xs
xsm
sm
md
lg

‘รัสเซีย’ยืนยันทดสอบ‘ขีปนาวุธยิงดาวเทียม’ แต่ปฏิเสธข้อกล่าวหาของ‘สหรัฐฯ’ที่ว่า ทำให้เกิดเศษซากมากมาย เป็นอันตรายต่อสถานีอวกาศนานาชาติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพนิ่งถ่ายจากวิดีโอที่เผยแพร่โดยองค์การนาซา  แสดงให้เห็นสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ขณะทีมนักบินอวกาศในยานแคปซูล “สเปซเอ็กซ์ ดรากอน” นำยานแยกตัวออกมา เมื่อวันที่ 8 พ.ย.  ทั้งนี้เมื่อวันจันทร์(15 พ.ย.) สหรัฐฯประณามรัสเซียที่ทดสอบยิงขีปนาวุธจากพื้นโลกเข้าทำลายดาวเทียมในอวกาศ ทำให้เกิดเศษซากจำนวนมาก ซึ่งส่งผลกระทบ ISS ด้วย
รัสเซียแถลงยืนยันในวันอังคาร (16 พ.ย.) ได้ทดสอบยิงขีปนาวุธขึ้นไปทำลายดาวเทียมเก่าดวงหนึ่งของตนที่กำลังโคจรอยู่ในอวกาศเหนือพื้นโลก แต่ปฏิเสธข้อกล่าวหาของสหรัฐฯที่ว่า การทำเช่นนี้ได้สร้างอันตรายให้แก่สถานีอวกาศนานาชาติ (ISS)

พวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯกล่าวหารัสเซียในวันจันทร์ (15) ว่า ยิงทำลายดาวเทียม “อย่างเป็นอันตรายและไร้ความผิดชอบ” โดยก่อให้เกิดกลุ่มเศษซากดาเวทียมลอยในอวกาศ บีบให้ลูกเรือของ ISS ต้องลงมือใช้มาตรการหลบหลีกเป็นการป้องกันไว้ก่อน

ความเคลื่อนไหวคราวนี้ยังจุดชนวนให้เกิดความวิตกกังวลขึ้นมาใหม่ในเรื่องที่จะเกิดการแข่งขันด้านอาวุธในอวกาศกันดุเดือดมากขึ้น โดยการชิงชัยในปริมณฑลนี้ครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่าง ตั้งแต่การพัฒนาดาวเทียมที่มีศักยภาพในการเบี่ยงเบนดาวเทียมอื่นๆ ให้หลุดออกนอกวงโคจร ไปจนถึงอาวุธเลเซอร์สำหรับยิงดาวเทียม

“กระทรวงกลาโหมรัสเซียประสบความสำเร็จในการดำเนินการทดสอบ โดยผลลัพธ์ที่ออกมาก็คือ ยานอวกาศ (ดาวเทียม) เซลินา-ดี ของรัสเซีย ซึ่งอยู่ในวงโคจรมาตั้งแต่ปี 1982 ได้ถูกทำลาย” ฝ่ายทหารของรัสเซียระบุในคำแถลง

ขณะที่ เซราดาต้า บริษัทวิเคราะห์อุตสาหกรรมอวกาศให้ข้อมูลว่า ดาวเทียมดวงนี้เป็นดาวเทียมจารกรรมคอยดักจับสัญญาณ ซึ่งอยู่ในสภาพตายสนิทมาหลายสิบปีแล้ว

ในเวลาต่อมา รัฐมนตรีกลาโหมรัสเซีย เซียร์เก ชอยกู ก็ออกมากล่าวว่า การยิงขีปนาวุธคราวนี้ ได้ใช้ระบบ “ที่มีอนาคต” ซึ่งสามารถยิงถูกเป้าหมาย “อย่างแม่นยำ” พร้อมกับยืนยันว่าเศษซากที่เกิดขึ้นจากการทำลายดาวเทียม ไม่ได้เป็นภัยคุกคามต่อกิจกรรมในอวกาศ

