฮังการี ต่างรายงานจำนวนเคสใหม่รายวันพุ่งทุบสถิติเช่นกัน ท่ามกลางสภาพอากาศที่หนาวเย็นและผู้คนอยู่รวมกันภายในอาคารมากขึ้น ซึ่งถือเป็นสภาวะที่เอื้ออำนวยอย่างยิ่งสำหรับการระบาดของโควิด-19

ขณะเดียวกัน ศูนย์เพื่อการป้องกันและควบคุมโรคแห่งยุโรป (อีซีดีซี) ออกคำแถลงในวันพุธ แนะนำให้ฉีดวัคซีนกระตุ้นแก่ประชาชนวัยผู้ใหญ่ทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อายุ 40 ปีขึ้นไป ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงแนวทางครั้งสำคัญจากก่อนหน้านี้ที่อีซีดีซีแนะนำว่า ควรพิจารณาฉีดวัคซีนกระตุ้นสำหรับผู้สูงวัยที่สุขภาพอ่อนแอและผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอเท่านั้น

อีซีดีซีอ้างอิงหลักฐานจากอิสราเอลและสหราชอาณาจักรที่พบว่า การฉีดวัคซีนกระตุ้นช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อและการป่วยหนักในทุกกลุ่มอายุในระยะสั้น

ข้ามมายังฟากอเมริกา องค์การอนามัยทวีปอเมริกา (พาโฮ) เตือนว่า ภูมิภาคนี้อาจเผชิญการระบาดหนักระลอกใหม่เช่นเดียวกับยุโรป หลังพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นถึง 23% ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ในอเมริกาเหนือที่ทั้งสหรัฐฯและแคนาดาต่างพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม พาโฮแจงว่า ในอเมริกาใต้ เกือบทุกประเทศ ยกเว้นเฉพาะบราซิล ก็พบผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้นเหมือนกัน โดยเฉพาะเอกวาดอร์และปารากวัย มีเพียงอเมริกากลางที่เคสใหม่ลดลงเป็นจำนวนถึง 37%

(ที่มา: รอยเตอร์, เอเอฟพี, เอพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น