xs
xsm
sm
md
lg

ผลศึกษาชี้! ‘ไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค-โมเดอร์นา’ ฟันกำไรจากวัคซีนโควิด ‘นาทีละ 2.1 ล้านบาท’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กลุ่มพันธมิตรวัคซีนเพื่อประชาชน (People Vaccine Alliance - PVA) เผยผลการวิเคราะห์ซึ่งพบว่า ไฟเซอร์, ไบโอเอ็นเทค และโมเดอร์นา ซึ่งเป็น 3 ผู้ผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ใช้เทคโนโลยี mRNA ทำกำไรจากการขายวัคซีนรวมกันประมาณ 65,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อนาที หรือประมาณ 2.1 ล้านบาท ขณะที่พลเมืองในกลุ่มประเทศยากจนส่วนใหญ่ยังไม่มีโอกาสเข้าถึงวัคซีน

PVA ซึ่งเป็นเครือข่ายองค์กรที่สนับสนุนการเข้าถึงวัคซีนอย่างเท่าเทียมได้ศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลรายได้ของทั้ง 3 บริษัท และพบว่าผู้ผลิตวัคซีนตัวท็อปทั้ง 3 รายมีผลกำไรก่อนหักภาษีรวมกัน 34,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ หรือคิดเป็น 1,000 ดอลลาร์ต่อวินาที, 65,000 ดอลลาร์ต่อนาที และ 93.5 ล้านดอลลาร์ต่อวัน

“เป็นเรื่องน่าละอายที่บริษัท 2-3 แห่งทำกำไรได้เป็นล้านๆ ดอลลาร์ทุกชั่วโมง ขณะที่ประเทศยากจนยังมีพลเมืองฉีดวัคซีนครบโดสแค่ 2%” มาซา เซยูม เจ้าหน้าที่ PVA ประจำภูมิภาคแอฟริกา ระบุ

“ไฟเซอร์, ไบโอเอ็นเทค และโมเดอร์นา ใช้กลยุทธ์ผูกขาดเพื่อทำสัญญาขายวัคซีนที่ได้กำไรสูงสุดกับรัฐบาลที่ร่ำรวยที่สุด ในขณะที่ประเทศรายได้น้อยถูกทอดทิ้ง”

PVA เผยด้วยว่า ไฟเซอร์และไบโอเอ็นเทคจัดส่งวัคซีนไปยังกลุ่มประเทศรายได้น้อยไม่ถึง 1% ของวัคซีนที่ผลิตได้ ขณะที่โมเดอร์นาจัดส่งเพียง 0.2% ซึ่งแตกต่างจาก “แอสตร้าเซนเนก้า” และ “จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน” ที่กระจายวัคซีนในรูปแบบไม่แสวงผลกำไร แม้ทั้ง 2 บริษัทจะประกาศแล้วว่าเตรียมปรับนโยบายเร็วๆ นี้ เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกเริ่มชะลอตัวลง

PVA ยังตำหนิไฟเซอร์, ไบโอเอ็นเทค และโมเดอร์นา ที่รับเงินอุดหนุนจากภาครัฐกว่า 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่กลับปฏิเสธที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับผู้ผลิตยาในกลุ่มประเทศรายได้น้อย-ปานกลางผ่านทางองค์การอนามัยโลก (WHO) 

“หากพวกเขายอมทำเช่นนั้นก็จะช่วยให้อุปทานเพิ่มสูงขึ้น ราคาวัคซีนถูกลง และสามารถปกป้องชีวิตผู้คนไว้ได้อีกนับล้านๆ”

“ในกรณีของโมเดอร์นา บริษัทยังคงเพิกเฉยต่อแรงกดดันของทำเนียบขาว และข้อเรียกร้องจาก WHO ที่ขอให้ร่วมมือและเร่งรัดแผนเพิ่มกำลังการผลิตวัคซีน mRNA ในแอฟริกาใต้”

PVA ยังอ้างคำพูดของ อัลเบิร์ต เบอร์ลา ซีอีโอไฟเซอร์ ซึ่งเคยกล่าวในทำนองว่าการถ่ายทอดเทคโนโลยีเป็น “เรื่องไร้สาระที่อันตราย” (dangereous nonsense) และแย้งว่าการที่ WHO อนุมัติการใช้งานฉุกเฉินสำหรับวัคซีนโควาซิน (Covaxin) ของอินเดียเมื่อต้นเดือนนี้เป็นข้อพิสูจน์แล้วว่า ประเทศกำลังพัฒนาก็มีศักยภาพและความเชี่ยวชาญมากพอ

PVA ซึ่งมีสมาชิกรวม 80 องค์กร เช่น African Alliance, Global Justice Now, Offam และ UNAIDS เรียกร้องให้ผู้ผลิตยาทั่วโลกยกเว้นการคุ้มครองสิทธิบัตรวัคซีนโควิด-19 ตามความตกลง TRIPS Waiver ขององค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งในขณะนี้มีกว่า 100 ประเทศที่สนับสนุนข้อเสนอดังกล่าว แต่ก็ยังมีบางประเทศที่คัดค้าน เช่น สหราชอาณาจักร และเยอรมนี

ที่มา: เอเอฟพี


กำลังโหลดความคิดเห็น