พวกเจ้าหน้าที่อเมริกันบอกว่า วอชิงตันไม่ได้รับแจ้งล่วงหน้าเกี่ยวกับการทดสอบยิงขีปนาวุธจากพื้นโลกไปยังดาวเทียมที่โคจรอยู่ในอวกาศคราวนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่นานาประเทศเคยกระทำกันน้อยครั้งมาก โดยคราวนี้ถือเป็นครั้งที่ 4 เท่านั้นที่เกิดขึ้นมา และสหรัฐฯจะหารือกับเหล่าพันธมิตรเกี่ยวกับวิธีการที่จะตอบโต้

" สหพันธรัฐรัสเซียได้ดำเนินการอย่างบุ่มบ่าม ในการทดสอบทำลายดาวเทียม ด้วยการยิงขีปนาวุธต่อต้านดาวเทียมขึ้นตรงใส่ดาวเทียมดวงหนึ่งของตนเอง" แอนโธนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯกล่าวในคำแถลงฉบับหนึ่งเมื่อวันจันทร์

เขากล่าวต่อไปว่า “การทดสอบที่เป็นอันตรายและไร้ความรับผิดชอบ” นี้ ได้ก่อให้เกิดเศษซากในวงโคจรที่ติดตามได้มากกว่า 1,500 ชิ้นและเศษซากในวงโคจรขนาดเล็กๆ ลงมากว่าอีกมากมายหลายแสนชิ้น

ทั้งนี้ ลูกเรือของสถานีอวกาศนานาชาติ ซึ่งปัจจุบันมีมนุษย์อวกาศสหรัฐฯ 4 คน เยอรมนี 1 คนและรัสเซีย 2 คน ต้องเข้าไปหลบในยานขากลับโลก ซึ่งเป็นขั้นตอนมาตรฐานในกรณีเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินหนึ่งๆซึ่งอาจบีบบังคับให้ต้องอพยพ

องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ของสหรัฐฯ แถลงระบุด้วยว่า ลูกเรือเหล่านี้ต้องอยู่ในยานขากลับโลกเป็นเวลาราว 2 ชั่วโมง โดยที่ ISS ยังคงต้องโคจรผ่านหรือเฉียดใกล้กลุ่มเมฆเศษซากดาวเทียมดวงนี้กันทุกๆ 90 นาที

อย่างไรก็ตาม "รอสคอสมอส" หน่วยงานอวกาศของรัสเซียได้แถลงปฏิเสธความกังวลเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ โดยบอกว่า "วงโคจรของวัตถุ ซึ่งบีบให้ลูกเรือต้องย้ายเข้าสู่ยานอวกาศตามขั้นตอนมาตรฐาน ได้เคลื่อนตัวออกห่างจากวงโคจรของ ISS และตัวสถานีอวกาศนานาชาติอยู่ในกรีนโซน"

ในคำแถลงที่ใช้ถ้อยคำอันรุนแรง บลิงเคนกล่าวว่า อันตรายที่เกิดขึ้นยังห่างไกลจากจุดจบ และเศษซากชิ้นส่วนจะยังคงคุกคามดาวเทียมดวงอื่นๆ ตลอดจนการดำเนินกิจกรรมต่างๆ บน ISS โดยที่สหรัฐฯกำลังหารือกับชาติหุ้นส่วนทั้งหลาย เพื่อดำเนินการตอบโต้

ด้าน บิลล์ เนลสัน ผู้บริหารนาซา กล่าวในคำแถลงต่างหากอีกฉบับหนึ่งว่า เขา “รู้สึกโกรธขึ้งต่อการกระทำที่ไร้ความรับผิดชอบและสั่นคลอนเสถียรภาพครั้งนี้”

สหรัฐฯทราบอยู่แล้วว่า ไม่เป็นภัยคุกคาม

อย่างไรก็ตาม ขณะที่ฝ่ายทหารรัสเซียระบุว่าความเคลื่อนไหวครั้งนี้เป็นการดำเนินกิจกรรมตามที่วางแผนเอาไว้เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่สมรรถนะด้านการป้องกันของตน แต่ก็ปฏิเสธข้อกล่าวหาที่ว่าการทดสอบนี้มีอันตราย

