ถือเป็นอีเวนต์สำคัญที่ทั่วโลกจับตามองสำหรับการประชุมซัมมิตทางไกลหนแรกระหว่างผู้นำจีนกับสหรัฐฯ เมื่อต้นสัปดาห์นี้ โดยประธานาธิบดี โจ ไบเดน ได้ย้ำเตือนปักกิ่งในเรื่องปัญหาสิทธิมนุษยชน ขณะที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ก็เตือนสหรัฐฯ ว่าจีนคงต้องใช้มาตรการตอบโต้ขั้นรุนแรง หากมีการ “ล้ำเส้น” ในเรื่องไต้หวัน
สี และ ไบเดน ยังไม่เคยพบปะแบบตัวเป็นๆ นับตั้งแต่ฝ่ายแรกเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อต้นปีนี้ และครั้งล่าสุดที่ทั้งคู่หารือกันคือทางโทรศัพท์ในช่วงต้นเดือน ก.ย.
เจ้าหน้าที่จีนและสหรัฐฯ ระบุตรงกันว่า บรรยากาศการพูดคุยเมื่อช่วงค่ำวันจันทร์ (15 พ.ย.) ตามเวลาวอชิงตัน และเช้าวันอังคาร (16) ตามเวลาปักกิ่ง เป็นไปอย่าง “ตรงไปตรงมา” โดยประเด็นหลักๆ ที่ถูกหยิบยกมาหารือครอบคลุมตั้งแต่ปัญหาเกาหลีเหนือ, อัฟกานิสถาน, ความเคลื่อนไหวในตลาดพลังงานโลก, การค้าและการแข่งขัน, ความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ, การทหาร, โรคระบาดโควิด-19 รวมไปถึงเรื่องอื่นๆ ที่จีนและสหรัฐฯ มักมีมุมมองขัดแย้งกัน
สื่อทางการจีนรายงานว่า ประธานาธิบดี สี ซึ่งไม่ได้เดินทางออกนอกประเทศเลยนับตั้งแต่โควิด-19 อุบัติขึ้นที่เมืองอู่ฮั่นและแพร่กระจายไปทั่วโลกเมื่อเกือบ 2 ปีก่อน เปรียบเปรยสหรัฐฯ และจีนว่าเป็นเสมือน “เรือใหญ่ 2 ลำที่แล่นอยู่ในทะเล” และจำเป็นที่จะต้องควบคุมทิศทางให้ดีเพื่อไม่ให้เกิดการเฉี่ยวชน
สี ซึ่งเรียก ไบเดน ว่า “เพื่อนเก่า” ยังอ้างถึงนโยบายแข็งกร้าวที่จีนมีต่อสหรัฐฯ ซึ่งเขาหวังว่าคงจะได้รับการแก้ไขไปในทางที่ดีขึ้น
“ผมหวังว่าท่านประธานาธิบดีคงจะใช้ความเป็นผู้นำทางการเมือง นำนโยบายที่สหรัฐฯ มีต่อจีนกลับสู่เส้นทางที่มีเหตุมีผล และสามารถปฏิบัติได้จริง” สำนักข่าวซินหวาอ้างคำพูดของ สี
ผู้นำสหรัฐฯ เองก็ยอมรับว่า ทั้ง 2 ฝ่ายควรหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง โดยบอกว่าตนและ สี “ต่างมีหน้าที่ที่จะต้องทำให้การแข่งขันระหว่างจีนกับสหรัฐฯ เป็นไปอย่างเรียบง่าย ตรงไปตรงมา และไม่ลุกลามไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรง ไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม”
ไบเดน ซึ่งยังคงมาตรการรีดภาษีสินค้าจีนที่อดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศใช้เอาไว้เป็นส่วนใหญ่ เอ่ยถึง “ความจำเป็นที่จะต้องปกป้องแรงงานและอุตสาหกรรมอเมริกันจากแนวปฏิบัติทางการค้าและเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรม (ของจีน)” พร้อมกันนั้นก็ได้ย้ำเตือนจีนให้ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาภายใต้ข้อตกลงการค้าที่ทำร่วมกับทรัมป์ โดยเฉพาะเรื่องที่จีนรับปากจะนำเข้าสินค้าและบริการจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอีก 200,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ สี บอก ไบเดน ว่าไม่ควรทำให้เรื่องนี้กลายเป็นปัญหาการเมือง
ผู้นำสหรัฐฯ ยังได้หยิบยกประเด็นอื่นๆ ที่จีนถือเป็นกิจการภายในมาหารือกับ สี เช่น การจัดการทิเบตและฮ่องกง รวมถึงปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวมุสลิมอุยกูร์ในซินเจียง โดยระบุว่าสหรัฐฯ “มีความกังวล” ต่อปัญหาเหล่านี้ ขณะที่ สี ระบุว่าจีน “ไม่เห็นด้วยกับการพยายามแทรกแซงกิจการภายในของชาติอื่น โดยยกเรื่องสิทธิมนุษยชนมาอ้าง”
