สื่อสหรัฐฯ เผยการทดสอบระบบอาวุธ “ไฮเปอร์โซนิก” ของจีนเมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา มีการปล่อย “ขีปนาวุธลูกที่ 2” ออกจากยานซึ่งเดินทางด้วยความเร็วเหนือเสียงเกิน 5 เท่า นับเป็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่แม้แต่สหรัฐฯ และรัสเซียเองก็ยังทำไม่ได้
หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทม์ส และหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัล ซึ่งออกมาตีแผ่ข้อมูลนี้ระบุตรงกันว่า การทดสอบระบบอาวุธดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า เทคโนโลยีขีปนาวุธทางยุทธศาสตร์ติดหัวรบนิวเคลียร์ของจีนก้าวหน้าไปไกลยิ่งกว่าที่หลายฝ่ายคาดคิด และแม้แต่เจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ก็ยังรู้สึกประหลาดใจ
การปล่อยขีปนาวุธออกจากยานแม่ซึ่งเดินทางด้วยความเร็วเหนือเสียงเกิน 5 เท่าขึ้นไปนั้นถือเป็นศักยภาพขั้นสูงที่สหรัฐฯ และรัสเซียยังไม่เคยแสดงให้โลกเห็นว่าสามารถทำได้
ไฟแนนเชียลไทม์สระบุด้วยว่า กูรูด้านการทหารของสหรัฐฯ กำลังสืบเสาะว่าจีนทำอย่างไรจึงมีความเชี่ยวชาญเทคโนโลยีในด้านนี้เกินหน้าเกินตาคู่แข่ง
ก่อนหน้านี้มีรายงานว่า จีนได้ทดสอบขีปนาวุธศักยภาพติดหัวรบนิวเคลียร์ลูกหนึ่ง ซึ่งวนรอบโลกในวงโคจรระดับต่ำ ก่อนจะดิ่งลงสู่เป้าหมายภายในประเทศจีนเมื่อช่วงเดือน ก.ค. ซึ่งเพียงเท่านี้ก็สร้างความตกตะลึงให้สหรัฐฯ มากพอดูอยู่แล้ว
แม้จรวดไฮเปอร์โซนิกดังกล่าวจะพลาดเป้าหมายไปไกลประมาณ 20 กิโลเมตรเศษๆ แต่ พล.อ.จอห์น อี.ไฮเทน รองประธานคณะเสนาธิการทหารร่วมสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตำแหน่งอาวุโสเบอร์ 2 ของเพนตากอน ระบุว่า แค่นี้ก็นับว่า “แม่น” พอสมควรแล้ว สำหรับการทดสอบครั้งแรก
แต่สิ่งที่ทำให้สหรัฐฯ เซอร์ไพรส์ยิ่งกว่านั้นก็คือ จรวดไฮเปอร์โซนิกของจีนได้ปล่อยขีปนาวุธอีกลูกหนึ่งออกมาในขณะที่กำลังทะยานร่อนด้วยความเร็วมากกว่า 6,175 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และขีปนาวุธลูกดังกล่าวได้ตกลงสู่ทะเลจีนใต้โดยไม่ทำอันตรายต่อฝ่ายใด
วัตถุประสงค์ในการปล่อยขีปนาวุธลูกที่ 2 นี้ยังไม่ชัดเจน แต่ผู้เชี่ยวชาญสันนิษฐานว่ามันอาจจะใช้เพื่อโจมตีเป้าหมาย หรือเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของระบบป้องกันในประเทศศัตรูก็เป็นได้
กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุด้วยว่า จีนกำลังเร่งผลิตหัวรบนิวเคลียร์ซึ่งสามารถนำไปติดตั้งทั้งบนจรวดไฮเปอร์โซนิก เรือดำน้ำแบบดั้งเดิม หรือระบบขีปนาวุธภาคพื้นดิน
ที่มา : เอเอฟพี