“สหรัฐฯทราบอย่างแน่นอนอยู่แล้วว่า เศษซากที่เกิดขึ้นมา เมื่อพิจารณาถึงจังหวะเวลาในการทดสอบและขนาดขอบเขตของวงโคจรแล้ว ไม่ได้เป็นภัยคุกคามและก็จะไม่เป็นภัยคุกคามต่อพวกสถานีในวงโคจร, ยานอวกาศ, และกิจกรรมต่างๆ ในอวกาศ”

ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย เซียร์เก ลาฟรอฟ ก็ปฏิเสธเรื่องที่ว่ามันสร้างอัคนตรายต่อ ISS และกล่าวว่า “การประกาศว่าสหพันธรัฐรัสเซียสร้างความเสี่ยงขึ้นมาจากการใช้อวกาศอย่างสันติเช่นนี้ อย่างน้อยที่สุดก็เป็นคำกล่าวแบบมือถือสากปากถือศีล” ลาฟรอฟบอกในที่ประชุมแถลงข่าวในกรุงมอสโก พร้อมกับเสริมว่า การกล่าวอ้างเช่นนี้ “ไม่มีข้อเท็จจริงใดๆ” รองรับ

ขีปนาวุธที่รัสเซียทดสอบคราวนี้ ถือเป็นอาวุธต่อต้านดาวเทียม (Anti-satellite weapons หรือ ASATs) ซึ่งเป็นขีปนาวุธไฮเทคที่มีน้อยชาติได้ครอบครองเป็นเจ้าของ

อินเดีย ถือเป็นรายสุดท้ายก่อนหน้านี้ซึ่งดำเนินการทดสอบยิงใส่เป้าหมายในปี 2019 ทำให้เกิดขยะอวกาศหลายร้อยชิ้น จนถูกมหาอำนาจอื่นๆ รวมทั้งสหรัฐฯ วิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง

สหรัฐเองก็เคยยิงดาวเทียมดวงหนึ่งตกในปี 2008 โดยดูเหมือนเป็นการตอบโต้จากการที่จีนดำเนินการทำนองเดียวกันก่อนหน้านั้นในปี 2007

อันตรายต่อวงโคจรรอบโลกระดับต่ำ

โจนาธาน แมคโดเวลล์ นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด บอกกับเอเอฟพีว่า ผู้คนในแวดวงอุตสาหกรรมอวกาศมีความรู้สึกกันว่า เวลานี้เรามีเศษซากต่างๆ ลอยอยู่ในอวกาศใกล้ๆ โลกมากมายอยู่แล้ว การจงใจสร้างเศษซากเพิ่มขึ้นอีกจึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจแก้ตัวใดๆ ทั้งสิ้น

เขาชี้ว่า พวกเศษซากกลุ่มแรกๆ ควรเริ่มตกลงมาเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลกภายในเวลาสองสามเดือน แต่อาจต้องใช้เวลาถึง 10 ปีทีเดียว กว่าเศษซากเหล่านี้จะหมดสิ้นไปจริงๆ

เศษซากแหล่านี้อาจเป็นอันตรายต่อดาวเทียมและยานอวกาศ ซึ่งมีจำนวนมากขึ้นทุกที ในเขตพื้นที่อวกาศที่เรียกกันว่า “วงโคจรรอบโลกระดับต่ำ”

ตามการรวบรวมของกลุ่มสหภาพนักวิทยาศาสตร์ผู้กังวลสนใจ ปัจจุบันมีดาวเทียมโคจรรอบโลกอยู่มากกว่า 4,500 ดวง โดยที่พวกบริษัทอย่าง สเปซเอ็กซ์ ยังกำลังวางแผนยิงขึ้นไปอีกหลายหมื่นดวง ขณะที่อุตสาหกรรมอวกาศภาคเอกชนกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว
กำลังโหลดความคิดเห็น