สี และ ไบเดน ยังได้มีการหารือเกี่ยวกับตลาดพลังงานโลก ส่วนเรื่องที่ว่าทำเนียบขาวจะส่งตัวแทนไปร่วมการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวที่ปักกิ่งจะเป็นเจ้าภาพในเดือน ก.พ. ปีหน้าหรือไม่นั้น ไม่ได้มีการหารือกัน
- ‘สี’ เตือนมะกันอย่า ‘ข้ามเส้นแดง’ เรื่องไต้หวัน
การหารือคราวนี้ยังปรากฏร่องรอยของความขัดแย้งที่ชัดเจนในประเด็นไต้หวัน โดย ไบเดน ยืนยันว่า สหรัฐฯ ยังคงยึดมั่นนโยบายจีนเดียว (One China policy) ซึ่งหมายถึงการยอมรับว่าปักกิ่งเป็นรัฐบาลหนึ่งเดียวของจีน แต่ขณะเดียวกันก็ย้ำว่าตน “คัดค้านความพยายามฝ่ายเดียวที่จะเปลี่ยนแปลงสถานะปัจจุบัน (status quo) ของไต้หวัน หรือการกระทำใดๆ ก็ตามที่จะบ่อนทำลายเสถียรภาพและสันติภาพภายในช่องแคบไต้หวัน”
ด้าน สี กล่าวโทษสถานการณ์ตึงเครียดในช่องแคบไต้หวันว่าเกิดจาก “คนบางกลุ่มในไทเปที่คาดหวังให้สหรัฐฯ ช่วยหนุนหลังเพื่อแยกตัวเป็นเอกราช” รวมถึง “นักการเมืองอเมริกันบางคนที่คิดจะใช้ไต้หวันเป็นเครื่องมือควบคุมจีน”
“การกระทำเช่นนี้เป็นสิ่งที่อันตรายมาก ไม่ต่างกับการเล่นกับไฟ และใครก็ตามที่คิดเล่นกับไฟ สุดท้ายก็จะต้องถูกเผาไหม้”
“จีนพยายามใช้ความอดทนอดกลั้น และต้องการที่จะรวบรวมชาติด้วยแนวทางสันติอย่างจริงใจ แต่หากพวกที่ต้องการแยกดินแดนไต้หวันกระทำการยั่วยุหรือล้ำเส้น เราก็จำเป็นที่จะต้องตอบโต้อย่างเด็ดเดี่ยวเช่นกัน” สี กล่าว
จีนยืนยันว่าไต้หวันคือดินแดนในอธิปไตยของตน และไม่ปฏิเสธที่จะใช้กำลังทหารนำไต้หวันกลับมาอยู่ภายใต้การปกครองหากมีความจำเป็น
การที่สหรัฐฯ พยายามสนับสนุนให้ไต้หวันได้มีพื้นที่และบทบาทมากขึ้นในเวทีโลก รวมถึงคำพูดของ ไบเดน เมื่อเร็วๆ นี้ที่บอกว่าสหรัฐฯ “พร้อมจะปกป้องไต้หวัน” มีส่วนทำให้บรรยากาศทวีความตึงเครียดมากขึ้น
สภากิจการแผ่นดินใหญ่แห่งไต้หวันได้ออกมาตอบโต้คำพูดของ สี โดยประณามพฤติกรรมข่มขู่ของจีน และย้ำว่าประชาชนชาวไต้หวันจะไม่ยอมสยบต่อแรงกดดันของปักกิ่ง
ไบเดน ได้ออกมาชี้แจงเพิ่มเติมในวันอังคาร (16) โดยยืนยันว่ารัฐบาลของเขา “ไม่ได้สนับสนุนให้ไต้หวันแยกตัวเป็นเอกราช” และเรื่องดังกล่าว “ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของไต้หวันเอง” โดยสหรัฐฯ เพียงแต่รักษาพันธกรณีในกฎหมายความสัมพันธ์ไต้หวัน (Taiwan Relations Act) ที่บังคับใช้มาตั้งแต่ปี 1979 ซึ่งกำหนดให้อเมริกาต้องสนับสนุนให้ไทเปสามารถปกป้องตนเองได้
กระแสตอบรับจากนักลงทุนต่อบรรยากาศการประชุมที่เป็นไปอย่างราบรื่นส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้น และแม้ว่าท้ายที่สุดแล้วจะไม่มีผลลัพธ์ที่น่าตื่นเต้น แต่ก็ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดลงได้บ้าง ทั้งยังเปิดโอกาสให้ทั้ง 2 ฝ่ายได้หันหน้าพูดคุยกันอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งอาจจะทำให้ความสัมพันธ์สองมหาอำนาจกลับมามีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น
มีรายงานในวันพุธ (17) ว่าสหรัฐฯ และจีนได้บรรลุข้อตกลงผ่อนคลายข้อจำกัดวีซ่าสำหรับผู้สื่อข่าวของทั้ง 2 ประเทศ ขณะที่ เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของทำเนียบขาว เผยว่าผู้นำทั้งสองยังเห็นพ้องว่าควรจะเปิดการหารือว่าด้วยการควบคุมอาวุธในกลุ่มประเทศที่ครอบครองนิวเคลียร์